*/
<< | ตุลาคม 2014 | >> | ||||
อา | จ | อ | พ | พฤ | ศ | ส |
1 | 2 | 3 | 4 | |||
5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 |
12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 |
19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 |
26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 |
ปลายฤดูหนาวที่ผ่านมา.....แม่มดไปเที่ยวสงขลาที่งดงามเรียบง่ายเหมือนที่เคยวาดภาพไว้ในความคิด แล้วเลยติดตามคุณอ้วน (BG KratenUan) ต่อไปถึงปีนังหลังจากไปถ่ายภาพสายหมอกในไร่ชาที่ Cameron Highlands ครั้งนั้นเรามีเวลาเหลือให้ปีนังเพียงวันเดียวเพราะคุณอ้วนติดภารกิจทางครอบครัวแต่แม่มดเกิดอาการถูกใจ Georgetown ซึ่งเป็นส่วนเมืองเก่าของปีนังขึ้นมาแบบที่ตัวเองก็ยังงงงง จึงถามตัวเองว่าจะกระหืดกระหอบชมเมืองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในเวลาอันจำกัด หรือจะตัดใจชมเพียงบางแง่มุมอย่างละเมียดตามนิสัยและพอใจกับสิ่งที่ได้เพียงแค่นั้น แต่คนเราจะต้องยอมจำนนกับเงื่อนไขเฉพาะหน้าง่ายๆทั้งๆที่เกือบทุกปัญหา โดยหลักการแล้ว มีทางแก้ได้กระนั้นหรือ กลางฤดูฝน...... เมื่อลูกชายกลับมาเยี่ยมเมืองไทยปีละ ๓-๔ สัปดาห์อย่างที่เคยทำมาตลอดชีวิตตั้งแต่อายุได้เพียง ๔ เดือน..... แม่ลูกจึงไปยืนคอยรถไฟสายใต้ด่วนพิเศษปลายทาง Butterworth ในเย็นวันหนึ่งที่สถานีราชบุรี แม่มดมองเห็นความสะดวกสบายที่จะนั่ง-นอน-นั่งรถไฟมากกว่าการบินที่ทำให้เราต้องเหน็ดเหนื่อยไปกลับราชบุรี-ดอนเมือง-ราชบุรีแม้ว่าราคารถนอนปรับอากาศกับการบินด้วย low-cost airline จะมีค่าใช้จ่ายแทบไม่ต่างกันและช่วงเวลาเดินทางโดยรวมทางรถไฟจะยาวนานกว่ามากแต่เวลาส่วนใหญ่ในรถไฟเป็นเวลาหลับนอนของเรา ยังมีประสบการณ์ที่น่าสนใจบางอย่างที่การเดินทาง overland เท่านั้นจะให้ได้ จะเป็นการเดินทางโดยรถยนต์หรือรถไฟก็ตามที อย่างเช่นตอนที่คุณอ้วนกับแม่มดนั่งรถประจำทางผ่านจากแดนไทยเข้าไปในประเทศมาเลเซีย แม่มดเข้าใจแจ่มแจ้งเมื่อคุณอ้วนบอกว่าไม่ต้องมีเส้นกั้นพรมแดนหรอก พี่ แค่ดูความสะอาด ความสกปรกริมถนนหนทาง ก็บอกได้แล้วว่าเรากำลังอยู่ในประเทศใด ครั้งนี้ พอรถไฟผ่านด่านปาดังเบซาร์เข้าสู่แดนมาเลเซีย ม้าเหล็กที่โยกไหวจนเรารู้สึกเหมือนนอนอยู่ในเปลยวนมาตลอดคืนก็แล่นเรียบเงียบเสียง เลิกส่ายเลิกโคลง แถมรวดเร็วขึ้นมาราวกับว่าเราได้เปลี่ยนเส้นทางจากถนนลูกรังหน้าฝนไปอยู่บนซุปเปอร์ไฮเวย์ แล้วสถานีรถไฟของมาเลเซียก็ใหม่เอี่ยม เทคโนโลยี่เพียบ มองออกไปแทบไม่เชื่อสายตา แม่ลูกเห็นตรงกันว่าเมื่อพิจารณาเฉพาะด้าน facilities สถานีรถไฟของเขาเข้าขั้นมาตรฐานยุโรปตะวันตกทีเดียว แต่นั่นไม่ได้แปลว่าแม่มดชมชอบสถานีรถไฟของมาเลเซียนะคะ แม่มดว่าสถานีเรือนไม้ของเราให้ความรู้สึกอบอุ่นกว่าอาคารปูนเปลือยของเขาที่ดูกระด้างเย็นชาชอบกล เราบูรณะเรือนไม้และใส่เทคโนโลยี่ที่ให้ความสะดวกสบาย ความปลอดภัยและความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมเข้าไปก็ได้นี่คะ การบูรณะอาคารตามแนวคิดผสมผสานเช่นนี้เป็นสิ่งที่แม่มดเห็นเป็นปกติในประเทศเยอรมนี ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าเราจะทำหรือไม่เท่านั้นเอง รถไฟไทยพาเราไปถึง Butterworth ช้ากว่ากำหนดประมาณ ๑ ชั่วโมงซึ่งเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์มากเพราะจนถึงด่านปาดังเบซาร์ เรายังช้ากว่ากำหนดอยู่เกือบ ๓ ชั่วโมง พนักงานรถไฟบอกว่ามาเลย์เขาทำได้ พอแม่มดทำหน้างง ท่านก็อธิบายว่ารางเขาดีมาก ปัญหาความล่าช้าของรถไฟไทยอยู่ที่จำนวนและคุณภาพของราง ตัวรถของเราไม่มีปัญหาเลย (แต่แม่มดว่าเรื่องความสะอาดและสุขอนามัยภายในและบริเวณห้องน้ำของรถไฟไทยก็มีปัญหาค่ะ) จาก Butterworth เราข้ามไปปีนังด้วย Ferry ที่รับทั้งคนทั้งรถค่ะ เราต้องเสียค่าข้ามทะเลเฉพาะเที่ยวเข้าปีนัง เที่ยวกลับฟรี อ้อ ค่าข้ามต้องจ่ายเป็นเงินริงกิตเท่านั้นนะคะ เงินสกุลอื่นหรือบัตรต่างๆใช้ไม่ได้เลย Ferry เชื่อม Butterworth กับ Georgetown ของ Penang ตรงนี้เป็นจุดที่แคบที่สุดระหว่างตัวเกาะกับแผ่นดินใหญ่ คือประมาณ ๓ กิโลเมตรค่ะ ถ้าขับรถไปเอง จะใช้สะพานก็ได้นะคะ ตัวเกาะมีสะพานเชื่อมกับแผ่นดินใหญ่ ๒ สะพานคือ Penang Bridge ซึ่งยาว ๑๓.๕ กิโลเมตรกับ Penang second Bridge ใหม่เอี่ยมยาว ๒๓.๕ กิโลเมตรค่ะ แต่ค่าข้ามสะพานหลายสตางค์ทีเดียว และการขนส่งมวลชนของปีนังก็ดีมาก เขตท่องเที่ยวของปีนังไม่ใหญ่โตเกินไป เดินเที่ยวได้ค่ะ การเดินเป็นวิธีชมเมืองที่ดีที่สุดอยู่แล้ว ถ้าชอบขี่จักรยาน โรงแรมทุกแห่งมีจักรยานให้เช่าราคาไม่แพง การนั่งรถเมล์ชมเมืองก็ไม่เลวนะคะ cat101 คือรถเมล์ฟรีเพื่อการท่องเที่ยว ออกจากท่าเรือข้ามฟาก มี ๒ สาย พาไปทุกหนทุกแห่งที่มีสถานที่ควรดูควรชม รถยนต์ส่วนตัวนอกจากไม่จำเป็นแล้วยังอาจสร้างปัญหาได้เพราะที่จอดรถหายาก การจอดรถผิดที่ผิดทางกีดขวางการจราจรมีโทษหนักพอๆกับที่แม่มดเคยเห็นในประเทศเยอรมนี คือรถจะถูกยกไปเก็บค่ะ ค่าไถ่คืนมีราคา ๑๕๐ ริงกิตหรือประมาณ ๑๕๐๐ บาท (ที่เยอรมนี เจ้าของรถต้องจ่ายถึง ๒๖๐ ยูโร เกินหนึ่งหมื่นบาทนะคะ) บ้านเมืองจะมีระเบียบเรียบร้อยได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีวินัยและผู้รักษากฎหมายปฏิบัติหน้าที่อย่างโปร่งใสเคร่งครัด คุณภาพชีวิตที่ดีมีราคาของมัน จริงไหมคะ ปีนังเป็นสังคมเงินสด บัตรเครดิตแทบจะไม่มีที่ใช้เลยค่ะ ไปเที่ยวนี้ แม่มดต้องแลกเงินหลายครั้งมากเพราะแม้แต่โรงแรมระดับกลางที่เราพัก พิพิธภัณฑ์ที่เก็บค่าเข้าชมหลายสตางค์หรือร้านกาแฟสวยๆแพงๆ (ที่แม่มดแวะไปดื่มชาบังหน้าเพราะความจริงจะเข้าไปถ่ายภาพ) ก็ไม่รับบัตรค่ะ เรื่องนี้แม้แม่มดจะทำใจมาก่อนและเตรียมเงินสดมาพอสมควรก็ยังรู้สึกว่าไม่สะดวก แม่มดไม่ชอบพกพาเงินสด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเดินทางท่องเที่ยวและสลิปของบัตรเครดิตช่วยให้ควบคุมการใช้จ่ายได้ง่ายขึ้นค่ะ ว่าด้วยเรื่องวิชาการกันสักนิดนะคะ แม่มดมีความเคยชินที่จะศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวล่วงหน้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ถ้าต้องไปไหนโดยไม่รู้ที่มาที่ไปของสถานที่นั้น แม่มดจะรู้สึกโหวงๆว่างๆชอบกลเหมือนการไปพบปะผู้คนที่รู้หน้า ไม่รู้ใจ อีกประการหนึ่ง ความสนุกและคุณูปการของการท่องเที่ยวอยู่ตรงที่ได้ขยายฐานข้อมูลและโลกทัศน์ของเราด้วยค่ะ ปีนังนี่ความจริงเป็นชื่อรัฐนะคะ ครอบคลุมพื้นที่เกาะขนาด ๒๘๕ ตารางกิโลเมตรกับแนวแคบๆบนแผ่นดินใหญ่ประมาณ ๗๖๐ ตารางกิโลเมตรตรงบริเวณที่เรียกว่า Seberang Perai ที่คนส่วนใหญ่ไปเที่ยวชมกันและเรียกว่าปีนัง ความจริงคือ Core Zone และ Buffer Zone ของ Georgetown และตรง Core Zone นี่เองที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองมรดกโลก (Unesco World Herritage) ร่วมกับ Melaka ตอนที่ไปปีนังครั้งแรกกับคุณอ้วน แม่มดมีเวลาเพียงไปขึ้น Penang Hill และเดินดูส่วนเล็กๆของ Core Zone เพราะที่พักของเราอยู่ในบริเวณนั้น ครั้งนั้น ที่พักเพียงคืนเดียวของเราอยู่บนถนนเก่าแต่สวยสายนี้ค่ะ ศาลาว่าการเมืองปีนังอยู่ติดกับหอศิลป์แห่งชาติ The Esplanade คล้ายๆศาลาประชาคมมังคะ แม่มดได้แต่ถ่ายภาพไกลๆเพราะเขากำลังปิดเพื่อซ่อมแซม ประโยชน์ใช้สอยของสถานที่นี้ในอดีตออกจะโรแมนติก คือในค่ำคืนที่ ๑๕ ของเทศกาลตรุษจีนเมื่อเดือนเต็มดวง สาวๆ Nyonya เชื้อสายชาวจีนโพ้นทะเลจะก้าวออกมาจากรถม้าหรือพาหนะของเธอเพื่อโยนผลส้มลงไปในทะเล เป็นการอธิฏฐานขอให้ได้คู่ครองที่ดี งานนี้เป็นจังหวะที่หนุ่มๆจะได้ดูตัวสาวๆด้วยเพราะปกติ พวกเธอจะถูกเก็บไว้ในบ้านอย่างมิดชิด หลังจากนั้น การสู่ขอก็อาจจะตามมา เขต Core Zone นี่แม่มดตั้งชื่อเองว่าเขตอังกฤษเพราะอาคารต่างๆจะมีบุคลิกเป็นแบบ colonial อย่างชัดเจนและเป็นเขตที่ได้รับการดูแลอย่างดีเป็นพิเศษ มีการบูรณะซ่อมแซมให้ทุกอย่างสวยงาม สะอาด เรียบร้อยอยู่ตลอดเวลา สถาบันการเงินและธนาคารชุมนุมกันอยู่ในบริเวณนี้ ชุมชนชาวมาเลย์เชื้อสายเอเชียใต้ที่มีชื่อน่าเอ็นดูว่า Little India อยู่ที่ชายขอบของ Core Zone ส่วน China Town ซึ่งเป็นเขตที่เราไปพักในครั้งที่ ๒ นั้นกินอาณาบริเวณกว้างมากทั้งในเขต Core Zone และ Buffer Zone ร้านชาแห่งนี้อยู่ใน Core Zone ได้ทั้งใจทั้งสตางค์ไปจากแม่มด ร้านสวยมากและหอมกรุ่นจนเดินผ่านไปไม่ได้เลยค่ะ
ลองดูสัดส่วนประชากรของปีนังนะคะ ผู้คนที่นี่เป็นชนเชื้อสายจีนเสีย ๖๐% เชื้อสายมาเลย์ ๓๒ % นอกนั้นเป็นชนเชื้อสายอินเดีย ใครล่ะคะจะเป็นคนคุมเศรษฐกิจของปีนัง Little India โรงแรมของเราอยู่เยื้องๆกับร้านขายขนมจีบซาลาเปาที่โด่งดังที่สุดใน Georgetown รอบๆบริเวณนั้นเป็นร้านขายข้าวหน้าเป็ด หมูแดง หมูกรอบ บะหมี่ เราฝากท้องไว้กับอาหารจีนทุกวันและเกือบทุกมื้อจนวันสุดท้าย ลูกชายตัดช่องน้อยแต่พอตัวไปซื้อ sandwich ที่ทำจากขนมปัง Bagel ทานในเขตที่เป็นถนนข้าวสารของปีนัง แม่มดเลยย้ายท้องไปทานข้าวหมกไก่ที่ Little India ตามลำพัง บรรยากาศของเขต China Town ของปีนังอาจจะไม่ต่างจากเยาวราชของเราเท่าไรมังคะ แต่เป็นภาพที่ตื่นตาตื่นใจสำหรับแม่มดที่ห่างเหินจากเอเซียไปนานพอสมควร รถฝรั่งสวยๆกับคนจีนรวยๆเป็นของคู่กันแต่ Homemade car ของมาเลเซียอย่าง Proton และ Electra ก็มีผู้ใช้เยอะนะคะเพราะภาษีของรถยนต์ทั้ง ๒ ต่ำกว่าภาษีของ “รถต่างด้าว” มาก แม่มดเองชื่นชมที่เขากล้าสร้างแบรนด์ของตัวเอง บ้านเราผลิตรถยนต์ได้มากมายแต่จะมากเท่าไร ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นรถญี่ปุ่น รถฝรั่งอยู่นั่นเอง เพื่อนๆทราบไหมคะว่าถ้วยชามเครื่องกระเบื้องเคลือบงามๆยี่ห้อดังๆที่วางขายราคาแพงลิ่วอยู่ในยุโรปตะวันตกมากมายทำที่บ้านเรา ฝรั่งวิจารณ์ว่า คนไทยมีฝีมือแต่ไม่กล้าคิดฝัน ไม่กล้าสร้างแบรนด์ของตนเอง พอใจอยู่แค่การรับจ้างผลิตเพราะไม่กล้าแบกรับความเสี่ยง คุณคนนี้ชื่อ Sir Francis Light ทำงานให้บริษัท British East Asia Company เขาเป็นคนที่ซื้อเกาะปีนังจากสุลต่านแห่งเคดาห์ในค.ศ.๑๗๘๖ เราจะเรียกว่าเขาเป็นผู้ก่อตั้งปีนังก็ได้มังคะ ตัวเมืองชั้นในของปีนังจึงได้ชื่อว่า Georgetown ตามพระนามของกษัตริย์ George ที่ ๓ แห่งอังกฤษและเขต Seberang Perai ของปีนังบนแผ่นดินใหญ่จึงได้รับชื่อใหม่ว่า Province Wellesley ตามชื่อของผู้ว่าราชการแห่งอินเดียชาวอังกฤษในขณะนั้น อนุสาวรีย์ของคุณฟรานซิสอยู่ที่ Fort Cornwallis แต่ที่พำนักชั่วนิรันดร์ของเขาอยู่ในสุสานที่ถนน Lebuh Farquhar ปีนังถูกครอบครองโดยสหราชอาณาจักรจนถึงค.ศ.๑๙๕๗ (พ.ศ.๒๕๐๐) ค่ะ
สิ่งที่ทำให้แม่มดชอบปีนังคือบรรยากาศเบาๆสบายๆกับการผสมผสานระหว่างความเก่าและความใหม่ ระหว่างตะวันออกกับตะวันตกอย่างลงตัว คุยกันถึงตอนนี้ ลูกชายค้านว่า ปีนังเก่าตรงไหน แม่ ประวัติศาสตร์ของเขาย้อนกลับไปได้ไม่กี่ร้อยปี เอ้อ ถ้าเอาปีนังไปเปรียบกับโรมที่ลูกรักนักหนาก็คงได้ข้อโต้แย้งอย่างนี้แหละ แม่มดเลยว่าคราวหน้า เราไปเที่ยวเมืองจีนกันดีกว่าไหม ที่นั่นเขาเก่าจริง แล้วอาหารล่ะ ก็ชอบอาหารจีนเหมือนกันไม่ใช่หรือ งานนี้ลูกยิ้ม ตอบว่าอาหารจีนในเมืองไทยอร่อยกว่าที่ปีนังตั้งเยอะ ปีนังแปลงห้องแถวแบบจีนมาเป็นร้านกาแฟน่านั่งและที่พักสวยๆมากมายแต่ราคากาแฟและขนมไม่ย่อมเยาเลยค่ะ แพงพอๆกับร้านกาแฟหรูๆในบางกอกทีเดียว ราคาห้องพักใน guesthouse ไม่แพงนะคะแต่ผู้พักมักจะต้องใช้ห้องน้ำรวมซึ่งแม่มดยี้มาก การสร้างห้องน้ำแบบ en suite ที่นั่นแพงมากหรืออย่างไร แม่มดก็ลืมถาม
เรื่องราวของปีนังแยกไม่ออกจากชีวิตและการต่อสู้ของชาวจีนโพ้นทะเลที่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในเกาะนี้ ถ้าเพื่อนๆมีเวลาและต้องการรู้จักปีนังอย่างลุ่มลึกสักหน่อย มีสถานที่น่าสนใจหลายแห่งที่ควรเข้าชมนะคะ เช่น อาคารหลังนี้เคยเป็นฐานที่มั่นแห่งหนึ่งของดร.ซุนยัดเซ็น The Blue Mansion เป็นคฤหาสน์ขนาด ๓๘ ห้องของคหบดีนาม Cheong Fatt Tze ท่านผู้นี้หอบเสื่อผืนหมอนใบมาจากจังหวัด Guandong ในประเทศจีน สร้างตนเองจนร่ำรวยและมีอำนาจขนาดที่ทางการของดัทช์และสหราชอาณาจักรสั่งให้มีการลดธงลงครึ่งเสาเมื่อท่านจากไปในค.ศ.๑๙๑๖ เพื่อนๆที่มีวัยอาวุโสพอที่จะมีโอกาสชมภาพยนตร์เรื่อง Indochine (starring Catherine Deneuve) ซึ่งได้รับรางวัลทั้ง Oscar และ Golden Globe ในฐานะภาพยนต์ภาษาต่างชาติยอดเยี่ยมอาจจะได้เห็นคฤหาสน์สีน้ำเงินหลังนี้ในฉากหนึ่งของภาพยนต์เรื่องนั้นนะคะ ที่นี่เปิดส่วนหนึ่งเป็นโรงแรมและภัตตาคารด้วยค่ะแต่แม่มดมีสตางค์ให้ได้แค่การเข้าชมส่วนที่เปิดเป็น museum เท่านั้น วัดจีนประจำตระกูลแซ่คู้ (Khoo Kongsi) ได้ชื่อว่าเป็นวัดจีนที่งดงามที่สุดของปีนัง ความจริงเกาะแห่งนี้มีวัดจีนที่น่าชมมากมาย ดูเหมือนว่าคหบดีจีนทุกตระกูลจะสร้างวัดไว้ข้างบ้าน เหมือนเศรษฐีไทยสมัยอยุธยานะคะ ทว่าคู้กงสีไม่ได้เป็นเพียงวัดจีนธรรมดา แต่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใช้ audio-visual technology บอกเล่าเรื่องราวการตั้งถิ่นฐาน การเติบโตทางธุรกิจของชาวจีนโพ้นทะเลจนถึงวันเวลาที่อยู่ภายใต้อำนาจของเจ้าอาณานิคม แม้จะเป็นเรื่องราวของตระกูลเดียวแต่ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ทำให้ผู้เข้าชมสามารถเข้าใจพัฒนาการและการเติบโตของเกาะปีนังได้อย่างชัดเจนเชียวค่ะ อ้อ คู้กงสีถูกใช้เป็นฉากหนึ่งของภาพยนตร์เรื่อง Anna and the King เวอร์ชั่นล่าสุด (ค.ศ. ๑๙๙๙) ที่นำแสดงโดย Jodie Foster และ Yun – Fat Chow ด้วยค่ะ
แต่สิ่งที่ทำให้แม่มดเพลิดเพลินใจที่สุดในการเดินชมเมือง Georgetown คือ street art ที่ถูกแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม ๒ เส้นทางด้วยการนำเสนอใน ๒ รูปแบบซึ่งมีความเหมือนกันตรงอารมณ์ขันและความรักที่ศิลปินผู้สร้างงานมีต่อเกาะเล็กๆแห่งนี้ที่ผู้ชมสามารถสัมผัสได้อย่างไม่ยากเย็น ส่วนหนึ่งของภาพวาดบนกำแพงฝีมือ Ernest Zaccharevic หนุ่มน้อยจากลิธัวเนียที่ทำให้กำแพงเก่าๆของปีนังมีชีวิตชีวาขึ้นมาอย่างมากมายค่ะ แม่มดว่าเสน่ห์ของภาพวาดเหล่านี้คือกิริยาใสซื่อของวัยเยาว์ที่ศิลปินสามารถสื่อออกมาได้อย่างแจ่มชัดและเป็นธรรมชาติยิ่งนัก ความกล้าหาญที่จะคิดและสร้างงานนอกกรอบของคุณ Ernest Zaccharevic เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมเหลือเกิน เพื่อนๆคิดเหมือนแม่มดไหมคะ ภาพสามล้อรอผู้โดยสารเป็นงานที่มาเพิ่มเติมโดย Desmond Yeo และภาพเด็กๆโล้ชิงช้าเป็นฝีมือของ Louis Gan Street Art อีกกลุ่มหนึ่งเป็นการ์ตูนล้อ (Caricature) ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากเหล็กดัดในหัวข้อ Making Georgetown เหล็กดัดพร้อมคำบรรยายภาษาอังกฤษที่เล่าถึงพัฒนาการของเมืองด้วยน้ำเสียงขบขันแกมเอ็นดูได้รับการติดตั้งไว้ตามถนนและซอกซอยต่างๆทั่วเมือง เป็นการเล่าเรื่องของผู้คนในอดีตอย่างง่ายๆ เบาๆ เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน ให้ความรู้สึกอบอุ่นและรักใคร่ใยดี การเรียนรู้ข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์และสังคมไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเคร่งเครียด งานศิลปะไม่จำเป็นต้องทำให้ผู้ชมตื่นตะลึงและพยายามตีความจนหัวแทบแตกเสมอไป ความเรียบง่ายเป็นรูปแบบหนึ่งของความงดงาม แม่มดคิดอย่างนั้นนะคะ One Leg kicks All แม่มดชอบเนื้อหาของงานชิ้นนี้เป็นพิเศษ เขาเล่าถึงบรรดาคนรับใช้ชาวกวางตุ้งที่ทำงานหนักและมีความสำคัญอย่างมากมายในการดูแลความทุกข์สุขของผู้คนในครอบครัวของนายจ้าง แจ๋วมืออาชีพอย่างแม่มดอ่านแล้วก็ต้อง in จัดเป็นธรรมดาล่ะค่ะ Ting Ting Thong มีใครเกิดและโตทันได้เห็นคนจีนสูงวัยเดินขายตังเมแท่งผสมถั่วลิสงที่แข็งโป๊กและเหนียวหนึบจนติดฟันบ้างไหมคะ Property เนื้อหาของภาพนี้บอกเล่าถึงอาคารร้านค้าและโกดังที่ได้รับการก่อสร้างในศตวรรษที่ ๑๙ บนถนน Victoria Street
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆน้อยๆค่ะ สำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวของปีนังฉลาดมาก เขาทำแผนที่ตรอกซอกซอยซึ่งเป็นที่ตั้งของ Street Art แจกฟรีให้เราเดินหาภาพ อ่านภาพไปเรื่อยๆจนลืมความร้อนชื้นของปีนังหน้าฝน กว่าจะหาครบ เราก็ยิ้มจนเมื่อยแก้มแถมได้ความรู้มาอีกหนึ่งกระบุง ความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นจากการเดินทนไปจนทั่ว Georgetown กลายเป็นเรื่องจิ๊บๆไปเลยค่ะ งานนี้ รู้ว่าเขาหลอกแต่ก็เต็มใจให้หลอกนะคะ
Michael Bublé - You Make Me Feel So Young |
ถึง บล็อกเกอร์ ทุกท่าน โปรดอ่าน
ด้วยทาง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้ติดต่อขอความร่วมมือ มายังเว็บไซต์และเว็บบล็อกต่าง ๆ รวมไปถึงเว็บบล็อก OKnation
ห้ามให้มีการเผยแพร่ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ บนเว็บ blog โดยกำหนดขอบเขตของสิ่งที่ห้ามทำ และสามารถทำได้ ดังนี้
ห้ามทำ - การใส่ผลงานเพลงต้นฉบับให้ฟัง ทั้งแบบควบคุมเพลงได้ หรือซ่อนเป็นพื้นหลัง และทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือ copy code คนอื่นมาใช้ - การเผยแพร่ file ให้ download ทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือฝากไว้ server คนอื่น สามารถทำได้ - เผยแพร่เนื้อเพลง ต้องระบุชื่อเพลงและชื่อผู้ร้องให้ชัดเจน - การใส่เพลงที่ร้องไว้เอง ต้องระบุชื่อผู้ร้องต้นฉบับให้ชัดเจน จึงเรียนมาเพื่อโปรดปฎิบัติตาม มิเช่นนั้นทางบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ จะให้ฝ่ายดูแลลิขสิทธิ์ ดำเนินการเอาผิดกับท่านตามกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์
OKNATION
กฎกติกาการเขียนเรื่องและแสดงความคิดเห็น
1 การเขียน หรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต้องไม่หมิ่นเหม่ หรือกระทบต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
2. ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่นในทางเสียหาย หรือสร้างความแตกแยกในสังคม กับทั้งไม่มีภาพ วิดีโอคลิป หรือถ้อยคำลามก อนาจาร 3. ความขัดแย้งส่วนตัวที่เกิดจากการเขียนเรื่อง แสดงความคิดเห็น หรือในกล่องรับส่งข้อความ (หลังไมค์) ต้องไม่นำมาโพสหรือขยายความต่อในบล็อก และการโพสเรื่องส่วนตัว และการแสดงความคิดเห็น ต้องใช้ภาษาที่สุภาพเท่านั้น 4. พิจารณาเนื้อหาที่จะโพสก่อนเผยแพร่ให้รอบคอบ ว่าจะไม่เป็นการละเมิดกฎหมายใดใด และปิดคอมเมนต์หากจำเป็นโดยเฉพาะเรื่องที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน 5.การนำเรื่อง ภาพ หรือคลิปวิดีโอ ที่มิใช่ของตนเองมาลงในบล็อก ควรอ้างอิงแหล่งที่มา และ หลีกเลี่ยงการเผยแพร่สิ่งที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือวิธีการใดก็ตาม 6. เนื้อหาและความคิดเห็นในบล็อก ไม่เกี่ยวข้องกับทีมงานผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซต์ โดยถือเป็นความรับผิดชอบทางกฎหมายเป็นการส่วนตัวของสมาชิก คลิ้กอ่านเงื่อนไขทั้งหมดที่นี่"
OKnation ขอสงวนสิทธิ์ในการปิดบล็อก ลบเนื้อหาและความคิดเห็น ที่ขัดต่อความดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของบล็อกและเจ้าของความคิดเห็นนั้นๆ
|
||
![]() ![]() |