วิกฤติเศรษฐกิจ 2540 อเมริกา ปากว่าตาขยิบ เกริ่นนำ หลังจากต่อกรด้านอุดมการณ์กันกว่าครึ่งศตวรรษ ค่ายคอมมิวนิสต์ก็ปราชัยต่อค่ายทุนนิยม นับแต่นั้นเป็นต้นมา กระแสทุนนิยมเสรีก็ถาโถมเข้าใส่ประเทศกำลังพัฒนา เงินทุนจำนวนมหาศาลได้เคลื่อนเข้ามา มีทั้งเงินกู้ เงินลงทุนโดยตรง และ เงินลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ ด้วยเหตุผลว่าประเทศเหล่านี้อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ แรงงานถูก ที่ดินว่างเปล่ามากมาย อีกทั้งมีตลาดขนาดใหญ่ที่จะมารองรับสินค้าที่ผลิตได้ในเวลาเดียวกัน ดังนั้น อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่เหล่านี้จึงพุ่งแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะในย่านเอเซีย จนนักวิชาการเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า "ปาฎิหาริย์ทางเศรษฐกิจ" ของโลกเลยทีเดียว ประเทศไทยในกระแสทุนนิยม ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เข้าร่วมขบวนการทุนนิยมเสรีนี้ด้วย ทั้งโดยกระแสสังคมโลกและกึ่งถูกบังคับจากประเทศทุนนิยมขนาดใหญ่ ที่มักนำเรื่องภาษีและโควต้านำเข้าสินค้ามาเป็นเครื่องมือต่อรอง เมื่อกลไกทุนนิยมทำงานเต็มที่ ความเฟื่องฟูก็แพร่กระจายไปทุกภาคธุรกิจ ความเฟื่องฟูนี้ถูกเสริมเข้าไปอีก ด้วยนโยบายเปิดเสรีทางการเงินที่เรียกว่า กิจการวิเทศธนกิจ (Bangkok International Banking Facilities: BIBF) บริษัทและสถาบันการเงินในประเทศสามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินในต่างประเทศได้โดยตรง ซึ่งดอกเบี้ยในขณะนั้นอยู่ที่ 5-6 % เท่านั้น ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้ของไทยสูงถึง 10-12 % เมื่อเงินได้มาง่ายและมีต้นทุนต่ำ ทำให้การใช้เงินเป็นไปอย่างหละหลวม เงินจำนวนมากถูกนำไปเก็งกำไรในตลาดหุ้น ซื้อที่ดิน หรือแม้แต่กู้มาฝากธนาคารกินส่วนต่างของดอกเบี้ย นักลงทุนต่างประเทศก็แห่เข้ามาตั้งโรงงานในไทย โดยอาศัยค่าแรงต่ำ ที่ดินราคาถูก ผลิตสินค้าออกขายทั่วโลก แต่แล้วมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยก็สุกงอมในปี 2538-2539 และในปี2540 ฟองสบู่ได้แตกลง เศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอจากปัญหาหนี้เสียของสถาบันการเงิน การส่งออกที่ลดลง และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงขึ้น ทำให้กองทุนบริหารความเสี่ยง ( เฮดจ์ฟันด์ ) เริ่มโจมตีค่าเงินบาทของไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ในเวลานั้น ได้ทยอยนำทุนสำรองระหว่างประเทศมาต่อสู้กับเฮดจ์ฟันด์ แต่ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยที่มีเพียง 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฤาจะสู้กับเงินกองทุนขนาด 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ของเฮดจ์ฟันด์ที่มีอยู่ทั่วโลกในเวลานั้นได้ ในที่สุดทุนสำรองของไทยถูกนำไปสู้กับเฮดจ์ฟันด์จนเกือบหมด นำมาสู่ความพ่ายแพ้ในเกมสัประยุทธ์เงินตรา จนต้องเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัว และในที่สุดต้องขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( ไอเอ็มเอฟ ) ประเทศไทยใต้ร่มเงา ไอเอ็มเอฟ วงเงิน 17,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ ไอเอ็มเอฟ ให้กู้แก่ไทยนั้น เป็นเงินในส่วนของไอเอ็มเอฟ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่เหลือเป็นเงินสบทบจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ( เอดีบี ) และจากประเทศต่างๆในเอเชีย เป็นที่น่าสังเกตว่าเงินสบทบจากชาติต่างๆนั้น ญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือไทยอย่างกระตือรือร้น ขณะที่สหรัฐอเมริกาแทบไม่ได้ให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมอะไรเลย แต่ยาไอเอ็มเอฟไม่ได้ผล แล้วเชื้อต้มยำกุ้งของไทยก็แพร่กระจายลุกลามไปทั่วทวีปเอเชีย ส่งผลถึงรัสเซีย ลามไปถึงละตินอเมริกา และกลายเป็นวิกฤติความเชื่อไปทั่วโลก เฮดจ์ฟันด์ นักปล้นในชุดสูท กองทุนบริหารความเสี่ยง หรือเฮดจ์ฟันด์ มีมาประมาณ 60 ปีแล้ว เริ่มต้นที่สหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นเครื่องมือในการกระจายความเสี่ยงของการลงทุน และการแลกเปลี่ยนเงินตรา แต่มาระยะหลังเฮดจ์ฟันด์มาเน้นการเก็งกำไรในกิจกรรมทุกรูปแบบ การทำชอร์ตเซลหุ้น เก็งกำไรอัตราดอกเบี้ย พันธบัตรและการค้าเงินสกุลต่างๆ เฮดจ์ฟันด์เริ่มเป็นที่รู้จัก เมื่อโจมตีค่าเงินปอนด์ของอังกฤษในปี 2535 ค่าเงินเปโซของเม็กซิโกในปี 2537 สามารถประสบความสำเร็จทำกำไรได้อย่างงดงาม และมาสร้างชื่ออีกครั้งเมื่อเข้ามาโจมตีค่าเงินบาทของไทยในปี 2540 วิธีทำกำไรของเฮดจ์ฟันด์ คือการอาศัยกลไกตลาดเสรี เข้าไปกู้เงินสกุลท้องถิ่นมาถือครองไว้ไห้มากพอ จากนั้นก็ขายเงินสกุลท้องถิ่นนั้นออกไปพร้อมกับการปล่อยข่าวลือว่าประเทศนั้น ประเทศนี้ต้องลดค่าเงินแล้ว เพราะขาดดุลการค้าบ้าง กู้เงินต่างประเทศมากเกินไปบ้าง ทุนสำรองร่อยหรอบ้าง ซึ่งมักจะสอดรับกับสถาบันจัดอันดับเครดิตของอเมริกาที่จะปรับลดอันดับเครดิตของประเทศเป้าหมายลง เมื่อนักลงทุนทุกคนขานรับ ขายเงินสกุลนั้นออกมา เงินก็จะอ่อนค่าลง เขาจึงค่อยกลับเข้าไปซื้อ เพื่อนำไปชำระคืนเงินกู้ที่ยืมมาก่อนหน้านั้น ส่วนต่างก็คือกำไร กองทุนเฮดจ์ฟันด์ ในขณะนั้นมีอยู่ 2,000 รายทั่วโลก มีเงินทุนรวมกันกว่า 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปัจจุบันมีกองทุนเฮดจ์ฟันด์ในอเมริกา 8,000 กองทุน มีเงินทุน 1.2 ล้านล้านบาท) จึงเปรียบได้กับฝูงหมาป่าฝูงใหญ่ที่จ้องทำร้ายลูกแกะตัวที่อ่อนแอที่สุด ทันทีที่ลูกแกะเป้าหมายแสดงอาการบาดเจ็บ อ่อนแรง ฝูงหมาป่าทั้งฝูงก็จะกลุ้มรุมเข้ามาทำร้ายทันที ปัญหาของประเทศเป้าหมายที่มักถูกนำมาโจมตี ได้แก่ ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ การขาดดุลการค้ายาวนาน สถาบันการเงินอ่อนแอ ทุนสำรองระหว่างประเทศต่ำ หนี้ต่างประเทศสูง และ ราคาสินค้าส่งออกตกต่ำ เป็นต้น ทุกประเทศมีวัฎจักรทางเศรษฐกิจ ขึ้นลงสลับกันไปมาในแต่ละประเทศ แต่ละภูมิภาค จึงเป็นช่องทางให้เฮดจ์ฟันด์เข้ามาแสวงหากำไรจากประเทศที่กำลังเผชิญวิกฤติอันเลวร้าย ทำให้เหตุการณ์ปะทุขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงกว่าปกติ จนอาจทำให้ประเทศเป้าหมายเสียหาย ถึงขนาดล้มละลายได้ แต่ทั้งนี้ใช่ว่าเฮดจ์ฟันด์จะเป็นผู้กุมชัยชนะเสมอไป เพราะมีบางกองทุนที่ไปลงทุนเก็งกำไรในพันธบัตรหรือหุ้นในตลาดเกิดใหม่ เมื่อมีการลดค่าเงินท้องถิ่น กองทุนพวกนี้อาจจะขาดทุนถึงขั้นล้มละลายได้เช่นเดียวกัน ปัจจุบันเฮดจ์ฟันด์ที่ยังทำกำไรได้ดี จะเป็นกองทุนที่ลงทุนในสกุลเงินต่างๆ ทิศทางอัตราดอกเบี้ย และการทำชอร์ตเซลหุ้น ทำไมเฮดจ์ฟันด์มีชัยชนะเมื่อโจมตีค่าเงิน ในทางทฤษฎี ค่าของเงินจะเป็นภาพสะท้อนความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจของประเทศ แต่นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ของความเชื่อมั่น นักลงทุนและนักเก็งกำไรจะคอยติดตามข่าวสารว่าประเทศใดเศรษฐกิจกำลังอ่อนแอ ประเทศใดค่าเงินกำลังจะถูกโจมตี จากนั้นพวกเขาจะเข้าร่วมเก็งกำไรทันที ลองนึกภาพนักลงทุน นักเก็งกำไร ทั้งระดับสถาบันและรายย่อย นับหมื่นนับแสนราย พยายามขายเงินสกุลท้องถิ่นนั้นออกมา รัฐบาลชาติไหนก็พยุงค่าเงินไว้ไม่อยู่ สุดท้ายค่าเงินก็ไม่ได้สะท้อนฐานะที่แท้จริง แต่กลายเป็นจิตวิทยาฝูงชนเหมือนการปั่นหุ้นในตลาดหุ้น ดังนั้น เฮดจ์ฟันด์จึงเปรียบเหมือนหนอนที่กำลังชอนไชทั้งระบบทุนนิยมเสรี หากเรายังควบคุมมันไม่ได้ ระบบทั้งระบบจะถูกทำลาย ประเทศเกิดใหม่ที่เศรษฐกิจยังไม่แข็งแรงจะผละระบบทุนนิยมเสรีไปเลือกใช้ลัทธิกีดกันการค้าเพื่อรักษาเศรษฐกิจของประเทศไว้ แล้วการควบคุมเงินทุนและสินค้านำเข้าอย่างจำกัดและเข้มงวดจะถูกนำมาใช้ เมื่อถึงตอนนั้นกองทุนเฮดจ์ฟันด์เองก็ต้องล่มสลายไป สหรัฐอเมริกา ปากว่าตาขยิบ การเมืองระหว่างประเทศเป็นเรื่องผลประโยชน์ คงจำกันได้ว่าเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในเอเซียใหม่ๆนั้น กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมซีกตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ไม่ได้ให้ความสนใจปัญหานี้เท่าไรนัก ดูได้จากการไม่ได้ให้เงินกู้สมทบผ่านไอเอ็มเอฟแก่ไทยเลย ต่างกับตอนที่ที่ช่วยเหลือเม็กซิโกที่สหรัฐให้ถึง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2538 ทำไมสหรัฐอเมริกาซึ่งมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจเป็นอันดับหนึ่งในโลกเวลานั้นจึงไม่แสดงน้ำใจช่วยเหลือไทยเลย ถ้าสหรัฐช่วย วิกฤติความเชื่อมั่นคงไม่ลุกลามไปมากขนาดนั้น นี่คงไม่ใช่ความหลงลืม หรือกำลังยุ่งกับปัญหาภายใน แต่อาจมีวัตถุประสงค์แอบแฝงที่ชวนให้สงสัย ประเทศไทยไม่เพียงแต่ไม่ได้เป็นฐานการลงทุนที่สำคัญของสหรัฐอีกต่อไป แต่สหรัฐยังได้ประโยชน์จากการทรุดตัวทางเศรษฐกิจของไทยอีกด้วย เริ่มจากเฮดจ์ฟันด์ต่างๆที่กอบโกยกำไรมหาศาลจากการโจมตีค่าเงินของไทย ล้วนแต่มีสัญชาติอเมริกันเป็นส่วนใหญ่ ครั้นเมื่อมีการประมูลขายทรัพย์สินขององค์การเพื่การปฎิรูประบบสถาบันการเงิน ( ปรส. ) หรือเมื่อมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ นักลงทุนสหรัฐคือผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจสูงสุดในเวลานั้น แล้วยังสามารถซื้อได้ในราคาเพียง 25-30 % ของราคาเดิมเท่านั้น เนื่องจากเป็นราคาเลหลังและค่าเงินของไทยเวลานั้นก็ลดลงไปกว่า 50 % แล้ว นอกจากนี้ ในภาวะที่ประเทศไทยกำลังต้องการเงินลงทุนจากต่างประเทศ ย่อมเป็นโอกาสอันดีที่สหรัฐจะได้ต่อรองเงื่อนไขการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการแก้กฎหมายให้คนต่างชาติสามารถถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ การเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในสถาบันการเงิน เช่นธนาคาร หรือบริษัทประกันภัย ทั้งยังขอให้เปิดเสรีในการประกอบอาชีพที่เคยสงวนสิทธิให้แก่คนไทยอีกด้วย แต่สหรัฐประเมินปัญหาเอเซียต่ำไป !! เมื่อแรกเริ่ม ปัญหาจำกัดขอบเขตอยู่ในภูมิภาคเอเซีย สหรัฐอาจนั่งยิ้มและได้ประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เมื่อปัญหาได้ขยายวงออกไป กลายเป็นเรื่องวิกฤติการณ์ของความเชื่อมั่นแล้ว ประเทศที่อ่อนแอทางเศรษฐกิจอย่างรัสเซีย ประเทศที่พึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศจำนวนมากอย่างละตินอเมริกา เริ่มประสบปัญหาเช่นเดียวกับเอเซีย ถึงตอนนี้สหรัฐนิ่งเฉยไม่ได้แล้ว สหรัฐถือเป็นผู้ลงทุนในรัสเซียมากเป็นอันดับสองรองจากเยอรมันนี สถาบันการเงินจำนวนมากไปลงทุนในรัสเซีย ส่วนละตินอเมริกาถือเป็นฐานการผลิตนอกประเทศที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐ และเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาด้วย สุดท้าย สถาบันการเงินหลายแห่งของสหรัฐ โดยเฉพาะเฮดจ์ฟันด์ที่ไปลงทุนในรัสเซียและละตินอเมริกาเริ่มมีปัญหาแล้ว บทบาทของสหรัฐในฐานะผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกทุนนิยมเสรีเริ่มสั่นคลอน เมื่อไม่สามารถดูแลกลไกตลาดเสรีให้ทำงานตามปกติได้ หลายประเทศที่ประสบปัญหา เริ่มใช้มาตรการควบคุมการนำเข้าสินค้า มีการควบคุมเงินทุนอย่างเข้มงวด ลัทธิกีดกันการค้ากลับมาท้าทายตลาดเสรีอีกครั้ง ผู้นำกลุ่มประเทศยุโรป เสนอให้มีการจัดระเบียบการเงินโลกใหม่ ทบทวนบทบาทของไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก พร้อมทั้งให้มีการตรวจสอบควบคุมสถาบันการเงิน โดยเฉพาะเฮดจ์ฟันด์ให้อยู่ในกรอบในเกณฑ์มากขึ้น ผู้นำประเทศญี่ปุ่นก็เสนอให้ควบคุมเฮดจ์ฟันด์และเงินลงทุนระยะสั้นด้วย ถึงวันนี้สหรัฐจะตระหนักหรือไม่ว่า ระบบทุนนิยมเสรี หากเปรียบเป็นร่างกายคนก็ต้องประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ ซึ่งได้แก่ประเทศสมาชิกประชาคมโลก อาจสำคัญมากน้อยแตกต่างกัน แต่ต้องพึ่งพาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หากปล่อยให้อวัยวะใดอวัยวะหนึ่งถูกหนอนชอนไช สักวันหนึ่ง ร่างกายทั้งร่างก็ต้องล้มลง เมื่อถึงวันนั้นอวัยวะที่คิดว่าตนเองสำคัญที่สุดก็อยู่ไม่ได้ ระวัง กรรมตามสนอง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตไม่แพ้ฟองสบู่ ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นจาก 5,000 จุด เป็น 13,000 จุด คนอเมริกันใช้เงินกันอย่างสุรุ่ยสุร่าย สถาบันการเงินหลายแห่งเริ่มอ่อนแอ หนี้เสียในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์พุ่งสูง การขาดดุลการค้าที่ยาวนานและเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อนกำลังสั่นคลอนเศรษฐกิจของสหรัฐ หรือนี่จะเป็นลางบอกเหตุของฟองสบู่ลูกต่อไป อเมริกา
ระวัง!! เฮดจ์ฟันด์กำลังรอตะครุบเหยื่อรายใหม่ของมัน
|