ช่วงนี้ ไปไหนมาไหน มีแต่คนถามว่า จะรับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญดี ผมเองยังโดนคนใกล้ชิดถามคำถามนี้เลย ผมจึงต้องไปนั่งอ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ 2 วัน ในที่สุดผมก็ได้คำตอบครับ ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2559 นี้ มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการร่าง มีเนื้อหาทั้งหมด 279 มาตรา แบ่งเป็น 16 หมวด พร้อมบทเฉพาะกาล รวมกันทั้งสิ้น 105 หน้า ในช่วงต้นของการอ่าน เราจะรู้สึกดีและอ่านสบายๆเกี่ยวกับสิ่งที่กำหนดไว้ในหมวดสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยและหมวดหน้าที่ของรัฐ ว่ารัฐพร้อมจะคุ้มครอง ดูแลประชาชน ขณะที่ประชาชนและชุมชนก็มีสิทธิที่จะติดตาม สอบถามความคืบหน้าการดำเนินงาน พร้อมทั้งสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น ในด้านกฎหมาย มีการพูดถึงว่า ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านและเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป เรียกได้ว่าให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ดูแลกันตั้งแต่แรกเกิดจนแก่ชรา แต่เนื้อหาเริ่มมาหนักเมื่อถึงหมวดรัฐสภาเป็นต้นไป ดูเหมือนเนื้อหาจะมีเจตนาอันแรงกล้าที่จะสกัดกั้นนักการเมืองไม่ให้เข้ามาโกงกิน หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือไม่ให้ความเชื่อถือกับนักการเมืองเลย ว่าพวกเขาจะมีเจตนาดีที่จะเข้ามาดูแลบ้านเมือง จึงเป็นที่มาของการถกเถียงโต้แย้งกันว่า สิ่งที่ร่างมาใหม่นี้เกินเลย จนอาจมีเจตนาแอบแฝง หรือว่าสมควรแก่เหตุแล้ว ซึ่งเราจะค่อยๆมาไล่เรียงทีละมาตรากันครับ (เนื้อหาโดยย่อเฉพาะที่สำคัญ) มาตรา 83 สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวน500คน คือ มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน350คน และมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจำนวน150คน มาตรา 85 หลักเกณฑ์ วิธีการ สมัครรับเลือกตั้ง การลงคะแนนและการประกาศผลการเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง โดยกฎหมายดังกล่าวจะกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องยื่นหลักฐานแสดงการเสียภาษีเงินได้ประกอบการสมัครด้วยก็ได้ มาตรา 98 บุคคลที่ห้ามมิให้สมัครเป็น ส.ส. ให้รวมถึงผู้ที่เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ ข้อหาทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ เคยต้องคำพิพากษาให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ เคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำการทุจริตในการเลือกตั้ง และเคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุตามมาตรา 144 หรือมาตรา 235 (ที่นักการเมืองกลัวที่สุดในตอนนี้ โปรดอ่านในรายละเอียดถัดไป) มาตรา 99 อายุของสภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดคราวละ4 ปี มาตรา 107 วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน200คน ซึ่งมาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆของสังคม การสมัครและวิธีการเลือกกันเองให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 ลักษณะต้องห้ามของผู้รับสมัครเป็น ส.ว. ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นส.ส. เว้นแต่ได้พ้นตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า5ปี ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง เว้นแต่ได้พ้นจากมาแล้วไม่น้อยกว่า5ปี ไม่เป็นหรือเคยเป็นรัฐมนตรี เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นรัฐมนตรีมาแล้วไม่น้อยกว่า5ปี ไม่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นมาแล้วไม่น้อยกว่า5ปี และไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้สมัครรับเลือกเป็น ส.ว.ในคราวเดียวกัน และต้องไม่เคยดำรงตำแหน่ง ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญนี้ มาตรา 109 อายุของวุฒิสภามีกำหนดคราวละ5ปี มาตรา 144 ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะกรรมาธิการ การเสนอแปรญัตติหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้ส.ส. ส.ว.หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย จะกระทำมิได้ ในกรณีที่ ส.ส.หรือ ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เห็นว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัตินี้ ให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนจริง ให้การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำดังกล่าวเป็นอันสิ้นผล ถ้าผู้กระทำการดังกล่าวเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. ให้ผู้กระทำการนั้นสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น แต่ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้กระทำการหรืออนุมัติให้กระทำ หรือรู้ว่ามีการกระทำดังกล่าวแล้วแต่มิได้สั่งยับยั้ง ให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้อยู่ในที่ประชุมในขณะที่มีมติ และให้ผู้กระทำการดังกล่าวต้องรับผิดชดใช้เงินนั้นคืนพร้อมด้วยดอกเบี้ย โดยการเรียกเงินคืนนี้ให้กระทำได้ภายในยี่สิบปีนับแต่วันที่มีการจัดสรรงบประมาณนั้น มาตรา 170 ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187 มาตรา 186 รัฐมนตรีต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งกระทำการใด อันเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมืองโดยมิชอบตามที่กำหนดในมาตรฐานทางจริยธรรม มาตรา 187 รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท และต้องไม่เป็นลูกจ้างของบุคคลใด และให้ใช้บังคับแก่คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของรัฐมนตรี และรวมถึงการถือหุ้นของรัฐมนตรีที่อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่นไม่ว่าโดยทางใด ๆ ด้วย เว้นแต่โอนหุ้นดังกล่าวให้แก่นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น(ทรัสตี) มาตรา 235 ในกรณีที่ศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหาคือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มีพฤติการณ์หรือกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา(คือร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง) ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเพื่อเป็น ส.ส. ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป รวมทั้งไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ ในกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิดฐานร่ำรวยผิดปกติหรือทุจริตต่อหน้าที่ ให้ริบทรัพย์สินที่ผู้นั้นได้มาจากการกระทำความผิด รวมทั้งบรรดาทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้มาแทนทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน ให้นำมาตรานี้มาใช้บังคับแก่กรณีที่บุคคล จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้นด้วย มาตรา 256 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้กระทำได้โดยขอเสนอแก้ไขจากคณะรัฐมนตรี หรือจากส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนส.ส. หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนเข้าชื่อเสนอ แล้วเสนอให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ วาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้มีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วย ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนส.ส.และ ส.ว.รวมกัน ซึ่งในจำนวนนี้ต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวน ส.ว.ทั้งหมด วาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ ในวาระสาม ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.และ ส.ว.รวมกัน โดยในจำนวนนี้ต้องมีส.ส.จากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน(ที่ไม่มีสมาชิกเป็นรองประธานสภา)เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุกพรรคฝ่ายค้านดังกล่าวรวมกัน และมี ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวน ส.ว.ทั้งหมด มาตรา 259 การปฏิรูปประเทศให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งต้องมีวิธีการจัดทำแผน การมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การปฏิรูปทุกด้านไม่ว่าการเมือง กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจและการศึกษาต้องกำหนดให้เริ่มดำเนินการภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ รวมตลอดทั้งผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังว่าจะบรรลุในระยะเวลา5ปี บทเฉพาะกาล มาตรา 269 ในวาระเริ่มแรก ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคำแนะนำ โดยในการสรรหาและแต่งตั้งนี้ คสช.คัดเลือกผู้ได้รับเลือกจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ได้จำนวน50คน และให้คัดเลือกบุคคลจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับจากคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ให้ได้จำนวน194คนรวมกับผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็น250คน (เฉพาะชุดแรก หลังจากนั้นให้ใช้วิธีสมัครและคัดเลือกกันเองตามมาตรา 107) อายุของวุฒิสภาตามมาตรานี้มีกำหนด5ปี มาตรา 272 ในวาระเริ่มแรก หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ ไม่ว่าด้วยเหตุใด และหากรัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวน ส.ส.และ ส.ว.รวมกันให้ยกเว้นได้ ให้สภาผู้แทนราษฎรเสนอชื่อผู้อยู่นอกบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ก็ได้ วิเคราะห์ขอดีข้อเสีย หากเราตั้งใจอ่านเนื้อหาข้างต้นอย่างพินิจพิเคราะห์ เราจะไม่แปลกใจว่าทำไมนักการเมืองถึงไม่ชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะมันทำให้มีความเสี่ยงอย่างมหันต์ในการเข้ามาทำธุรกิจการเมือง ถ้าเรามองในด้านดี จะเห็นว่า ผู้ร่างมีเจตนาที่จะทำลายโครงสร้างระบบธุรกิจการเมือง การเอื้อประโยชน์ระหว่างนักการเมือง ที่มีการลงทุนและถอนทุน มีการวางบทลงโทษที่รุนแรง มุ่งให้นักการเมืองใช้สอยงบประมาณด้วยความรอบคอบอย่างยิ่งยวดเสมือนเป็นเงินของตนเอง พร้อมทั้งมีการวางโรดแมพเพื่อให้เป็นไปตามแผนปฏิรูปที่ต้องการ และมีการวางแนวทางปลดล็อควิกฤติต่างๆที่ผ่านมาด้วย แต่ถ้ามองด้วยแววตาที่ระแวง ก็สามารถคิดได้ว่า มีการวางคน (ส.ว.) เพื่อมาสืบทอดอำนาจ หรือมีการวางแผนเพื่อให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เพื่อที่ทหารจะได้เข้ามามีบทบาทต่อไป หรือรัฐธรรมนูญนี้อาจสกัดกั้นคนดีให้ไม่กล้าเข้าไปเปลืองตัว ซึ่งก็สามารถมองได้ เพราะเราไม่รู้ว่า อนาคตจะออกหัวออกก้อยอย่างไร คำถามจึงอยู่ที่ว่า ตอนนี้ เรามายืนอยู่ตรงทางแยก จะตัดสินใจเลือกทางไหนดี สำหรับผม ใช้ตรรกะง่ายๆดังนี้ ถ้าเลือกที่จะไม่รับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แล้วกลับไปใช้รัฐธรรมนูญเดิมที่เคยใช้มา มีความเป็นไปได้สูงถึงสูงที่สุด ที่เราจะเดินวนกลับมาจุดเดิม โครงสร้างทางการเมืองเหมือนเดิม มีกลุ่มการเมืองชุดเดิมเข้ามาบริหาร เกิดเผด็จการทางรัฐสภา สร้างธุรกิจการเมือง แบ่งปันผลประโยชน์ โกงกิน คอรัปชั่น จนเงินใต้โต๊ะพุ่งขึ้นไปถึง 40-50% ท่านยังจำภาพเหล่านี้ได้อยู่ใช่ไหม แต่ถ้าเลือกรับรอง แล้วใช้กติกาใหม่ มันมีโอกาส มีความหวังมากกว่า มันเป็นไปได้ที่จะเจอกับการผูกขาด เผด็จการรัฐสภากลุ่มใหม่ แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีโอกาสที่จะเจอการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นไม่แพ้กัน เพราะอย่างน้อย กติกาที่เขียนขึ้นใหม่ ก็จะตีกรอบไม่ให้นักการเมืองโกงกินได้ง่ายเหมือนเดิม ใครที่จะเข้ามาทำหน้าที่ทั้งปวงข้างต้น ต้องเดิมพันด้วยเกียรติภูมิที่สั่งสมมาทั้งชีวิต เสี่ยงต่อการตรวจสอบ และถ้าพลาดอาจถึงกับถูกยึดทรัพย์ ถือเป็นยาแรงที่จำเป็นสำหรับประเทศที่ระบบการเมืองล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ถ้าเปรียบระบบการเมืองเป็นเครื่องมือหล่อเลี้ยงร่างกาย ไม่เพียงแต่ต้องนำไปเครื่องมือนี้ไปเช็ดทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ แต่ยังต้องนำไปแช่แอลกอฮอล์ไว้นาน 5 นาที เพื่อให้เชื้อโรคเดิมที่ฝังอยู่ตายหมดเกลี้ยง แล้วจึงเริ่มต้นนำสารอาหารใหม่สู่ร่างกายอีกครั้ง สำหรับคำถามที่ว่า โครงสร้างแบบนี้ จะไม่มีใครอยากเข้ามาให้เปลืองตัว ผมเชื่อว่าสันดานนักการเมืองไม่เปลี่ยน เขาเคยโกงกินมาได้โดยง่าย ย่อมต้องติดใจและพยายามหาช่องที่จะเข้ามาโกงกินอีกครั้ง อาจจะต้องอดทนยาวนาน รอจนแก้รัฐธรรมนูญแล้ว เริ่มปฏิบัติการใหม่ แต่ถ้ากติกาใหม่ไม่เปิดช่อง เขาอาจล่าถอยไปเอง ส่วนใครที่คิดว่าจะไม่มีคนดีเข้ามาช่วยบ้านเมือง ผมเชื่อว่า เมืองไทยไม่สิ้นคนดี และทองแท้ย่อมไม่กลัวไฟ เพียงแต่รูปแบบก่อนหน้านี้ มันไม่เปิดโอกาส หรือ เขาไม่อยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในขบวนการโกงกินบ้านเมืองด้วย เขาจึงยืนมองอยู่วงนอก ทั้งที่อยากเข้ามาช่วยอย่างสุดหัวใจ และสุดท้ายต่อคำถามที่ว่า ในกรณีเลวร้ายที่สุด ถ้าใช้รัฐธรรมนูญใหม่แล้ว กลับได้เผด็จการซ่อนรูปชุดใหม่มาอีก เข้าลักษณะว่าหนีเสือปะจระเข้ เราจะทำอย่างไร ผมเชื่อในพลังของประชาชน ผู้ปกครองขึ้นมาได้ก็ลงได้ ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย เผด็จการคนใหม่นี้ก็จะถูกขับไล่ ให้ระเห็จไปอยู่ต่างประเทศเหมือนเผด็จการคนอื่นๆที่ผ่านมา ขอให้เชื่อว่า ประชาชนไม่มีวันตาย ประชาชนมีวิจารณญาณของเขาเอง บทสรุป มาถึงตรงนี้ ถ้าท่านบอกตัวเองว่า ชอบรูปแบบการเมืองเดิม ที่นักการเมืองสามารถใช้เงินหลวงได้อย่างสนุกมือ โกงกินกันเป็นขบวนการได้โดยไม่สนใจการตรวจสอบ ท่านรู้ว่าต้องเลือกอะไร แต่ถ้าท่านคิดว่าถึงเวลาที่จะพลิกโฉมประเทศไทย เพราะมันมากเกินไปแล้ว ผมก็เชื่อว่าท่านรู้คำตอบว่า ต้องทำอย่างไร อนาคตของประเทศอยู่ที่ท่านออกแบบครับ บรรยง วิทยวีรศักดิ์ 2/8/2559 |
ถึง บล็อกเกอร์ ทุกท่าน โปรดอ่าน
ด้วยทาง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้ติดต่อขอความร่วมมือ มายังเว็บไซต์และเว็บบล็อกต่าง ๆ รวมไปถึงเว็บบล็อก OKnation
ห้ามให้มีการเผยแพร่ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ บนเว็บ blog โดยกำหนดขอบเขตของสิ่งที่ห้ามทำ และสามารถทำได้ ดังนี้
ห้ามทำ - การใส่ผลงานเพลงต้นฉบับให้ฟัง ทั้งแบบควบคุมเพลงได้ หรือซ่อนเป็นพื้นหลัง และทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือ copy code คนอื่นมาใช้ - การเผยแพร่ file ให้ download ทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือฝากไว้ server คนอื่น สามารถทำได้ - เผยแพร่เนื้อเพลง ต้องระบุชื่อเพลงและชื่อผู้ร้องให้ชัดเจน - การใส่เพลงที่ร้องไว้เอง ต้องระบุชื่อผู้ร้องต้นฉบับให้ชัดเจน จึงเรียนมาเพื่อโปรดปฎิบัติตาม มิเช่นนั้นทางบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ จะให้ฝ่ายดูแลลิขสิทธิ์ ดำเนินการเอาผิดกับท่านตามกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์
OKNATION
กฎกติกาการเขียนเรื่องและแสดงความคิดเห็น
1 การเขียน หรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต้องไม่หมิ่นเหม่ หรือกระทบต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
2. ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่นในทางเสียหาย หรือสร้างความแตกแยกในสังคม กับทั้งไม่มีภาพ วิดีโอคลิป หรือถ้อยคำลามก อนาจาร 3. ความขัดแย้งส่วนตัวที่เกิดจากการเขียนเรื่อง แสดงความคิดเห็น หรือในกล่องรับส่งข้อความ (หลังไมค์) ต้องไม่นำมาโพสหรือขยายความต่อในบล็อก และการโพสเรื่องส่วนตัว และการแสดงความคิดเห็น ต้องใช้ภาษาที่สุภาพเท่านั้น 4. พิจารณาเนื้อหาที่จะโพสก่อนเผยแพร่ให้รอบคอบ ว่าจะไม่เป็นการละเมิดกฎหมายใดใด และปิดคอมเมนต์หากจำเป็นโดยเฉพาะเรื่องที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน 5.การนำเรื่อง ภาพ หรือคลิปวิดีโอ ที่มิใช่ของตนเองมาลงในบล็อก ควรอ้างอิงแหล่งที่มา และ หลีกเลี่ยงการเผยแพร่สิ่งที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือวิธีการใดก็ตาม 6. เนื้อหาและความคิดเห็นในบล็อก ไม่เกี่ยวข้องกับทีมงานผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซต์ โดยถือเป็นความรับผิดชอบทางกฎหมายเป็นการส่วนตัวของสมาชิก คลิ้กอ่านเงื่อนไขทั้งหมดที่นี่"
OKnation ขอสงวนสิทธิ์ในการปิดบล็อก ลบเนื้อหาและความคิดเห็น ที่ขัดต่อความดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของบล็อกและเจ้าของความคิดเห็นนั้นๆ
|
||
![]() ![]() |
<< | สิงหาคม 2016 | >> | ||||
อา | จ | อ | พ | พฤ | ศ | ส |
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | |
7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 |
14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 |
21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 |
28 | 29 | 30 | 31 |