วันศุกร์ ที่ 1 พฤศจิกายน 2556
Posted by
ลูกเสือหมายเลข9
,
ผู้อ่าน : 4433
, 12:30:52 น.
หมวด : ต่างจังหวัด
พิมพ์หน้านี้
โหวต
23 คน
มะอึก
,
วารี
และอีก 21 คนโหวตเรื่องนี้

พลพรรคโอเคฯกำลังจะไปลิบงกันครับ "…เกาะลิบงได้ชื่อมาจากต้นเหลาชะโอน ซึ่งเป็นภาษามลายูเรียกว่าลิบง…เพราะแต่เดิมเกาะนี้มีต้นเหลาชะโอนมาก…เกาะตะลิบง ก็เรียก” ส่วนคำว่า “ปูเลา" หรือ"ปูลู” นั้นก็เป็นภาษามลายูซึ่งแปลว่า “เกาะ” เมื่อนำเอาคำว่าปูลู มารวมเข้ากับคำว่า ลิบงแล้วก็มีความหมาย่า เกาะที่มีต้นเหลาชะโอน คำว่า “ตะ” นั้นก็ได้มีผู้กล่าวว่าเป็นคำในภาษามลายูเช่นกัน ซึ่งแปลว่า “ไม่มี” ดังนั้นคำว่า เกาะตะลิบง จึงมีความหมายตรงกันข้ามกับคำว่า ปูลูลิบง อย่างสิ้นเชิง คือแปลความว่า เป็นเกาะที่ไม่มีต้นเหลาชะโอน.." หนังสืออักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้อธิบายความหมายของ เกาะลิบงเอาไว้ ใช่ครับ...นี่คือ"เกาะลิบง" ที่เราจะไปปลูกหย้าทะเล จนถึงลอยกระทงกันในอีก 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม หากต้องการรู้ถึง"เกาะลิบง"จริงๆก็คงยากที่จะตรวจสอบ อาจจะเป็นเพราะ"คนไทย"ไม่เคยมีบันทึกอะไรไว้ แต่ก็มีเรื่องเล่ากันต่อมาๆว่า "เกาะลิบง" เคยมีฐานะเป็นเมืองมาแล้ว โดยครั้งแรกอยู่ภายใต้การปกครองของไทรบุรี ต่อมาได้ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเมืองตรังและยังปรากฏหลักฐานว่าในช่วงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมืองตรังเคยตั้งอยู่บนเกาะแห่งนี้ด้วย ก่อนที้่จะยก(ตัว)เมืองขึ้นบกมาอยู่ที่"กันตัง"แล้วค่อยย้ายไปที่"ทับเที่ยง"จนวันนี้

เกาะลิบงมีมานานแน่นอน ย้อนไปสมัยพระนารายณ์มหาราช ตนกู ลิ ล้า เจ้าเมืองเคดาห์(ไทรบุรี) ได้ให้พระราชโอรส 2 พระองค์ออกไปปกครองเมืองเกาะในทะเล โดยให้ตนกู อตุลเลาะห์ มะหะหมัด ชา (Tunku Attaullah Mohamad Shah) เสด็จออกไปปกครองเมือง ปูเลาปินัง (เกาะลิบง) กล่าวกันว่า ท่านสร้างความเจริญให้กับเมืองนี้มากมาย จนถึงรุ่นลูกหลาน แต่ไม่มีบันทึก มีเพียง"เรื่องเล่า"ของชาวบ้านว่า “เมื่อพระยาแขกมาตั้งเมืองขึ้นที่บ้านพร้าวแล้ว เมืองนี้ก็รุ่งเรืองมากและ ได้มีสัมพันธไมตรีกับเมืองพม่า ต่อมา บุตรชายของเจ้าเมืองทั้งสองก็ได้เป็นเกลอกัน” มีเรื่องเล่า(อีกนั่นแหละ)ว่า เพราะมีไมตรีดีกับพม่า ลูกชายของเจ้าเมืองลิบง(ไม่ระบุสมัย) ก็ได้เดินทางไปเยี่ยมเพื่อนเกลอที่เป็นลูกเจ้าเมืองพม่า และเมื่อได้พบสบตากับลูกสาวของเจ้าเมืองพม่า ซึ่งเป็นน้องของเพื่อนก็ตกหลุมรัก แต่ตามธรรมเนียมประเพณี น้องสาวของเพื่อนก็คือน้องสาวของตัวเอง จะรักและแต่งงานกันไม่ได้ ไอ้หนุ่มจึงใช้หลักการ...รักพี่ต้องหนีพ่อ พาสาวเจ้าหนีกลับมาครองรักกัน การถูกฉีกหน้าแหกประเพณี ทำให้เจ้าเมืองพม่าโกรธจัด และรวมพลยกทัพมาตีเมืองลิบงก่อนนำลูกสาวกลับเมืองพม่า พร้อมกับเผาเมืองลิบงเสียย่อยยับ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็มีในตำนานนิทานพื้นบ้านที่ลิบง แถมมีหลักฐานในบันทึกของเจมส์ โลว์ ที่เขียนไว้ว่า “แต่ก่อนนี้เกาะลิบงมีพวกมลายูอาศัยอยู่อย่างเป็นสุข แต่เมื่อพวกพม่ายกมารุกรานเมืองถลาง พวกนั้นได้ปล้นสะดมประชาชนบนเกาะนี้ด้วย” แต่นั่นแหละ ไม่มีใครรู้ว่า เจมส์ โลว์ คือใคร ขณะที่ในประวัติศาสตร์พม่า ก็มีปรากฎว่าในยุคนั้น มีการยกทัพมาตีหัวเมืองบริเวณแถบนี้ถึง 3 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อปีพุทธศักราช 2307 ซึ่งพม่าได้จัดทัพแบบกองโจรยกลงมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ก่อนจะเผาเมือง ริบทรัพย์สินมาแบ่งปันกันแล้วทิ้งเมืองให้เป็นเมืองร้าง ครั้งที่ 2 ในปีพุทธศักราช 2328 พระเจ้าปะดุง ได้โปรดเกล้าฯให้เนมะโยคุงนะรัก เป็นแม่ทัพใหญ่ยกลงมาตีเมืองชุมพร ไชยา และให้ยี่หวุ่นเป็นแม่ทัพเรือ ยกมาตีเมืองถลาง โดยครั้งนั้นพม่าได้ยกทัพลงมาตีได้หัวเมืองปักษ์ใต้ตั้งแต่ชุมพรลงไปจนถึงนครศรีธรรมราช แต่เมื่อจะกรีฑาทัพลงไปตีเมืองพัทลุงและสงขลา ก็ได้รับข่าวว่ากองทัพหลวงจากอโยธยายกทัพลงมาช่วย ก็เลยหนีไปสมทบกับพรรคพวกที่ล้อมเมืองถลางอยู่ ครั้งที่ 3 ในปีพุทธศักราช 2352 พระเจ้าปะดุง โปรดเกล้าฯให้อะเติงหวุ่นและแยฆอง ยกมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ตั้งแต่ชุมพร ไชยา และเกาะถลาง ส่วนจะเป็นครั้งไหนที่พม่าเผาลิบง ...ลองคิดกันเอง

ลิบง..วันนี้เป็นแค่ตำบล "ลิบง"เริ่มคลายความยิ่งใหญ่ลง หลังจากถุกพม่าเผาทำลาย จนมีสภาพกลายเป็นชุมชนเล็ก ๆ มีที่ผู้ปกครองที่เรียกว่า"โต๊ะปังกะหวา" ซึ่งเทียบได้กับ"กำนัน"เท่านั้น และยุคนั้น "ตรัง"มีสภาพเป็น"เมืองโท" อยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช ไม่ใช่เมืองของเคดาห์(ไทรบุรี)อีกแล้ว อย่างไรก็ตาม "เกาะลิบง"มีทรัพยากรและผลประโยชน์มากมาย นั่นคือ"รังนก" และเมื่อพระยานคร(พัด) ส่งพระภักดีบริรักษ์(พระยาตรังค์ สีไหน) มาเป็นเจ้าเมืองแทนพระยาตรังค์นาแขก ตอนนั้น เกาะลิบงก็ถุกผนวกเป็นเกาะของเมืองตรัง และโต๊ะปังกะหวาเกาะลิบง ก็โอนเข้ามารับราชการอยู่กับพระภัคคีบริรักษ์ พร้อมทำหน้าที่จัดเก็บและรวบรวมรังนกนางแอ่น และปลิงทะเลตามเกาะต่างๆส่งเป็นภาษีรายได้บำรุงเมืองตรัง ส่งผลให้โต๊ะปังกะหวามีความดีความชอบในหน้าที่ราชการเป็นอย่างมาก จนได้เลื่อนตำแหน่ง โดยปรากฏหลักฐานว่าในปี พุทธศักราช 2330 นั้นท่านได้มีบรรดาศักดิ์เป็น “พระเพชภัคคีศรีสมุทรสงคราม" ดำรงตำแหน่งพระปลัดตรัง ก่อนจะถูกเลื่อนชั้นเจากพระปลัดตรัง เป็นพระยาปลิบง ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตรังในเวลาต่อมา ว่ากันว่า ท่านเป็นพ่อเมืองที่"คนลิบง"เคารพนับถือมาก และเมื่อท่านเสียชีวิต ก็ฝังไว้ที่ลิบง ซึ่งทุกวันนี้ หลุมศพอดีตเจ้าเมือง (โต๊ะฮ้าหวา หรือโต๊ะปังกะหวา) ก็เป็นหนึ่งในโบราณสถานสำคัญของเกาะลิบง อยู่ในเขตท้องที่ หมู่ที่ 1 ซึ่งเป็นสวนยางพาราของชาวบ้าน โดยสภาพของหลุมศพเป็นเนินดินขนาดใหญ่ มีไม้แก่น(นาแซ หรือตะหนา) ปักหัวท้ายห่างกัน 3.2 เมตร ชาวบ้านเล่าว่าทุกๆปีเมื่อถึงวันอารีรายอ โต๊ะอิหม่ามจะมาอ่านอัลกุรอ่านที่หลุมนี้ประจำ นั่นเป็นทั้งเรื่องเล่าและตำนานของเกาะลิบง

เกาะมุก

เกาะมุก

เกาะสุกร

เกาะสุกร

เกาะไห

แต่เรื่องเล่าของชาวบ้าน...เป็นนิทานอีกเรื่อง แต่นี่เป็น"นิทานพื้นบ้าน"ที่ไม่มีหลักฐาน ไม่มีบันทึก...จึงเป็นแค่"เรื่องเล่า"เอาไว้เตือนลูกหลาน... เรื่องเล่าว่า "ลิบง" เป็นลูกชายขอตายายคู่หนึ่ง และเมื่อเติบใหญ่เป็นหนุ่ม เขาได้เเต่งงานกับ"มุก" หญิงงามย่านนั้น และอพยพครอบครัว 2 ผัวเมียไปทำมาหากินที่เมืองจีน จนกระทั่งร่ำรวย และตัดสินใจจะกลับมาถิ่นเกิด สองตายายเมื่อได้ข่าวว่าลูกชายจะกลับมาบ้าน ก็ปลูกต้นมะม่วงไว้ที่ริมชายหาด(ซึ่งปัจจุบันคือบ้านพระม่วง) เพื่อรอลูกชายที่ชอบกินมะม่วงกลับมา แต่ลูกชายที่กลายเป็นมหาเศรษฐี กลับไม่มาเยี่ยมพ่อแม่ สองตายายจึงสาบแช่งว่า หากลูกไม่กลับมาหาพ่อแม่ ก็ขอให้เรือถูกพายุซัด เเละก็เป็นไปตามคำสาบแช่งของพ่อแม่ นั่นคือเมื่อเรือสำเภาลำงามเเล่นเข้าสู่น่านน้ำสยาม ก็เกิดพายุกระหน่ำซัดกระหน่ำเรือสำเภาจนเเตกกระจาย ของทุกอย่างแตกกระจายในทะเลกลายเป็นเกาะลิบง เกาะมุก(ตามชื่อสองผัวเมีย) ส่วนสิ่งของต่างๆก็กระจัดกระจายไปเป็นเกาะต่างๆในทะเลตรัง เช่น เกาะเชือก เกาะไห(หรือเกาะไหง) เกาะม้า เกาะเเหวน เกาะสุกร เกาะกระดาน ส่วนเกาะเภตรา ชื่อนี้มาจากใบเรือ เเละต้นมะม่วงน้นก็กลายเป็นชื่อบ้านพระม่วง ที่ว่า...ต้นมะม่วงต้นนั้นส่วนที่ยื่นไปในฝั่งนั้นมีรสเปรี๊ยว เพราะความเเค้น ส่วนที่อยู่ในฝั่งนั้นมีรสหวานมากเพราะความรักของตายายที่มีต่อลูกครั้งอยู่บนเกาะ เอามาเล่าสั้นๆเพื่อถามว่า...ไปปลูกหญ้าทะเลที่ตรังกันไหมครับ
ขอบคุณภาพทั้งหมดจากเวบตรังโซน..ขออนุญาตนำมาลงโดยลดขนาด เครดิตตามภาพครับ
ขอบคุณเพลง "ไปด้วยกันไหม" เพลงจากยูทูบ
|