วันศุกร์ ที่ 13 พฤษภาคม 2559
Posted by
ลูกเสือหมายเลข9
,
ผู้อ่าน : 4914
, 16:28:07 น.
หมวด : ภาพยนตร์/ละคร
พิมพ์หน้านี้
โหวต
15 คน
ลูกแม่ลำดวน
,
เอกบางปะกอก
และอีก 12 คนโหวตเรื่องนี้


ผมดูหนังเรื่องนี้ด้วยความบังเอิญ ...อีกแล้ว คือต้องขอบอกว่า ผมไม่มีโปรแกรมทีวี จึงไม่รู้ว่าวันนี้ช่องนี้ฉายเรื่องอะไรตอนกี่โมงกี่ยาม จนบางครั้ง ก็พลาดซีรีส์ที่ติดตามชมเพราะจำเวลาผิด หนังเรื่องนี้ Wood Job เป็นหนังญี่ปุ่นที่ช่อง Red HBO นำมาฉาย และผมเปิดเจอตอนเริ่มเรื่องไปสักพัก เพราะผมจะอนุมาณว่าหนังหรือซีรีส์ กระทั่งรายการต่างๆ จะเริ่มตอนเวลาที่ลงด้วย 0.00 หรือไม่ก็ 0.30 น. แต่ตอนเปิดเจอหนังเรื่องนี้ หนังก็เริ่มไปสักพัก เชื่อว่าเพิ่งเริ่ม เพราะผมเปิดตอน 3 ทุ่มนิดๆ ผมดูไปนิดหนึ่ง...ติดจนต้องดูต่อด้วยเหตุผล 2 ประการเป็นข้ออ้าง ประการแรก ใครก็รู้ว่าผมชอบ"หนังญี่ปุ่น" เพราะผมว่าหนังญี่ปุ่นเป็นหนังที่สร้างได้ละเอียดอ่อน ให้แง่คิดที่ดีงาม เพลงประกอบยอดเยี่ยม และประการที่ 2 ก็คือ พอหนังเริ่มไปพักหนึ่ง ก็มีกระดาษเล็กๆเป็นภาพหญิงสาวคนหนึ่ง ผมเลยเดาว่าเธอเล่นแน่นอน หญิงสาวคนนั้นคือ Masami Nagasawa ที่ผมชอบ ดูเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ..ผมรู้จักเธอคนเดียว


มีข้อมูลว่า Wood Job นำเรื่องจากหนังสือมาทำเป็นหนัง ลองค้นดู พบว่าเป็นหนังที่ดัดแปลงมาจากหนังสือเรื่อง Kamusari Nana Nichijo ซึ่ง ชิวอน มิอุระ (Shiwon Miura) เขียนเล่าเรื่องอาชีพคนตัดต้นไม้ในญี่ปุ่น ผมไม่รู้หรอกว่า"ญี่ปุ่น" เป็นประเทศที่มี"ป่าไม้"กี่เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ และติดอันดับโลกหรือไม่(คุ้นๆว่าสวีเดนน่าจะมากที่สุด) แต่ในชีวิตประจำวัน ใครที่ไปญี่ปุ่นที่เป็น"เมืองท่องเที่ยวสุดฮิต"ของคนไทยในทุกวันนี้ ก็คงเห็นว่าคนญี่ปุ่นใช้"ไม้"ในชีวิตประจำวันกันเยอะมาก หนังเรื่องนี้บอกเล่าถึง"ความรัก"ที่"คนตัดไม้"รักในป่าของเขา ผมนึกถึงบ้านเราที่กำลังพูดกันถึง"ป่าไม้"ที่หายไปมากมาย และดูเหมือนจะมีแต่"จำเลย"กับการที่"ป่าไม้"หายไปจากเมืองไทย ตั้งแต่"นายทุน"ที่ไปว่าจ้างชาวบ้านให้ตัดไม้เพื่อปลูกพืช หรือชาวบ้านเองก็บุกรุกที่ดินเพื่อทำการเกษตรฯ โดยไม่มีใครคิดจะหาทางแก้ตั้งแต่ต้น ที่"แปลก"และ"เหมือนกัน"กับบ้านเราก็คือ คนญี่ปุ่นเขามี"พิธีกรรม"มากมาย อย่างเช่น มีเวลา"ห้ามเข้าป่า" เพราะเป็นเวลาที่เจ้าป่านับจำนวนต้นไม้ หรือกระทั่ง"ไหว้เจ้าป่า"ก่อนเข้าเขตป่า ซึ่งก็คงไม่ต่างจากคนไทยเราลอยกระทงเพื่อขอขมาแม่น้ำ บ้านเราก็มีเจ้าป่าเจ้าเขา..ทำไมป่าหายไปเยอะไม่รู้

หนังเล่าเรื่องของยูกิ ฮิราโนะ (Yuki Hirano) ยูกิ เด็กหนุ่มในเมืองใหญ่ ผู้ผิดในชีวิตครั้งใหญ่เพราะเอนทรานซ์ไม่ติด ซึ่งสำหรับญี่ปุ่นแล้ว นี่เป็นหายนะชีวิตเลย เพราะมันหมายถึง"ไม่มีอนาคต" ขณะที่เคว้งคว้างเพราะไม่รู้จะทำอะไร ยูกิเจอภาพหญิงสาวคนหนึ่งโพสท์ภาพยืนยิ้มข้างต้นไม้เพื่อเชิญชวนให้ผู้สนใจมาทำงานเป็น"คนดูแลป่า" เขาจึงพกภาพหญิงสาวคนนั้นไปเพื่อทำงานที่นั่นเพราะิยากเจอเธอ แม้จะไม่มีความรู้ความสามารถอะไรที่เกี่ยวข้องกับ"ต้นไม้"หรือ"ป่าไม้" แต่เพราะภาพของหญิงสาวคนนั้น ยูกิตัดสินใจสมัครงานนั้นทันที พร้อมโบกมือลาสังคมเมืองที่เขาคุ้นเคยเพื่อไปเรียนรู้วิถีการเป็น"คนดูแลป่า" โดยมีระยะเวลาทำงาน 1 เดือน และฝึกงานต่ออีก 1 ปี ในหมู่บ้านชนบทที่หญิงสาวในภาพเชิญชวน ไปถึงวันแรก ..ทุกอย่างก็ดูตื่นตาตื่นใจ เพราะเด็ก(ที่เติบโต)ในเมือง ย่อมสนุกสนานไปกับชนบทที่มีฟ้ากว้าง ต้นไม้เยอะ ผู้คนน้ำใจงาม แต่พอตื่นเช้ามาอีกวัน ...ไอ้หนุ่มตัดสินใจ"กลับบ้าน" เพราะเขาตระหนักแล้วว่านี่ไม่ใช่ชีวิตของเขา ทุกอย่างมันยาก อาหารการกิน การใช้ชีวิต มันไม่ง่ายเหมือนเมืองใหญ่ที่มีร้านสะดวกซื้อ สมาร์ทโฟนมีสัญญาณทุกที การเตรียมหนีกลับบ้าน กลับกลายเป็นถูกลากไปทำงาน..ทันที และนั่นคือ"ทั้งหมด"ของเรื่อง

ผมไม่พูดถึงรายละเอียดหนังนะครับ แต่อย่างหนึ่งที่อยากบอกก็คือ ดูหนังเรื่องนี้แล้ว"มีความสุข"และอยากให้คนไทยทุกคนได้ดู เพื่อดูแล้วจะได้"รัก"และ"หวงแหน"ป่าไม้ เพราะขนาดบรรดา"คนดูแลป่า"ที่มีกิจกรรม"ตัดไม้"พวกเขาก็ยัง"เคารพป่า" และไม่ได้มุ่งตัดป่าเพื่อเงิน เหมือนตอนที่"ยูกิ"ถุกรุ่นพี่ชักชวนไปดูการประมูลซื้อไม้ที่ตัด และพบว่า ต้นไม้ท่อนใหญ่ ถูกซื้อด้วยราคาสูงถึง 8 แสนเยน "ในเมื่อไม้ของหมู่บ้านเรามีคนประมูลได้ถึงต้นละแปดแสนเยน ถ้าเราตัดต้นไม้เยอะๆเราก็รวยสิ" ยูกิคุยกับผู้ใหญ่ด้วยความตื่นเต้น "เจ้าบ้า" หัวหน้าหมู่บ้านตบหัวยูกิก่อนสั่งสอน "ถ้าทำอย่างนั้น แล้วรุ่นลูกรุ่นหลานเราจะทำอย่างไร จะมีอะไรเหลือให้พวกเขาล่ะ" เห็น"ความคิด"ไหมล่ะ ..เงินไม่ใช่ทุกอย่าง นอกจากนั้น ผู้หลักผู้ใหญ่ยังสั่งสอนยูกิด้วยว่า อาชีพพวกเราดูตลก เพราะพวกเราต้องเฝ้าดูแลฟูมฟักต้นไม้ แต่สุดท้ายสิ่งที่เราทำ จะออกผลเมื่อเราอยู่ในหลุมแล้ว คมไหม ...งานที่ทำเพื่อคนรุ่นต่อไป


ผมบอกแล้วว่าหนังเรื่องนี้ดูแล้ว"อิ่มใจ" อิ่มใจจริงๆครับ เพราะทั้งๆที่เป็นหนังเล่าเรื่องของพวก"คนตัดไม้" แต่งานของพวกเขาก็คือ"คนดูแลป่า" หนังแนะนำหรือสอนเราว่า การจะทำอะไร เราต้อง"เคารพ"สิ่งที่เรากระทำ เหมือนหนังเรื่องนี้ ที่บอกเล่าถึง"อาชีพ"ของคนตัดไม้ว่าเป็นอย่างไร ตั้งแต่การบอกว่าคนจะมาทำงานนี้จะต้องผ่านการฝึกอบรมวิธีการตัดไม้ทั้งในแบบโบราณและสมัยใหม่ การแปรรูปไม้ไปใช้ปลูกบ้าน การนำซุงไปขายที่ตลาดประมูลไม้ รวมทั้งความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือพิธีกรรมในการตัดไม้ เล่าแม้กระทั่ง"ปรัชญา"ของคนตัดไม้ว่าสิ่งสำคัญของการได้มาซึ่งท่อนซุง พวกเขาต้องให้เกียรติและเคารพต้นไม้ เพราะต้นไม้เป็นแหล่งทำมาหากินและมีบุญคุณกับพวกเขา แน่นอนว่า "คนนอก"จะไม่เข้าใจ" หรือหาก"เข้าใจ"ก็"ไม่รู้จริง" เหมือนตอนที่พรรคพวกเพื่อนฝูงของยูกิ ยกขบวนกันไป"เยี่ยมเพื่อน"โดยอ้างว่ามาทำวิจัยศึกษาชีวิตคนตัดไม้ในหมู่บ้าน แต่แท้จริงก็เหมือน"เด็กสมัยใหม่" นั่นคือมาเที่ยวเล่นเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศจากมองเห็นตึกมาเห็นป่า โดยมองการใช้วีติของชาวบ้านว่านี่เป็นชีวิตที่งดงามแบบ Slow Life ที่พวกเขาใฝ่หา แต่เป็นความเข้าใจชีวิต Slow Life แบบ"คนเมือง" นั่นคือคิดว่าหมายถึงการใช้ชีวิตแบบไม่รีบ อยู่แบบเท่ เรียบง่าย โดยเฉพาะหากมีชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติ และได้เอาใจใส่ดูแลสุขภาพด้วยอาหารการกินจำแบบ"คลีน"(แปลว่าอะไรไม่รู้) ซึ่งเป็นเรื่องที่"ไม่ใช่ของจริง" เพราะพรรคพวกเพื่อนฝูงมาแค่ไม่กี่วันก็บอกว่ามาใช้ชีวิตแบบ Slow Life ทั้งที่มันเป็น"งานอดิเรก"ของคนเมืองที่มากิน มานอน มาพักผ่อนแล้วถ่ายภาพเพื่อบอกคนผ่าน Facebook หรือ Instagram ในสเตตัสเท่ๆว่ากำลังใช้ชีวิตแบบ Slow Life อยู่ แต่สำหรับ"ยูกิ" ทั้งที่เขาอยู่ กิน ทำงาน และใช้ชีวิตอบบนั้นมาเป็นปี เขายังไม่เข้าใจว่ามันคือ Slow Life หรือเปล่า ต้องดู Wood Job เอง..แล้วจะตอบตัวเองได้
|