หยิบเอาเรื่องนี้มาเล่าเพื่อเป็นการสวัสดีปีใหม่ในวันเริ่มต้นปี 2560 กับท่านผู้อ่านทุกท่าน ในช่วงวันเวลาที่ยังอยู่กับสิ่งละอันพันละน้อยซึ่งได้เก็บเล็กประสมน้อยไว้เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นับเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีคุณค่าต่อจิตใจที่ได้มีเก็บสะสมไว้ ด้วยความรู้สึกที่ว่าเป็นสิ่งของที่ทำขึ้นโดยชาวต่างชาติเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณอันประเสริฐยิ่งของปวงชนชาวไทย และเป็นสิ่งของที่มีอยู่จำนวนจำกัดเพียง 3,000 ชุด ซึ่งนับจากวันที่ได้มาเก็บสะสมไว้จนถึงวันนี้ก็มีอายุครบ 20 ปีแล้ว พูดถึงบัตรโทรศัพท์ ที่เรียกกันเป็นภาษาอังกฤษว่า Telephone card หรือ Calling card บ้างก็เรียกสั้น ๆ ว่า Phonecard นั้น หลายคนอาจจะลืมเลือนกันไปแล้ว และอีกหลายคนอาจจะเกิดไม่ทันได้ใช้ ด้วยความที่เทคโนโลยีเกี่ยวกับโทรศัพท์รุดหน้ากันไปเร็วมาก ทั้ง ๆ ที่บ้านเราเพิ่งจะมีตู้โทรศัพท์สาธารณะแบบหยอดเหรียญให้ใช้เมื่อปี 2522 นี่เอง พอถึงปลายปี 2533 ก็เริ่มมีการนำตู้โทรศัพท์สาธารณะแบบใช้บัตรมาให้บริการ ตามเทคโนโลยีที่มีฝรั่งคิดค้นบัตรโทรศัพท์มาให้ใช้กัน เป็นบัตรแบบที่เรียกกันว่าออปติคัล หรือ Optical phonecard ซึ่งตอนนั้นเป็นที่นิยมใช้กันอยู่ทั่วโลก เป็นบัตรที่ต้องจ่ายเงินซื้อก่อนล่วงหน้า โดยหาซื้อได้ตามร้านขายของทั่ว ๆ ไป บัตรมีราคาตั้งแต่ 25 บาท 50 บาท 100 บาท และ 200 บาท บางครั้งก็มี 240 บาท และนาน ๆ ครั้งก็จะมีแบบ 500 บาท เมื่อจะโทรศัพท์ก็ต้องหาโทรศัพท์ที่มีเครื่องเสียบและอ่านบัตร ซึ่งในบัตรจะมีแถบออปติคัลที่กำหนดจำนวนเงินที่ใช้โทรศัพท์ได้ เมื่อคุยโทรศัพท์เครื่องจะค่อย ๆ ลบทำลายแถบออปติคัลนี้ไปเรื่อย ๆ ตามระยะเวลาที่ใช้งานโทรศัพท์ ซึ่งมีตัวเลขคอยบอกให้รู้อยู่ที่หน้าเครื่องโทรศัพท์ว่ามูลค่าเงินในบัตรเหลืออยู่เท่าไรแล้วจนกว่าจะวางหู ถ้ามูลค่าเงินในบัตรยังเหลืออยู่ก็เอาไปใช้ต่อได้อีกจนกว่าจะหมด พอหมดแล้วก็ต้องหาซื้อบัตรใหม่ ไม่สามารถเติมเงินได้เหมือนกับบัตรระบบชิปการ์ด ส่วนบัตรเก่าถ้าไม่เก็บสะสมก็ต้องทิ้งไป บางคนก็เอาไปขายให้ร้านจำหน่ายบัตรโทรศัพท์ใช้แล้วเพื่อการสะสม ได้เงินคืนมาอีกถึงเล็กน้อยก็ยังดี ตั้งแต่ปี 2534 บัตรโทรศัพท์กลายเป็นสิ่งสะสมเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งในกลุ่มนักเก็บสะสมที่ชื่นชอบ นอกเหนือจากธนบัตร เหรียญกษาปณ์ และตราไปรษณียากร เนื่องจากด้านหน้าของบัตรโทรศัพท์จะมีภาพต่าง ๆ ที่สวยงามหลากหลายหรือบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ แต่เพียงแค่เวลาผ่านไปได้ประมาณ 10 ปี เทคโนโลยีของโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือโทรศัพท์มือถือก็เข้ามามีบทบาทแทนที่ ความต้องการใช้โทรศัพท์สาธารณะก็ค่อย ๆ ลดลงเป็นลำดับ สุดท้ายบัตรโทรศัพท์และตู้โทรศัพท์แบบใช้บัตรที่ว่านี้ก็สลายตัวหายไปตั้งแต่ปี 2543 ยิ่งเป็นในยุคสมัยที่โทรศัพท์มือถือไม่ได้มีไว้ใช้เพียงแค่โทรออกหรือรับสายเท่านั้น แต่ได้ย่อโลกของการติดต่อสื่อสารทั้งหลายแหล่เข้าไปอยู่ในนั้นกลายเป็นสมาร์ทโฟน ตู้โทรศัพท์สาธารณะแทบทั้งหมดก็กำลังทยอยหายตัวไป ไม่น่าเชื่อว่าจนถึงครึ่งแรกของปี 2559 ประเทศไทยจะมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือจำนวนกว่า 94.3 ล้านเลขหมาย เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่มีอยู่ประมาณ 70 ล้านคน ในขณะที่ประเทศผู้นำเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนเองอย่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น กลับยังคงให้ความสำคัญกับโทรศัพท์สาธารณะที่ยังจะต้องมีไว้ให้เป็นทางเลือกใช้ของประชาชน เล่าเท้าความเกินออกไปยาวหน่อยเพื่อรื้อฟื้นความทรงจำถึงบัตรโทรศัพท์กันก่อนสักนิด รวมทั้งความจำของตัวเองด้วย คนชักแก่ตัวก็ชอบเอาความหลังเก่า ๆ มาคุยถึง ดึงย้อนกลับมาที่เรื่องราวบัตรโทรศัพท์ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นที่ระลึกเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในโอกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ปี 2539 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จดำรงสิริราชสมบัติครบ 50 ปี หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีการจัดทำสิ่งของที่ระลึกกันขึ้นหลากหลายมากมาย ซึ่งได้เคยนำเรื่องราวของธนบัตรที่ระลึกมาเล่าถึงไปแล้ว ซึ่งในปี 2539 นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการออกธนบัตรที่ระลึกถึง 3 ชนิดราคา โดยมีรูปแบบหน้าตาที่แตกต่างกันไปและออกใช้ต่างช่วงระยะเวลากัน (คลิกอ่าน ธนบัตรที่ระลึก “ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี” และธนบัตรพอลิเมอร์รุ่นแรกของไทย) บัตรโทรศัพท์ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นที่ระลึกเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในโอกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ปี 2539 นั้น ใส่บรรจุอยู่ในปกแผ่นพับกระดาษแข็งสีขาว ภาพปกด้านหน้าอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงหลั่งทักษิโณทกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 บริเวณขอบด้านซ้ายและด้านขวาของปกด้านหน้ามีรูปธงชาติไทยอยู่ทางด้านซ้าย และรูปธงชาติสวิตเซอร์แลนด์อยู่ทางด้านขวา ข้อความต่าง ๆ พิมพ์เป็น 2 ภาษา คือภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน ปกด้านหลังแสดงภาพตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พร้อมกับคำอธิบายถึงองค์ประกอบต่าง ๆ และความหมาย รวมทั้งบอกรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดทำบัตรโทรศัพท์ที่ระลึกฯ ในครั้งนี้ ว่ามีอยู่เพียง 3,000 ชุด แต่ละชุดประกอบด้วยบัตรโทรศัพท์จำนวน 3 ใบ เป็นบัตรโทรศัพท์ชนิดราคา 5 ฟรังก์สวิส จำนวน 1 ใบ และบัตรโทรศัพท์ชนิดราคา 9 ฟรังก์สวิส อีกจำนวน 2 ใบ ทำให้บัตรโทรศัพท์ชุดนี้มีอยู่รวมจำนวน 9,000 ใบ วันแรกที่ออกใช้คือวันที่ 9 มิถุนายน 2539 ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 50 ปีบริบูรณ์ โดยการจัดทำบัตรโทรศัพท์ที่ระลึกฯ ในโอกาสนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่าง Swiss Telecom PTT หรือ Postal Telegraph and Telephone (Switzerland) กับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สำหรับบริเวณตรงกลางด้านล่างของปกด้านหลังมีตัวเลขบอกหมายเลขกำกับชุดของบัตรโทรศัพท์ที่ระลึกฯ ดังกล่าวนี้ไว้ด้วย โดยชุดที่ได้รับมาเก็บสะสมไว้นี้เป็นชุดที่ 292 ในจำนวน 3,000 ชุด ปกหน้าด้านในของแผ่นพับมีภาพตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พร้อมกับบอกเล่าถึงความเป็นมาของการจัดทำบัตรโทรศัพท์ที่ระลึกฯ ครั้งนี้ โดยได้กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่มีต่อประชาชนชาวไทยตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ จึงทรงอยู่ในสถานะของศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ ในโอกาสที่พระองค์ท่านครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี คนไทยรวมทั้งคนอีกหลายประเทศทั่วโลกจึงได้ร่วมเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่านในโอกาสสำคัญยิ่งนี้ รวมถึงประเทศสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งมีเหตุผลที่สำคัญเป็นพิเศษยิ่งกว่า นั่นก็คือการที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เคยเสด็จมาประทับอยู่เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์และทรงเข้ารับการศึกษาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ รวมระยะเวลายาวนานถึง 17 ปี ในช่วงที่เจริญพระชนมพรรษา 6 – 23 พรรษา หรือช่วงตั้งแต่ปี 2476 จนถึงปี 2493 ซึ่งเป็นที่มาของสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์กับประเทศไทย เพื่อแสดงให้เห็นถึงสายสัมพันธ์อันแนบแน่นนี้ Swiss Telecom กับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบิร์น โดยความเห็นชอบของกระทรวงการต่างประเทศแห่งสมาพันธรัฐสวิส จึงได้ร่วมกันจัดทำบัตรโทรศัพท์ที่ระลึกฯ ครั้งนี้ขึ้น ซึ่งเป็นครั้งแรกของ Swiss Telecom ที่มีการดำเนินการในลักษณะนี้ สำหรับปกหลังด้านในของแผ่นพับออกแบบไว้สำหรับใช้เสียบบรรจุบัตรโทรศัพท์ที่ระลึกฯ ดังกล่าว โดยพิมพ์ภาพของบัตรโทรศัพท์ทั้ง 3 แบบเอาไว้ให้ด้วย เพื่อระบุตำแหน่งของบัตรโทรศัพท์แต่ละใบให้เห็นเด่นชัด พร้อมทั้งมีคำอธิบายสั้น ๆ เกี่ยวกับภาพในบัตรโทรศัพท์แต่ละใบ บัตรโทรศัพท์ที่ระลึกฯ แบบแรกด้านหน้าเป็นภาพตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พุทธศักราช 2539 และข้อความภาษาอังกฤษว่า The Golden Jubilee รวมทั้งข้อความที่บอกแสดงให้รู้ว่าเป็นบัตรโทรศัพท์ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์รุ่น Special Edition ชนิดราคา 5 CHF ซึ่ง CHF เป็นอักษรย่อแทนสกุลเงิน ฟรังก์สวิส เช่นเดียวกับเงินบาทไทยที่ใช้อักษรย่อแทนว่า THB เคยสงสัยอยู่นานเหมือนกันว่าตัวอักษร CH นั้นเกี่ยวข้องกับชื่อสวิสอย่างไร จนกระทั่งมีท่านผู้รู้ช่วยทำให้กระจ่างว่า CH เป็นอักษรย่อของชื่อเต็มประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในภาษาละตินที่ใช้ว่า Confoederatio Helvetica (CH) หรือ Helvetic Confederation ในภาษาอังกฤษ ที่มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า สมาพันธรัฐสวิส นั่นเอง แต่ถ้าไปเจออักษรย่อบอกสกุลเงินอย่าง Fr. หรือ Sfr. เข้าก็อย่าเพิ่งงง เพราะเป็นอักษรย่อที่หมายถึงสกุลเงินฟรังก์สวิสอีกเหมือนกัน สำหรับด้านหลังของบัตรโทรศัพท์ที่ระลึกฯ แบบแรกนั้น มีข้อความเป็นภาษาไทยว่า “พระราชพิธีกาญจนาภิเษก” และข้อความภาษาอังกฤษว่า “The Golden Jubilee – 9 June 1996” พร้อมกับคำอธิบายถึงภาพที่อยู่ด้านหน้าบัตร พร้อมทั้งระบุว่าเป็นบัตรโทรศัพท์ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง Swiss Telecom กับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบิร์น บัตรโทรศัพท์ที่ระลึกฯ แบบที่ 2 ด้านหน้าเป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชขณะทรงสกีที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อปี 2479 ซึ่งขณะนั้นยังทรงพระเยาว์เจริญพระชนมพรรษาได้ 9 พรรษา และทรงประทับอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นบัตรโทรศัพท์ชนิดราคา 9 CHF ส่วนด้านหลังของบัตรโทรศัพท์ก็มีข้อความเหมือนกับธนบัตรแบบแรก พร้อมกับคำอธิบายถึงภาพที่อยู่ด้านหน้าบัตร บัตรโทรศัพท์ที่ระลึกฯ แบบที่ 3 ด้านหน้าเป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ ในฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศจอมทัพ ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และพระสังวาลปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ ขณะทรงเจริญพระชนมพรรษา 66 พรรษา เมื่อปี 2536 เป็นบัตรโทรศัพท์ชนิดราคา 9 CHF ส่วนด้านหลังของบัตรโทรศัพท์ก็มีข้อความเหมือนกับธนบัตรอีก 2 แบบแรก พร้อมกับคำอธิบายถึงภาพที่อยู่ด้านหน้าบัตร จำไม่ได้แล้วว่าเมื่อปี 2539 นั้น อัตราแลกเปลี่ยนเงินระหว่างเงินบาทไทยกับสกุลเงินฟรังก์สวิสนั้นอยู่ที่เท่าไร แต่บัตรโทรศัพท์ชุด 3 ใบนี้ถ้าดูจากราคาหน้าบัตรก็รวมกันได้แค่ 23 ฟรังก์สวิส เทียบเป็นเงินบาทไทยตอนนี้ที่ 1 ฟรังก์สวิส เท่ากับประมาณ 35 บาท ก็ได้ออกมาว่าประมาณ 805 บาทไทย ซึ่งการสั่งจองเมื่อตอนปี 2539 นั้นราคาอยู่ที่ชุดละ 1,990 บาท ในช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินและเศรษฐกิจที่เรียกกันว่าต้มยำกุ้งไม่กี่เดือน ได้บัตรโทรศัพท์มาแล้วก็กัดฟันฝืนทนเก็บรักษาไว้จนผ่านช่วง NPL ที่ระบาดลุกลามไปทั่วอยู่ในช่วงนั้น จนกระทั่งอยู่รอดสามารถหยิบเอามาเล่าถึงได้ในวันปีใหม่ 2560 นี้ !!! ชาร |
ถึง บล็อกเกอร์ ทุกท่าน โปรดอ่าน
ด้วยทาง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้ติดต่อขอความร่วมมือ มายังเว็บไซต์และเว็บบล็อกต่าง ๆ รวมไปถึงเว็บบล็อก OKnation
ห้ามให้มีการเผยแพร่ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ บนเว็บ blog โดยกำหนดขอบเขตของสิ่งที่ห้ามทำ และสามารถทำได้ ดังนี้
ห้ามทำ - การใส่ผลงานเพลงต้นฉบับให้ฟัง ทั้งแบบควบคุมเพลงได้ หรือซ่อนเป็นพื้นหลัง และทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือ copy code คนอื่นมาใช้ - การเผยแพร่ file ให้ download ทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือฝากไว้ server คนอื่น สามารถทำได้ - เผยแพร่เนื้อเพลง ต้องระบุชื่อเพลงและชื่อผู้ร้องให้ชัดเจน - การใส่เพลงที่ร้องไว้เอง ต้องระบุชื่อผู้ร้องต้นฉบับให้ชัดเจน จึงเรียนมาเพื่อโปรดปฎิบัติตาม มิเช่นนั้นทางบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ จะให้ฝ่ายดูแลลิขสิทธิ์ ดำเนินการเอาผิดกับท่านตามกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์
OKNATION
กฎกติกาการเขียนเรื่องและแสดงความคิดเห็น
1 การเขียน หรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต้องไม่หมิ่นเหม่ หรือกระทบต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
2. ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่นในทางเสียหาย หรือสร้างความแตกแยกในสังคม กับทั้งไม่มีภาพ วิดีโอคลิป หรือถ้อยคำลามก อนาจาร 3. ความขัดแย้งส่วนตัวที่เกิดจากการเขียนเรื่อง แสดงความคิดเห็น หรือในกล่องรับส่งข้อความ (หลังไมค์) ต้องไม่นำมาโพสหรือขยายความต่อในบล็อก และการโพสเรื่องส่วนตัว และการแสดงความคิดเห็น ต้องใช้ภาษาที่สุภาพเท่านั้น 4. พิจารณาเนื้อหาที่จะโพสก่อนเผยแพร่ให้รอบคอบ ว่าจะไม่เป็นการละเมิดกฎหมายใดใด และปิดคอมเมนต์หากจำเป็นโดยเฉพาะเรื่องที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน 5.การนำเรื่อง ภาพ หรือคลิปวิดีโอ ที่มิใช่ของตนเองมาลงในบล็อก ควรอ้างอิงแหล่งที่มา และ หลีกเลี่ยงการเผยแพร่สิ่งที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือวิธีการใดก็ตาม 6. เนื้อหาและความคิดเห็นในบล็อก ไม่เกี่ยวข้องกับทีมงานผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซต์ โดยถือเป็นความรับผิดชอบทางกฎหมายเป็นการส่วนตัวของสมาชิก คลิ้กอ่านเงื่อนไขทั้งหมดที่นี่"
OKnation ขอสงวนสิทธิ์ในการปิดบล็อก ลบเนื้อหาและความคิดเห็น ที่ขัดต่อความดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของบล็อกและเจ้าของความคิดเห็นนั้นๆ
|
||
![]() ![]() |
Keukenhof 10 | ||
![]() |
||
ทิวลิปที่สวนเกอเก็นฮอฟ |
||
View All ![]() |
<< | มกราคม 2017 | >> | ||||
อา | จ | อ | พ | พฤ | ศ | ส |
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 |
8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 |
15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 |
22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 |
29 | 30 | 31 |