ความสุขอันเกิดจากความสันโดษนั้น
เราไม่ต้องแสวงหาอะไรนอกตัวเรา
ไม่ต้องทำอะไรพิเศษไปกว่าสิ่งที่เราทำทุกวันนี้
ทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนเดิม เราเพียงแต่เปิดใจให้กว้าง
ยอมรับความจริงตามธรรมชาติ ด้วยจิตใจที่เป็นธรรม
แล้วยินดีพอใจในสิ่งที่มี ที่เป็น
ที่หามาได้ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
รู้จักคิดดี คิดถูก เท่านั้นแหละ
ความสันโดษ อันเป็นบ่อเกิดของความพอใจสุขใจ
มันก็ผุดขึ้นมาเอง โดยอัตโนมัติ ที่นี่ เดี๋ยวนี้

๏ นัสรูดินกับมุสตาฟา
นัสรูดินมีเพื่อนสนิทคนหนึ่งชื่อมุสตาฟา
มุสตาฟาเป็นคนที่ไม่ฉลาด นัสรูดินเป็นคนเฉลียวฉลาด
แต่ชอบทำเป็นคนโง่ และขยันล้อเลียนเพื่อนบ้าน
วันหนึ่งมุสตาฟาตื่นแต่เช้ามืด
ด้วยความท้อแท้ก็ไปหานัสรูดิน บอกว่า
เพื่อนเอ๋ย บ้านผมที่อยู่มันแคบ กลิ่นอับ
ไม่คล่องตัวเลย ผมไม่มีความสุข
กลัดกลุ้มมาหลายปีแล้ว ช่วยผมหน่อยได้ไหม
เงินที่จะขยายห้องก็ไม่มี
นัสรูดินบอกว่า เอาละ แกต้องเชื่อข้านะ
เชื่อทุกอย่างนะ แล้วจะช่วยให้สบายขึ้น
มุสตาฟาบอกว่าผมจะเชื่อทุกอย่างที่นายบอก
นัสรูดินได้ทีก็บอกว่า

คืนนี้นะ เอาแพะเข้าไปล่ามในห้องนอนของแก
มุสตาฟางงแต่ก็เชื่อฟังนัสรูดิน
รุ่งเช้าตื่นมาตาแดง มาหานัสรูดิน
ผมนอนหลับๆ ตื่นๆ เจ้าแพะวายร้ายมัน
ร้องทั้งคืน ไหนว่าจะช่วยให้ผมมีความสุข
นัสรูดินบอกว่า เอาน่าเชื่อฉัน
คืนนี้เอาลาเข้าไปอีกตัวหนึ่งไปล่ามด้วยกัน
มุสตาฟาคนโง่ก็ทำตาม เอาลาเข้าไปล่าม
รุ่งเช้าก็โผเผมาบอกว่า
เจ้าแพะกับลามันทะเลาะกันทั้งคืน
ร้องและเตะกันและถ่ายมูลออกมา ห้องผมก็เล็กอยู่แล้ว
เหม็นคลุ้งไปหมด ไหนว่าจะช่วยผมให้สบายขึ้นไงล่ะ
นัสรูดินบอกว่าเอาน่า คืนนี้ได้เรื่องเอาม้าเข้าไปอีกตัวหนึ่ง
พอรุ่งเช้ามุสตาฟาไม่มีแรง
เพราะไม่ได้นอนทั้งคืน บอกนัสรูดินช่วยผมด้วย
ช่วยให้ผมมีความสุขหน่อย นัสรูดินบอกว่า
เอาละได้ที่แล้ว คืนนี้เอาแพะออกจากห้อง

พอรุ่งเช้ามุสตาฟามาหา
นัสรูดินก็ถามว่าเป็นไงบ้าง
มุสตาฟาจึงบอกว่าค่อยยังชั่วนิดหนึ่งแล้ว
นัสรูดินบอกว่า งั้นคืนนี้เอาลาออกไป
รุ่งเช้ามุสตาฟาบอกว่า ผมรู้สึกว่าห้องผมกว้างขึ้น
นัสรูดินบอกว่า เอ้าคืนนี้แกเอาม้าออกไปจากห้อง
รุ่งเช้ามุสตาฟาเดินยิ้มเผล่บอกว่า แหม ผมรู้สึก
เป็นสุขเหลือเกิน ห้องผมรู้สึกมันกว้างขวางดี
คงมีหลายคนที่เป็นแบบมุสตาฟานี่แหละ
ไม่รู้จักพอใจตนเองเที่ยวคิดฟุ้งซ่านไป
ครั้นสูญเสียไปทีละน้อย พอได้คืนมาจึงเห็นคุณค่า
ของที่ตนมีอยู่ ถ้ารู้จักคิดดี คิดถูก
เสียตั้งแต่ต้น ก็จะสุขใจ สบายใจ
ไม่ต้องกระวนกระวายใจให้เป็นทุกข์

สันโดษ มาจากภาษาบาลีว่า สันโตสะ
สัน แปลว่า ตน
โตสะ แปลว่า ยินดี
สันโดษ จึงแปลว่า ยินดี พอใจ อิ่มใจ สุขใจ กับของของตน
กล่าวโดยย่อคือ ให้รู้จักพอ ให้รู้จักประมาณตน
ลักษณะของสันโดษมี 3 ประการคือ
ยินดีตามมี
ยินดีตามได้
ยินดีตามควร
เมื่อเราเข้าใจกฎแห่งกรรม
ยอมรับกฎแห่งกรรมด้วยปัญญาชอบ แล้วก็จะพอใจ
ในสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ ตามฐานะของตนในปัจจุบัน
ยอมรับว่าสิ่งที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน สมบูรณ์แล้วด้วยเหตุผล
อดีต........เป็น........เหตุ
ปัจจุบัน....เป็น........ผล
.....มันเป็นกรรมเก่า
พระพุทธเจ้าตรัสว่า
กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ร่างกายจิตใจของเรา
รวมทั้งสิ่งที่เป็นที่พึ่งอาศัยของกาย
เช่น พ่อแม่ พี่น้อง สามีภรรยา ลูกๆ บุคคลต่างๆ
ตลอดจนทรัพย์สมบัติ สถานที่ บ้าน สังคม ประเทศชาติ
ที่เราต้องไปเกี่ยวข้องล้วนเป็นกรรมเก่า

ยินดีตามมี
โลกธรรม 8 ที่เราประสบอยู่ในปัจจุบัน
โลกธรรมฝ่ายน่าปรารถนา ได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ สุข
โลกธรรมฝ่ายไม่น่าปรารถนา เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์
ล้วนเป็นผลจากการกระทำของเราทั้งสิ้น
ดังนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏมีอยู่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
จึงสมบูรณ์ด้วยเหตุและผล เราจึงต้องยินดีพอใจ
แม้มีบางสิ่งบางอย่าง ไม่ถูกใจ
ก็ต้องอาศัยปัญญาชอบที่จะยอมรับความจริง
จนทำใจให้สงบ สบายได้
ยินดีตามได้
ยินดีกับของส่วนที่ได้มา
คือ เมื่อแสวงหาประโยชน์อันใดแล้ว
ได้เท่าไรก็พอใจเท่านั้นยินดีพอใจในสิ่งที่ได้
เมื่อเราใช้ชีวิตอยู่ในสังคม เราย่อมมีความปรารถนา
อยากได้ อยากมี อยากเป็น
และเมื่อเราแสวงหาสิ่งที่ต้องการด้วยความตั้งใจ
ความพยายามอย่างดีที่สุดตามกำลังตนแล้ว
เราต้องยอมรับผลที่ได้ เพราะเราก็ได้อาศัยบุญเก่า
ได้ใช้ความขยันหมั่นเพียร ความมานะอดทน ความสามารถ
กำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญาเต็มที่แล้ว
มันเป็นเพราะการกระทำทั้งในอดีตและปัจจุบันร่วมกันออกผล
เรียกว่าสิ่งที่ได้มันก็พอดีๆ กับการกระทำของตนเองทั้งนั้น
เมื่อเข้าใจจุดนี้ก็จะสบายใจ มีความยินดีพอใจในสิ่งที่ได้

ยินดีตามควร
ยินดีกับของที่สมควรแก่ตนเท่านั้น
สิ่งใดที่มีอยู่หรือจะได้มา หากเห็นว่าไม่สมควรกับเรา
ก็ไม่ยินดี ไม่ยอมรับไว้
การจะตัดสินว่า ควรหรือไม่ควรนั้น
ให้พิจารณาโดยใช้หลัก 3 ประการ คือ
ควรแก่ฐานะ
ควรแก่ความสามารถ
ควรแก่ศีลธรรม
ควรแก่ฐานะ
ให้พิจารณาว่าปัจจุบัน เราอยู่ในฐานะอะไร
เช่น เป็นฆราวาส หรือ เป็นนักบวช
เป็นผู้ใหญ่ หรือผู้น้อย
เช่น เมื่อเราเป็นฆราวาส มีใครเอาบาตร
เอาจีวรมาให้ เราก็ไม่ควรใช้
หรือเมื่อเราเป็นพระ
ก็ไม่ควรรับของที่ไม่เหมาะสมแก่ฐานะตน
เช่น อาวุธ บุหรี่ เหล้า หนังสือโป๊
วิดีโอเกมส์ เป็นต้น
ควรแก่ความสามารถ
คนเราเกิดมามีกำลังความสามารถไม่เท่ากัน
ทั้งกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา
ดังนั้น เราควรรู้กำลังความสามารถของตนเอง
และแสวงหา หรือยอมรับเฉพาะของที่ควรแก่กำลัง
ความสามารถของตนเองเท่านั้น เช่น
ถึงแม้ว่าครอบครัวเราจะมีอำนาจบารมี
สามารถฝากงานในตำแหน่งสูงๆ ให้กับเราได้
แต่ถ้าเราพิจารณาถึงกำลังสติปัญญาและประสบการณ์
ของเราแล้วว่า ยังไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบงานได้
ก็ไม่ควรยินดีรับตำแหน่ง เป็นต้น

ควรแก่ศีลธรรม
ของใดก็ตามแม้ควรแก่ฐานะของเรา
ควรแก่ความสามารถของเรา
แต่ถ้าไปยินดีกับของนั้นแล้ว ทำให้เราผิดศีลธรรม
เสียชื่อเสียงเกียรติยศ ศักดิ์ศรี
ก็ไม่ควรยินดีกับสิ่งของนั้น
เช่นของที่ลักขโมย ฉ้อโกงเขามา
ของผิดกฎหมาย เช่น อาวุธเถื่อน ยาเสพติด
ของที่เขาให้เพื่อเป็นสินจ้างรางวัลในทางที่ผิด
หรือในกรณีที่เราแต่งงานมีครอบครัวแล้ว
เมื่อมีใครมารักมาชอบเราแบบชู้สาว
แม้เราพอใจในตัวเขามากแค่ไหนก็ตาม
ก็ไม่ควรรับ ไม่ควรตอบสนอง เป็นต้น
๏ อิทธิบาท 4 คู่กับสันโดษ
คนจำนวนมาก
เข้าใจความหมายของสันโดษผิดไป
คิดว่าสันโดษคือการพอใจอยู่คนเดียว
หรือการไม่ทำอะไร
หากนำหลักการของสันโดษไปใช้แล้ว
จะทำให้ประเทศชาติไม่เจริญ
ประชาชนไม่รู้จักพัฒนาตน
เพราะพอใจในสภาพตามมีตามเกิดตามธรรมชาติ
เป็นอยู่อย่างไรก็พอใจแค่นั้น
มีน้อยแค่ไหนก็ไม่ต้องขวนขวายไปหามาเพิ่ม
ความจริงแล้ว.....
การพอใจอยู่คนเดียว
ภาษาบาลีเรียกว่า ปวิวิตตะ ไม่เรียกสันโดษ
ส่วนการไม่ทำอะไรนั้น
ภาษาบาลีเรียกว่า โกสัชชะ คือความเกียจคร้าน
คำสอนของพระพุทธเจ้าเรื่องสันโดษ
ไม่ได้สอนให้คนเกียจคร้านท้อถอย
ไม่ขยันหมั่นเพียรในการทำหน้าที่การงาน
ซึ่งเป็นอุปสรรคขวางกั้นความเจริญ
อย่างที่มีการเข้าใจผิดกัน
พระพุทธเจ้าสอนเรื่องความสันโดษ
เพื่อให้เรารู้จักพอใจ
กับสิ่งที่ตนมีอยู่ สิ่งที่ตนได้มา
และสิ่งที่สมควรแก่ฐานะของตน
เมื่อเรามีความสันโดษเป็นคุณธรรมประจำใจแล้ว
ก็ขจัดเสียซึ่งความโลภ ไม่มีการเบียดเบียน
แก่งแย่งชิงดี อิจฉาริษยา ทุจริตฉ้อโกง มุ่งร้ายทำลายกัน

พระพุทธศาสนามีหลักคำสอนเกี่ยวกับ
การดำเนินชีวิตว่าด้วย หลักอิทธิบาท 4
ซึ่งหมายถึง ทางแห่งความสำเร็จในกิจอันเป็นกุศล
ไม่ว่าจะเป็นทางโลก หรือทางธรรม
ทุกสิ่งทุกอย่างจะสำเร็จตามที่ตั้งใจ
ถ้าเราปฏิบัติตามหลักอิทธิบาท 4
ซึ่งมีองค์ประกอบ 4 ประการคือ
ฉันทะ มีความพอใจในสิ่งที่ทำ
โดยเราตั้งเป้าหมายไว้
ตามความเหมาะสมกับฐานะ
และกำลังความสามารถของเรา
วิริยะ ความเพียรพยายามและตั้งใจทำสิ่งนั้น
จิตตะ ความเอาใจใส่ จิตใจจดจ่อกับสิ่งที่ทำอยู่
วิมังสา ปัญญาที่พิจารราใคร่ครวญหาเหตุผล
เพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น
เมื่อเราอยากมี อยากได้ อยากเป็นอะไรก็ตาม
ก่อนอื่นให้เข้าใจตัวเอง รู้จักฐานะ
ความรู้ ความสามารถของตน แล้วตั้งเป้าหมายไว้
ลงมือทำตามเป้าหมายนั้นด้วยความพอใจ
เพียรพยายามเต็มกำลังความสามารถ
เอาใจใส่เพื่อให้สำเร็จตามที่ตั้งใจ
เมื่อได้ผลออกมาอย่างไร
ก็ให้ยินดีพอใจตามที่ได้ ตามที่เป็น
ถึงแม้ว่าไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็ตาม
ก็ให้สันโดษ
อิทธิบาท 4 เป็นการสร้างเหตุที่ดีของการกระทำ
เพื่อให้ประสบความสำเร็จ
สันโดษ เป็นความยินดีพอใจในผลที่ได้รับ
เมื่อเราดำเนินชีวิตด้วยคุณธรรม
ตามหลักอิทธิบาท 4 และสันโดษแล้ว
ชีวิตนี้ก็ไม่ต้องทุกข์ร้อนอะไรมากมาย
สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ ตกงาน ผิดหวังในความรัก
ไม่ได้ในสิ่งที่ปรารถนา ก็ให้เข้าใจว่า
เมื่อเราตั้งใจทำดีด้วยใจที่สงบ เราได้ทำเหตุที่ดีแล้ว
ก็ต้องยอมรับผลด้วยใจที่สงบเหมือนกัน
จึงจะเรียกว่าทำงานด้วยความปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น
รักษาหัวใจของนักกีฬา รู้แพ้รู้ชนะรู้อภัย
ความพ่ายแพ้ไม่ได้ทำให้ท้อถอย
แต่ทำให้มีความหวังในอนาคต
ตั้งใจทำความดีในปัจจุบันด้วยสุขภาพใจดี
ตั้งใจทำความดี ด้วยหลักอิทธิบาท 4
ยอมรับผลด้วยความสันโดษ
ขอบพระคุณ http://www.dhammajak.net