ช่วง ปี 2535และปี 2536 คือปีที่ผมเขียนงานกวีได้มากที่สุด อาจเป็นด้วยหลายสาเหตุรวม ๆ กัน
สาเหตุอันดับต้น ๆ ก็คงจะเป็นเรื่องของสถานที่ที่อยู่อาศํยอันเป็นชุมชน ที่มีสภาพแวดล้อม และ ภูมิอากาศ อันเหมาะสมสำหรับเพาะพันธุ์ถ้อยคำกวี
ทำไมผมถึงเชื่อเช่นนี้
ก็คุณลองคิดดูสิ ในปี พ.ศ. นั้น เหล่ากวีหนุ่ม รุ่นใหม่ ไฟแรง หลากหลาย ต่างก็เช่าห้องเล็ก ๆ อยู่กันกระจัดกระจาย ไปทั่วทุกซอกทุกซอย ณ.อาณาบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงขณะนั้น เพื่ออยู่อาศัยและใช้เป็นแหล่งลงมือเพาะพรวนถ้อยคำสร้างงานเขียน ด้วยพลังแรงไฟฝันอันเต็มเปี่ยมและลุกโชน
ครั้นยามว่าง เหล่ากวีก็จะมารวมกันที่ร้านกาแฟจุดนัดพบ เพื่อพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เรื่องงานเขียนและเรื่องสัพเพเหระกัน มีทั้งอย่างเคร่งเครียดและสนุกสนาน
และที่ขาดไม่ได้นั่นก็คือการนำงานเขียนชิ้นใหม่ล่าสุดของแต่ละคน มาแลกเปลี่ยนเวียนกันอ่าน และวิจารณ์ เพื่อให้เห็นข้อดีข้อด้อยของงาน รวมไปถึงให้ได้เห็นพัฒนาการในตัวงานของแต่ละคนด้วย
ขณะเดียวกันการนำหนังสือเล่มที่ตีพิมพ์งานชิ้นใหม่ของกวีหนุ่มหน้ารามบางคนในกลุ่ม
ก็จะถุกนำมาอวด และเป็นประเด็นพูดคุย อำกันเล่นอย่างสนุกสนาน ท่ามกลางกลิ่นกรุ่นกาแฟ
จึงไม่ต้องแปลกใจเลย หากกวีคนใดคนหนึ่งในกลุ่มกวีหน้ารามมีผลงานตีพิมพ์ในหน้านิตยสาร ทุก ๆ คนในกลุ่มก็จะร่วมรู้ไปด้วยโดยปริยาย โดยไม่ต้องไปซื้อหาหนังสือเล่มนั้นมาอ่าน
ขณะเดียวกันอีกหนึ่งสีสันของกวีหน้ารามขณะนั่นคือรายการลุ้นหน้าคอลัมภ์กวีในหนังสือแบบสนุกสนานตื่นเต้นก็จะมีกันทุกวัน ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์
การลุ้นว่ากวีของใครชิ้นไหนจะได้ลงตีพิมพ์บ้าง คือสีสันที่สนุกแต่ก็คละเคล้าไว้ด้วยเรื่องจริงที่น่าเศร้าแฝงเร้นอยู่
หน้ากวีของหนังสือรายเดือน รายปักษ์ และรายสัปดาห์ ที่ใจกว้างเปิดคอลัมภ์กวี เพื่อให้
สนามแจ้งเกิดกับกวีหน้าใหม่ หน้าเก่า คือสีสันและความตื่นเต้น ที่ทำเอาเหล่ากวีแทบจะไม่ได้หลับไม่ได้นอนในค่ำคืนก่อนวันหนังสือวางแผง
เสมือนซ่อนเร้นลึกอยู่ในใจ แต่แท้ที่จริง มันมิได้แอบซ่อนเร้นอยู่เลยสักนิด ซึ่งเหล่าผองเพื่อนกวีทุก ๆ คนต่างก็รู้อยุ่แก่ใจดีว่า ความหมายของการลุ้นบทกวีตีพิมพ์ ในแต่ละสัปดาห์นั้นมันมิได้จบลงแค่การเห็นชิ้นงานของตัวเองตีพิมพ์ หรือไม่ได้ตีพิมพ์ แต่มันยังหมายรวมไปถึงความแน่นนอนและไม่แน่นอนในสภาพความเป็นอยู่ ที่เกี่ยวโยงไปถึงเรื่องปากท้องและที่อยู่อาศัยของกวีในช่วงระหว่างเดือนและปลายเดือนด้วย
ไถ่ถามถึงรายได้เพื่อเป็นค่าเช่าบ้านปลายเดือน ค่าข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไข่ไก่ น้ำปลา ปลากระป๋อง และถั่วเขียวกับน้ำตาล แล้ว รายได้หลัก ๆ ณ. ขณะนั้นหลายคนต่างก็ล้วนรอความหวังที่ชิ้นงานกวีของตัวเองจะได้ตีพิมพ์ในหน้าหนังสือทั้งสิ้น
การโหนรถเมล์เพื่อไปเบิกค่ากวี ที่สำนักพิมพ์หนังสือ คือภารกิจที่เราต้องรีบทำ
ทันที เมื่อเห็นงานของตัวเองได้ตีพิมพ์
และเมื่อได้เงินมาแล้ว ก็ต้องไม่ประมาทในการใช้จ่าย เพราะทุกคนต่างก็รู้กันดีว่า งานเขียนกวีนั้นใช่ว่าจะมีงานตีพิมพ์ทุกเดือน ทุกสัปดาห์ก็หาไม่ บางทีเดือนหรือสองเดือน งานกวีของตัวเองยังไม่ได้รับการตีพิมพ์สักชิ้น
คุณลองนึกมโนภาพกันเอาเองก็แล้วกัน เหล่าผองเพื่อนกวีหน้ารามผู้รักอิสระ โดยมิยอมจำนนกับกรอบกรงการงานประจำ และอหังการ์ยังชีพด้วยรายได้จากชิ้นงานกวีที่รอลุ้นตีพิมพ์แต่ละสัปดาห์ โดยมีอัตราค่าตอบแทนต่อชิ้นงานกวี ณ. ปี พ.ศ. นั้น ก็ประมาณชิ้นละ 200 บ้าง 300 บ้าง ดีหน่อย ก็ 500 หรือดีมาก ก็ 800หรือ1000 แล้วแต่เล่มหนังสือ
คุณลองคิดดูถ้าพวกเราไม่ได้มีงานตีพิมพ์ แบบสองเดือนติดกัน คุณก็ลองคิดดูกันเอาเองเถอะครับ ว่าสภาพจะเป็นเช่นไร
ดังนั้นที่เขาบอกกันว่า กวีไส้แห้ง นั้นเป็นเรื่องจริงแท้แน่นอน ก็ยังคงใช้ได้อยู่อย่างมิมี
ข้อคัดค้านอันใดให้ต้องถกเถียงกันเลย โดยเฉพาะมวลมิตรกวีหน้าราม....ย่อมรู้ซึ้งคำนิยามนี้ดี
แต่...ขอร้อง คุณอย่าได้คิดเลยเถิดเกินเลยไป จนขนาดเห็นภาพพวกเราถอดเสื้อผ้า คว้ากางเกงไปจำนำ เลยนะครับ อย่า ... อย่า...ให้ถึงขั้นนั้น เพราะ ที่สุดแล้ว ... ผองเพื่อนกวีหน้ารามก็ไม่เคยทอดทิ้งให้เพื่อนๆ ในกลุ่มต้องอดข้าวอดน้ำจนตายคาห้องกวีหรอกครับ........
ก็กลุ่มกวีหน้ารามเขารักกันจะตายไป......


Music Playlist at MixPod.com


ปี พ.ศ. 2545 ผมได้เก็บรวบรวมและคัดสรรงานกวีที่เคยตีพิมพ์และไม่เคยตีพิมพ์นำมาออกแบบ
และรวมเล่มแบบหนังสือทำมือ เพื่อจำหน่ายในโอกาสที่เดินทางไปเล่นดนตรีเปิดหมวก
และในวาระที่มีงานออกร้าน งานในเชิงศิลปวัฒนธรรม ได้กระแสการตอบรับพอสมควร
แต่เหนืออื่นใดความหวังสูงสุดของคนที่เขียนหนังสือ
ก็คือความใฝ่ฝันที่จะเห็นงานเขียนของตัวเองได้รวมเป็นรูปเล่ม ออกนำเสนอสู่สาธารณชน
ในวงกว้าง หรือเฉพาะกลุ่ม ซึ่งเท่านี้ผมก็รู้สึกอิ่มใจ
และภูมิใจกับหนังสือรวมเล่มกวีทำมือ เล่มแรกของผม "ตะวันอ้อมข้าว"