14 กันยายน ผมไม่ได้แก่ธรรมมะ แต่อยากจะพูดว่า ใด ๆ ในโลกนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสียปนกันอยู่เสมอ ข้อเสียของการปวดหลังก็คือทำอะไรไม่ได้มาก จะลุกจะนั่งก็ต้องร้องโอย ๆ แต่ข้อดีก็พอมีเช่นทำให้ไม่ต้องลุกไปไหน ได้นอนนิ่งอยู่กับที่ ได้คิดทบทวนเรื่องราวของชีวิตที่ผ่านมาอย่างมีสมาธิ ได้นอนอ่านหนังสือที่อยากอ่าน บางวันก็สามารถนอนดูหนังจากเน็ตฟลิกได้จบเรื่องโดยที่ไม่ต้องเคลื่อนย้ายตัวเองลุกขึ้นทำนั่นทำนี่ระหว่างการดูหนัง
ผมเพิ่งได้รับนิตยสาร “สารคดี”เล่มใหม่ล่าสุดเมื่อสองวันก่อน รับมาแล้วก็ไม่ได้เปิดอ่านทันที เพราะรู้สึกเหมือนว่าตัวเองจะมีงานยุ่งอยู่ตลอด ทั้งงานบ้านประเภทกวาดบ้าน ถูพื้น ล้างจาน เก็บครัว ทำกับข้าว และงานของสำนักพิมพ์ที่ต้องจัดของส่งของ ไปไปรษณีย์ และตรวจต้นฉบับ งานเหล่านี้ก็กินเวลามิใช่น้อย บางวันที่ลูกค้าสั่งของมาเยอะ ก็ต้องแพ็คต้องห่อกันตั้งแต่เช้า กว่าจะเสร็จเอาก็บ่าย ไปส่งเสร็จก็เย็น กลับมาถึงบ้านก็ต้องเปลี่ยนชุดวิ่ง วันหนึ่งมีสิบสองชั่วโมงหมดไปเหมือนชั่วกระพริบตา
ผมเคยปรึกษาลูกว่า เราจะหาคนมาช่วยสักคนดีไหม เช่นมาช่วยห่อ มาช่วยแพ็คและช่วยขับรถไปส่งของที่ไปรษณีย์ ลูกว่าไม่ต้องเลย ทำเท่าที่ทำไหว การหาคนมาช่วยนั้นมีข้อดีคือไม่ต้องลงมือหรือลงแรงทำเอง แต่ข้อเสียก็คือทำให้เราไม่มีอิสระเหมือนเดิม จะไปไหนมาไหนก็ไม่สะดวก ต้องเกรงใจคนที่เข้ามาอยู่ในบ้านเพื่อจะช่วยงานเรา จะนุ่งขาสั้น จะใส่เสื้อเอวลอย จะแหกปากร้องเพลง หรือจะนั่งเล่นกับหมาก็ไม่ได้ มันดูไม่งาม
ตอนเด็ก ๆ ลูกเกิดมาในบ้านที่มีพนักงานมาช่วยสำนักพิมพ์และทำนิตยสารWRITER อยู่จำนวนหนึ่ง บ้านของเราไม่ใช่เป็นแค่บ้าน แต่เป็นสถานที่ที่มีคนมานั่งทำงานกันอยู่ตั้งแต่เช้าจดค่ำ ลูกยังเล็ก คลานไปหาพี่คนโน้นที พี่คนนี้ที บางคนก็ผละจากเครื่องพิมพ์ดีดก้มลงไปอุ้มขึ้นมานั่งตัก บางคนก็ยุ่งเกินกว่าจะทำอย่างนั้นได้ ลูกก็เลยต้องคลานวนอยู่ทั่วบ้าน พอลูกโตขึ้นมาหน่อย ประเทศของเราเกิดภาวะวิกฤติทางการเงินที่เรียกว่า “ต้มยำกุ้ง” ในปี 40 เราก็ถือโอกาสปิดบริษัทเลิกกิจการWriter แต่ยังดำเนินการทำสำนักพิมพ์บ้านหนังสือต่อ โดยใช้ฟรีแลนซ์เสียเป็นส่วนใหญ่ ทั้งจัดหน้า ออกแบบปก ที่ทำเองก็มีเรื่องของบรรณาธิการ กับพิสูจน์อักษร งานการต่าง ๆ ก็ดำเนินต่อมาด้วยดี
บางปีหนังสือที่เราทำก็ขายดีเป็นพิเศษ บางปีก็มียอดจำหน่ายลดลง แต่ผมนั้นสอนลูกสอนหลานเสมอว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมีขึ้นและมีลง เมื่อขายดีก็ย่อมมีวันที่ขายไม่ดี อย่าได้แตกตื่นตกใจ เวลาไปออกบูธในงานสัปดาห์หนังสือก็มักจะพูดกับเด็ก ๆ ที่มาช่วยกันขายหนังสือว่า ขายได้เท่าไรก็ดีทั้งนั้น ไม่ต้องเคร่งเครียด ขายได้แสนหนึ่งก็ดีกว่าได้หมื่น พอขายได้หมื่นก็ดีกว่าขายได้หลักพัน พอขายได้หลักพันผมก็ว่าดีกว่าได้หลักร้อย วันไหนที่ขายได้หลักร้อยผมก็ว่าดีกว่าไม่ได้เลย สมมุติว่าเกิดมีวันที่ขายไม่ได้เลย ผมก็จะพูดเหมือนเดิมว่า ก็ดีแล้ว เหลือเยอะ ๆ จะได้เก็บไว้ขายพรุ่งนี้ หรือขายปีหน้าก็ว่ากันไป
แต่เรื่องขายไม่ได้นั้นไม่เคยเกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะได้มากได้น้อยก็ขายได้ทุกวัน
เรื่องคิดที่จะหาคนมาช่วยนั้นต้องเลิกล้มไป และผมก็ค่อนข้างจะเห็นพ้องกับลูกในเรื่องของการทำงานว่า ได้แค่ไหนก็ทำแค่นั้น ไม่ต้องไปเคร่งเครียดให้มากนัก เงินทองก็พอมีใช้ งานก็มีให้ทำทุกวัน นึกอยากเที่ยวก็ได้เที่ยว นึกอยากจะบินไปวิ่งที่เชียงใหม่ก็ได้ไป นึกอยากจะพักผ่อนติดต่อกันสักอาทิตย์ก็ได้พัก หากมีคนมาช่วยงาน การที่เราไปวิ่งทีละห้าวันหกวันหรือกลับไปเยี่ยมปู่ที่ตรังสักสองอาทิตย์ก็จะทำได้ยากขึ้น อย่างน้อยก่อนที่จะไปไหนก็ต้องคิดงานเผื่อให้ให้คนมาช่วยได้ทำด้วย เมื่อใครสักคนมาทำงานกับเรา เขาก็ต้องมั่นใจในตัวเรา เชื่อว่าเราจะดูแลเขาได้ ชีวิตครอบครัวลูกเมียของเขาก็ต้องฝากเราไว้ ไม่ใช่นึกอยากจะรับก็รับ อยากจะบอกเลิกก็บอกโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง ต้องคิดถึงใจเขาใจเรา
ลูกว่า อยู่อย่างนี้ดีที่สุดแล้ว ถ้าพ่อจะไปปลีกวิเวกเดินเล่นที่ฟิลิปปินส์อีกสักสองอาทิตย์ก็ไม่มีอะไรต้องห่วง แต่อย่าเผลอหลับที่สนามบินจนตกเครื่องอีกนะ หนูขี้เกียจรำคาญ
พูดถึงเรื่องตกเครื่องบินผมรู้สึกสยองใจไม่หาย อุตส่าห์มานั่งจิบกาแฟในสนามบินอยู่ครึ่งวัน รอเครื่องออกจากมะนิลาตอนสองทุ่ม เดินเที่ยวอยู่แทบจะรอบสนามบิน ซื้อของที่ระลึก หาร้านกาแฟสวย ๆ นั่งมองผู้คน แล้วก็เดินไปรอบ ๆ พอใกล้จะถึงเวลาเครื่องบินออกก็เผลอหลับ ตอนหลับก็ดันไปหลับที่หน้าประตูอื่นที่ไม่ใช่ประตูที่จะนำผู้โดยสารกลับประเทศไทย หลับแล้วก็หลับลึก คงมีเสียงประกาศหาผู้โดยสารกันหลายครั้งหลายครา ตื่นมาอีกทีเครื่องบินออกไปแล้ว ตอนนั้นก็ปั่นป่วน นึกไม่ออกว่าจะไปรับประเป๋าที่โหลดไปใต้ท้องเครื่องแล้วที่ไหน สงสารและเห็นใจพนักงานที่เขาต้องไปค้นหากระเป๋าลงมาไว้ข้างล่าง ไปติดต่อที่เคาน์เตอร์ สายการบิน บอกว่าตกเครื่อง เขาถามว่ายูไปไหนมา บอกว่า “ไอ แอมสลิฟ ขอโทษครับ” เขาก็ให้ออกไปให้นั่งรอกระเป๋าอยูที่หน้าเคาน์เตอร์เช็คอินอยู่เกือบสองชั่วโมง ระหว่างนั้นก็โทรขอให้ลูกที่เมืองไทยติดต่อซื้อตั๋วเครื่องบินใหม่ จะกลับวันพรุ่งนี้ ค่าตั๋วแบบด่วน ๆ ก็แพงขึ้นเป็นสองสามเท่า ได้ตั๋วมาแล้วก็ต้องลากเป้ออกจากสนามบิน โบกแท็กซี่ไปหาที่นอนในเมือง เพื่อว่าพรุ่งนี้จะได้กลับมาที่สนามบินอีกครั้งหนึ่ง
ฟิลิปปินส์เที่ยวนั้นเป็นประสบการณ์ที่ทำให้รู้สึกแย่อยู่ตลอดเวลา หลับหงายท้องอ้าปากหวอคาเก้าอี้จนตกเครื่อง ลูกสาวก็พลอยเดือดร้อนไปด้วย ถึงขนาดสั่งห้าม ต่อจากนี้ ไม่ให้ไปไหนคนเดียวอีก
พอนึกถึงเรื่องการออกคำสั่งห้ามนั่นห้ามนี่ของลูกนี่ก็คิดออกมาอีกเรื่อง ยิ่งเราอายุมากขึ้นเท่าไร ลูกก็จะยิ่งมองเราด้วยความเป็นห่วงเป็นใยมากขึ้น และคอยจับตาเฝ้าดูว่าเราทำอะไรหรือจะไปทำอะไรที่ไม่สมกับวัยบ้าง เช่นวันหนึ่งเกิดอยากได้มอเตอร์ไซค์เอาไว้ขี่เล่นสักคัน ลูกบอกว่า หยุดเลย รถก็มีขับอย่าหาเรื่อง เกิดไปโดนรถบรรทุกเฉี่ยวชนจะให้หนูทำยังไง แต่เรื่องวิ่งนั้นลูกไม่ห้าม บอกว่าดีแล้วทำให้พ่อมีความสุขร่างกายแข็งแรง เรื่องเดินทางออกนอกประเทศคนเดียว เดิมทีก็ไม่ค่อยห่วงหรือว่าอะไรนัก เพราะก่อนไปก็มักจะมีเพื่อนรอต้อนรับอยู่บ้าง แต่การไปนอนหลับที่สนามบินจนตกเครื่องนั้นทำให้ลูกคิดใหม่ บอกว่าไปคนเดียวจะไม่ให้ไปอีก ยกเว้นไปกับทัวร์ อยากไปไหนก็ให้ทัวร์เขาจัดการ ผมก็เถียงคอเป็นเอ็นว่า ไม่เอา ไม่ชอบ การเดินทางออกจากบ้านจากเมืองเป้าหมายคืออยากจะไปอยู่คนเดียวตามลำพัง อยากจะนั่งนิ่ง ๆที่ไหนสักที่ ไม่ต้องพูดกับใคร ไม่ต้องเจอใคร เดินไปเดินมาอยู่แถวที่พัก เบื่อแล้วค่อยบินกลับ ลูกว่า ตามใจ ก็มีคำว่า “แต่” ห้อยท้ายอีกหนึ่งประโยค
ปวดหลังผมก็นอนอ่านนิตยสารสารคดีเล่มใหม่ที่ขึ้นปกด้วยรูปของนักการเมืองและนักกิจกรรมทางการเมืองจำนวน9 คน มีรูปทหารอยู่ตรงมุมบนขวา สารคดีฉบับที่ 438 ประจำเดือนกันยายน พาดปกว่า “ทศวรรษที่หายไป 15 ปีวิกฤตการเมืองไทย” เนื้อหาข้างในมีบทสัมภาษณ์พิเศษนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเช่น สุเทพ เทือกสุบรรณ, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, พิภพ ธงไชย, ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ, สมบัติ บุญงามอนงค์, อานนท์ นำภา, เพนกวิน พริษฐ์ ชีวารักษ์ ,พรรณิกา วานิช, นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี, ตูน ชนกนันท์ รวมทรัพย์ สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ทุกบทสัมภาษณ์นั้นเต็มไปด้วยความเข้มข้น เป็นมุมมองเฉพาะตัวของแต่ละคน รอบด้านและลงลึกไปถึงความคิดที่แท้จริงของคนเหล่านี้ เป็นสารคดีฉบับพิเศษสุดที่เราควรจะมีเก็บไว้อ่านอยู่เรื่อย ๆ
ผมอ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นแรกของคุณพิภพ ธงไชย เขาพูดตอนหนึ่งว่า “การรัฐประหาร การใช้อำนาจนิยม มันกลายเป็นวัฒนธรรมการเมืองไทย มันมีรัฐประหารมาตลอด ไม่มีใครต่อต้านมากพอ คนไทยเคยชินกับวัฒนธรรมการเมืองแบบนี้ ทหารเลยฉวยโอกาสทุกครั้งไป”
ส่วนนายสุเทพพูดไว้ตอนหนึ่งว่า “ผมและผู้ชุมนุม กปปส.เห็นว่าระบอบทักษิณเป็นอันตรายต่อประเทศไทย ส่วนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาผมยังไม่เห็นว่าเขาทำอันตรายอะไรให้กับประเทศ ประยุทธ์ฆ่าประชาชนไหม –อุ้มฆ่าไหม ประยุทธ์ทุจริต คอร์รัปชั่นไหม หรือใช้อำนาจโยกย้ายโดยไม่เป็นธรรม ใช้อำนาจนิติบัญญัติเพื่อผลประโยชน์ตัวเองหรือไม่ ทั้งหมดผมยังไม่เห็น ผมเชื่อว่าพลเอกประยุทธ์ไม่ใช่คนทุจริต แต่เป็นคนซื่อสัตย์ ตั้งใจทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน ส่วนคนอื่นที่อยู่ใกล้ ๆ หรือทำงานด้วย ผมไม่รับรอง”
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจพูดว่า “คุณประยุทธ์ใช้ราวยี่สิบล้านล้านบาทมาเจ็ดปีแล้วไม่มีอะไรดีขึ้นเลย ผมคิดว่านี่คือการเสียโอกาสอย่างมหาศาล นี่คือช่วงเวลาเจ็ดปีที่งบประมาณของประเทศถูกนำไปใช้เพื่อสร้างความมั่งคั่งมั่นคงให้แก่กลุ่มอภิสิทธิ์ชน ไม่ได้ถูกเอามาพัฒนาประเทศ เป็นเรื่องน่าเสียดายกับโอกาสที่หายไป”
เพนกวิ้น พริษฐ์พูดตอนหนึ่งว่า “ผมอยากให้ประเทศนี้เป็นของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ทุกคนไม่ใช่ไพร่ ไม่ใช่ทาส ไม่ใช่ฝุ่น แต่ทุกคนมีศักดิ์ศรี อยากให้ทุกคนเดินไปไหนมาไหนอย่างภาคภูมิใจ ผมอยากให้ประเทศนี้เป็นที่ให้ความหวังกับทุกคน เป็นบ้านที่มีข้าวให้คนกิน มีรัฐสวัสดิการให้คนใช้ และทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงในกิจการบ้านของตัวเองเท่า ๆ กัน”
มีคำประกาศของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่1 เมื่อปี 2557 ลงไว้ให้อ่านด้วย
“ตามสถานการณ์ที่เกิดความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตปริมณฑล และพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศหลาย ๆ พื้นที่ เป็นผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง และเหตุการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มจะขยายตัว จนอาจเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวมนั้น
เพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชนในชาติเกิดความรัก ความสามัคคี เช่นเดียวกับห้วงที่ผ่านมา ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกันทั่วทุกฝ่าย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย กองทัพบก กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีความจำเป็นต้องเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคมคม พ.ศ.2557 เวลา 16.30 เป็นต้นไป .... สารคดีฉบับ 438 มีเนื้อหาเข้มข้นตลอดทั้งเล่ม สรุปภาพเหตุการณ์ต่างในช่วงที่เกิดม็อบเสื้อเหลืองเสื้อแดง ไล่เรียงมาจนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน เราจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของประเทศที่ผันผวนพลิกไปพลิกมา และยังมีอีกหลายประเด็นที่ชวนอ่านและชวนให้ตั้งคำถาม
เป็นนิตยสารเล่มโปรดที่ผมยังคงบอกรับเป็นสมาชิกอย่างต่อเนื่อง ได้รับทุกเดือน และมีความสุขกับการอ่านนิตยสารเล่มนี้เป็นอย่างยิ่ง ...
... 
|