สาระสำคัญ
โครงการโรงเรียนอ่านออกเขียนได้ยั่งยืน
การดำเนินงานแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้จะต้องคำนึงถึงสาระสำคัญอันเป็นมาตรฐานแม่บท แนวทางในการดำเนินการ ขั้นตอน และวิธีการ ดังต่อไปนี้
มาตรฐานแม่บท *****
๑.นักเรียนระดับอนุบาลมีความพร้อมด้านทักษะภาษาก่อนขึ้น ป.๑ ดังนี้
๑.๑ เปล่งคำและเปล่งเสียงพูดชัดเจนทุกอักขระไม่น้อยกว่าระดับชั้นอนุบาลละ ๕,๐๐๐ คำ
๑.๒ เปล่งเสียงท่องพยัญชนะ ก - ฮ และสระทั้ง ๓๒ สระ ได้ถูกฐานเสียงจนเกิดทักษะจดจำได้
๑.๓ มีพัฒนาการการจับดินสอ ปรับระยะสายตา เขียนเส้นลีลาต่างๆ และวาดรูปอย่างมีทักษะสมบูรณ์ก่อนการเขียนตัวอักษร
๑.๔ สามารถเขียนและจดจำพยัญชนะ ก - ฮ สระทั้ง ๓๒ สระ วรรณยุกต์ทั้ง ๔ รูป และตัวเลข ๐-๙ ได้
๒.นักเรียน ป.๑ มีความพร้อมด้านทักษะการอ่านและเขียนตามมาตรฐาน “อ่านและเขียนคำตรงมาตราทั้ง ๙ แม่ซึ่งมีพยัญชนะต้นครอบคลุมอักษรสามหมู่ ครอบคลุมสระไม่น้อยกว่า ๒๐ สระขึ้นไป รวมทั้งครอบคลุมคำควบกล้ำ คำอักษรนำ และคำผันเสียงวรรณยุกต์ทุกหมู่อักษร” ก่อนขึ้น ป.๒
๓.นักเรียน ป.๒ ขึ้นไปที่ไม่มีพื้นฐานด้านทักษะการอ่านและเขียนตามมาตรฐาน “อ่านและเขียนคำตรงมาตราทั้ง ๙ แม่ซึ่งมีพยัญชนะต้นครอบคลุมอักษรสามหมู่ ครอบคลุมสระไม่น้อยกว่า ๒๐ สระขึ้นไป รวมทั้งครอบคลุมคำควบกล้ำ คำอักษรนำ และคำผันเสียงวรรณยุกต์ทุกหมู่อักษร” ต้องได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างมีสัมฤทธิผล
แนวทางดำเนินการป้องกันและแก้ปัญหา*****
หลักการดำเนินการ "ป้องกันปัญหาและแก้ปัญหาเพื่อประกันการอ่านออกเขียนได้ยั่งยืน" ให้ดำเนินการตามแนวทางในหนังสือ เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว ของ ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ นั้นมีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้
๑.วิเคราะห์เหตุแห่งปัญหา
เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้มีสาเหตุมาจาก
๑.๑ ครูสอนผิดวิถีการสอนภาษาไทย
๑.๒ ครูจัดการเรียนการสอนไม่ครบกระบวนทักษะ
๑.๓ ผู้บริหารสถานศึกษาจัดวางตัวครูอนุบาลและครู ป.๑ ไม่เหมาะบุคคล รวมทั้งมอบหมายแนวทางการจัดการเรียนการสอนไม่ถูกต้อง
๑.๔ ผู้บริหาร นักวิชาการ และนักการศึกษาผู้กำหนดแผนงานและนโยบายระดับต่างๆ ไม่เข้าใจเหตุแห่งปัญหา ไม่สามารถกำหนดแนวทางในการจัดการเรียนการสอน การกำกับติดตาม และนิเทศให้ถูกต้องแท้จริง
๒.การแก้ปัญหา
การแก้ปัญหาจะต้องจัดทำแผนงานโครงการเป็น ๒ โครงการสำคัญ คือ
๒.๑ โครงการป้องกันปัญหา
โครงการนี้จะต้องจัดทำอย่างจริงจังและถูกต้องเพื่อป้องกันปัญหาแบบยั่งยืนที่ชั้น อนุบาล และชั้น ป.๑ นั่นก็คือ
(๑) จัดกิจกรรมการเรียนการสอนระดับอนุบาลด้วยการเตรียมความพร้อมด้านทักษะภาษาก่อนขึ้น ป.๑ ดังนี้
-เปล่งคำและเปล่งเสียงพูดชัดเจนทุกเสียงอักขระในถ้อยคำต่างๆ ไม่น้อยกว่าระดับชั้นอนุบาลละ ๕,๐๐๐ คำ
(รวมทั้งเปล่งเสียงท่องบทอาขยาน ร้องเพลง และพูดสื่อสารถามตอบได้ชัดเจนตามเสียงอักขระและเสียงคำควบกล้ำ, ฟังนิทาน เรื่องเล่า และพูดถามตอบได้ชัดเจนตามเสียงอักขระและเสียงคำควบกล้ำ)
-เปล่งเสียงท่องพยัญชนะ ก - ฮ และสระทั้ง ๓๒ สระ ได้ถูกฐานเสียงจนเกิดทักษะจดจำได้
-มีพัฒนาการการจับดินสอ ปรับระยะสายตา เขียนเส้นลีลาต่างๆ และวาดรูปอย่างมีทักษะทิศทางเส้นสมบูรณ์ก่อนการเขียนตัวอักษร
-สามารถเขียนพยัญชนะ ก - ฮ สระทั้ง ๓๒ สระ วรรณยุกต์ทั้ง ๔ รูป และตัวเลข ๐-๙
ฝึกเตรียมทักษะด้านภาษาเพียงเท่านี้ให้ได้อย่างครบถ้วนแท้จริง โดยไม่ต้องฝึกอ่านและเขียนคำ เพราะขั้นตอนการฝึกอ่านและเขียนคำเป็นหน้าที่ของครู ป.๑ การเร่งฝึกอ่านเขียนก่อนวัยอันสมควร จะเป็นโทษแก่เด็กมากกว่าเป็นผลดี ซ้ำยังทำให้ครูอนุบาลไม่มีเวลาฝึกเตรียมทักษะพื้นฐานข้างต้นให้สมบูรณ์เพียง พออีกด้วย
(๒) จัดการเรียนการสอนภาษาไทย ป.๑ เพื่อการอ่านออกเขียนได้อย่างมีมาตรฐาน ดังนี้
-ครูจัดทำชาร์ตแบบฝึกอ่านเขียนที่ถูกต้องและมีมาตรฐานตามหนังสือ เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว ของ ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ บทที่ ๓-๖
-ครูจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบบันไดทักษะ ๔ ขั้นวันละ ๒ ชั่วโมง
-นักเรียนมี “สมุดคัดลายมือ” ที่แสดงผลการเรียนต่อเนื่อง
-นักเรียนมี “สมุดเขียนตามคำบอก” ที่แสดงผลการเรียนต่อเนื่องอย่างสอดคล้องกับสมุดคัดลายมือ และแสดงผลการแก้ไขปรับปรุงอย่างมีพัฒนาการ
-ครูมีบัญชีแสดงการมาเรียนของนักเรียน
-เมื่อสอนครบเนื้อหาหลักสูตรได้มีการทดสอบ “เขียนตามคำบอก” ด้วยคำมาตรฐาน ๕๐ คำและแสดงหลักฐานได้อย่างเป็นระบบที่ง่ายต่อการตรวจสอบ
๒.๒ โครงการเฉพาะกิจแก้ปัญหาเร่งด่วนที่ชั้น ป.๒ ขึ้นไป
เนื่องจากเด็กที่เลื่อนชั้นจาก ป.๑ มาอยู่ในชั้นเรียนต่างๆ ขณะนี้จำนวนมากยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จึงจำเป็นต้องจัดทำโครงการแก้ปัญหาเฉพาะกิจเร่งด่วน ดังนี้
(๑) สำรวจสภาพปัญหาด้วยการให้เด็กชั้น ป.๒ ขึ้นไปเขียนตามคำบอกจากคำทดสอบ ๕๐ คำ โดยที่คำทดสอบนี้มีมาตรฐานพื้นทักษะระดับชั้น ป.๑ ซึ่งมีค่าความยากง่ายเฉลี่ยองค์ประกอบของคำครอบคลุม
-คำที่มีพยัญชนะต้นอักษรสามหมู่
-คำที่สะกดตรงมาตราทั้ง ๙ แม่
-คำที่ประสมสระไม่น้อยกว่า ๒๐ สระขึ้นไป
-คำควบกล้ำและคำอักษรนำ
-คำผันเสียงวรรณยุกต์ทั้งสามหมู่อักษร
ชุดคำทดสอบ ๕๐ คำ มีให้เลือกในหนังสือ เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว ของ ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ จำนวน ๒ ชุด อาจออกคำทดสอบเพิ่มเติมจากหลักการมาตรฐานดังกล่าวได้อีกตามที่เห็นเหมาะสม
นักเรียนที่ได้คะแนนไม่ถึง ๒๕ คะแนนให้คัดจำแนกเด็กเป็นกลุ่มๆ เข้าสู่โครงการแก้ปัญหา
(๒) จำแนกเด็กเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละไม่เกิน ๒๐ คน โดยพิจารณาให้เด็กเรียนช้าอยู่กับช้า เด็กเรียนเร็วอยู่กับเร็ว รวมทั้งดูวัยให้ใกล้เคียงกัน และดูคะแนนความสามารถที่ใกล้เคียงกันให้อยู่กลุ่มเดียวกันด้วย
(๓) จัดให้มีครูอาสาเป็นผู้รับผิดชอบจัดการเรียนการสอนเพื่อการแก้ปัญหาเป็นการ เฉพาะ ครูอาสาคนหนึ่งจะรับผิดชอบเด็กได้ไม่เกิน ๔ กลุ่ม หรือไม่เกิน ๘๐ คน
(๔) ครูอาสาจัดกิจกรรมการเรียนการสอนกลุ่มละ ๑ ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้น ถ้ามีเด็ก ๔ กลุ่มก็จะต้องสอนวันละ ๔ รอบ รอบละ ๑ กลุ่มต่อ ๑ ชั่วโมง ดังนั้น ครูอาสาที่รับผิดชอบสอนวันละ ๔ กลุ่ม ควรจะต้องว่างจากภารกิจอื่นอย่างสิ้นเชิง เพื่อจะได้ทุ่มเทเวลาเพื่อกิจกรรมการสอนแก้ปัญหาอย่างแท้จริง
(๕) ครูอาสาเขียนชาร์ตประกอบการสอนตามแบบฝึกในหนังสือ เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว ของ ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ ตั้งแต่บทที่ ๓ ถึงบทที่ ๖ และดำเนินการสอนไปตามลำดับเนื้อหาอย่างครบถ้วน โดยใช้กิจกรรมการสอนแบบบันไดทักษะ ๔ ขั้นทุกชั่วโมง คือ
ขั้นที่หนึ่ง แจกลูก ให้ผูกจำ
ขั้นที่สอง อ่านคำ ย้ำวิถี
ขั้นที่สาม คัดลายมือ ซ้ำอีกที
ขั้นที่สี่ เขียนคำบอก ทุกชั่วโมง
(๖) ครูอาสาดำเนินการสอนแก้ปัญหาไปจนครบถ้วนเนื้อหาเป็นเวลาไม่น้อยกว่ากลุ่มละ ๙๐ ชั่วโมง หรือไม่น้อยกว่า ๔ เดือน หรืออาจเกินกว่าเวลาที่กำหนดนี้ก็ได้ ทั้งนี้ให้ถือเอาความมีสัมฤทธิผลของทักษะของเด็กแต่ละกลุ่มและแต่ละคนเป็น สำคัญ
(๗) เมื่อสอนครบตามเนื้อหาบทที่ ๓-๖ ให้ครูอาสานำคำทดสอบ ๕๐ คำใช้ครั้งแรกก่อนเข้าโครงการมาทดสอบให้เด็กเขียนตามคำบอกอีกครั้ง เพื่อเปรียบเทียบพัฒนาการและผลสัมฤทธิ์ในการแก้ปัญหา (โดยทั่วไป ถ้าครูอาสาดำเนินการอย่างครบถ้วนตามเนื้อหาแบบฝึก กระบวนการ และขั้นตอนต่างๆ ดังที่กล่าวแล้ว โดยไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคแทรกซ้อน จะได้ผล ๑๐๐%)
(๘) จัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินโครงการเสนอหน่วยงานในสังกัดรับทราบ
๓.การบริหาร กำกับติดตาม นิเทศ และประเมินผล
ฝ่ายบริหารและฝ่ายวิชาการจะต้องเรียนรู้กระบวนการ ขั้นตอน วิธีการต่างๆ จากหนังสือ เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว ของ ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ ให้เกิดความเข้าใจตรงกันกับครูอนุบาล ครู ป.๑ และครูอาสา เพื่อวางแผนงานสนับสนุน ติดตามกำกับดูแล นิเทศ และช่วยเหลือ ดังนี้
๓.๑ จัดสรรงบประมาณสนับสนุนเพื่อการจัดซื้อกระดาษ และเครื่องเขียน เพื่อเขียนชาร์ตประกอบการสอนชุดละประมาณไม่น้อยกว่า ๒๐๐ แผ่น
๓.๒ บริหารบุคลากรและวิชาการให้เอื้อต่อกระบวนการแก้ปัญหา (มีรายละเอียดในหนังสือ)
๓.๓ ติดตามกำกับดูแล นิเทศ และช่วยเหลือ โดยสิ่งสำคัญที่ต้องกำกับให้ครูดำเนินการ คือ
(๑) ครูอนุบาลปฏิบัติการตามแนวทางดำเนินการและมีมาตรฐานสัมฤทธิผลที่สามารถตรวจสอบได้จาก
-มีหลักฐานบัญชีคำและการเปล่งคำของนักเรียนที่มีมาตรฐานและสอดคล้องกับแนวทางที่ได้รับการนิเทศ
-มีหลักฐานชาร์ตพยัญชนะ ก-ฮ, ชาร์ตสระที่มีมาตรฐาน และสามารถพิสูจน์การเปล่งท่องของนักเรียนได้
-นักเรียนมีพัฒนาการการจับดินสอ ปรับระยะสายตา เขียนเส้นลีลาต่างๆ และวาดรูปอย่างมีทักษะสมบูรณ์ก่อนการเขียนตัวอักษร, มีหลักฐานการจัดเก็บผลงานและพัฒนาการของนักเรียนอย่างเป็นระบบ
-นักเรียนสามารถเขียนพยัญชนะ ก - ฮ สระทั้ง ๓๒ สระ วรรณยุกต์ทั้ง ๔ รูป และตัวเลข ๐-๙, มีหลักฐานการจัดเก็บผลงานและพัฒนาการของนักเรียนอย่างเป็นระบบ
(๒) ครู ป.๑ ปฏิบัติการสอนเพื่อประกันการอ่านออกเขียนได้วันละ ๒ ชั่วโมง และสามารถตรวจสอบได้จาก
-ครูมีชาร์ตแบบฝึกอ่านเขียนที่ถูกต้องและมีมาตรฐานตามหนังสือ เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว บทที่ ๓-๖
-ครูได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบบันไดทักษะ ๔ ขั้นทุกชั่วโมง
-นักเรียนมี “สมุดคัดลายมือ” ที่แสดงผลการเรียนต่อเนื่อง
-นักเรียนมี “สมุดเขียนตามคำบอก” ที่แสดงผลการเรียนต่อเนื่องอย่างสอดคล้องกับสมุดคัดลายมือ และแสดงผลการแก้ไขปรับปรุงอย่างมีพัฒนาการ
-ครูมีบัญชีแสดงการมาเรียนของนักเรียน
-เมื่อสอนครบเนื้อหาหลักสูตรได้มีการทดสอบ “เขียนตามคำบอก” ด้วยคำมาตรฐาน ๕๐ คำและแสดงหลักฐานได้อย่างเป็นระบบที่ง่ายต่อการตรวจสอบ
(๓) ครูอาสาปฏิบัติการสอนเพื่อแก้ปัญหาการอ่านการเขียนอย่างน้อยวันละ ๑ ชั่วโมง และมีหลักฐานเอกสารประกอบการดำเนินงานที่สามารถตรวจสอบได้ ดังนี้
-ครูได้ดำเนินการทดสอบการเขียนตามคำบอกนักเรียนก่อนเข้าโครงการจากคำมาตรฐาน ๕๐ คำและมีกระดาษคำตอบเก็บไว้อย่างเป็นระบบและหมวดหมู่ที่ง่ายต่อการตรวจสอบ
-ครูมีชาร์ตแบบฝึกอ่านเขียนที่ถูกต้องและมีมาตรฐานตามหนังสือ เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว บทที่ ๓-๖
-ครูได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบบันไดทักษะ ๔ ขั้นทุกชั่วโมง
-นักเรียนมี “สมุดคัดลายมือ” ที่แสดงผลการเรียนต่อเนื่อง
-นักเรียนมี “สมุดเขียนตามคำบอก” ที่แสดงผลการเรียนต่อเนื่องอย่างสอดคล้องกับสมุดคัดลายมือ และแสดงผลการแก้ไขปรับปรุงอย่างมีพัฒนาการ
-ครูมีบัญชีแสดงการมาเรียนของนักเรียน
-เมื่อสอนครบเนื้อหาหลักสูตรได้มีการทดสอบ “เขียนตามคำบอก” ด้วยคำมาตรฐาน ๕๐ คำและแสดงหลักฐานได้อย่างเป็นระบบที่ง่ายต่อการตรวจสอบ
หมายเหตุ
หน่วยงานการศึกษาใดที่มีความประสงค์จะจัดทำโครงการโรงเรียนอ่านออกเขียนได้ ยั่งยืนโดยให้ “ทุ่งสักอาศรม” มีส่วนร่วมจัดหลักสูตรอบรม จัดวิทยากร และการนิเทศติดตาม กรุณาติดต่อปรึกษา “ครูกานท์” ตามที่อยู่ท้ายบทความนี้
---------------------------------------
ครูกานท์ :
ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ, ทุ่งสักอาศรม ๓๕ หมู่ ๑๓ ต.จรเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ๗๑๑๗๐
โทร. ๐๘๑-๙๙๕๖๐๑๖
e-mail : [email protected]