สวัสดีครับ วันนี้กระผมจะขอพาทุกๆคนไปยังสถานที่ที่เรียกได้ว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวญี่ปุ่นทุกคนครับ นั่นก็คือศาลเจ้าเทพีอามะเทระสึ ในเมืองอิเสะ หรือที่คนนิยมเรียกว่า ศาลเจ้าอิเสะ นั่นเองครับ ว่าแต่ศาลเจ้าอิเสะเป็นอย่างไร แล้วทำไมถึงต้องหลั่งเลือด เราไปติดตามกันเลยครับ
ชาวญี่ปุ่นกับธงอาทิตย์อุทัย, ศาลเจ้าอิเสะ (เห็นธงมั๊ยครับ อยู่บนภูเขา ถ้าซูมที่ธงก็จะไม่เห็นผู้คน)
วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน 2559, ผมตื่นขึ้นในโฮสเทลที่แสนจะหายากเมื่อวาน อาการหูอื้อของผมดีขึ้นบ้างแต่ก็ยังได้ยินอะไรไม่ค่อยชัดนัก ผมเห็นป้ายโฆษณาโรงอาบน้ำใกล้ๆแต่ผมไม่มีเวลามากนักเพราะวันนี้ผมจะเดินทางออกจากโอซาก้าไปยังอิเสะที่อยู่ในจังหวัดมิเอะ ผมจึงต้องอดทนพาร่างที่หมักดองได้ 2 วันกว่าแล้วเดินทางต่อไป (โชคดีที่อากาศเย็นทำให้เหงื่อผมออกไม่มากนัก) ผมเดินแบกกระเป๋าไปยังสถานีนัมบะเพื่อซื้อตั๋วรถไฟ Kintetsu Limited Express เพื่อเดินทางไปยังอิเสะ ก่อนเดินทางก็เติมพลังเสียหน่อยด้วยข้าวปั้น 2 ก้อน 
Kintetsu Limited Express
การเดินทางใช้เวลาราวๆ 2 ชั่วโมง โดยรถไฟจะออกจากสถานีนัมบะมุ่งตรงสู่นาโกย่า จังหวัดไอจิ สำหรับคนที่ไปอิเสะจะต้องเปลี่ยนขบวนที่สถานียามาโตะ–ยางิ(大和八木駅) ซึ่งอยู่ในจังหวัดนาระ (เดินทางไกลจริงๆ) เมื่อเปลี่ยนขบวนเรียบร้อยรถไฟก็จะพาเรามายังสถานีอิเสะชิ ด้านหน้าของสถานีอิเสะชิ
เมื่อออกมาจากสถานี ผมเจอเข้ากับกลุ่มลุงๆป้าๆกำลังรณรงค์อะไรบางอย่างอยู่ ป้าคนหนึ่งเข้ามาคุยกับผมแล้วก็ยื่นกระดาษให้ผมเซ็นชื่อ เกิดเป็นบทสนทนาเล็กๆ
คุณป้า: พ่อหนุ่ม มาลงชื่อกับป้าหน่อย
ผม: ลงชื่อเรื่องอะไรครับ
คุณป้า: ลงชื่อร่วมกันต่อต้านสงคราม คืองี้นะ [email protected]#$#^&*&%%[email protected]@!#%..... (คือป้าแกพูดเกินLevelที่ผมจะฟังออก)
ผม: เอ่อ...ผมก็ว่าดีนะ แต่ผมลงชื่อไม่ได้หรอก ผมไม่ใช่คนแถวนี้
คุณป้า: คนต่างถิ่นก็ลงได้นะ พ่อหนุ่มมาจากโตเกียวรึ หรือฮกไกโด หรือโอกินาว่า (เหนือจรดใต้เลยทีเดียว)
ผม: (คิดในใจ เหมือนคนญี่ปุ่นตรงไหน) เปล่าครับ คือ...ผมไม่ใช่คนญี่ปุ่นครับ
คุณป้า: ไม่ใช่คนญี่ปุ่น? (Stun ไป 3 วิ) ...คนต่างชาติก็ลงได้นะ
ผม: ผมเห็นด้วยกับป้าสุดใจเลย แต่ผมขอไม่ลงชื่อดีกว่า ขอตัวก่อน สู้ๆนะครับ ซุมิมาเซน (ขอโทษครับ)
ผมรีบลาคุณป้าแล้วเดินต่อไป ป้าแกก็ไม่ได้ว่าอะไรแล้วก็หันไปเรียกคนอื่นต่อ เดินมาสักพักก็พบว่าที่อิเสะนั้นมีการจัดวางเมืองได้อย่างสวยงามทีเดียว คือทำถนนให้เดินตรงสู่ศาลเจ้าได้เลย บ้านเมืองก็ดูสะอาดสะอ้าน ระหว่างทางผมเจอร้านขายนมร้านหนึ่งชื่อยามามุระ กิวนิว (กิวนิวแปลว่านมวัวครับ) จึงแวะดื่มนมซะหน่อย อร่อยดีครับ
ร้านนม บนกันสาดเขียนว่า มิรุคุ กักโคว (นมโรงเรียน?)
ดื่มนมเรียบร้อยแล้ว เดินไปซักพักก็ถึงศาลเจ้าครับ ศาลเจ้าอิเสะ หรือในชื่อญี่ปุ่นว่า อิเสะ จินกู คนที่ไปเที่ยวศาลเจ้าชินโตบ่อยๆอาจจะพบว่าชื่อในภาษาญี่ปุ่นของศาลเจ้าแต่ละแห่งนั้นมีคำลงท้ายไม่เหมือนกัน ซึ่งคำลงท้ายที่ต่างกันทำให้เรารู้ถึงระดับความยิ่งใหญ่ของศาลเจ้านั้นๆ ดังนี้
- จินจะ (Jinja,神社 ) คำนี้แปลว่าศาลเจ้าเลยครับ โดยทั่วไปแล้วศาลเจ้าต่างๆจะลงท้ายด้วยคำนี้ เช่น Futarasan Jinja (ศาลเจ้าฟุตะระซัน, โทจิกิ) หรือ Yasaka Jinja (ศาลเจ้ายาซากะ, เกียวโต) -ไทฉะ (Taisha, 大社) หมายถึงศาลเจ้าใหญ่ เช่น Fushimi – Inari Taisha (ศาลเจ้าฟุชิมิ – อินาริ, เกียวโต) หรือ Kasuga Taisha (ศาลเจ้าคาซึกะ, นาระ) - จินกู (Jingu,, 神宮 ) หมายความว่าศาลเจ้านี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อราชวงศ์ญี่ปุ่น เช่น Ise Jingu (ศาลเจ้าอิเสะ, มิเอะ) หรือ Meiji Jingu (ศาลเจ้าเมจิ, โตเกียว) - นอกจากนี้ยังมีคำอื่นๆอีกอย่าง เมียวจิน (Myojin, 明神) แปลว่า เทพผู้ยิ่งใหญ่ เช่น Kanda Myojin (ศาลเจ้าคันดะ, โตเกียว)
ในความเป็นจริงแล้ว หากกล่าวว่า จินกู เฉยๆ คนญี่ปุ่นจะหมายถึงศาลเจ้าอิเสะเลย อาจเรียกได้ว่าศาลเจ้าแห่งนี้เป็นศาลเจ้าที่ได้รับความเคารพนับถือเป็นอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามคำลงท้ายเหล่านี้ก็ไม่ได้หมายถึงลำดับความสำคัญของศาลเจ้าแต่อย่างใด เช่น ศาลเจ้ายาสุคุนิ (Yasukuni Jinja) เป็นศาลเจ้าของจักรพรรดิเมจิ มีความสำคัญต่อชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างมากแม้ว่าชื่อ Jinja ก็ตาม  ชาวญี่ปุ่นเดินข้ามถนนเพื่อมุ่งสู่ศาลเจ้าอิเสะ
ศาลเจ้าอิเสะเป็นศาลเจ้าที่ชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญและเคารพนับถือเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากศาลเจ้าแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อบูชาเทพีอามะเทระสึ เทพีแห่งดวงอาทิตย์ซึ่งชาวญี่ปุ่นถือว่าเป็นเทพเจ้าสูงสุด นอกจากนี้ตำนานของชาวญี่ปุ่นยังกล่าวว่าราชวงศ์ยามาโตะซึ่งเป็นราชวงศ์เดียวที่ครองราชย์ยาวนานนับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศจนถึงปัจจุบันนั้นสืบเชื้อสายจากเทพีอามะเทระสึอีกด้วย เหตุนี้ชาวญี่ปุ่นจึงถูกเรียกว่าเป็นชาวอาทิตย์อุทัยหรือลูกหลานพระอาทิตย์ (และเป็นเหตุผลว่าทำไมสถาบันกษัตริย์ของญี่ปุ่นจึงยังคงดำรงอยู่ได้แม้ผ่านเหตุการณ์ต่างๆมากมาย เพราะชาวญี่ปุ่นล้วนแต่เคารพนับถือนั่นเองครับ)
ศาลเจ้าอิเสะนั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ศาลเจ้าชั้นนอก (Geku) กับศาลเจ้าชั้นใน (Naiku) ซึ่งส่วนที่ผมกำลังจะเข้าไปนั้นก็คือศาลเจ้าชั้นนอก เข้าไปแล้วก็จะพบกับสะพานไม้ที่เมื่อข้ามไปก็จะเป็นทางเดินที่มีต้นไม้เขียวชอุ่มรายรอบ และเสาโทริอิขนาดใหญ่ที่พบได้เป็นช่วงๆ เสาโทริอิในบริเวณศาลเจ้าชั้นนอก
ผ่านไปได้สักพักก็จะมาเจอกับอาคารเล็กๆที่มีไว้ให้เหล่ามิโกะและนักบวชได้มาขายของที่ระลึกจำพวกเครื่องรางของขลังต่างๆ สังเกตได้ว่ามีชาวญี่ปุ่นมาต่อแถวซื้อเครื่องรางกันเป็นจำนวนไม่น้อยเลยครับ จุดขายของที่ระลึก
จากจุดขายของเดินไปเรื่อยๆสักพักเราจะเจอบริเวณที่เป็นลานกว้าง โดยจะมีทั้งศาลเจ้าเล็กๆ, ก้อนหินหรือต้นไม้ที่มีเชือกผูก หรือศาลาต่างๆอยู่ตามทางให้ผู้มาเยือนได้กราบไหว้ โดยเฉพาะศาลาแห่งที่อยู่สุดทางเดินจะมีผู้นิยมมากราบไหว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้มาเยือนสามารถขอเข้าไปทำพิธีภายในสวนหินด้านในได้ โดยที่นักบวชจะเป็นผู้นำในการทำพิธี (แต่ต้องจ่ายค่าประกอบพิธีด้วยนะครับ) ส่วนใครที่ไม่ต้องการทำก็สามารถเข้าไปขอพรเฉยๆได้เหมือนศาลเจ้าทั่วไป อ้อ ตรงจุดนี้ท่านนักบวชบอกผมว่าหากเดินผ่านเสาข้างหน้าไปแล้วจะไม่สามารถถ่ายรูปได้ครับ
 ศาลานี้มีผู้นิยมมากราบไหว้เป็นจำนวนมาก
จากบริเวณลานกว้าง จะมีทางเดินแยกไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะพาเราไปยังศาลเจ้าที่อยู่บนสุดของบริเวณศาลเจ้าชั้นนอก ซึ่งต้องเดินขึ้นบันไดหินที่ชันพอสมควร แต่เด็กและคนชราชาวญี่ปุ่นนั้นดูจะไม่มีปัญหากับเรื่องนี้เลยครับ เมื่อขึ้นไปถึงก็พบชาวญี่ปุ่นจำนวนมากกำลังต่อแถวเพื่อรอขอพรกับศาลเจ้าอย่างเป็นระเบียบ
จุดสูงสุดของศาลเจ้าชั้นนอก
หลังจากนั้นผมก็เดินลงมาเรื่อยๆจนพบทางแยกอีกทางหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ๆกับลานกว้าง เดินไปตามทางสักพักก็พบว่าผมกลับมาที่ถนนด้านหน้าศาลเจ้าอีกครั้ง เพียงแต่อยู่คนละประตูเท่านั้น ผมจึงเดินข้ามถนนไปที่ป้ายรถบัสเพื่อเดินทางไปยังศาลเจ้าอิเสะชั้นใน ซึ่งการเดินทางภายในอิเสะนั้นเราจะใช้ตั๋วรถบัสแบบ 1 วันครับ มีขายที่สถานีอิเสะชิ หรือจะซื้อกับคนขับรถบัสเลยก็ได้ เพียง 1,000 เยนเท่านั้น (เท่าที่ดูราคานั่งแค่ 3 ครั้งก็คุ้มแล้วครับ)
จุดรอรถบัสหน้าศาลเจ้าอิเสะ
นั่งไปประมาณ 3 ป้าย รถบัสจะพาเรามายังศาลเจ้าอิเสะชั้นใน (ป้ายชื่อว่า Naikumae) เดินข้ามสะพานมาจะเป็นทางเดินที่กว้างขวางมาก เดินไปอีกซักพักใหญ่ๆเลยครับกว่าจะถึงเขตศาลเจ้า ทางเดินสู่ศาลเจ้าชั้นใน
เดินไปเรื่อยๆจะเจอธารน้ำอยู่ข้างทางครับ คนญี่ปุ่นมาถึงจุดนี้บางคนก็จะไปล้างมือบ้าง เอาน้ำลูบหน้าบ้าง ซึ่งผมก็ลองดูบ้างเพราะน้ำก็ดูใสดี ปรากฏว่ามือชาเลยครับเพราะน้ำเย็นมาก
ล้างไม้ล้างมือกันก่อนครับ
หลังจากนั้นเดินมาเรื่อยๆก็จะเหมือนกับตรงศาลเจ้าชั้นนอกครับคือจะมีจุดขายเครื่องรางของขลังดักรอก่อนเลยคราวนี้คนเยอะมากครับ คนญี่ปุ่นรอซื้อเครื่องราง
ศาลเจ้าชั้นในจะมีลักษณะแตกต่างกับชั้นนอกตรงที่ทางเดินจะเป็นลักษณะค่อนข้างบังคับ คือทางเดินจะพาเราไปยังจุดสักการะต่างๆเลย และระหว่างทางจะพบเห็นศาลเจ้าขนาดเล็กแทรกตัวอยู่ตามต้นไม้เป็นจำนวนมาก
หนึ่งในศาลเจ้าที่อยู่ริมทาง
คนเข้าแถวรอสักการะศาลเจ้า
ศาลเจ้าที่อยู่ลึกสุดจะมีรูปร่างเหมือนกับศาลเจ้าที่อยู่สูงสุดของชั้นนอก แต่จะไม่ต้องเดินขึ้นบันไดสูงมากเหมือนที่ศาลเจ้าชั้นนอก จากจุดนี้ขากลับมีแต่จะต้องเดินย้อนออกทางเก่าเท่านั้นครับ จุดลึกสุดของศาลเจ้าชั้นใน สิ่งที่ต้องระวังเมื่ออยู่ในศาลเจ้าอิเสะทั้งชั้นนอกและชั้นในก็คือ สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ที่คนญี่ปุ่นให้ความเคารพเป็นอย่างมาก ผู้มาเยือนควรมีกิริยาที่สำรวม ไม่ควรพูดคุยกันเสียงดังคุยกันแค่พอให้ได้ยินในกลุ่มตัวเองพอ ไม่วิ่งหรือเล่นอะไรที่จะไปรบกวนผู้อื่น และจะต้องทำตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด เช่นจุดที่ห้ามเข้าจะมีเชือกที่มีกระดาษยันต์กั้นอยู่ ซึ่งหมายถึงเป็นทางสำหรับนักบวชหรือเป็นบริเวณที่ศักดิ์สิทธิ์มาก หรือการถ่ายรูป ในเขตศาลเจ้าจะมีบริเวณที่ถ่ายรูปได้ปกติ, ถ่ายรูปได้โดยห้ามใช้แฟลช และจุดที่ห้ามถ่ายครับ
มีเชือกกั้นแบบนี้คือห้ามเข้าครับ
ป้ายแบบนี้หมายความว่าห้ามใช้แฟลชครับ
แม้วันนี้จะมีแดดบ้างแต่อากาศหนาวมากทีเดียวครับ ผมเดินย้อนออกมาทางเดิมก็พบกับอาคารเล็กๆไว้นั่งพัก ผมจึงเข้าไปหลบหนาวในนั้นสักครู่ ข้างในอุ่นดีทีเดียวครับ มีที่นั่งและน้ำชาให้ดื่มอีกด้วย ผมนั่งให้ร่างกายอบอุ่นสักพักจึงออกมาข้างนอก ปรากฏว่าพอเดินออกมาผมก็รู้สึกได้ถึงน้ำอุ่นๆไหลลงที่ใบหน้า หยดลงที่ขากางเกงและพื้นจนเป็นสีแดงฉาน มันคือเลือดนั่นเองครับ เลือดกำเดาไหลออกมาราวกับน้ำตก ผมรีบเงยหน้าขึ้นเดินไปหาที่นั่งพัก ผมนั่งเงยหน้าอยู่หลายนาทีอาการจึงดีขึ้น หวังว่าท่านเทพจะไม่โกรธผมที่ทำพื้นศาลเจ้าเปื้อนเลือดนะครับ
อาคารนั่งพัก
จากศาลเจ้าอิเสะชั้นใน ผมเดินออกมาทางขวามือพบกับทางเดินยาวที่ทั้งสองฝั่งรายล้อมไปด้วยร้านขายของต่างๆมากมาย ส่วนใหญ่เป็นของกินเล่นและขนมต่างๆ ผมเดินชิมของอร่อยๆมากมายจนลืมตัวว่าผมกำลังควบคุมน้ำหนักอยู่ (ไว้จะเอารูปของกินมาลงอีกทีนะครับ) ตรอกข้างศาลเจ้าอิเสะที่เต็มไปด้วยของอร่อยๆ
ระหว่างทางมีซากุระให้ชมด้วยครับ
กินอิ่มเรียบร้อย (บางทีผมก็ไม่กินเป็นมื้อครับอาศัยเดินกินโน่นนิดนี่หน่อยแบบนี้แหละ ถถถ) ผมเดินกลับไปที่ป้ายรถบัสเพื่อเดินทางต่อไปยังป้าย Moetoiwa Higashi Guchi,Futami Sea Paradise Mae (เป็นป้ายรถบัสที่ชื่อยาวจริงๆ) เมื่อไปถึงก็จะพบกับสวนน้ำฟุตามิครับ แต่เป้าหมายที่ผมมาที่นี่ก็คือ Meoto Iwa (หินเมโอโตะ) หรือที่เรียกกันว่า หินแต่งงาน นั่นเอง ซึ่งเราจะต้องเดินผ่านสวนน้ำฟุตามิเข้าไปครับ เดินตามกลิ่นทะเลมาซักพักก็จะเจอทางไปสู่หินแต่งงาน หินเมโอโตะ หรือหินแต่งงาน
หินเมโอโตะ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งของอิเสะ มีลักษณะเป็นหินสองก้อนโผล่พ้นทะเลขึ้นมาคู่กันราวกับเป็นคู่รัก ชาวบ้านจึงเอาเชือกไปคล้องทั้งสองไว้ให้เหมือนเป็นพิธีแต่งงาน หินก้อนใหญ่ที่มีเสาโทริอิอยู่ด้านบนเป็นผู้ชายชื่อว่า อิซานางิ ส่วนหินก้อนเล็กเป็นผู้หญิงชื่อว่า อิซานามิ คนที่นี่เชื่อกันว่าหากได้ชมพระอาทิตย์ขึ้นระหว่างหินคู่นี้ชีวิตจะประสบความสำเร็จครับ ก่อนกลับคนญี่ปุ่นจะนิยมมาแวะลูบหัวกบสำริดตัวนี้เพื่อขอโชคลาภครับ
หลังจากนั้นผมเดินข้ามสะพานลอยไปยังป้ายรถบัสฝั่งตรงข้ามเพื่อที่จะกลับไปยังสถานีอิเสะชิ ผมมองตารางเวลารถบัสแล้วพบว่าไม่มีรายชื่อสถานีอิเสะชิอยู่ในตารางเลย (ตารางเป็นภาษาญี่ปุ่นล้วนครับ แถมผมอ่านคันจิไม่ค่อยออกด้วย) แต่รอบๆไม่มีป้ายอื่นเลยผมเลยนั่งรอตรงนี้แหละ ระหว่างนั้นมีลุงกับป้าและยายสามคนเดินมานั่งที่ป้าย ผมเลยถามป้าคนที่นั่งติดกับผมว่าป้ายนี้ไปสถานีอิเสะชิรึเปล่า ป้าก็ตอบว่าไป.....เอ๊ะ หรือไปสถานีอุจิยามะดะหว่า.... ป้าไม่ค่อยแน่ใจ ได้ยินแบบนี้ผมก็โอเคนั่งรอตรงนี้แหละ เพราะสถานีอุจิยามะดะนี่มันก็อยู่ใกล้ๆกับสถานีอิเสะชินั่นแหละ ผิดพลาดยังไงก็เดินแค่นิดเดียว จากนั้นคุณป้าก็ถามว่าไม่ใช่คนแถวนี้หรือ (ไม่รู้ว่าหมายถึงไม่ใช่คนอิเสะ หรือไม่ใช่คนญี่ปุ่น)
ผมก็ตอบว่าผมมาเที่ยวครับ ป้าแกถามต่อว่ามาจากไหนรึ แต่ผมยังไม่ทันตอบลุงข้างๆก็มาสะกิดป้าแล้วบ่นประมาณว่าแกจะถามอะไรเยอะแยะ ป้าแกเลยบอกไม่เป็นไรไม่ต้องตอบก็ได้ ผมเลยบอกป้าว่าผมมาจากโอซาก้าครับ (ผมแกล้งออกสำเนียงคันไซด้วย แต่ผมไม่ได้โกหกนะ เมื่อเช้าผมนั่งรถไฟมาจากโอซาก้าจริงๆ ถถถ) นั่งรอสักพักรถบัสก็มา คนขับบอกไปอิเสะชิต้องเปลี่ยนรถที่ป้ายหน้าศาลเจ้าอิเสะชั้นในนะครับ โอเครู้วิธีกลับละ รอดตัวไป เมื่อกลับมาแล้วผมจัดการเอากระเป๋าเสื้อผ้าออกมาจากล๊อคเกอร์ แล้วออกตามหาที่พักในคืนนี้ นั่นคือ Ise Guesthouse Kazami
Ise Guesthouse Kazami
เกสต์เฮาส์ที่นี่ตกแต่งแบบติสท์ๆ ดำเนินการโดยเหล่าสตาฟวัยรุ่น ประกอบด้วย มิกะ สาวผมยาวที่คอยต้อนรับผู้มาเยือน ยูคิ สาวผมสั้นทำอาหารเก่ง โดโรธีเป็นสาวไต้หวัน กำลังศึกษาภาษาต่างๆรวมทั้งภาษาไทย ผมเลยมีโอกาสได้สอนเธอไปหลายคำ ซึ่งเธอคอยจดโน้ตอย่างตั้งใจมาก และอีกคนเป็นหนุ่มร่างใหญ่เคสุเกะ เคสุเกะพูดอังกฤษได้น้อยมากถึงมากที่สุด แต่ผมรู้สึกถูกคอเลยได้คุยกับหมอนี่นานมาก เคสุเกะบอกว่าตัวเองเคยโบกรถจากฮกไกโดตะลอนมาเรื่อยๆถึงโอกินาว่าด้วย ตอนนี้มาทำเกสต์เฮาส์กับเพื่อนๆเพื่อเก็บตังค์ เขามีแผนจะไปลุยต่างประเทศในอีกสองปีข้างหน้า ผมนั่งคุยกับพวกเขาไปเรื่อยๆรู้สึกเพลินดีครับ ระหว่างนั้นก็มีแขกแวะเวียนมาพูดคุยเป็นพักๆ
ภายในเกสต์เฮาส์คาซามิ
ผมนั่งสักพักก็นึกขึ้นได้ว่าผมซื้อขนมมาจากตรอกข้างศาลเจ้าอิเสะ มันเยอะมากเลยเอามาแบ่งดีกว่า มันคือขนมชื่อว่า นามาอุอิโระ ลักษณะเหมือนโยคัง (วุ้นถั่วแดง) มีรสชาเขียวและซากุระ ผมจัดการหั่นแบ่งเป็นชิ้นๆแล้วให้เคสุเกะออกไปตระเวนแจกคนที่นั่งอยู่บริเวณนั้น นามาอุอิโระ
ระหว่างนั้นผมก็เอาขนมออกมาอีก เจ้ากล่องโยกุเร็ตเมื่อตอนที่แล้วนั่นเอง เคสุเกะร้องลั่นบอก นัทสึกาชี่!(คิดถึงจัง) พูดเหมือนจิฮารุเลย แต่ออกอาการกว่ามาก ผมคิดว่าคนญี่ปุ่นวัย 20 – 30 ปีน่าจะชอบเจ้าลูกอมรสโยเกิร์ตนี่กันทุกคน ส่วนโดโรธีทำหน้างงๆเหมือนว่า เพื่อนเธอมันจะดีใจอะไรนักหนา ผมกับเคสุเกะเลยคะยั้นคะยอให้เธอชิม โดโรธีมองหน้าเหมือนกำลังคิดว่าอะไรของพวกแก ก่อนที่จะกินเข้าไปพร้อมกับร้องออกมาว่า โออิชี่! ที่นี่มีเฟสบุ๊คเพจด้วยนะครับไปเยี่ยมชมกันได้
ช่วงดึกๆคนเริ่มมานั่งกันเต็มลอบบี้ อยู่ๆก็มีชายผมรุงรังหน้าตาเซอร์ๆโผล่มา จู่ๆก็หยิบกล่องสี่เหลี่ยมแปลกๆออกมาเคาะ เสียงที่ออกมานั้นไพเราะอย่างไม่น่าเชื่อ ชายแปลกหน้าเคาะกล่องเป็นเสียงดนตรีอย่างสนุกสนาน เสียงปรบมือเกรียวกราวดังขึ้นหลังการแสดงจบลง เคสุเกะบอกว่าชายคนนี้ชื่อ ฮิ-ซัง สักพักฮิซังก็เอาเครื่องเป่ายาวๆออกมา จู่ๆก็มีเด็กอายุราวๆ 3 – 5 ขวบ (คาดว่าเป็นลูกของฮิซัง) โผล่มาพร้อมกับกลองหนังอันเล็กๆ เล่นดนตรีคู่กับฮิซังอย่างสนุกสนาน เรียกเสียงปรบมือไปได้อีกครั้ง หลังจากนั้นผู้คนก็เริ่มแยกย้าย ผมเองก็ไปเข้านอนเช่นกัน วันนี้ผมนอนหลับอย่างมีความสุขหลังจากที่ไม่ได้นอนดีๆมา 2 คืนแล้ว แต่ที่ต้องรับเคราะห์ไปก็คือห้องน้ำของเกสต์เฮาส์คาซามิครับเพราะผมเพิ่งจะได้อาบน้ำเป็นครั้งแรกหลังจากมาถึงญี่ปุ่น ถถถถถ........
โปรดติดตามตามตอนต่อไปนะครับ
บันทึกโดยพี่หมีใหญ่
|