วันเสาร์ ที่ 20 กรกฎาคม 2556
Posted by
มีนา
,
ผู้อ่าน : 12270
, 18:43:32 น.
หมวด : ท่องเที่ยว
พิมพ์หน้านี้
โหวต
11 คน
มะอึก
,
smile-andaman
และอีก 9 คนโหวตเรื่องนี้
พูดถึงเรื่องช้อปปิ้ง คนชอบจับจ่ายใช้เงินเวลาไปต่างประเทศคงตาโต ร้องโอ้โฮถูกใจ... จริงๆ ต้องออกตัวเลยค่ะว่า ดิฉันไม่ใช่นักช้อปปิ้ง เวลาไปเที่ยวต่างประเทศ นิยมที่จะเดินดูวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น มีความสุขกับการเดินชมพิพิธภัณฑ์หรือสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์มากกว่า อย่างมากก็จะเป็นนักเดินช้อปปิ้งตามหน้ากระจกร้าน (Window Shopping) หลายทริปที่ผ่านมาจึงมีแต่ของฝากจากสนามบินเสียส่วนใหญ่ เพราะใช้เพียงกระเป๋าเดินทางใบย่อมเหมาะสมกับรูปร่างอันแบบบาง
แต่ครั้งนี้ มาแบบไม่มีการตั้งโปรแกรมเที่ยวอัดแน่น มีเวลาสบายๆ และตลาดขายของทั้งสองแห่งของอิสตันบูล คือ Spice Bazaar และ Grand Bazaar ก็เหมือนกับเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ของอิสตันบูลเลยทีเดียว
หลังจากที่อิ่มเอมจาก Yeni Camil หรือ New Mosque ก็ปาเข้าไปบ่ายโมงเศษแล้ว คิดว่าคงจะเดินเล่นที่ตลาดเครื่องเทศหรือตลาดอียิปต์ (Spice Bazaar หรือ Egyptian Market) ก่อน น่าจะพอมีร้านอาหารอยู่ในตลาดบ้างล่ะ
บริเวณประตูทางเข้าตลาดด้านหน้ามีป้ายทองติดไว้ว่า
MISIR CARSISI
SPICE BAZAAR
1597 - 1664
คำว่า MISIR CARSISI เป็นภาษาตุรกี แปลเป็นภาษาอังกฤษก็คือ Egyptian Bazaar หรือตลาดอียิปต์นั่นเอง อันที่จริงคำว่า "MISIR" นั้น ภาษาตุรกีแปลได้ 2 ความหมายคือ Corn หรือข้าวโพด กับอีกความหมายคือ "อียิปต์" จึงมีบางคนเรียกที่นี่ว่าเป็น Corn Bazaar ก็มี
ด้านล่างของป้ายนี้่ยังเขียนถึงประวัติตลาดแห่งนี้ไว้สั้นๆ ว่า ได้เริ่มต้นสร้่างในปี ค.ศ.1597 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่มีการสร้างมัสยิดใหม่ (Yeni Camil) ตามคำสั่งของ Safiye ชายาสุลต่านมูรัตที่ 3 และทรงเป็นพระมารดาของสุลต่านเมห์เม็ตที่ 3 ในสมัยออตโตมัน
67 ปีต่อมาจึงสร้างเสร็จตามคำสั่งของ Hatice Turhan พระมารดาของสุลต่านเมห์เม็ตที่ 4 ด้วยฝีมือของสถาปนิกที่มีชื่อเสียงในขณะนั้นคือ Mustafa Agha โดยที่ตลาดนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของมัสยิด
ทางเข้าหลักของตลาดอียิปต์หากข้ามมาจากสะพานกาลาตาหรือสถานี Eminonu
ด้านหน้าประตูทางเข้าหลักของตลาดอียิปต์
ดิฉันได้รับทราบที่มาของตลาดนี้จากไกด์ชาวตุรกีในวันรุ่งขึ้นว่า สมัยก่อน ตั้งแต่เริ่มสร้างมัสยิด บริเวณจุดที่เป็นตลาดในปัจจุบันนี้ จะมีคาราวานสินค้าที่เรียกว่า Cairo Cavavan นำของข้ามน้ำข้ามทะเลมาค้าขาย เนื่องจากอิสตันบูลตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าระหว่างตะวันออกกลางและยุโรป โดยสินค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นของจำพวกเครื่องเทศ เครื่องหอม เมื่อมีการแลกเปลี่ยน หมุนเวียนสินค้า เงินตรา สุลต่านก็สามารถเก็บภาษีได้ด้วย เพราะในขณะที่หัวหน้าครอบครัวซึ่งเป็นคนงานทำการก่อสร้างมัสยิด คนในครอบครัวก็นำของมาค้าขายแลกเปลี่ยนที่บริเวณตลาด ...ทำให้พอมองเห็นภาพออกว่าทำไมจึงเรียกว่า "ตลาดอียิปต์" หรือ "ตลาดเครื่องเทศ" มากขึ้นใช่มั้ยคะ
ต่อมาเมื่อมัสยิดสร้างเสร็จ ก็มีการก่อสร้างอาคารให้เป็นร้านค้ารูปตัว "L" ถือเป็นส่วนหนึ่งของมัสยิดไปด้วย โดยเรียกเป็น Yeni Camil Complex เกิดการค้าขายแบบที่เรียกว่าศูนย์การค้าในสมัยนี้ ซึ่งบางส่วนก็เป็นการนำของมาขายแล้วนำเงินนั้นไปใช้ประโยชน์ในกิจการที่เกี่ยวกับมัสยิดหรือสาธารณประโยชน์ (พบเห็นได้จากหลายมัสยิดในอิสตันบูล) ซึ่งในระยะแรกนั้น มีร้านค้าอยู่ประมาณ 90 ร้านค้า ภายหลังขยายออกไปมากมาย
ฝั่งตรงข้ามกับทางออกด้านข้างของมัสยิดใหม่ ทางเข้าอีกด้าน เป็นร้านค้าจำพวกพืชผัก
ตลาดอียิปต์นี่มีประตูทางเข้ารวม 6 ประตู ดิฉันไม่ได้เดินเข้าทางประตูทางเข้าหลักนะคะ แต่เข้าทางด้านข้างของมัสยิดใหม่ ซึ่งจะเต็มไปด้วยร้านค้าจำพวกพันธุ์ไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับ รวมถึงพวกอาหารสัตว์สำเร็จรูป ค่อนข้างสดชื่นไปกับสีสันของดอกไม้นานาชนิด
ร้านขายไม้ดอก ไม้ผล
ร้านนี้จำหน่ายอาหารสัตว์
ร้านขายไม้ดอก ไม้ประดับ ดูสบายตา
ร้านนี้ขายเมล็ดพันธุ์พืชชนิดต่างๆ
อีกร้านขายเมล็ดพันธุ์พืชชนิดต่างๆ
เดินตามทางไปเรื่อย ลัดเลาะไปก็จะเจอทางโล่งๆ เว้นระยะร้านค้า พอเลี้ยวขวาก็จะเจอเข้ากับซอยเล็กๆ ...ที่นี่ ดิฉันหยุดชะงักนิดหนึ่ง กับร้านเคบับเล็กๆ ที่อยู่ด้านซ้ายมือ มองดูราคา มองดูความสดใหม่ของสินค้า มีเก้าอี้และโต๊ะแบบเคาน์เตอร์ สามารถจัดการอาหารกลางวันได้ในเวลาที่ไม่นานนัก เลยเดินเข้าไปสั่งเคบับไก่ เสร็จแล้วเจ้าของก็ถามว่าจะรับแบบไหน เป็นแผ่นแป้งบาง หรือเป็นแบบขนมปัง ดิฉันเลือกแบบแผ่นแป้งค่ะ แล้วก็ถือโอกาสเข้าไปยืนดูและถ่ายภาพเวลาเขาม้วนแผ่นแป้งสักหน่อย ปรากฏว่าคนทำบอกว่าให้ดิฉันตั้งใจถ่ายหน่อย แล้วเขาก็ยืนให้ถ่่ายแบบตั้งอกตั้งใจกว่าดิฉันเสียอีก
สนนราคาค่าเคบับแต่ละชนิด
หนุ่มขายเคบับอารมณ์ดี
ยินดีตั้งท่าให้ถ่ายภาพไว้ก่อนเลย
คนทำห่อเสร็จ คนที่แก่กว่าเป็นเจ้าของหรือเปล่าก็ไม่รู้ เป็นคนส่งเคบับม้วนให้กับมือ หน้าตาแกออกจะดุนะคะ แต่จริงๆ แล้วใจดีค่ะ
อ้อ! ทั้งหมดที่เราสื่อสารกันนี่ เราไม่ได้คุยด้วยภาษาเตอร์กิชหรืออังกฤษนะคะ แต่เราใช้ Body language ภาษากายล้วนๆ กันเลยล่ะค่ะ เชื่อดิฉันรึยังคะว่า ภาษาไม่เป็นอุปสรรคในการท่องโลกกว้างแต่ประการใด
ทำหน้าดุส่ง Doner Kebab ให้กับมือ
อร่อยเกินราคา
กินเคบับตรงเคาน์เตอร์ไปก็นั่งมองร้านค้าฟากตรงข้ามไปด้วย ไม่ห่างกันหรอกค่ะ เพราะเป็นซอย ทางเดินระหว่างสองฟากจึงน่าจะเพียงไม่เกิน 2 เมตร ...มีร้านเครื่องดื่มที่ขายดีมากๆ คนขายง่วนอยู่ตลอดเวลา ส่วนใหญ่จะสั่งชานะคะ ทั้งชาดำตุรกี ชาแอปเปิ้ล กาแฟ ฯลฯ มีหนุ่มลูกน้องหลายคนถือตะแกรงใส่แก้วชาพร้อมน้ำตาลคอยเดินแกมวิ่งส่งลูกค้าในตลาดนั้น ครึกครื้นดีจังเลยค่ะ
ร้านกระเป๋าก๊อปแบรนด์เนมหลายยี่ห้อ อยู่ตรงข้ามกับร้านเคบับ
ขณะที่ติดกับร้านชา ก็จะเป็นร้านขายกระเป๋าหลากหลายขนาด รวมทั้งสินค้าก๊อปแบรนด์เนมทั้งหลายด้วย ถึงแม้ว่าตุรกีจะเป็นหนึ่งในประเทศยุโรป แต่ดูเหมือนความเคร่งครัดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาอาจจะไม่มากเท่ายุโรปประเทศอื่นที่ไม่สามารถวางขายเช่นนี้ได้ ในบางประเทศ เช่น อิตาลี ฝรั่งเศส คนที่นำของก๊อปมาขายตามทางเท้ามักจะเป็นคนผิวดำ ซึ่งจะคอยมองอย่างระแวดระวัง เพื่อที่จะเก็บสินค้าแล้ววิ่งหนีตำรวจได้อย่างรวดเร็ว
หลังจากอิ่มท้องในราคาย่อมเยาที่สุดในทริปแล้ว ก็ได้เวลาเดินตระเวนชมตลาดกันต่อล่ะ
ป้ายร้าน ET DONER ด้านขวามือคือร้านเคบับ ที่เป็นซอยเล็กๆ ทะลุมาจากด้านข้างของมัสยิดใหม่
น่าสนใจมากสำหรับการเดินชมตลาดเครื่องเทศหรือตลาดอียิปต์ แม้ร้านรวงต่างๆ จะมีสินค้าที่ไม่ค่อยแตกต่างกันนัก ได้แก่ เครื่องเทศ น้ำมันหอมระเหย ธูปหอม ชา ขนม Lokum หรือ Turkish Delight ที่เป็นของฝากอันขึ้นชื่อลือชาของตุรกี ของที่ระลึกต่างๆ เช่น พวงกุญแจดวงตาปีศาจ Devil Eye แก้วใส่เทียนหลากสี
ของที่ระลึกมากมาย แก้วที่เอาไว้จุดเทียนแบบนี้จะพบเห็นได้ตามร้านอาหารทั่วไป
ร้านนี้ได้เปรียบตรงหน้าร้านกว้างขวาง ไม่แออัด
บางร้าน สินค้าจำพวกเครื่องเทศและชาหลากชนิดหลบอยู่ด้านใน
เครื่องเทศและของแห้งประเภทต่างๆ
ดิฉันเพิ่งจะรู้ว่าพวกเครื่องเทศของตุรกีบางชนิด มีชื่อดังถึงกับเรียกว่าเป็น Turkish Viagra ทีเดียว เพิ่งจะเคยได้ยินก็คราวนี้แหละ ...เครื่องเทศเหล่านั้นคงจะเป็นตัวกระตุ้นความรู้สึกได้ดีกระมัง ลองดูจากคลิปวิดีโอที่ฝรั่งเองก็ยังงงๆ เหมือนกันว่านี่เป็น Natural Viagra ด้วยหรือ
ไปดูหนุ่มตุรกีพูดถึง Turkish Viagra ไว้ว่าอย่างไร
เครื่องเทศของตุรกีนั้น มีชื่อในเรื่องของรสชาติความหอมหวนชวนเคลิ้มเมื่อนำไปปรุงรสอาหาร ซึ่งมีทั้งเครื่องเทศแบบสดและแบบแห้ง ลองดูกันมั้ยคะว่า คนตุรกีเขานิยมเครื่องเทศอะไรกันบ้าง
Oregano สามารถพบได้ทั่วประเทศ เป็นที่นิยมมากในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้และทะเลอีเจียน ออริกาโนแห้งมักถูกนำไปใช้ในการปรุงเนื้อและพวกสัตว์ปีก สลัดและซุป เขาว่า หากนำใบออริกาโนไปแช่น้ำจะช่วยในการลดน้ำหนักด้วยนะคะ
Hot Red Pepper Flakes เครื่องเทศตัวนี้ มีลักษณะเป็นพริกแดง รสชาติเผ็ดร้อน นิยมใส่ในซุปเนื้อ หรือนำไปเป็นส่วนผสมหมักอาหารพวกปิ้งย่าง
Mint ส่วนใหญ่มินต์จะนำไปใช้กับสลัดทั้งแบบสดและแห้ง หมักเนื้อพวกสัตว์ปีกและปลา บางทีก็ใส่ในซุป
Allspice หรือเรียกว่า yenibahar เป็นส่วนผสมสำคัญในการหมักพวกเนื้อต่างๆ บางครั้งก็ใช้กับอาหารประเภทห่อไส้ต่างๆ
Cinnamon อบเชยเป็นที่นิยมใช้เป็นส่วนผสมที่เติมความหวานให้กับอาหาร โดยเฉพาะการทำเมนูของหวานต่างๆ พวกพุดดิ้ง คุ้กกี้
Cumin ผงยี่หร่า นิยมใช้เป็นเครื่องปรุงในซุปหรือเป็นส่วนผสมในการหมักเนื้อสัตว์
Sumac เป็นเครื่องเทศที่พบในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและตะวันออกกลาง เมื่อบดเป็นผงจะมีสีม่วงแดง ทำให้อาหารมีกลิ่นเล็กน้อย ผงชูแมคส่วนใหญ่จะใช้เป็นเครื่องปรุงในการทำอาหารตุรกี
Sesame Seeds เมล็ดงา ส่วนใหญ่ใช้ในการประดับหรือวางไว้บนขนมปังขนมอบต่างๆ เพื่อเพิ่มความกรุบกรอบให้กับขนม
Paprika ผงปาปริก้า ใช้เพื่อเพิ่มสีและรสชาติ และเป็นเครื่องปรุงรสซุปเนื้อและสัตว์ปีก
Black Cumin ยี่หร่าดำแบบที่เป็นเมล็ดพันธุ์เผ็ด ใช้ในการโรยด้านบนของขนมอบและพายชีสบางชนิด
ร้านนี้มีทั้งถั่ว ขนมหวาน และเครื่องเทศ
สำหรับคนที่ไม่ชอบหรือสนใจเครื่องเทศ ตลาดอียิปต์ยังถือว่าเป็นแหล่งขายขนม Lokum หรือ Turkish Delight ที่ดีและมากที่สุดเลยค่ะ แล้วมีเคล็ดลับอะไรในการเลือกซื้อหรือเปล่า ...เดี๋ยวลองตามไปดูก่อนนะคะ เพราะมีร้านให้เลือกขนมยอดนิยมมากมายเลยนะคะ แพ็คเกจและราคาก็มีความแตกต่างกันเอาเรื่องอยู่เหมือนกันค่ะ
สีสันหน้าร้าน
ข้อแนะนำในการซื้อขนมเตอร์กิชดีไลท์ให้ถูกใจนะคะ
Taste หรือชิมก่อนซื้อ เพราะอะไรเหรอคะ? นอกจากรสชาติดั้งเดิมในแต่ละร้านที่แตกต่างกันแล้ว เขายังผลิตขนม Turkish Delight ออกมามากมายหลายรสชาติและหลากส่วนผสมด้วยค่ะ ดิฉันหมายถึงไส้ของมันนะคะ เพราะจะมีทั้งแบบมีถั่วอัลมอนต์ ถั่วเฮเซลนัท ช็อคโกแลต รสทับทิม มินต์ ฯลฯ ถ้าหากตั้งใจซื้อกลับเมืองไทยเพื่อกินเอง อาจจะไม่ต้องลองชิมก็ได้ แต่ถ้าหากจะฝากไปซื้อผู้หลักผู้ใหญ่ ชิมเถอะค่ะ เพราะรสชาติที่แตกต่างกัน ความหอมหวานมันที่แตกต่างกัน มันส่งผลต่อราคาของขนมชนิดนี้ด้วย พยายามอย่าเลือกแบบที่พนักงานในร้านเชียร์ถ้าหากไม่ชอบจริงๆ เพราะบางครั้งอาจจะเป็นของที่ผลิตไว้นานแล้วไม่ค่อยมีคนซื้อก็เป็นได้ค่ะ
เลือกร้านที่คนตุรกีนิยมซื้อ นี่เป็นหลักทั่วๆ ไป เหมือนกับบ้านเราแหละค่ะ ในตลาดดังๆ จะมีร้านที่คนท้องถิ่นซื้อเพราะรู้ว่าอร่อยและราคาย่อมเยา แต่ไม่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวเพราะไม่ได้ทำการตลาด ...จริงๆ ข้อนี้ก็ไม่เสมอไปนะคะ เพราะร้านที่นักท่องเที่ยวนิยมแล้วราคาสมเหตุสมผลกับคุณภาพของสินค้าก็มีเช่นกัน เพียงแต่อย่าถึงกับใช้หลัก ตาดีได้ ตาร้ายเสีย ก็แล้วกันค่ะ
ดูจากร้านที่มีลูกค้าหมุนเวียนมาก ข้อนี้จะทำให้คุณได้ขนมที่ใหม่ ไม่เก่าเก็บ หลายๆ ร้านในตลาดอียิปต์ เป็นร้านที่บรรจุขนมไว้ในกล่องแล้ว และไม่ค่อยมีสินค้าใหม่ๆ วางโชว์สำหรับให้ลูกค้าเลือกของใหม่ ขนมจากร้านประเภทนี้จะค่อนข้างเก่ากว่าที่ร้านที่มีให้เราเลือกบรรจุตามขนาดที่ต้องการ แต่สนนราคาก็อาจจะสูงกว่าซึ่งเป็นเรื่องปกติ
ขอบรรจุภัณฑ์สูญญากาศ ทำไมต้องบรรจุสูญญากาศเหรอคะ ...ก็เพื่อช่วยให้เก็บรักษาขนมให้อยู่ในรสชาติดั้งเดิมโดยไม่ต้องอาศัยตู้เย็นในการเก็บค่ะ ส่วนใหญ่ร้านที่มีสินค้าใหม่และคุณภาพดี จะแพ็คสินค้าใส่กล่องตามที่คุณ้เลือกใหม่ แล้วก็อัดสูญญากาศแต่ละกล่องไว้ด้วย เป็นบริการฟรีนะคะ ไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่จะทำให้กินพื้นที่ในการบรรจุลงกระเป๋าเดินทางของเรามากพอสมควรค่ะ
จ่ายด้วยเงินลีร่าตุรกี ...จริงๆ แล้วข้อนี้ไม่ค่อยจำเป็นสักเท่าไหร่หรอกค่ะ เพียงแต่เป็นเทคนิคในการใช้จ่ายเงินสกุลต่างประเทศเล็กๆ น้อยๆ เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องเหลือเงินสกุลลีร่ากลับมาแลกเปลี่ยนที่เมืองไทยให้ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน ในการซื้อของ ถ้าไม่มีเงินลีร่า สามารถใช้เงินยูโรหรือดอลล่าร์ก็ได้ หากจ่ายเป็นเงินยูโร ก็คิดในอัตรา 2 ลีร่าเท่ากับ 1 ยูโร หรือ 1.5 ลีร่าเท่ากับ 1 ดอลล่าร์ ร้านค้าในตลาดส่วนมากจะรับบัตรเครดิตโดยไม่คิดค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมนะคะ
คราวนี้จะพาไปดูร้านที่มีนาชิมแล้วติดใจรสชาติและบริการล่ะ ...สนนราคาอาจจะค่อนข้างแพง คือราคา 60 TL/kg. หรือตกกิโลละเกือบ 1,200 บาททีเดียว น่าตกใจเหมือนกันใช่มั้ยคะ เขาบอกว่าสามารถเก็บขนมได้โดยไม่ต้องเข้าตู้เย็นเลย สามารถอยู่ได้ถึง 6 เดือน และขนมของเขาไม่ได้ใส่สารกันบูดด้วย แสดงว่าเขามีกรรมวิธีในการทำที่ดีมากทีเดียวแหละ ...โดยส่วนตัวแล้วจะเป็นคนที่ไม่ค่อยขนซื้อของฝากมากมาย แต่เที่ยวนี้พอลองชิมแล้วรู้สึกว่ามัน Delight สมชื่อจริงๆ เลยขนซื้อไปตั้ง 4 กก. จนมีปัญหาในการแพ็คกระเป๋าเอาเรื่องอยู่
เตอร์กิชดีไลท์ที่ร้านนี้จะมีหลายราคานะคะ บางชนิดก็แค่ 48 TL/kg ต้องเลือกดู อย่างที่บอกคือ ชิมแล้วเลือก อร่อยไปเสียหมดเลย อ้อ! แนะนำให้ซื้อชาแอปเปิ้ลมาดื่มคู่กันด้วยนะคะ จะมีความสุขอย่างมากมายเลยค่ะ
ARSLAN BAHARAT สินค้าในร้านสดใหม่ ทั้งขนมและเครื่องเทศ
เตอร์กิชสารพัดไส้และรสชาติจากร้าน ARSLAN
พนักงานตัดแท่งเตอร์กิชดีไลท์เพื่อบรรจุลงกล่อง ขนาด 1/2 กก. สามารถคละรสได้
ทำการบรรจุถุงสูญญากาศแต่ละกล่องอีกครั้ง
บรรจุสำเร็จแล้วพร้อมจัดลงกระเป๋าเดินทาง