*/
<< | มีนาคม 2017 | >> | ||||
อา | จ | อ | พ | พฤ | ศ | ส |
1 | 2 | 3 | 4 | |||
5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 |
12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 |
19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 |
26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 |
พรหมวิหาร สี่ ที่ประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นองค์ธรรมที่บุคคลทั้งหลายพึงน้อมเข้ามาเพื่อพัฒนาจิตใจ จิตใจที่ประกอบด้วยสภาวธรรมนี้ ท่านจัดว่าเป็นเหมือนดั่งพรหม บุคคลที่ได้อยู่ใกล้ ก็รู้สึกปลอดภัย เย็นฉ่ำ ไม่รุ่มร้อน เมตตานั้นคือจิต ที่ มีความรัก มีความเป็นมิตร อยากให้ผู้อื่น มีความสุข กรุณานั้น คือจิต ที่อยากให้ผู้อื่น พ้นทุกข์ พ้นภัย มุทิตานั้นคือจิตที่พลอยยินดียามที่ผู้อื่นได้รับความสุขความสำเร็จ อุเบกขานั้นคือจิตที่เข้าใจสภาวธรรมที่เกิดขึ้นกับสัตว์ทั้งหลายรวมทั้งคนด้วย ว่าทุกคนมีกรรมของตน ผลของกรรมนั้นขึ้นอยู่กับการกระทำทั้งในอดีตและปัจจุบัน ความเข้าใจนี้จึงวางใจเป็นกลางได้โดยไม่หวั่นไหว แต่ทั้งเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขานั้น มีทั้งศัตรูที่ใกล้ และที่ไกล ศัตรูที่ไกล ก็เป็นอุปสรรคขัดขวาง ในการปฏิบัติให้เข้าถึง ศัตรูที่ใกล้ ก็เป็นอุปสรรคในการหลุดพ้น เพราะความใกล้นั้น เป็นเหมือนดั่งสภาวธรรมที่เป็นเช่นเดียวกัน มีความคล้ายคลึงกัน ทำให้เรายึดติด ดิ้นไม่หลุด เพราะไม่คิดว่าเป็นศัตรู ที่ต้องคอยระมัดระวัง มันจึงพัวพันจิตจนยากที่จะสลัดออกได้ ศัตรูไกลของ เมตตานั้น คือความอาฆาต พยาบาท ความเกลียดชัง สิ่งเหล่านี้ตรงกันข้าม กับสิ่งที่เรียกว่า ความรัก ความเกลียดชังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรายามที่ไม่สมปรารถนา ยามที่เราหวาดหวั่น คิดว่าอาจเป็นภัยต่อตนเอง ตราบใดที่เรายังมอบความรักให้กับศัตรูไม่ได้ ตราบนั้นความเมตตาที่ไม่มีประมาณหรือความเมตตาบริสุทธิ์แท้ๆ ย่อมไม่เกิด ศัตรูใกล้ของเมตตา คือ สิเนหา เป็นสภาวะความรักแบบหนึ่งที่เรายึดติดมอบให้กับสิ่งที่เราชอบเราหวงแหน เมตตาคือความรักที่ไม่มีประมาณ มีความกว้าง ไม่ยึดติด แต่สิเนหาคือความรัก ที่เฉพาะ ที่หวงกั้น ที่แคบ ที่ต้องการครอบครอง ที่ต้องการ การตอบแทน จากความรักที่เราให้ไป ทุกผู้คนในโลกนี้ มีความรักสิเนหาเป็นพื้นจิต เป็นธรรมดาของสัตว์โลก พ่อแม่รักลูก สามีรักภรรยา เพื่อนรักเพื่อน ความรักชนิดนี้จะยังคงดำรงอยู่ได้ ถ้าต่างฝ่ายต่างมอบให้แก่กัน เป็นความรักที่เป็นเครื่องผูก แต่ถ้าสามีไม่รักภรรยา ภรรยาไม่รักสามี ความรักที่คนฝ่ายเดียวคอยหยิบยื่นเพื่อหวังว่าวันหนึ่งเขาจะซาบซึ้งใจ เห็นใจ และให้ความรักตอบแทน แต่ถ้าวันแล้ววันเล่าผ่านไป ไม่เป็นดังที่ว่า ความรักในแบบสิเนหานี้จะยังคงอยู่ต่อไปได้หรือไม่ หรือว่า แปรเปลี่ยนเป็นความโกรธแค้นชิงชัง กล่าวอีกนัย คือเปลี่ยนจากศัตรูใกล้ กลายเป็นศัตรูไกล เป็นต้น ตัวศัตรูใกล้ ที่เป็นสิเนหานี้ เป็นตัวที่ติดแน่นที่สุด ยากที่ผู้คนจะรู้เท่าทัน เพราะเราจะมีข้ออ้างดีๆเพื่อป้องกันตัวเองเสมอ อย่าเพิ่งฝึกการกำจัดศัตรูใกล้นี้ ถ้าศัตรูไกลเรายังปรากฏเนืองๆในจิตใจ เรายังเกลียดชังผู้อื่นง่ายๆเพียงเห็นไม่ตรงกับเรา ทำอะไรขัดใจเรา ศัตรูไกลคือของหยาบ เมื่อของหยาบยังไม่รู้จัก ไม่รู้ตัวว่าแสดงอาการอันเป็นศัตรูไกลของเมตตาออกไป ของละเอียดอย่างสิเน่หา ก็เป็นอันมองไม่เห็น ศัตรูไกลยังอาจพยายามข่มจิตหรือพยายามคิดแบบโยนิโสมนสิการ มองในแง่ดีของคนที่เราไม่ชอบ หมั่นฝึกไป ก็ยังสามารถให้อภัยและเห็นใจผู้อื่นได้ แต่ศัตรูใกล้คือสิเนหานี้ ยากนักที่จะใช้วิธีคิดไตร่ตรองเอา เพราะมันเป็นสิ่งที่ดี การมีความรักและการเอาใจใส่ มองอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ดี การหวงแหน การครอบครอง ก็เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนทำกัน ศัตรูใกล้จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจยากสลัดหลุดยาก จนกว่าจะมีสภาวะจิตที่เห็นถึงความไม่เที่ยงของนามรูป เกิดอุเบกขาธรรมผุดขึ้นมา จึงเข้าใจสภาวะนี้ เมื่อนั้น สิเนหาก็จะกลายเป็นเมตตาที่บริสุทธิ์ กว้างขวาง ไม่ยึดไม่ครอบครอง สิเนหาจึงไม่ใช่สิ่งที่จะคิดเอาเองว่า จะทิ้งมัน ไม่เอามัน การคิดแบบนั้น คือการเอาโทสะเข้ามากลบเกลื่อนทดแทน เพราะมีความเข้าใจเรื่องสิเนหาที่เป็นศัตรูใกล้ของเมตตานี้ เราสามารถอบรมสิเนหาให้สอดคล้องกับความสามารถของเราในปัจจุบันได้ คืออบรมสิเนหาให้เป็นสิเนหาที่ชอบหรือถูกธรรม อย่าไปสร้างสิเนหาที่ผิดธรรม เพราะการผิดธรรมนี้เกิดขึ้นบ่อยอันเป็นเหตุให้บุคคลต้องละเมิดศีลข้อที่สามได้มากที่สุด
ศัตรูไกลของกรุณา คือ ความเบียดเบียนหรือ วิหิงสา คือสภาวะจิตที่ชอบทำลายสัตว์ให้ได้รับความทรมานหรือความทุกข์ แล้วตนเอง สะใจ ชอบใจ กีฬาหลายชนิดก็มีลักษณะเช่นนี้ จะไม่ของเอ่ยหรือยกตัวอย่าง ศัตรูใกล้ของกรุณา มีแยกแยะออกไปหลายสภาวะ เช่น ความเศร้าใจ ทุกข์ใจร่วมไปกับสัตว์ ความอยากให้สัตว์อื่นพ้นทุกข์ แต่อย่ามาตีเสมอ ความอยากให้สัตว์อื่นพ้นทุกข์เพราะต้องการรักษาตัวตนของตนไว้
จะขอยกตัวอย่างของศัตรูใกล้ตามสภาวธรรมจากหยาบไปสู่ที่ละเอียดดังต่อไปนี้
ศัตรูใกล้ของกรุณาอย่างแรกคือ ความกรุณาที่ต้องการรักษาตัวตน เพราะมีตน มีชื่อเสียง มีคนจับตาดู มีคนคอยยกย่อง จึงต้องแสดงความกรุณาช่วยเหลือคนอื่น ในขณะที่จิตบางขณะอยากตะโกนออกไปว่า “ไม่” แต่ทำไม่ได้ เพราะขื่อคา ที่ติดตัวตามที่กล่าวมา มีความสงสารจริงแต่ก็รู้สึกอึดอัดใจ เพราะการทำที่ต้องไปผูกกับภาพลักษณ์ สังคมเราโดยมากก็เป็นเช่นนี้ เช่นการบริจาค การแจกของให้ผู้ยากไร้ การที่ต้องเป็นข่าวให้เป็นที่รับรู้ คือเป็นความกรุณาที่ยังเจือด้วยวัตถุประสงค์บางอย่าง เหตุผลหนึ่งที่เกิดขึ้นกับความกรุณาลักษณะนี้ ก็คือ การไม่พยายามช่วยเหลือบุคคลด้อยโอกาสให้มีความสามารถที่จะช่วยเหลือตนเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพิงผู้อื่นอีกต่อไป ไม่ทำเหตุหรือสร้างโอกาสให้เขาได้อาศัยตนเอง ในสังคมไทยหรือที่อื่นๆ เราสามารถพบเห็นได้ เช่นการที่รัฐหรือคนในสังคม ไม่หยิบยื่นหรือบริหารจัดการ ผู้ที่ด้อยโอกาส ได้มีโอกาสในการดำรงหาเลี้ยงชีพด้วยตนเองได้ ขณะเดียวกัน ก็พร้อมที่จะช่วยเหลือเพราะเห็นสภาพคนเหล่านั้น น่าสงสาร น่าสมเพช จึงหยิบยื่นให้ตามกระแสหรือตามโอกาส บางครั้งก็เกิดความลำบากใจที่จะให้ แต่ก็ต้องทำ ดังนี้ การฝึกในเรื่องนี้ จำเป็นที่จะต้องกล้าที่จะเอ่ยปากว่า “ไม่” ในบางครั้ง คือมีความตรงต่อจิตที่ผุดขึ้นมา ถ้าเห็นว่าสถานการณ์นั้น เรากำลังจะเข้าไปสู่ความกรุณาที่เป็นศัตรูใกล้นี้เข้าไปทุกที
ศัตรูใกล้ของกรุณาอย่างที่สอง คือ ความกรุณาที่แยกระดับชั้น นั่นคือ คนให้รู้สึกเหนือชั้น คนรับต่ำชั้นกว่า นี่คือความละเอียดของศัตรูใกล้ของกรุณา ที่อิงแอบมาในแบบที่เรายากจะเข้าใจ เช่น เราให้เงินขอทาน เพราะเราสงสาร สิ่งที่เกิดขึ้นที่แฝงเข้ามาคือ ความสมเพชในชะตาชีวิตเขา และเรารู้สึกว่า เราเหนือกว่าเขา เขาต่ำกว่าเรา เขาต้องการความพึ่งพิงจากเรา เขากับเราอยู่กันคนละระดับชั้น ลองกลับกันดู ถ้าคนที่เป็นขอทาน เขาได้รับเศษเงินจากเรา เราโยนเงินใส่กะลา เขาย่อมซาบซึ้งใจที่ได้รับเงินนั้น แต่ขณะเดียวกันจิตใจของเขาย่อมกดดันและหดหู่ ต่ำต้อย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในเสี้ยววินาทีนั้น ถ้าความกรุณาของเราต้องไปทำให้ผู้รับอีกฝ่ายต้องต่ำต้อยเช่นนี้ นี่ก็คือเราได้สร้างศัตรูใกล้ของกรุณาให้เกิดขึ้น
เราสามารถรู้เท่าทันศัตรูนี้ได้ ด้วยการทำจิตให้มีความเสมอสมาน ไม่มีความคิดของการแยกระดับชนชั้น ทุกคนมีความเป็นคนเท่าเทียมกัน การแสดงออกของความกรุณาที่บริสุทธิ์ ที่ออกมาทางแววตาและกิริยา ทำให้ผู้รับไม่รู้สึกว่าตนเองต่ำต้อย มีตัวอย่างที่เราสามารถเห็นได้ และเป็นความประทับใจเสมอที่เห็นภาพนี้ คือ ภาพในหลวงรัชกาลที่เก้า ที่พระองค์เสด็จเยี่ยมพสกนิกร แล้วนั่งลงกุมมือชาวบ้าน ทักทายด้วยสีหน้าแววตาที่เปี่ยมด้วยความกรุณาจนเราสามารถรู้สึกได้
ศัตรูใกล้ของกรุณาอย่างที่สาม คือความโทมนัส เศร้าเสียใจ นี่คือศัตรูใกล้ที่แทบจะยืนติดกับความกรุณาจนยากที่จะแยกออกได้ คือเราเกิดความสงสารคนที่ตกทุกข์ได้ยาก จนเราพลอยเศร้าเสียใจ ไปเอาความทุกข์มาทับถมตนเองที่ไม่มีทุกข์ ช่วยเขาแล้วยังทุกข์ใจไม่สร่างซา เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ อันมาจากการที่เรายังมีจิตที่ผูกพันกับ รูปกาย นามกายนี้ เป็นของเที่ยง เป็นของตนอย่างแท้จริง เราจึงเอาสิ่งนี้มาเป็นเหตุผูกพันกับผู้ที่ตกทุกข์ ว่า หากเกิดกับเราบ้าง ช่างเป็นเรื่องที่น่าหวาดหวั่นเสียวใจยิ่งนัก ยิ่งถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เกิดกับบุคคลที่เรารัก เรายิ่งโทมนัสเป็นร้อยเท่าทวีคูณ ความกรุณาที่บริสุทธิ์ ที่ไม่มีศัตรูใกล้โดยเฉพาะ อย่างที่สามนี้ เป็นเรื่องที่ยาก ไม่ใช่จะคิดเอา หักห้ามเอา แต่ต้องมาจากสภาวะจิตที่ผ่านการอบรม เห็นแจ้งถึงความไม่เที่ยงของสังขารทั้งหลาย ไม่ว่าคนที่เรารักหรือไม่รัก ก็เสมอเหมือนกัน นั่นคือต้องมีจิตที่เป็นอุเบกขาที่บริสุทธิ์ ถึงจะสลัดหลุดจากศัตรูใกล้ของกรุณานี้ได้ เราลองตรองดูในชีวิตประจำวันก็ได้ มีคนตกทุกข์ทั้งทางกายทั้งทางใจมากมายในแต่ละวัน ทำไมระดับความสงสารหรือความสะท้อนใจเราจึงแตกต่างกัน ทั้งนี้เพราะความผูกอันเนื่องมาจาก สิเนหาที่เป็นศัตรูใกล้ของเมตตาเป็นเครื่องกำหนด คนที่เราผูกพันมาก เกิดความทุกข์ เราก็พลอยทุกข์ไปด้วย ดังนี้ ศัตรูไกลของมุทิตาคือ ความริษยา คือสภาวะจิตที่ไม่รู้สึกยินดีกับผู้ที่ได้รับความสุข ความสำเร็จในชีวิต ยิ่งเป็นบุคคลที่เรารังเกียจ หรือเป็นคู่แข่งในชีวิตไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด ภาวะความริษยาจะผุดขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว ความมุทิตาที่บริสุทธิ์ คือความยินดี ที่สัตว์โลก มีความสุขความเจริญ ตามกรรมที่สัตว์นั้นได้กระทำ พลอยอนุโมทนากับการกระทำและผลการกระทำนั้น โดยไม่มีการเข้าเปรียบ ศัตรูใกล้ของมุทิตา คือความโสมนัส หรือความยินดีที่ผุดขึ้นมาอิงแอบใกล้ชิดกับความมุทิตาบริสุทธิ์ เป็นความยินดีที่เจือตัวตนเข้าไป เช่นถ้าเป็นตัวเราได้ความสุขนั้นเอง จะดีขนาดไหนหนอ ถ้าเป็นลูกเรา สามีเรา ภรรยาเรา ได้รับชื่อเสียง ได้รับลาภยศ สรรเสริญนั้นเสียเอง เราคงจะมีความสุขมากกว่านี้ ถ้าลูกเราได้มีชื่อเสียง เราก็ยินดีมากกว่าเพราะอย่างน้อยเราก็พลอยมีชื่อเสียงไปด้วย สภาวะที่เกิดขึ้นนี้ ถ้าเบาบาง ไม่มากอันเป็นปกติของปุถุชน ก็เป็นเรื่องรับกันได้ ไม่เสียหาย เพียงแต่เป็นรอยด่างในใจที่ทำให้ยังต้องยึดติด ไม่หลุดพ้น แม้ไม่ก่อความเสียหายต่อบุคคลอื่น แต่ก็อาจรบกวนจิตใจ ซึ่งบางคนก็เปลี่ยนจากจุดนี้ไปสู่ความพยายาม สร้างฉันทะ มีความขยันมากขึ้น ก็เป็นการพัฒนาความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน อันเป็นคุณประโยชน์ต่อตนเองและสังคม แต่ถ้าหากปล่อยให้ศัตรูใกล้นี้ ยังคลอเคลียไม่เลิก บางครั้งจากศัตรูใกล้ ก็กลายเป็นศัตรูไกล คือกลายเป็นริษยาขึ้นมาแทน ซึ่งหากกลายเป็นริษยา ที่เป็นศัตรูไกลของกรุณา มักตามมาด้วยการคิดทำลายล้าง หรือบั่นทอนคนที่เราริษยาให้ประสบความล้มเหลว สังคมใดที่มีปรากฏการณ์เช่นนี้มาก มักหาความเจริญยาก เพราะต้องคอยระแวงซึ่งกันและกัน มีความริษยา ไม่ยินดีในความสำเร็จของผู้อื่น คอยหาโอกาสทำลายกัน ดังที่ปรากฏในสังคมไทยในหลายๆปีที่ผ่านมา
ศัตรูไกลของอุเบกขา คือกิเลสกองราคะ โทสะ โมหะ ที่ทำให้สัตว์ตกอยู่ใน อคติทั้งสี่ คือ ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรัก พวกเดียวกัน ทำผิดก็มองข้าม หรือมีข้อแก้ตัวให้ โทสาคติ ลำเอียงเพราะโกรธ คนละพวก หรือคนที่เราเกลียด ต่อให้ทำถูกต้อง ก็มองเป็นผิด หรือหาข้อโต้แย้ง หรือกลายเป็นริษยา ขึ้นมาแทน ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว กลัวภัยที่มาถึงตัว จึงโอนเอนตัดสินหรือสรุปเพื่อให้ตนเองปลอดภัยไว้ก่อน โดยไม่ต้องไปสืบสาวข้อเท็จจริง โมหาคติ ลำเอียงเพราะหลง เชื่อตามๆกันไป อาศัยพวกมากลากไป เขาว่าอย่างนั้น เขาว่าอย่างนี้ มองหาหลักการ หรือหลักยึดไม่ได้ คนส่วนมากว่าอย่างไรก็ตามไปอย่างนั้น
ศัตรูใกล้ของอุเบกขา คือความว่างที่ไม่รู้เหตุ หรือความเฉยที่เรียกว่าเฉยโง่ เกิดกับคนที่ยังไม่มีโอกาสประสบพบเหตุที่จะทำให้อารมณ์ตนเองกระพือขึ้นมาได้ คือยังไม่เคยเจอแบบฝึกหัดแรงๆ หรือบททดสอบชีวิตแรงๆ เลยคิดว่าตนเองบรรลุธรรม ปล่อยวางอะไรได้ ไม่มีอะไรมาสั่นคลอนจิตใจตนเองได้ ชีวิตราบเรียบ ไม่คิดอยากจะได้อะไร ตัวอย่างเช่น คนที่เพียบพร้อมร่ำรวยมีความสุขกาย สบายใจ ไม่ประสบทุกข์อย่างชาวโลกทั่วไป อาจไม่มีครอบครัว ที่เป็นเครื่องผูก ชีวิตสมบูรณ์แบบ จนคิดว่าตนเองเป็นคน ที่ปราศจากกิเลสทั้งหลาย เห็นอะไรก็เฉยๆ ไม่อยากได้อยากเอา หรือกลุ่มนักบวช ที่มีปัจจัยเอื้อไม่ต้องมากระทบกับการดำรงชีพอย่างชาวบ้าน พอแบบฝึกหัดชีวิตน้อย การบ้านน้อย เลยประมาท ไม่มีการพิจารณา ไม่มีการวิปัสสนาเพื่อส่องดูตนเอง บางคนก็เอาแต่นั่งสมาธิหลบในมุมสงบ เหมือนการเอาก้อนหินทับหญ้า เพื่อไม่ให้หญ้างอกขึ้นมา ก็คิดว่าตนเอง สิ้นกิเลสแล้ว แต่บางคราวประเหมาะ ก้อนหินถูกยกออก หญ้าก็งอกขึ้นมาใหม่ เหมือนดังพระหลายรูปที่ต้องลาสิกขา เพราะการเจอแบบฝึกหัดยากๆ ที่ไม่เคยเจอมาก่อน จิตใจที่ตั้งรับไม่ทัน เพราะศัตรูใกล้ ของอุเบกขานี้เอง ที่เราประมาทไม่รู้เท่าทัน ผู้มีปัญญา ย่อมไม่ประมาท แม้กระทั่งความเฉยไม่เอาเรื่องเอาราวในจิตใจที่เกิดขึ้น ก็รู้เท่าทันว่า เกิดจากอารมณ์ที่รับเข้ามาทาง หู ตา เป็นต้น มันยังไม่แรงพอมาสั่นไหว ต่างหาก สิ่งที่จะใช้เป็นเครื่องมือสอดส่อง ศัตรูไกลและใกล้นี้ คือ สติปัฏฐานสี่ เป็นทางปฏิบัติสายเอกสายเดียวที่ทำให้สามารถสำรวจสิ่งที่เกิดขึ้นกับ กายและใจของเราอยู่ทุกขณะ เริ่มจากง่ายไปหายาก ศัตรูไกล ชื่อแม้ไกล แต่การรู้ทันจะง่ายกว่า ศัตรูใกล้ เพราะศัตรูใกล้ แทบจะเป็นสภาวะเดียวกับความดีงาม ความสงบสุข ความปิตี ยินดี เราเลยจับไม่ทัน หรือตกเป็นเหยื่อจนไม่สามารถสลัดออกมาได้ เพียงเราสามารถปฏิบัติรู้ทัน ศัตรูไกลได้ทัน ชีวิตเราและคนรอบข้างรวมทั้งสังคม ก็ดีเลิศแล้ว เช่น เราไม่มีความอาฆาตพยาบาท หรือโกรธใครง่ายๆ เราไม่มีความคิดที่จะไปเบียดเบียนผู้อื่น เราไม่มีอคติต่อบุคคลใดๆ เหล่านี้คือสภาวะจิตที่พ้นจากศัตรูไกล สติปัฏฐานสี่ คือทางนำไปสู่ปัญญา ที่เห็นแจ้งสัจธรรมของชีวิต การเห็นแจ้งสัจธรรมทำให้เกิดสภาวะ อุเบกขาทางปัญญาเกิดขึ้น จึงเป็นที่มาของ เมตตา กรุณา มุทิตา ทั้งสามสภาวะจิต ที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง ปราศจาก ศัตรูทั้งไกลและใกล้ หากอุเบกขาที่เป็นปัญญาไม่บังเกิด สภาวะจิต ที่เป็น เมตตา กรุณา มุทิตา ทั้งสามนี้ ก็ยังเจือด้วย ศัตรูใกล้ หรือ มีการขึ้นๆลง บางครั้งศัตรูไกลก็มาเยือน โดยไม่รู้ตัว การมีสติ เท่าทันในอารมณ์ ที่ทำให้เกิดสภาวะต่างๆ ทำให้เรารู้จักตัวตนของตนเองมากขึ้น ตัดสินผู้อื่นน้อยลง ในวันหนึ่งๆ ในทุกๆนาที จิตใจเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นงานทางใจ ไม่มีเวลาหยุดพัก รู้แล้วเข้าใจ อะไรคือกุศลก็เพิ่มพูนให้มาก อะไรที่เป็นอกุศลก็ห้ามหักไม่เอา กับรู้แล้วยึดไว้ มันต่างกันมาก ฝึกกายบริหารกายนั้นว่ายาก ฝึกจิตบริหารจิตนั้นยากกว่านัก
|
ถึง บล็อกเกอร์ ทุกท่าน โปรดอ่าน
ด้วยทาง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้ติดต่อขอความร่วมมือ มายังเว็บไซต์และเว็บบล็อกต่าง ๆ รวมไปถึงเว็บบล็อก OKnation
ห้ามให้มีการเผยแพร่ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ บนเว็บ blog โดยกำหนดขอบเขตของสิ่งที่ห้ามทำ และสามารถทำได้ ดังนี้
ห้ามทำ - การใส่ผลงานเพลงต้นฉบับให้ฟัง ทั้งแบบควบคุมเพลงได้ หรือซ่อนเป็นพื้นหลัง และทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือ copy code คนอื่นมาใช้ - การเผยแพร่ file ให้ download ทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือฝากไว้ server คนอื่น สามารถทำได้ - เผยแพร่เนื้อเพลง ต้องระบุชื่อเพลงและชื่อผู้ร้องให้ชัดเจน - การใส่เพลงที่ร้องไว้เอง ต้องระบุชื่อผู้ร้องต้นฉบับให้ชัดเจน จึงเรียนมาเพื่อโปรดปฎิบัติตาม มิเช่นนั้นทางบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ จะให้ฝ่ายดูแลลิขสิทธิ์ ดำเนินการเอาผิดกับท่านตามกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์
OKNATION
กฎกติกาการเขียนเรื่องและแสดงความคิดเห็น
1 การเขียน หรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต้องไม่หมิ่นเหม่ หรือกระทบต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
2. ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่นในทางเสียหาย หรือสร้างความแตกแยกในสังคม กับทั้งไม่มีภาพ วิดีโอคลิป หรือถ้อยคำลามก อนาจาร 3. ความขัดแย้งส่วนตัวที่เกิดจากการเขียนเรื่อง แสดงความคิดเห็น หรือในกล่องรับส่งข้อความ (หลังไมค์) ต้องไม่นำมาโพสหรือขยายความต่อในบล็อก และการโพสเรื่องส่วนตัว และการแสดงความคิดเห็น ต้องใช้ภาษาที่สุภาพเท่านั้น 4. พิจารณาเนื้อหาที่จะโพสก่อนเผยแพร่ให้รอบคอบ ว่าจะไม่เป็นการละเมิดกฎหมายใดใด และปิดคอมเมนต์หากจำเป็นโดยเฉพาะเรื่องที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน 5.การนำเรื่อง ภาพ หรือคลิปวิดีโอ ที่มิใช่ของตนเองมาลงในบล็อก ควรอ้างอิงแหล่งที่มา และ หลีกเลี่ยงการเผยแพร่สิ่งที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือวิธีการใดก็ตาม 6. เนื้อหาและความคิดเห็นในบล็อก ไม่เกี่ยวข้องกับทีมงานผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซต์ โดยถือเป็นความรับผิดชอบทางกฎหมายเป็นการส่วนตัวของสมาชิก คลิ้กอ่านเงื่อนไขทั้งหมดที่นี่"
OKnation ขอสงวนสิทธิ์ในการปิดบล็อก ลบเนื้อหาและความคิดเห็น ที่ขัดต่อความดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของบล็อกและเจ้าของความคิดเห็นนั้นๆ
|
||
![]() ![]() |