ชาวเน็ตและ Blogger oknation ต้องระมัดระวังกันหน่อยนะคะ จะเขียนอะไร จะโพสอะไร จะส่งอะไรให้ใครด้วยอุปกรณ์อีเลคโทรนิคก็ต้องเซ็นเซอร์ตัวเองให้ดีนะคะ เพราะพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบแล้วนั่นเอง ตามประสาคนไทยที่ไม่กลัวการฝ่าไฟแดงแต่กลัวตำรวจ คือกลัวคนที่มีอำนาจจับมากกว่า (เวลาถูกจับก็บ่นว่า ตะกี้ทำไมไม่เห็นจ่า) ก็ต้องมาบอกเล่ากันหน่อย คราวนี้ข้อมูลทุกอย่างที่เราพิมพ์ เราโพส เราส่ง จะต้องถูกบันทึกให้รู้ ว่าใครทำ ใครใช้อุปกรณ์ แล้วเขาต้องเก็บไว้ 90 วัน ในเมื่อกฎหมายมีออกมาบังคับแล้วคนที่ให้บริการมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ไม่งั้นโดนจับปรับหลายแสนเชียวค่ะ ดังนั้น คนที่สงสัยว่าเวลาสมัครสมาชิก Blog ทำไมต้องแสดงตัวตนขนาดนั้น (ที่ต้องให้เลขบัตรประจำตัวประชาชน) ก็คงหมดข้อสงสัยนะคะ ก็ถ้าเราบริสุทธิ์ใจ ทำอะไรตรงไป ตรงมา จะไปกลัวทำไม จริงไหมคะ? ฝากไปยังผู้มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจจับด้วยว่า ท่านอย่าไปกลัวเวลาเห็นสีแดง สีม่วงนะคะ จับเป็นจับ ฟ้องเป็นฟ้องเถอะค่ะสังคมจะได้อยู่ดีมีสุข คำเตือน
สำหรับผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในร้านให้บริการ หรือ ตามโรงแรมที่พัก หรือสถานที่ให้บริการอินเตอร์เน็ตสาธารณะ 1. เวลา Log In อย่าให้เครื่องคอมพิวเตอร์จำรหัสเข้าอีเมล์ หรือเข้าบัญชีของเรา เพื่อป้องกันไม่ให้บัญชีของเราถูกนำไปใช้โดยพลการ ไม่ว่าโดยเจตนาหรือไม่เจตนา 2. เวลาใช้เสร็จแล้ว ต้อง Log Out ทุกครั้ง (เหตุผลเดียวกับข้อแรก) 3. ใช้เน็ตสาธารณะ จดจำให้ดีว่าตัวเองเข้าไปตอนไหน วันที่เท่าใด ใช้คอมเครื่องไหน มิฉะนั้นอาจถูกชี้ตัวผิดได้ หากมีคนทำผิดเข้าไปในร้านเดียวกันในเวลาไล่เลี่ยกับเรา 4. สอบถามร้านเน็ต หรือเจ้าของสถานที่ที่เราไปใช้บริการเน็ตให้ดีว่า เก็บข้อมูลส่วนตัวของเราปลอดภัยแค่ไหน ระวังอย่าให้เขาเอาไปให้บุคคลอื่นนำไปใช้ 5. ถ้าสอบถามตามข้อ 4 แล้วไม่ได้รับความร่วมมือ ให้สังเกตุวิธีการเก็บข้อมูล (นอกเหนือจากการเก็บข้อมูลโดยระบบ) ของร้านให้ดีค่ะ ถ้าไม่ชอบมาพากลก็ให้รีบบอกให้ทางร้านแก้ไข 6. ถ้าไม่จำเป็น ไม่ควรไปใช้เน็ตในที่สาธารณะพร่ำเพรื่อหรือ อย่าใช้ในสถานที่อโคจร ถ้าเลือกได้ควรใช้ในร้านที่ใช้ประจำ ระวังเนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง กระดูกจะแขวนคอค่ะ ส่วนร้านเน็ต ก็ต้องเพิ่มมาตรการในการเฝ้าระวังไม่ให้คนที่กระทำผิดหลุดรอดไปได้ มิฉะนั้น อาจโดนปิดกิจการและต้องเสียค่าปรับ ดังนั้นควร 1. ติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดให้เห็นทุกซอกทุกมุมในร้าน และให้มีการบันทึกเก็บไว้เป็นระยะๆ 2. ถ้าติดตั้งกล้องได้ไม่ทั่วถึง (งบประมาณน้อย) ก็ต้องใช้ระบบสมาชิก เพื่อเก็บข้อมูลชื่อ ที่อยู่ เลขบัตรประชาชน โดยต้องพิจารณาให้ดีว่าคนสมัครกับคนในรูปเป็นคนคนเดียวกัน และไม่ใช่บัตรปลอม 3. ใช้ระบบบันทึกข้อมูลการใช้ (เข้าใจว่าท่านญาณพล มีแจกนะคะ ลองเช็คดู) 4. มีบันทึกด้วยมือลงสมุด สำรองไว้เพื่อเก็บรายละเอียดเพิ่มเติมตามที่เห็นควร เช่น วันไหนมีคอมเสียแล้วลูกค้าย้ายจากคอมเครื่องนั้นไปเครื่องอื่น บันทึกเวลาเข้า-ออกลูกค้า ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นข้อมูลสำคัญหากข้อมูลในคอมหาย ช่วยให้รายละเอียดเพิ่มเวลาถูกซักถามจากเจ้าหน้าที่ 5. บางแห่งใช้วิธีแคปหน้าลูกค้าจากจอของคนเก็บเงินไว้ทุกครั้ง 6. จะทำอะไร ให้นึกถึงสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการด้วย 7. ระวังเรื่องกำหนดเวลาการใช้เน็ต การเล่นคอมของเยาวชนด้วย อย่ายอมให้เล่นเลยเวลาที่กฎหมายกำหนด 8. เฝ้าสังเกตุคนแปลกหน้าที่เข้ามาใช้บริการเป็นพิเศษ 9. รักษาความปลอดภัยด้านข้อมูล ด้านผู้ใช้บริการแล้วอย่าลืมรักษาความปลอดภัยของตนเองและครอบครัวกับทรัพย์สินด้วย (สมมติคนร้ายมาใช้บริการที่ร้าน อาจจะต้องการทำลายหลักฐาน เอิ๊กซ์!) สำหรับ Blogger oknation แต่ละท่านล้วนมีวุฒิภาวะ คงจะมีวิจารณญาณที่ดีในการพินิจพิจารณา มีสติ มีปัญญา ในการเขียนเนื้อหา และคอมเม้นต์อย่างผู้มีความรับผิดชอบต่อสังคม (ที่มีเยาวชนรวมอยู่ด้วย) โดยเฉพาะรับผิดชอบต่อ "ตัวเอง" จึงไม่ขอเขียนอะไรตรงนี้เพราะเกรงจะเป็นการสอนหนังสือพระสังฆราชเจ้าค่ะ คริคริ 
รักนะ ถึงมาบอก ขอบคุณที่มาอ่าน และแสดงความคิดเห็นค่ะ ปิรันญ่า 25 สิงหาคม 2551
หลังจาก 1 ปีที่พรบ.คอมฯ มีผลบังคับใช้ มาแล้วนั้น ประกาศกระทรวง ไอซีที จะมีผลบังคับเต็มรูปแบบ ให้ ทุกหย่อมหญ้า ผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ต เล็ก-ใหญ่ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจ สถานศึกษา ไม่เว้นร้านเน็ต เกมออนไลน์ ทั่วประเทศ ที่ได้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่บุคคลหรือลูกค้า ในองค์กร ต้องเก็บข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ อย่างน้อย 90 วัน ดีเอสไอ เชื่อยื่นมือถึงตัวป่วนเน็ต และพวกชอบส่ง-อัพโหลด ภาพลามก เผยองค์กรใดไม่ทำตาม เตรียมรอโทษปรับ 5 แสนบาท โดยกลุ่มแรกที่ได้ดำเนินการตาม พรบ.นี้แล้ว คือ กลุ่ม ผู้ให้บริการโทรศัพท์ทั้งเคลื่อนที่และระบบไร้สาย ได้เริ่มจัดเก็บข้อมูลของผู้บริโภคที่ใช้โทรศัพท์ติดต่อ หรือส่งข้อความส่งคลิปวีดีโอไปแหล่งใดหรือได้รับจากแหล่งใดผู้ให้บริการจะต้องเก็บข้อมูลเหล่านี้ไว้ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน2550 ที่ผ่านมา ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มผู้ให้บริการเข้าถึงระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต คือ ISP ไม่ว่าจะเป็น ทรู ซีเอสล็อกอินโฟ สามารถ เคเอสซี เอเน็ต เอเชียเน็ต TOT ได้เริ่มเก็บข้อมูลการให้บริการเหล่านี้ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา ในวันที่ 23 สิงหาฯนี้ กลุ่มที่ 3 ซึ่งอาจเรียกได้ว่าที่เหลือจากกลุ่มที่หนึ่งและสองทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ให้บริการอินเทอร์เน็ต แก่ ข้าราชการหรือพนักงานหรือลูกค้าของตน เช่น หน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา โรงแรม แฟลต อพารต์เม้นท์ ห้องเช่า บ้านเช่า ร้านกาแฟ ร้านเน็ตคาเฟ่ จะต้องเริ่มจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ไม่น้อยกว่า 90 วัน เช่นเดียวกัน ยกเว้นแต่ผู้ใช้ระบบอินเทอร์เน็ตตามบ้านพักอาศัยทั่วไป เท่านั้น พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน ผู้บัญชาการ สำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่ามีการกระทำความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะการส่งต่ออีเมลล์หรือดาวน์โหลด อัพโหลด เผยแพร่ ภาพลามกอนาจาร หรือการเขียนข้อความหมิ่นประมาทผู้อื่นรวมถึงก่อความไม่สงบสุขต่อบ้านเมือง จำนวนมาก ซึ่ง กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของผู้กระทำความผิดในรูปแบบต่างๆ พร้อมกับแจ้งเตือนประชาชนเป็นระยะ แต่การสืบหาตัวผู้กระทำความผิดแม้ที่ผ่านมาจะมีการสืบสวนสอบสวนกระทั่งได้ตัวผู้กระทำความผิดมาแล้วหลายราย ขณะเดียวกันยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่สามารถติดตามตัวผู้กระทำผิดตัวจริงมาดำเนินคดีได้ พ.ต.อ.ญาณพล เปิดเผยว่า ในวันที่ 23 สิงหาคม 2551 ที่จะถึงนี้จะเป็นวันแรกที่ ประกาศกระทรวงไอซีที ที่อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะมีผลบังคับใช้ให้ หน่วยราชการ สถานศึกษา องค์กร ร้านค้า บริษัท ห้างร้าน ธนาคาร โรงแรม บ้านเช่า แฟล์ต อพาร์ตเม้นท์ ร้านอินเทอร์เน็ตคาร์เฟ่ ผู้ให้บริการร้านเกมส์ออนไลน์ ต้องเก็บข้อมูลการใช้บริการไม่น้อยกว่า 90 วัน โดยสิ่งที่ผู้ให้บริการร้านอินเทอร์เน็ต ต้องเก็บข้อมูล 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ข้อมูลที่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ เช่น ชื่อ สกุล หรือ หมายเลขบัตรประชาชน เป็นต้น ส่วนที่ 2 วันเวลาที่ลูกค้าเข้ามาใช้ และเลิกใช้เครื่อง และ ส่วนที่ 3 หมายเลขเครื่องที่ใช้ IP Address (ภายนอกและภายใน) และ URL ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการตามรอยผู้กระทำความผิด เช่น หากบุคคลในองค์กรไปส่งรูปลามกอนาจาร หรือทำผิดตามพระราชบัญญัตินี้ จะได้ตรวจสอบผู้กระทำความผิดได้ไม่ยาก และภายหลังจากที่กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้และพบว่าหน่วยงานใดไม่ดำเนินการตามกฎหมายหน่วยงานหรือองค์กรนั้นๆ จะต้องรับผิดชอบโดยมีโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท ส่วนการสร้างระบบที่จะจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวเป็นหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน ที่จะดำเนินการหรือสั่งการ เช่น ให้ผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ขององค์กรติดตั้งระบบล็อกอินก่อนเข้าเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อให้สามารถระบุผู้ใช้บริการได้ชัดเจน การดำเนินตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยเฉพาะในการเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ดังกล่าวถือเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานของภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ไม่ว่าจะเป็นองค์กรเล็กหรือใหญ่ หากยังไม่มีมาตรการใดที่จะห้ามมิให้บุคลากรในหน่วยงานของท่าน กระทำผิดกฎหมาย อาทิ ส่งข้อมูลโป๊ ลามก โกหก หลอกลวง สร้างความไม่สงบต่อบ้านเมืองหรือขัดต่อศีลธรรมอันดี ส่งเมลไปให้ผู้อื่นจนทำให้เกิดความเบื่อหน่าย รำคาญใจ ส่งไวรัส สัญญาณก่อกวน แฮ๊กข้อมูลบุคคลอื่น ซึ่งล้วนเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ทั้งสิ้น ท่านจะต้องเก็บข้อมูลการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ขององค์กรท่านไว้อย่างน้อย 90 วัน ไม่อย่างนั้นแล้วหากมีการสืบสวนแล้วพบว่า มีบุคคลในองค์กรของท่านได้ใช้คอมพิวเตอร์ของท่านเพื่อกระทำความผิดดังกล่าว แต่หน่วยงานนั้น ไม่ได้จัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้ หน่วยงานของท่านจะต้องถูกปรับไม่เกินห้าแสนบาท ซึ่งไม่เพียงหมายถึงทรัพย์สิน งบประมาณ รายได้ที่ขององค์กรที่ต้องสูญเสียไปกับค่าปรับ แต่หากยังรวมถึง หน้าตา ชื่อเสียง ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ของหน่วยงานท่านด้วย พ.ต.อ.ญาณพล ฯ กล่าว รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ งานเผยแพร่-ประชาสัมพันธ์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม โทร.0-22701350-4 ต่อ 113 นายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที เปิดเผยว่า ในวันที่ 23 ส.ค.51 เป็นต้นไป ผู้ให้บริการทางคอมพิวเตอร์ จะต้องตั้งนาฬิกาของอุปกรณ์ทุกชนิดให้มีความเที่ยงตรงแม่นยำตามเวลาอ้างอิงสากล ผู้ให้บริการในกลุ่มที่จะต้องเริ่มเก็บข้อมูลจราจรตามประกาศประกอบด้วย ผู้ให้บริการเข้าถึงระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Access Service Provider) เช่น ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ผู้ประกอบการ ที่ให้บริการอินเตอร์เน็ตให้กับห้องพัก หรือสถานบริการ รวมถึงองค์กรที่ให้บริการให้กับบุคลากรภายในองค์กรของตนเอง กลุ่มผู้ให้บริการเช่าระบบคอมพิวเตอร์เพื่อให้บริการโปรแกรมประยุกต์ต่างๆ (Hosting Service Provider) เช่น ผู้ให้บริการเช่า Web Server ผู้ให้บริการรับฝากข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต, ผู้ให้บริการเข้าถึง e-Mail เป็นต้น และกลุ่มผู้ให้บริการร้านอินเตอร์เน็ต เช่น ร้านเกมออนไลน์, ร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ เป็นต้น ผู้ให้บริการจะต้องจัดเก็บข้อมูลเอาไว้ 90 วัน เพราะการจัดเก็บข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ที่ทางกฎหมายบังคับนั้น มีเจตนาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการระบุและหาตัวผู้กระทำความผิด ดังนั้น หากใครไม่ได้กระทำความผิดตามกฎหมายฯ ฉบับนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือแม้แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ฯ ก็ไม่สามารถดำเนินการเข้าขอตรวจสอบข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ได้ ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง เศรษฐกิจ
|