โดย: โรม บุนนาค
ครั้นการสู้รบสงบลง โรงพยาบาลสภาอุณาโลมแดงก็ยังรักษาพยาบาลประชาชนต่อมา โดยมีแพทย์หลวงจากกรมพยาบาลมาตรวจรักษา แต่เนื่องจากมีเหตุจะต้องใช้ที่ดินบริเวณนั้น โรงพยาบาลอุนาโลมแดงจึงต้องปิดตัวลง จนวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึง กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ความว่า “…สภาอุณาโลมแดงในกรุงนี้สงบเงียบหายไปเสียแล้ว ให้กรมยุทธนาธิการคิดจัดทั้งที่จะให้การเดินไป และที่จะแต่งตั้งผู้แทนไปประชุมเรื่องนี้ด้วย” แต่ต่อมากรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดชทรงประชวร ต้องเสด็จไปรักษาที่ยุโรป ยังไม่ทันได้ดำเนินการ จนในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็เสด็จสวรรคต จากนั้น ๑ เดือน เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ จึงทรงพระราชทานเงินส่วนพระองค์จำนวน ๕,๘๐๐ บาท ประเดิมการจัดตั้งโรงพยาบาลสภาอุณาโลมแดงขึ้น โดยมีพระราชโอรสพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทุกพระองค์ พร้อมพระทัยกันร่วมสมทบรวมเป็นเงิน ๑๒๒,๙๑๐ บาท และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานเงินของสภาอุณาโลมแดงที่มีอยู่ทั้งหมด ๓๙๑,๒๕๙.๙๘ บาท เข้าสมทบเพิ่มเติม ซึ่งเงินจำนวนนี้มีเงินที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯพระราชทานตั้งแต่แรกตั้งเป็นจำนวน ๘๐,๐๐๐ บาท
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ จอมพลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รับหน้าที่ดำเนินการจัดสร้างโรงพยาบาลจนสำเร็จ เป็นโรงพยาบาลทันสมัยและใหญ่ที่สุดของประเทศในเวลานั้น
พระราชทานนามว่า “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์” เสด็จพระราชดำเนินเปิดเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๕๗ ทรงมีพระราชดำรัสในการเปิดโรงพยาบาลว่า “ในการบำเพ็ญกุศลถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถนั้น ย่อมต้องระลึกดูว่า จะทำการอย่างใดจึงจะเป็นที่พอพระราชหฤทัย เราและพี่น้องจะฉลองพระเดชพระคุณได้ในทางใด หรือถึงแม้เสด็จสวรรคตล่วงลับไปแล้ว ถ้ามีวิธีใดที่จะทำให้ทราบถึงพระองค์ได้นั้น การอย่างใดจะเป็นที่พอพระราชหฤทัย เมื่อระลึกดูดังนี้ก็เห็นได้ว่า ตลอดเวลารัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถย่อมพอพระราชหฤทัยในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินที่ทรงปกครอง สิ่งไรทำขึ้นให้นำมาซึ่งความสุขความสำราญแก่ประชาชน สิ่งนั้นย่อมพอพระราชหฤทัยยิ่งนัก...จึงตกลงกันว่า ถ้าสร้างโรงพยาบาลขึ้นเป็น ราชานุสาวรีย์ คงจะเป็นที่พอพระราชหฤทัยเป็นแน่แท้”
การบริจาคทรัพย์ของบรรดาพระราชโอรสพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นทุนสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์นั้น ส่วนใหญ่ก็มาจากการขายเครื่องเพชรเครื่องทองที่ได้รับพระราชทาน หรือของสะสมจากตระกูลของพระมารดา และอีกรายที่เป็นเครื่องเพชรชุดใหญ่ จากพระสนมองค์สุดท้าย คือ ม.ร.ว.สดับ ลดาวัลย์ ม.ร.ว.สดับเข้าถวายตัวเป็นพระสนมเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๔๙ ขณะมีอายุ ๑๖ ปี ในจำนวนพระสนมในรัชกาลที่ ๕ ส่วนใหญ่ขุนนางและคหบดีจะนำธิดามาถวายตัว แต่มีเพียง ๒ รายเท่านั้นที่ทรงสู่ขอด้วยพระองค์เอง รายแรกก็คือ เจ้าจอมมารดาแพ จากรักแรกในขณะพระชนมายุ ๑๔ พรรษา ซึ่งต่อมาก็คือ เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ส่วนอีกรายคือ หม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ จากความรักในขณะพระชนมายุ ๕๓ พรรษา ซึ่งโปรดเกล้าฯ เป็นสนมเอกคนสุดท้าย
ในคราวเสด็จประพาสยุโรปปี ๒๔๕๐ มีพระราชดำริที่จะให้เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับได้ตามเสด็จไปด้วย ถึงกับทรงสอนภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองก่อนเวลาเสวยพระกระยาหารค่ำทุกวัน แต่เมื่อไม่อาจเป็นไปได้ตามพระราชดำริ ก็มีลายพระราชหัตถเลขามาถึงเป็นประจำ ฉบับแรกตั้งแต่ปากน้ำเจ้าพระยา และทุกเมืองที่เสด็จฯ ก็จะทรงซื้อของฝากพระราชทาน ตำบลใดไม่มีของฝาก ก็จะพระราชทานโปสการ์ดแทน เมื่อเสด็จฯ กลับจากยุโรปครั้งนี้ ได้ทรงซื้อเครื่องเพชรจำนวนมหาศาลมาพระราชทานเจ้าจอมสดับ เพราะทรงเห็นว่าอายุยังน้อย มีพระราชประสงค์จะให้เป็นหลักทรัพย์เลี้ยงชีพในอนาคต โปรดให้แต่งเครื่องเพชรแล้วจ้างฝรั่งมาถ่ายรูป โดยทรงพระกรุณาจัดท่าพระราชทานเอง เครื่องเพชรชุดนี้ทำให้เกิดเสียงซุบซิบกันมากด้วยความอิจฉา ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ สวรรคต เครื่องเพชรล้ำค่าชุดนี้ก็ยังเป็นปัญหา อาจจะเป็นอันตรายต่อเจ้าของได้ พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ผู้เป็นอาของหม่อมราชวงศ์สดับ จึงแนะให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายคืนเสีย เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับก็เห็นชอบด้วย และถวายภาระให้พระวิมาดาเธอฯ ทรงจัดการ
แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงรับ ตรัสว่าพระองค์ไม่มีสิทธิอันใดที่จะทรงรับของที่พระราชบิดาได้พระราชทานแล้ว หากเห็นว่าควรคืน ก็ให้ถวายไปที่สมเด็จพระพันปีหลวง
พระวิมาดาเธอฯ จึงนำไปถวายคืนที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ต่อมาทราบว่าสมเด็จพระพันปีหลวงมีพระราชเสาวนีย์ให้ติดต่อขายไปยังต่างประเทศ นำเงินมาสมทบสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทำให้เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับปีติยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้สนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง
ส่วนสมบัติล้ำค่าในชีวิตอีกชิ้นหนึ่งที่เจ้าจอมได้รับพระราชทาน เป็นวัตถุพยานอันแสดงถึงพระกรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นกำไลเนื้อทองบริสุทธิ์จากบางสะพาน เป็นรูปตะปูสองดอกเกี่ยวพันกัน บิดไปมาได้ มีคำกลอนพระราชนิพนธ์จารึกในเนื้อทองว่า กำไลมาศชาตินพคุณแท้ ไม่ปรวนแปรเป็นอื่นย่อมยืนสี เหมือนใจตรงคงคำร่ำพาที จะร้ายดีขอให้เห็นเป็นเสี่ยงทาย ตาปูทองสองดอกตอกสลัก ตรึงความรักรับไว้อย่าให้หาย แม้นรักร่วมสวมไว้ให้ติดกาย เมื่อใดวายสวาทวอดจึงถอดเอย ในวันที่ได้รับพระราชทาน ทรงสวมกำไลนี้และบีบด้วยพระหัตถ์ รุ่งขึ้นจึงให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจ พาช่างทองเยอรมันจากห้างแกรเลิต นำเครื่องมือมาบีบให้ถาวร กำไลทองคล้องใจที่เจ้าจอมสวมมาตั้งแต่อายุ ๑๗ ได้สวมติดข้อมือมาตลอด ไม่ได้ถอดไปกับเครื่องเพชรชุดสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์นั้นด้วย จนถึงอนิจกรรมเมื่ออายุได้ ๙๓ ปี จึงสมดังคำกลอนสลักในเนื้อกำไลที่ว่า “เมื่อใดสวาทวอดจึงถอดเอย” กำไลทองของพระราชทานที่ข้อมือของหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ จึงถูกถอดเป็นครั้งแรก ออกมาวางไว้บนพานหน้าโกศ ต่อมาญาติได้นำขึ้นทูลเกล้าถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งวิมานเมฆ สถานที่ซึ่งท่านเคยมีความสุขกับความรัก ณ พระที่นั่งแห่งนี้ นี่ก็เป็นเกร็ดบางส่วนจากเรื่องราวการสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่มีอายุครบ ๑๐๖ ปี ในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ขอบคุณ MGR Online
คุณโรม บุนนาค
สิริสวัสดิ์ภุมวารค่ะ
![]() |
<< | มิถุนายน 2020 | >> | ||||
อา | จ | อ | พ | พฤ | ศ | ส |
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | |
7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 |
14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 |
21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 |
28 | 29 | 30 |