
(เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๙ กำลังซ้อมเข้าเฝ้ารับพระราชทานโล่รางวัลในวันพืชมงคล)
เอนทรี่ที่แล้ว ผมได้สรุปคติพจน์ที่ “เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๙” แต่ละท่านพูดถึง คือ “ยิ่งให้ ก็ยิ่งได้รับ” เนื่องจากไม่ได้ท่านใดหวงวิชาความรู้ หวงตำแหน่งหน้าที่ หรือหวงอำนาจ แม้กระทั่งหวงข้าวของเงินทอง เพราะมีแต่คนให้กับให้ ไม่เคยนึกว่าจะขาดทุน แต่การกลับเป็นว่า “ยิ่งให้ ก็ยิ่งได้รับ”
ทั้ง 30 กว่าล้วนพูดออกมาในท่วงทำนองกัน หากเป็นวงดนตรีก็ต้องบอกว่า ทุกท่านล้วนบรรเลงเป็นเสียงเพลงเดียวกัน จึงทำให้เพลงในวันนั้นฟังแล้วไพเราะกินใจ เอนทรี่นี้ผู้เขียนขอแนะนำ “เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๙” อีกจำนวนหนึ่ง นำมาเล่าเท่าที่จำได้ว่าท่านได้พูดอะไรไว้บ้าง และหลังจากนี้จะมีอีก 2-3 เอนทรี่ที่ผู้เขียนจะเล่าถึงการไปเรียนรู้จากท่านเหล่านั้นจากการไปเยี่ยมชมถึงถิ่นที่อยู่ของท่าน

(คุณดิลก ภิญโญศรี)
“เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๙” ท่านต่อมาเป็น "เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ" คุณดิลก ภิญโญศรี อยู่ อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง ศึกษาจบมาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และจบปริญญาโททางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ออกมาเล่าว่า ท่านน่าจะเป็นผู้ที่มีอายุน้อยที่สุดที่นั่งอยู่ในห้องนี้ เพราะมีอายุเพียง 38 ปีเท่านั้นเอง แต่เรื่องที่ท่านเล่าให้ฟังนี่เหมาะสมแล้วที่ได้รับการยกย่องให้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำไร่ คุณพ่อของคุณดิลกมีอาชีพเป็นชาวไร่อ้อย แล้วก็เพิ่มพื้นที่มากขึ้น และมีโควต้ากับบริษัทนำตาลเอกชนแห่งหนึ่ง มีคนงานตัดอ้อยกว่า 100 คน ขณะนั้นตัวเองก็ไม่มีท่าทีว่าจะกลับมาทำงานที่บ้านเพื่อช่วยเหลือบิดา แต่การขยายพื้นที่เพื่อส่งอ้อยป้อนเข้าโรงงานให้ได้ 20,000 ตันนั้น บิดาจึงซื้อรถตัดอ้อยเพื่อใช้แทนแรงงานคน จุดนี้เองที่ทำให้ท่านตัดสินใจกลับบ้านเกิด เพื่อมาช่วยกิจการในครอบครัว โดยที่ "ผมไม่มีความรู้เรื่องอ้อยเลย ต้องเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด" ท่านกล่าวในห้องอย่างน่าสนใจถึงจุดหักเหชีวิตของวิศวกร หลังจากนั้นก็ได้ทุ่มเท ศึกษาเรียนรู้เรื่องอ้อยอย่างจริงจัง ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งสิ้น 900 ไร่ เป็นของตนเอง 250 ไร่ เช่าพื้นที่อีก 650 ไร่ สิ่งที่แตกต่างจากไร่อ้อยทั่วไป คือ การใช้เครื่องมือจักรกลการเกษตรเข้ามาจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ เรียนรู้วิธีการตัดอ้อยและการไม่เผาต้นอ้อยอย่างไรที่จะให้ผลผลิตสูงกว่าวิธีการเดิมๆ เป็นวิธีการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน ผู้เขียนยังจำได้ว่าท่านได้เล่าถึงการยกร่องแปลงปลุูกอ้อยให้ได้มาตรฐาน นอกจากนี้การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดต้นทุนการผลิต ทดแทนแรงงานคน ท่านเน้นย้ำว่า "น้ำ" เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการเติบโตของต้นอ้อยมากที่สุด จึงได้นำระบบโซล่าเซลล์(พลังงานแสงอาทิตย์)มาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อสูบน้ำเข้าแปลงอ้อย แทนการใช้เครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมัน
คราวนี้ความรู้ทางด้านวิศวกรรมได้ถูกนำมาใช้แล้ว และมีหลายกรณีที่ท่านได้พัฒนาไร้อ้อย สมแล้วที่ศึกษาจบมาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และใช้การจัดการไร่อ้อยอย่างเป็นระบบ หรือแม้กระทั่งการใช้ GPS มาจับพิกัดรถขนส่งอ้อย เป็นต้น เมื่อองค์ความรู้ติดตัวมากมายหลากหลายสาขามากขึ้น ท่านก็เป็นวิทยากรบรรยายให้แก่เกษตรกรที่สนใจอย่างไม่ขาดสาย หรือเป็นที่ศึกษาดูงานของผู้คนอีกมากมาย เป็นต้น

(ห้องเรียนถ่ายทอดความรู้จากเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ)
จำได้ว่า ... ตอนนั้น ผู้เขียนนึกทบทวนถึงเกษตรกรดีเด่นแต่ละท่านที่มาฉายภาพชีวิตการเป็นเกษตรกรให้ดูแล้ว ทุกคนล้วนแต่ร่ำรวยความรู้ และที่สำคัญเป็นผู้มีฐานมั่นคง (ไม่ใช่ความมั่งคั่ง-ร่ำรวย) แล้วก็ยังแจกจ่ายทั้งฐานะเงินทอง ความรู้ที่มีก็เผื่อแผ่ให้คนอื่นๆ เพื่อให้คนไทยมั่นคงในอาชีพและมีความมั่นคงทางด้านอาหารอีกด้วย และอีกประการหนึ่งคือ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคุณทอง หลอมประโคน (ฉายา ซูเปอร์ชาวนา) ที่ใช้ความรู้ไปรับใช้บริษัทเอกชน แต่ท่านก็ตั้งคำถามว่า ทำไมพ่อแม่ที่บ้านจึงจนลงๆ ..... ความเอาจริงเอาจังกับการเกษตรต่างหากที่สามารถทำให้คนไทย(ร่ำ)รวย ฐานะมั่นคง ลืมต้าอ้าปากสู้เกษตรกรประเทศอื่นๆ เขาได้เหมือนกัน

"เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ" อีกท่าน มาจากสาขาอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง ศึกษาจบมาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์เช่นเดียวกัน แต่มาเอาดีทางด้านเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด จนได้ดีเด่นในสาขานี้ คือ คุณชนธัญ นฤเศวตานนท์ อยู่ อ.เบตง จ.ยะลา อายุก็ยังน้อยเช่นเดียวกัน เพียง 40 ปี
จุดเด่นของคุณชนธัญ ที่นำมาเปิดเผยให้ห้องเรียนให้ผมได้ฟังในวันนั้น คือ พื้นที่ อ.เบตง เป็นที่ทราบกันดีว่าเต็มไปด้วยภูเขา เพราะแม้แต่สนามกีฬาในตัวอำเภอมีอัฒจรรย์เป็นภูเขา ไม่น่าจะมีพื้นที่ราบสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงสารคดีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในแถบประเทศไต้หวันและญี่ปุ่น ที่เขาสามารถเอาชนะอุปสรรคที่เป็นธรรมชาติได้ และบางทีคนเราก็ใช่ว่าจะเริ่มต้นแล้วจะประสบความสำเร็จได้ในทันทีต่อให้มีความรู้มากมายเพียงใดก็ตาม ซึ่งทุกคนก็ล้วนแต่ต้องปรับปรุงพัฒนาจากสิ่งที่มีอยู่เดิมและเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง คุณชนธัญก็เริ่มต้นเลี้ยงปลาจีนจากบ่อปลาเก่า ขนาด 50 X 50 ตารางเมตร แล้วก็ต่อท่อน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่เกิดจากภูเขาที่ไหลตลอดทั้งปีผ่านบ่อปลา โดยใช้วิธีการเพิ่มออกซิเจนลงในน้ำที่เรียกว่า VENTURI คือการใช้พลังงานจากน้ำธรรมชาติไหลผ่านท่อ ปล่อยให้ตกลงมาจากที่สูง เกิดเป็นพลงงานกล และดูดอากาศเข้ามาผสมกับน้ำแล้วใส่ลงไปในบ่อเลี้ยง ทำให้ปลามีออกซิเจนอย่างเพียงพอ ลดการตายของปลาลงได้


การเลี้ยงปลานิลมาเลี้ยงร่วมกับปลาจีน ทำให้ปลานิลออกลูกมาเต็มบ่อทำให้ควบคุมปริมาณสารอาหารและการเติบโตของปลาไม่ได้ ก็ประสบกับภาวะขาดทุน จนได้ปรับมาเลี้ยงปลานิลแปลงเพศและเลี้ยงในบ่อที่ได้มาตรฐาน นำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้กับการเลี้ยง จึงประสบความสำเร็จ นำออกขายตลาดมาเลเซีย จนผลิตไม่พอ ที่น่าสนใจคือ เมื่อบ่อปลามีพื้นที่มีความสูงต่ำตามไหล่เขา ก็ใช้ความได้เปรียบตรงนี้มาใช้ในเรื่องการทำความสะอาดบ่อปลา นอกจากนี้ก็มีการรวมตัวกันของกลุ่มผู้เลี้ยงปลาเพื่อจะได้ทับซ้อนกันในเรื่องการจับปลาออกสู่ท้องตลาด ทำให้ไม่เกิดการตัดราคากันเองของตลาดใน อ.เบตง โดยทุกคนในกลุ่มนี้จะต้องไม่เอาเปรียบกัน ซื่อสัตย์ เสียสละ และรักในอาชีพเลี้ยงปลา
ในบ่อเลี้ยงปลาโดยใช้เศษวัชพืชใส่ลงในบ่อเพื่อให้เกิดสารอาหาร เช่น ใบมันสำปะหลัง ใบตอง และเน้นการเลี้ยงแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้ EM ไม่ใช้ยาหรือสารเคมีลงในบ่อปลาเมื่อปลาติดเชื้อ

ผลงานของคุณชนธัญมีมากมาย อาทิเช่นเป็นประธานกลุ่มผู้เลี้ยงปลา มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่กัน ใช้ฟาร์มของตนเองเป็นศูนย์การเรียนรู้ วันนี้กลุ่มผู้เลี้ยงปลาที่มีคุณชนธัญเป็นประธานได้ส่งปลาในร้านอาหารใน อ.เบตงวันละไม่ต่ำกว่า 100 กก. วันเสาร์อาทิตย์หรือเทศกาลไม่ต่ำกว่า 400 กก.ต่อวัน กลุ่มยังส่งปลานิลไปขายยังมาเลเซียสัปดาห์ละ 500 กก.
เมื่อปีที่แล้วคุณชนธัญได้รับคัดเลือกจากกรมประมงให้ไปศึกษาการเลี้ยงปลา ที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้ผู้เขียนนึกย้อนไปถึงประวัติความเป็นมาของปลานิล ซึ่งปลานิลได้เข้ามาเลี้ยงในประเทศไทยครั้งแรกโดยสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโต เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทรงส่งเข้ามาทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2508 จำนวน 50 ตัว ครั้งนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยงปลานิลในบ่อภายในสวนจิตรลดา เป็นหนึ่งโครงการในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา (ข้อมูล/วิกีพีเดีย)

(คุณชนธัญ นฤเศวตานนท์)

การเอาชนะอุปสรรคทางธรรมชาติหรือแม้แต่เอาชนะดินฟ้าอากาศด้วยภูมิปัญญา การไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาฟ้าดิน หมั่นเรียนรู้ฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ มีความคิดริเริ่มเป็นแนวทางใหม่หรือใช้แนวทางที่ผ่านการพิสูจน์จนเห็นผลดีแล้ว เฉกเช่น แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเผื่อแผ่เจือจานไปยังชุมชน ขยายกว้างไปไกลถึงสังคมและเกื้อหนุนประเทศชาติอีกด้วย
ตัวอย่างคือ คุณชนธัญ ซึ่งเอาชนะความสูงต่ำของที่ดิน ด้วยการเพาะเลี้ยงปลาบนภูเขา เป็นความท้าทายที่ใครบางคนก็คงคิดไม่ถึง หรือเกิดความท้อแท้เมื่อเห็นแผ่นดินที่สูงๆ ต่ำๆ แล้วมองว่า ไม่น่าทำอะไรได้ ก็ควรฝึกคิดและลงมือทำ ดังตัวอย่างท่านผู้นี้
หากยังไม่มีใครไม่ยกย่องท่าน หากท่านทำอยู่เพียงลำพังแล้วเกิดความสุขใจ นั่นถือว่าท่านปฏิบัติมาถูกทางแล้ว อย่าได้ท้อแท้ในงานที่ทำแม้จะมีอุปสรรคขวางกั้นยิ่งใหญ่เช่นภูเขาสักปานใด พระมหาชนกเจ้ายังว่ายน้ำแม้ไม่เห็นฝั่งนทีก็ตาม …….. ควรได้ถือเอาเป็นคติในวันนี้และทุกๆ วัน
.......................................................
หมายเหตุ
1. โปรดติดตามตอนต่อไป "เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ" สาขาการปลูกสวนป่า และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงสัตว์(การเลี้ยงหมูหลุม)
2. เรื่องราวที่นำมาเล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ "ห้องเรียนปราชญ์ของแผ่นดิน ปี๒๕๕๙" มิใช่ความรู้ความสามารถทั้งหมดของผู้ที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้ารับพระราชทานโล่รางวัล ประจำปี ๒๕๕๙
3. ขอบคุณภาพ คุณชนธัญ นฤเศวตานนท์ และ คุณนคร ประสาทพร
|