*/
<< | พฤษภาคม 2016 | >> | ||||
อา | จ | อ | พ | พฤ | ศ | ส |
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 |
8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 |
15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 |
22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 |
29 | 30 | 31 |
(ลุงหนูเคน เกษตรกรดีเด่น สาขาปลูกสวนป่า กับผู้เขียน และบิดาของผู้เขียน)
เอนทรี่นี้จะเป็นตอนที่ 3 สำหรับเอนทรี่ เรื่อง "ผมได้เรียนรู้อะไรในห้องเรียนปราชญ์ของแผ่นดิน ปี๒๕๕๙" ซึ่งได้นำเสนอมาแล้ว 2 ตอน ในตอนนี้จะได้กล่าวถึงผลของการไปเยี่ยมเยียนเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ซึ่งได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2559 ท่านแรกที่ผู้เขียนได้เดินทางไปเยี่ยมชมกิจการ คือ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพปลูกสวนป่า นายหนูเคน ทูลคำรักษ์ อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ หลังจากที่ได้โทรศัพท์นัดหมายกันลุงหนูเคนก็นัดให้ผู้เขียนไปเจอท่านได้ที่สวนป่าตั้งอยู่ในเขต อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ สภาพแวดล้อมของสวนป่าเต็มไปด้วยความแห้งแล้งและร้อนของอากาศในฤดูร้อน ตั้งอยู่กลางทุ่งนา มีสวนยางพาราขึ้่นอยู่เป็นหย่อมๆ ของสีเขียวที่พอจะลดสีสันสีน้ำตาลของทุ่งหญ้าและต้นไม้อันเกิดจากการแผดเผาของแสงแดด (ทางเข้าสวนป่าแปลงที่ 1 ของลุงหนูเคน ในเขต อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์) เห็นรถกระบะอีซูซุ สีเทาคันเก่าๆ คันหนึ่งจอดอยู่ในสวนป่า ด้อมๆ มองๆ หาผู้คนอยู่ไม่นานก็พบกับลุงหนูเคน ผู้ใจดีแบบคนชนบทที่เคยพบเคยเจอกันในโรงแรมหรูกลางกรุงและที่สนามหลวงในวันพืชมงคล ลุงหนูเคนแนะนำตัวเองกับผู้เขียนอย่างคนคุ้นเคยว่า ชาวบ้านแถวนี้เรียกว่า ลุงปาง ทำสวนป่าตรงนี้ 80 ไร่ มาตั้งแต่ปี 37 แต่ก่อนปลูกต้นยางพารา แต่เห็นคนปลูกกันเยอะ ลุงกลัวว่าราคายางพาราจะตกต่ำก็เลยเอารถมาโค่นต้นยางทิ้ง แล้วก็เริ่มปลูกต้นไม้สารพัดชนิด ลุงชี้ให้ดูต้นไม้แต่ละชนิด มากจนจำไม่หวาดไม่ไหว ต้นไม้ในรุ่นแรกๆ สูงใหญ่เป็นร่มเงาให้แก่ไม้ต้นเล็กอีกนานาพันธุ์ รวมทั้งพืชพันธัญญาหาร ต่อมาลุงก็ไปขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่า (ตามพระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ.2535) ทำให้การตัดไม้ ขายไม้ แปรรูปไม้ การเคลื่อนย้ายไม้จากสวนของลุงทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ที่สำคัญไม่ว่าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองระดับใด หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็รู้จักชื่อลุง เนื่องจากสวนป่าของลุงได้กลายเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ของทุกคนทุกระดับ ผู้หลักผู้ใหญ่ระดับอธิปดีกรมป่าไม้ รองอธิบดีกรม ต่างก็มาเยี่ยมเยียนสวนป่าตัวอย่าง ลุงชี้ให้ดูว่ามีรูปใครบ้างที่มาเยี่ยมสวนป่าแห่งนี้ เป็นภาพบนป้ายไวนิลที่ติดอยู่กับผนังอาคารห้องเรียนรู้ของลุงหนูเคน (แปลงนี้ มีต้นกระถินเทพาหลายร้อยต้น) ลุงหนูเคนเล่าถึงการขายไม้ว่า สมัยแรกๆ ที่ต้นไม้โตพอตัดได้แล้ว ลุงก็ขายไม้ออกไปโดยไม่รู้ราคาไม้ “ตอนนั้นลุงขายแค่ต้นละพัน ถ้าลุงรู้ราคาเหมือนสมัยนี้ ลุงขายได้เงินเยอะแยะแล้ว” น่าเสียดายแทนลุงจัง “แล้วใครมาบอกลุงว่า จะต้องขายต้นละเท่าไร” “ก็เจ้าหน้าที่ป่าไม้สิ ตอนนี้.. ถ้าต้นขนาดนี้ (ลุงชี้นิ้วไปที่ต้นไม้ขนาดกลางๆ ให้ดู) ก็ 3 ต้นหมื่นๆ (บาท) วันก่อนขายให้พวกซื้อไม้มาจากภาคเหนือไป 80 ต้น มาตัดกัน 3 คันรถสิบล้อ พอรถวิ่งออกไปไกลถึงภาคเหนือแล้ว เขาจึงโทรกลับมาบอกลุงว่า เขาตัดเกินที่ตกลงกันไป 10 ต้น” ลุงเล่าาให้ฟังพร้อมกับหัวเราะอย่างมีความสุขไปด้วย วันก่อนลุงก็บริจาคไม้ให้กับวัดเอาไปทำกุฏิ ทำอะไร ทำโรงเรียนก็ให้” เรียกว่า ได้ครบถ้วนเลยทีเดียวทั้งการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ การปลูกพืชแบบผสมผสานกับการปลูกพืชทางการเกษตร เนื่องจากรอบๆ สวนป่าก็ยังมีสวนยางพาราของลูกชายลุงอยู่ล้อมรอบอีกหลายสิบไร่ ล้วนกำลังได้ผลผลิตออกสู่ท้องตลาดเช่นเดียวกัน (ไม้ไผ่ มีไว้ทั้งการเป็นไม้ใช้งานและใช้หน่อไผ่เป็นอาหาร) ลุงหนูเคนพาออกไปดูสวนป่า ชี้ให้ดูต้นไม้ชนิดต่างๆ ทั้งไม้ยืนต้น ไม้ราคาแพงอย่างต้นพยุง ต้นประดู่ที่ปลูกเป็นแปลงราวๆ 2 พันกว่าต้น ไม้เลื้อย หวาย ไม้พุ่มที่เก็บกินเป็นผักป่า จิปาถะ “น่าเสียดายที่ตอนนี้ หน้าแล้ง ไม่งั้นได้เห็นต้นไม้พวกนี้ออกเยอะกว่านี้ ..ปีที่แล้วคนมาเก็บเห็ดเต็มไปหมด รถกระบะนี่จอดเต็มสวนป่านี้เลย” “แล้วลุงคิดเงินจากคนเก็บเห็ดอย่างไร?” ผู้เขียนถาม “ลุงไม่ได้เอาอะไรจากเขาด้อก .... ให้เขาเอาไปซือๆ” (ให้ชาวบ้านเอาไปเปล่าๆ ไม่คิดเงิน) “อ้าว..ทำไมล่ะลุง?” “ลองไม่ให้ ถ้าเขามาแกล้งเผาสวนป่า ลุงก็เสียหายหมดสิ” ด้วยคำตอบนี้ ผู้เขียนเริ่มเข้าใจแล้วว่า ทำไมคนเราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับป่าอย่างสันติภาพ ระหว่างเดินชมต้นไม้ลุงก็ชี้ให้ดูร่องรอยที่ไก่เขี่ยใบไม้เพื่อหากินตัวมด แมลงหนอน “อันนี้เป็นรอยหากินของไก่ป่า” “ไหนตัวมันล่ะลุง” ... “โอ้ย.. ใครไปไล่มันทัน มันบินอยู่บนยอดไม้ ... เดือนก่อนแม่มันกกไข่อยู่ที่โคนต้นไม้นั่น” (แปลงนี้ ต้นประดู่ที่ลุงบอกว่า ที่ตรงนี้มีทั้งหมด 2 พันกว่าต้น คิดมูลค่าไม่ถูกในอีกสัก 5 - 10 ปีข้างหน้า) (แถบนี้เป็นต้นสัก และหวายมาโตที่โคนต้น) “เห็นที่ขอนไม้นี้ไหม อันนี้เป็นเห็ดหลินจื่อ ลุงเก็บขายเองได้กิโลละ 300 บาท พอเราตัดต้นไม้ออกไปแล้ว โคนต้นก็ไว้อย่างงี้แหละ ปล่อยให้มันตายเอง พวกต้นเล็กๆ ก็ได้ใหญ่ต่อไป ถ้าโคนต้นไหนไม่ตายมันก็มีกิ่งกลายเป็นต้นใหญ่ให้ ไม่ต้องไปเผามัน ปล่อยไว้ยังงี้แหละ” ลุงเล่าให้ฟังถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งต่างจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่เป็นการบังคับธรรมชาติมากเกินไป “ไม้ทั้งหมดนี่ ลุงจะตัดอีกกี่ปีจึงจะหมดครับลุง” “ตัดไม่รู้จักหมดหรอก มันโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างต้นยางนาต้นใหญ่สองต้นนั้น(ขนาด 3 คนโอบ) เขาให้ราคาต้นละ 3 หมื่นก็ยังไม่ขายเลย ปีที่แล้วเจ้าหน้าที่ป่าไม้เคยมาตีราคา(มูลค่า)ไม้ทั้งสวนนี้ไว้ 17 ล้านบาท” และทุกๆ ปีมูลค่าของพรรณไม้ของลุงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ลุงยืนยันในเหตุผลของการปลูกสวนป่าว่า “ดีกว่าเอาเงินไปฝากธนาคารกินดอกเบี้ย” ...... สาเหตุเพราะอะไรนั้น พอเราเห็นสภาพเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยธนาคารในปัจจุบันนี้เป็นตัวบ่งชี้ความมั่นคั่งของลุงหนูเคนได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนได้ยินตัวเลขถึงกับอึ้งว่ามูลค่าต้นไม้ในสวนป่าของลุงหนูเคนช่างมากมายมหาศาล แม้มันจะไม่ใช่ตัวเลขที่เป็นตัวเงินในบัญชีเก็บไว้ในธนาคาร แต่เงินดอกผลของลุงหนูเคนเก็บไว้ในต้นไม้และโตขึ้นมากกว่าดอกเบี้ยในธนาคาร ลุงเปรียบเทียบให้ดูดอกเบี้ยธนาคารโตช้ากว่าต้นไม้ของลุงเมื่อตีค่าราคาของมันออกมาเป็นตัวเงิน และก็สามารถขายไม้ออกได้ตลอดเวลา “ให้แต่บอก ..ก็มีคนจะมาซื้อทันที” นี่ก็แสดงว่า ต้นไม้มีสภาพคล่อง ที่มันสามารถเปลี่ยนเป็นตัวเงินได้ทันที เหมือนอย่างทองคำ หรือใบหุ้น ....!! ลุงหนูเคน มีแปลงปลูกสวนป่า 2 แปลง โดยปลูกไม่ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ไม้มะค่า ยางนา พยุง ประดู่ สัก ไม้แดง มะค่าโมง กระถินเทพา และยูคาลิปตัส (ราคา 3 ต้นหมื่น..ที่ลุงย้ำให้ฟังอีกที) ใช้เวลาที่ปลูกสวนป่ามาแล้ว 21 ปี เมื่อตัดไม้ออกไปก็จะมีการปลูกทดแทน ไม้ที่ตัดก็นำไปใช้สำหรับสร้างบ้านพักอาศัย สร้างบ้านให้เช่า(ในตัว อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์) ทำเฟอร์นิเจอร์ ทำศาลาพักร้อน และยังทำให้ลุงมีงานทำนอกจากการปลูกสวนป่าแต่เพียงอย่างเดียวอีกด้วย คือ ช่างไม้ ลุงหนูเคนพาผู้เขียนเดินดูต้นไม้จนรอบสวนป่า ให้ดูมูลค่าของต้นไม้ที่ทำสวนป่าและตัดไม้อย่างถูกหลักวิชาการป่าไม้ แม้ว่าอากาศในพื้นที่ อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ขณะนั้นจะร้อนและแห้งแล้งเพียงใด แต่การเดินอยู่ใต้ร่มไม้ตลอดเวลาก็ไม่ได้ทำให้ร้อนแล้งแต่อย่างใด ก่อนกลับออกมาให้ ลุงหนูเคนนักอนุรักษ์ต้นไม้ก็ไปเอากล้าไม้ยืนต้นมาให้เป็นของฝากติดมือกลับไปปลูกที่บ้านอีกถึง 7 ต้น
“ลุงอยากจะทำอะไรอีกต่อไป..?” “ลุงจะหาพรรณไม้แปลกๆ มาปลูก ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดู แล้วจะทำป้ายชื่อต้นไม้ ติดไว้ให้เวลาคนมาดูสวนป่าจะได้รู้จักชื่อ”
(สภาพทุ่งนาในหน้าแล้ง จ.บุรีรัมย์ ) (พืชสมุนไพรกำลังแตกหน่อรอฝน พวกไพล ขมิ้น กระชาย) (ลุงหนูเคนกำลังดูแลกล้าไม้ที่เอาไว้ปลูกแซมต้นที่ตัดออกไป) เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยที่ทำให้สวนป่าของลุงหนูเคนประสบความสำเร็จ ผู้เขียนเห็นว่า การไม่ได้ใช้พื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว เช่นปลูกยางพารา ประกอบกับเป็นการทำสวนป่าแบบผสม เป็นไม้ยืนต้นที่ต่างชนิดกัน ทำให้มีข้อได้เปรียบ มีความหลากหลายทางชีวภาพเพราะมีไม้หลายชนิดในหมู่ไม้เดียวกัน และได้รับผลตอบแทนหลายช่วงเวลา แต่ก็ต้องคอยดูแลต้นไม้เพื่อไม่ให้แก่งแย่งแสงน้ำและธาตุอาหาร หรือให้เรือนยอดต้นไม้ไปบดบังพืชพรรณอื่นและสมุนไพร ความหลากหลายทางชีวภาพก็ยังเป็นความได้เปรียบในเรื่องของการเก็บหาของป่า ซึ่งได้ผลตอบแทนในรูปของตัวเงิน แต่ลุงหนูเคนก็เลือกที่จะให้สวนป่าอยู่คู่กับชุมชน ด้วยการอนุญาตให้ชาวบ้านเข้ามาเก็บหาของป่าได้อย่างอิสระ เป็นการป้องกันไฟป่า จึงเท่ากับว่าได้รับทั้งตัวเงินและมิตรภาพไปด้วยในตัว หรือป่าดูแลคน คนดูแลป่า เกื้อหนุนกันไปแบบชีวิตของชาวชนบท ประการต่อมา คือ การเลือกพรรณไม้ปลูกในสวนป่า เป็นสายพันธุ์ที่เติบโตง่ายในพื้นดินทางภาคอีสาน ได้แก่ ยางนา ซึ่งลุงหนูเคนบอกว่ามีอัตราความเพิ่มพูนต่อปีสูงที่สุด... มีหน่วยวัดเป็นเซนติเมตรต่อปี) ต้นกระถินเทพา(เทพณรงค์) ไม้สัก ไม้ยูคาลิปตัส ไม้เหล่านี้สามารถขึ้นได้ดี เนื้อไม้ใช้ประโยชน์ได้ และเป็นที่ต้องการของตลาดมาก นอกจากนี้ จากการสังเกตในเรื่องการจัดการสวนป่าของลุงหนูเคน ก็พบว่า มีการปลูกแบบเป็นแถวเป็นแนว เพื่อให้เกิดความสะดวกในการตัดฟันและเคลื่อนย้ายไม้ออกจากสวนป่า ช่องว่างหรือร่องระหว่างแปลงมีขนาดกว้างพอที่รถบรรทุกขนาดเล็กหรือรถไถนา(คูโบต้า)เข้าไปถึงได้ทุกต้น โดยมีเส้นทางหลักที่รถบรรทุกขนาดใหญ่สามารถเข้าไปถึงสวนเพื่อรับช่วงต่อได้ วันนั้น ... ผู้เขียนกลับออกไปแล้วก็คิดว่า ถ้าคนไทยช่วยกันดูแลป่าแบบลุงหนูเคน ปัญหาต่างๆ ก็คงจะไม่เกิดขึ้น เพราะการมีความรู้ความเข้าใจในการปลูกสวนป่า คนที่ปลูกสวนป่าก็มีความมั่นคงในรายได้ ชุมชนก็ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งหมด ลุงหนูเคน ทูลคำรักษ์ อายุ 69 ปี จบการศึกษาประถมปีที 4 อยู่หมู่ที่ 2 ต.ประโคนชัย อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ การปลูกสวนป่าไม่เพียงแต่ทำให้ลุงหนูเคนมีความมั่นคงในฐานะทางเศรษฐกิจ แต่เกียรติยศที่ลุงได้รับคือ เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพปลูกสวนป่า ได้รับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี พ.ศ. 2559
................................................
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง ผมได้เรียนรู้อะไรในห้องเรียนปราชญ์ของแผ่นดิน ปี๒๕๕๙ (ตอนที่ ๑) ผมได้เรียนรู้อะไรในห้องเรียนปราชญ์ของแผ่นดิน ปี๒๕๕๙ (ตอนที่ ๒) พ.ร.บ. สวนป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ (ส่งเสริมให้เอกชนปลูกสวนป่าเพื่อการค้า) http://pirun.ku.ac.th/~fforwpk/document/law/panta2535.pdf
|
ถึง บล็อกเกอร์ ทุกท่าน โปรดอ่าน
ด้วยทาง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้ติดต่อขอความร่วมมือ มายังเว็บไซต์และเว็บบล็อกต่าง ๆ รวมไปถึงเว็บบล็อก OKnation
ห้ามให้มีการเผยแพร่ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ บนเว็บ blog โดยกำหนดขอบเขตของสิ่งที่ห้ามทำ และสามารถทำได้ ดังนี้
ห้ามทำ - การใส่ผลงานเพลงต้นฉบับให้ฟัง ทั้งแบบควบคุมเพลงได้ หรือซ่อนเป็นพื้นหลัง และทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือ copy code คนอื่นมาใช้ - การเผยแพร่ file ให้ download ทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือฝากไว้ server คนอื่น สามารถทำได้ - เผยแพร่เนื้อเพลง ต้องระบุชื่อเพลงและชื่อผู้ร้องให้ชัดเจน - การใส่เพลงที่ร้องไว้เอง ต้องระบุชื่อผู้ร้องต้นฉบับให้ชัดเจน จึงเรียนมาเพื่อโปรดปฎิบัติตาม มิเช่นนั้นทางบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ จะให้ฝ่ายดูแลลิขสิทธิ์ ดำเนินการเอาผิดกับท่านตามกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์
OKNATION
กฎกติกาการเขียนเรื่องและแสดงความคิดเห็น
1 การเขียน หรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต้องไม่หมิ่นเหม่ หรือกระทบต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
2. ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่นในทางเสียหาย หรือสร้างความแตกแยกในสังคม กับทั้งไม่มีภาพ วิดีโอคลิป หรือถ้อยคำลามก อนาจาร 3. ความขัดแย้งส่วนตัวที่เกิดจากการเขียนเรื่อง แสดงความคิดเห็น หรือในกล่องรับส่งข้อความ (หลังไมค์) ต้องไม่นำมาโพสหรือขยายความต่อในบล็อก และการโพสเรื่องส่วนตัว และการแสดงความคิดเห็น ต้องใช้ภาษาที่สุภาพเท่านั้น 4. พิจารณาเนื้อหาที่จะโพสก่อนเผยแพร่ให้รอบคอบ ว่าจะไม่เป็นการละเมิดกฎหมายใดใด และปิดคอมเมนต์หากจำเป็นโดยเฉพาะเรื่องที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน 5.การนำเรื่อง ภาพ หรือคลิปวิดีโอ ที่มิใช่ของตนเองมาลงในบล็อก ควรอ้างอิงแหล่งที่มา และ หลีกเลี่ยงการเผยแพร่สิ่งที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือวิธีการใดก็ตาม 6. เนื้อหาและความคิดเห็นในบล็อก ไม่เกี่ยวข้องกับทีมงานผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซต์ โดยถือเป็นความรับผิดชอบทางกฎหมายเป็นการส่วนตัวของสมาชิก คลิ้กอ่านเงื่อนไขทั้งหมดที่นี่"
OKnation ขอสงวนสิทธิ์ในการปิดบล็อก ลบเนื้อหาและความคิดเห็น ที่ขัดต่อความดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของบล็อกและเจ้าของความคิดเห็นนั้นๆ
|
||
![]() ![]() |