*/
<< | มีนาคม 2009 | >> | ||||
อา | จ | อ | พ | พฤ | ศ | ส |
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 |
8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 |
15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 |
22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 |
29 | 30 | 31 |
การทำต้นฉบับ,ช่องทางในการนำเสนอผลงานและการเปิดใจรับฟังคำวิจารณ์
ผมจะพูดเรื่องการทำต้นฉบับก่อน ซึ่งเป็นหัวข้อที่ทุกคน ซึ่งอยู่ ณ.ที่ประชุมแห่งนี้ คงจะรู้ด้วยตัวเองแล้วว่า การทำต้นฉบับให้เรียบร้อยนั้นต้องทำอย่างไรบ้าง เช่น หนึ่ง ต้องพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์และพรินท์ออกมาให้สะอาดเรียบร้อย สอง ต้องตรวจคำผิดและแก้ไขให้ถูกต้อง โดยยึดพจนานุกรมเป็นหลัก สาม ต้องเว้นวรรคตอนให้ถูกต้อง เพื่อสะดวกในการอ่านของบรรณาธิการ สี่ ต้องใส่เลขหน้าให้ชัดเจน อย่างนี้เป็นต้น สมัยก่อนที่พิมพ์ดีดยังไม่แพร่หลายและคอมพิวเตอร์ยังไม่เกิดขึ้น นักเขียนรุ่นเก่าหลายคน ต้องเขียนต้นฉบับด้วยลายมือ เท่าที่ผมรู้ บางคนนั้นต้องมีพิธีกรรมมากมายกว่าจะเขียนออกมาได้สักเรื่องหนึ่ง เช่นต้องเตรียมกระดาษสีชมพูไว้ให้พอ ต้องเหลาดินสอไว้เป็นจำนวนมาก บางคนนอกจากกระดาษสีม่วงแล้วไม่อาจเขียนด้วยกระดาษสีอื่นได้เลย บางคนเขียนแล้วแก้ เขียนแล้วฉีกอยู่เป็นกอง ๆ กว่าจะได้เรื่องสั้นออกมาสักหน้าหนึ่ง ผมเคยเห็นต้นฉบับของนักเขียนใหญ่สองท่าน หนึ่ง คือรงค์ วงษ์สวรรค์ ท่านใช้พิมพ์ดีด และทำต้นฉบับอย่างพิถีพิถันมาก คั่นหน้าไว้ประมาณสองนิ้ว และไม่มีคั่นหลัง จะพิมพ์ไปจนสุดกระดาษแล้วจึงค่อยปัดแคร่ขึ้นบรรทัดใหม่ ตรงไหนที่ผิดก็จะใช้ลิควิดเปเปอร์ลบคำออก เป่าให้แห้ง ก่อนที่จะพิมพ์ตัวอักษรใหม่ทับลงไป หากตรงไหนต้องการเน้นก็จะขีดเส้นใต้ด้วยหมึกแดงหรือน้ำเงิน ตรงไหนที่ต้องการบอกย้ำว่า อย่าไปแก้ต้นฉบับของท่านก็จะโยงไว้ให้เห็นชัดเจน เช่นคำว่านาฑี ท่านห้ามบรรณาธิการแก้เป็น ท.ทหาร โดยเด็ดขาด หรือคอนกรีท ท่านใช้ ท.ทหารสะกดแทน ต.เต่า อีกท่านหนึ่งคือลาว คำหอม ท่านมักเขียนต้นฉบับด้วยลายมือ ซึ่งกว่าจะคัดลอกออกมาเป็นฉบับที่เสร็จสมบูรณ์พร้อมที่จะส่งไปลงพิมพ์นั้น ท่านต้องแก้แล้วแก้อีกไม่รู้กี่ครั้ง บางครั้งท่านก็สารภาพว่า แก้อยู่เป็นสิบ ๆ หนในที่สุดก็กลับมาอยู่ที่จุดเดิม แต่ถ้าเป็นเรื่องสั้นขนาดยาว ท่านจะลงมือพิมพ์ดีดทำต้นฉบับอย่างช้า ๆ ด้วยความตั้งอกตั้งใจ เพราะท่านพิมพ์ดีดไม่คล่องนัก กว่าจะจิ้มดีดได้ครบทุกหน้านั้นท่านต้องใช้เวลามากกว่านักเขียนคนอื่น ๆ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจหรอกครับ ที่ผลงานของท่านจึงน้อยกว่าเพื่อนในรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่ทุกเรื่องของท่านได้รับการยกย่องจากนักอ่านทั้งไทยและต่างชาติว่า เป็นงานเขียนที่สะท้อนภาพชนบทภาคอีสานได้ดีที่สุด ส่วนกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นักเขียนหนุ่มซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว เขาเป็นคนพิมพ์ดีดได้เร็วและคล่องมาก เขามักจะเขียนร่างแรกด้วยพิมพ์ดีด เสร็จแล้วก็เอามานั่งอ่านและแก้ไขอย่างละเอียดรอบคอบ ก่อนที่จะลงมือพิมพ์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์อีกที เขาเคยบอกว่าเสียงข้าวตอกแตกของพิมพ์ดีดนั้นดังไพเราะ ทำให้เขาเกิดความฮึกเหิมและมีความสุขที่จะเขียนหนังสือ ร่างแรกของเขานั้นก็แสนจะละเอียด คั่นหน้าคั่นหลังเท่ากัน จากนั้นก็เขียนชื่อเรื่องบนหัวกระดาษ ขีดเส้นหนึ่งคั่นไว้ แล้วก็เขียนคำว่าโดย กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ก่อนที่จะปัดแคร่ห้าครั้ง แล้วจึงเริ่มต้นเล่าเรื่องด้วยประโยคแรกของเขา นักเขียนแต่ละคนที่ผมยกตัวอย่าง มีวิธีการทำต้นฉบับแตกต่างกัน แต่ที่เหมือนกันก็คือความพิถีพิถันในการทำงานเขียนอย่างหาตัวจับยาก เรื่องการทำต้นฉบับนี้ แคน สังคีตเคยสอนว่า เมื่อเขียนเรื่องจบ ควรอ่านออกเสียงดัง ๆ โดยเฉพาะบทสนทนา เพื่อจะดูว่า คนจริง ๆ เขาสามารถพูดอย่างนี้ได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็ตัดออกไปหรือไม่ก็ออกเสียงตอนที่บรรยายเหตุการณ์สำคัญ เพื่อดูความสละสลวย น้ำหนักคำและความสมจริง วิธีนี้จะช่วยตัดตอนถ้อยคำหรือคำที่คล้าย ๆ กันออกไป เพราะในระหว่างการเขียนเรื่องเรามักจะไม่รู้ตัวว่าใช้คำซ้ำ ๆ กัน ถ้ามีปัญหาก็ให้พึ่งพจนานุกรมให้มาก โดยเฉพาะการสะกดคำที่ไม่แน่ใจ เขียนร่างแรกจบลงแล้ว ควรปล่อยทิ้งไว้สักสองสามวัน เพื่อให้เกิดความกระปรี้กระเปร่า แล้วจึงค่อยกลับมานั่งอ่านตรวจทานและแก้ไขใหม่ ตัดสิ่งที่ฟุ่มเฟือย ไม่จำเป็นออกไป จากนั้นก็ทำต้นฉบับให้เรียบร้อย แล้วค่อยใส่ซองไปรษณีย์ส่งไปให้บรรณาธิการ ซึ่งผมคิดว่า สมัยนี้อาจจะไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้นแล้วก็ได้ หาเบอร์อีเมล์ของนิตยสารให้เจอ แล้วจึงค่อยส่งไป ในหนังสือโรงเรียนนักเขียน ของอาจารย์เพลินตา ได้บอกไว้ตอนหนึ่งว่า นักเขียนต้องศึกษาตลาดหนังสือว่า แนวที่เราเขียนนั้นตรงกับแนวนิตยสารหรือไม่ ไม่อย่างนั้นเราจะเสียเวลาเปล่า ถ้าเราส่งเรื่องผีไปลงในหนังสือแนววิทยาศาสตร์ หรือส่งแนววิทยาศาสตร์ไปลงในหนังสือพระเครื่องอย่างนี้เป็นต้น เราต้องรู้ว่า ถ้าเราต้องการจะลงในนิตยสารสกุลไทย เราควรจะต้องส่งเรื่องแบบไหน หรือส่งไปตีพิมพ์ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ เราก็ควรจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องอะไร ส่วนนักเขียนนวนิยายก็ต้องรู้ว่าแนวที่ตัวเองเขียนนั้นควรจะส่งไปหาบรรณาธิการสำนักพิมพ์ไหน ถ้าไม่รู้ก็ควรจะศึกษา ดูผลงานของสำนักพิมพ์นั้น ๆ ให้ละเอียด แล้วจึงค่อยตัดสินใจส่งไปให้บรรณาธิการพิจารณา ในส่วนของนวนิยายนั้น ผมมีความเห็นว่าควรจะส่งต้นฉบับที่เข้าเล่มเรียบร้อยเพื่อความสะดวกในการพิจารณาของบรรณาธิการ ถ้าเราส่งต้นฉบับทางอีเมล์ กว่าบรรณาธิการจะทดลองอ่าน กว่าจะสั่งให้เลขาฯพรินท์มาวางไว้บนโต๊ะนั้นต้องเสียเวลามาก บางทีบรรณาธิการอาจไม่สนใจอ่านไปเลยก็ได้ ซึ่งจะทำให้งานดี ๆ ของเราพลาดโอกาสในการถูกพิจารณา อีกปัญหาหนึ่งซึ่งมักจะเป็นที่ข้องใจในหมู่นักเขียนใหม่อยู่เสมอ ว่าเมื่อส่งต้นฉบับไปแล้วบรรณาธิการอ่านต้นฉบับของเราหรือเปล่า ผมคิดว่า อ่านครับ เพราะปกติของนิตยสารหรือสำนักพิมพ์นั้นต้องการเฟ้นหานักเขียนใหม่ ๆ เพื่อเป็นเกียรติ เป็นชื่อเสียง เป็นความยินดีปรีดาที่ได้ค้นพบเพชรเม็ดใหม่ นักเขียนใหม่ใจร้อน ขอให้ทำงานอย่างสม่ำเสมอ สร้างความน่าเชื่อถือให้ปรากฏ แม้ถูกปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่าก็อย่าได้ขมขื่นใจ ขอให้จำไว้ว่า ไม่มีนักเขียนคนไหนที่ไม่เคยถูกปฏิเสธผลงาน เท่าที่ผมรู้ กว่าแฮรี่ พอตเตอร์ผลงานของเจเค โรว์ลิ่งจะได้รับการพิมพ์เป็นเล่มนั้น เธอได้ถูกปฏิเสธมาแล้วอย่างน้อยครั้งหนึ่ง เพราะบรรณาธิการคนนั้นบอกว่าหนังสือแนวนี้ไม่มีทางขายได้ แต่เธอก็ไม่ย่อท้อ นำไปเสนอสำนักพิมพ์แห่งใหม่ จนได้รับการพิมพ์เป็นเล่ม อีก ๖ ปีต่อมา จากแม่ม่ายลูกติดที่ถูกสามีทอดทิ้ง คนที่รับเงินช่วยเหลือจากรัฐ คนที่เคยพักอยู่ในบ้านโกโรโกโส หลังจากศิลาอาถรรพณ์ ภาคแรกของแฮรี่ พอตเตอร์พิมพ์ออกไป เธอก็กลายเป็นเศรษฐีทันที มีเงินถึง ๖๕ ล้านปอนด์ หรือประมาณ ๔,๒๐๐ ล้านบาท และเธอก็เขียนต่ออีกหกเล่ม ถึงตอนนี้ ใครก็คำนวณไม่ถูกว่าเธอมีเงินทั้งหมดเท่าไร ข่าวที่ออกมาก็คือว่า เธอมีทรัพย์สินมากกว่าควีนของประเทศอังกฤษ ส่วนจอห์น สไตน์เบ็ค ผู้เขียนเรื่องเพื่อนยาก ตอนที่เป็นนักเขียนใหม่ ๆ เขาใช้เวลารวบรวมเรื่องสั้นได้จำนวนหนึ่งไปส่งให้สำนักพิมพ์ แต่บรรณาธิการของสำนักพิมพ์แม็คบริดจ์กลับปฏิเสธทำให้ปีนั้นทั้งปีเขาต้องเสียเวลาไปเปล่า ๆ ในที่สุดเขาต้องกลับบ้านที่แคลิฟอร์เนีย ไปทำงานรับจ้างสารพัด เพื่อยังชีพไปวัน ๆ แล้วเขาก็ลงมือเขียนนิยายเรื่องแรก พร้อมกับรับเงินช่วยเหลือจากพ่อเดือนละ ๒๕ ดอลล่าร์ ที่พ่อให้เขา ก็เพราะเชื่อว่าวันหนึ่งลูกชายของเขาจะมีชื่อเสียง และเขาก็ไม่ทำให้พ่อผิดหวัง เมื่อผลงานของเขาได้รับการพิมพ์รวมเล่ม เขาก็มีชื่อเสียงโด่งดังทันที นิยายที่สร้างชื่อและทำเงินให้เขามากที่สุดในยุคแรก ๆ ก่อนที่เขาจะได้รับรางวัลโนเบลคือตอติญาแฟลต ที่เขานำเสนอภาพของผู้คนที่ต่ำต้อยในย่านเสื่อมโทรมในถิ่นมอนเตอร์เร่อย่างสมจริง และยุคต่อมาเขาโด่งดังสุดขีดจากเรื่อง เพื่อนยาก หรือ ออฟไมแอนเมน ก่อนที่จะเขียนเรื่อง ผลพวงแห่งความคับแค้น และได้รับรางวัลโนเบลในปี ๒๕๐๕ หลังจากนั้นเงินทองก็ไหลมาเทมา ทำให้เขาสามารถเดินทางไปไหนก็ได้ในโลกนี้ ที่ผมพูดถึงตรงนี้ก็ไม่ได้มุ่งหวังให้พวกเราคิดถึงแต่เรื่องการเงินหรือตัวเลข สำหรับนักเขียนแล้ว ผมคิดว่า ความสุขที่เกิดจากการเขียนนั้นก็มีความสำคัญไม่น้อย และเราก็ไม่อาจวัดคุณค่าของความสุขที่เกิดขึ้นจากงานเขียนเป็นตัวเลขได้ ผมแค่อยากอธิบายให้เห็นว่า ถ้าเราท้อถอยหรือท้อแท้เสียก่อน เราก็ไม่มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ เมื่อหลายวันก่อน ผมไปร่วมงานของค่ายเยาวชนนักเขียนที่จังหวัดสระบุรี ทางผู้จัดงานได้คัดเลือกนักเขียนรุ่นใหม่ที่เป็นหัวกะทิของประเทศมาชุมนุมอยู่ในสถานที่เดียวกันจำนวนร้อยกว่าคน ผมตื่นเต้นมากกับความเป็นหนอนหนังสือของพวกเขาเหล่านั้น พวกเขาอ่านงานเขียนนักเขียนไทยดัง ๆ หลายคน เช่น รงค์ วงษ์สวรรค์ ลาว คำหอม อาจินต์ ปัญจพรรค์ ปราบดาหยุ่น ทมยันตี หรือแม้แต่นักเขียนรุ่นใหม่ ๆ ที่กำลังสร้างชื่อเสียงอยู่ในขณะปัจจุบัน นอกจากนี้พวกเขายังเอ่ยถึงหนังสือวิชาการ หนังสือแนววิทยาศาสตร์ หนังสือแนววิเคราะห์เศรษฐกิจของโลกด้วยชื่อหนังสือและชื่อนักเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ผมซึ่งนั่งอยู่เบื้องหน้าพวกเขา ด้วยความรู้สึกทึ่ง ยิ่งได้ยินพวกเขาเอ่ยถึงนักเขียนคนนั้นคนนี้ที่ผมไม่เคยอ่าน ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน และไม่เคยได้รับการแปลเป็นภาษาไทยมาก่อน ผมยิ่งรู้สึกถึงความล้าหลัง ความไม่ทันสมัยและความโง่เขลาของตัวเอง ผมตั้งคำถามกับตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่า แล้วผมจะมาสอนอะไรพวกเขาได้ ตอนที่คณะวิทยากรเปิดโอกาสให้พวกเขาโต้เถียงกันถึงหนังสือขยะว่ามีประโยชน์หรือไม่ พวกเขาส่วนใหญ่ เชื่อว่ามีประโยชน์ อย่างน้อยก็เป็นการเริ่มต้นอ่านของเยาวชน หลังจากนั้นก็จะขยับขยายไปอ่านแนวหนัก ๆ เช่นงานของนักเขียนก้องโลกอย่างเฮอร์มาน เฮสเส มูราคามิ มิลาน คุนเดอราหรือการ์เซีย มาเกซต่อไป ผมเห็นพวกเขาโต้กันอย่างมีระบบ หักล้างคำพูดกันอย่างมีเหตุมีผล และไม่ลืมที่จะยกตัวอย่างให้เห็นว่าตนเองเป็นคนฉลาดแค่ไหน ร่ำเรียนมาอย่างไร และอ่านอะไรกันมาบ้าง ยิ่งผมอยู่ในห้องประชุมนั้นนานเข้า ผมก็ยิ่งเชื่อว่า พวกเขาจะเขียนหนังสือได้ดี เพราะหนึ่งพวกเขาเรียนสูง อ่านมาก และดูเหมือนจะเป็นคนมีเหตุมีผล บางคนกำลังเรียนหมอ บางคนจบปริญญาตรีวิศวะ บางคนกำลังเรียนปริญญาโท บางคนเป็นวิศวกร บางคนเป็นทนายความ บางคนก็เป็นศิลปินทำงานด้านละครและจิตรกรรม และมีบางคนที่เคยส่งผลงานเข้าประกวด เคยได้รับรางวัลมาแล้ว เมื่อผมเห็นพวกเขาแสดงความสามารถในการพูด ในการออกความเห็น ผมคิดว่า พวกเขาเหล่านั้นน่าจะเป็นความหวังใหม่ของวงการวรรณกรรมไทย แต่ นั่นแหละครับ สุดท้ายผมก็เกิดความไม่แน่ใจขึ้นมา เมื่อพวกเขาส่งผลงานให้วิทยากรอ่านและช่วยวิจารณ์จุดเด่นจุดด้อย สิ่งที่ผมไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นก็คือ เมื่อถูกวิทยากรพูดอย่างเกรงใจว่างานของเขามีสำนวนฟุ่มเฟือย เขียนเยิ่นเย้อ ถ้าตัดถ้อยคำที่ไม่จำเป็นออกไปบ้าง น่าจะดีขึ้น เขากลับประกาศเสียงดังอย่างไม่พอใจว่า เขาไม่สนว่าใครจะว่าอย่างไร เมื่อเขาเขียนจบแล้ว เขาจะไม่ยอมกลับไปแก้แม้แต่บรรทัดเดียว เขาถือว่า ถ้าใครอ่านไม่เข้าใจก็ช่วยไม่ได้ ผมได้ยินแล้วไม่สบายใจ เพราะนี่ไม่ใช่คุณลักษณะที่ดีของนักเขียน และผมก็รู้ว่า ผมควรจะแนะนำอะไรเขา ผมบอกว่า นักเขียนต้องไม่ทำตัวเองเหมือนชาล้นถ้วย ยิ่งเป็นนักเขียนใหม่ต้องเปิดใจให้กว้าง ยอมรับคำวิจารณ์ เพื่อจะได้นำไปครุ่นคิดพิจารณาแล้วนำจุดอ่อนทั้งหลายมาดัดแปลงแก้ไขให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ผมจำไม่ได้แล้วว่ามีพระอาจารย์ท่านไหนพูดว่า เรามีสองหู แต่มีหนึ่งปาก เพราะฉะนั้นจึงควรให้โอกาสหูได้ทำงานมากกว่าปากสักนิดหนึ่ง นักเขียนต้องเป็นตัวของตัวเองแต่ต้องไม่โอหัง ยกเว้นว่าเรามีชื่อเสียงอยู่ในระดับเดียวกับเฮมิงเวย์ หรือจอห์น สไตน์เบ็ค เราจึงจะโต้ตอบนักวิจารณ์ได้อย่างเผ็ดร้อน เช่น ครั้งหนึ่งสไตน์เบ็คซึ่งไม่ค่อยกินเส้นกับนักวิจารณ์ เนื่องจากว่าตอนเป็นนักเขียนใหม่เคยถูกนักวิจารณ์โขกสับไว้มาก เมื่อถูกถามว่า คิดอย่างไรกับนักวิจารณ์ เขาตอบว่า นักวิจารณ์ไม่ต่างอะไรกับเจ้าปลาพิสดารที่เกาะดูดอาหารจากปลาอื่น อาศัยเลี้ยงชีพจากงานคนอื่นอย่างชุบมือเปิบแล้วยังใช้ถ้อยคำน่าเหม็นเบื่อ เขาบอกว่า เขาไม่แยแสกับคำพูดของนักวิจารณ์ ส่วนใหญ่เมื่อเขียนเสร็จ เขาจะอ่านให้หมาของเขาฟังก่อน ถ้ามันนิ่งฟังเงียบ ๆ แสดงว่าผลงานของเขาใช้ได้ ส่วนเฮมิงเวย์ บุรุษผู้นี้เป็นนักเขียนปากร้าย เขาพูดว่า นักวิจารณ์คือพวกขันทีแห่งวรรณคดี ฟังแล้วไม่ต้องตีความ พวกนักเขียนที่ไม่ชอบหน้านักวิจารณ์จะพลอยรู้สึกสะใจไปด้วย ส่วนนักวิจารณ์ฟังแล้วเจ็บ และไม่อยากตอแยยุ่งเกี่ยวกับนักเขียนแบบนี้อีก แต่ถ้าเรายังไม่อยู่ในขั้นนั้น จงรับฟังเสียงวิจารณ์อย่างอ่อนน้อม และจงรับฟังเสียงชื่มชมด้วยความสำรวม กล่าวกันว่า นักเขียนใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้น รับไม่ได้กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เพราะจะสร้างความกังวลและปวดร้าวใจ อีกทั้งยังทำลายความเชื่อมั่น หลาย ๆ คนต้องเลิกล้มความตั้งใจไปก็มี ซึ่งผมไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้น เราต้องรับฟังเสียงวิจารณ์ให้ได้ เมื่อเขียนงานจบลงก็จงให้เพื่อนที่อยู่กลุ่มเดียวกันอ่าน ขอให้เขาช่วยวิจารณ์ ชี้แนะข้อดีและข้อด้อย แล้วเราก็ค่อยเอามาไตร่ตรองอีกทีหนึ่งว่าควรจะเชื่อหรือไม่เชื่อแค่ไหนอย่างไร จากนั้นก็ส่งเรื่องไปให้บรรณาธิการพิจารณา หากไม่ผ่านการพิจารณาเราควรจะขอคำวิจารณ์จากบรรณาธิการด้วย และควรจะเปิดใจให้กว้างที่สุดเพื่อที่จะได้นำมาปรับปรุงในการเขียนงานชิ้นอื่นๆ ต่อไป เฮมิงเวย์นักเขียนผู้อหังการ์ก็ยังเคยกล่าวไว้ว่า ไม่มีความผิดอันใดร้ายแรงไปกว่าการอวดตัวต่อสาธารณชน เราต้องรับฟังการวิจารณ์อย่างเปิดกว้าง จดประเด็นที่น่าสนใจไว้ แม้การวิจารณ์ผิด ๆ จะทำให้เราหัวเสีย หรือการชมอย่างโง่ ๆ ก็ทำให้เราหงุดหงิดได้เหมือนกัน ขอให้เราสงบสติอารมณ์อย่าไปตอบโต้กับนักวิจารณ์ ตำราเขาบอกว่า นักวิจารณ์ไม่ใช่ศัตรูที่แท้ของนักเขียน สงครามที่นักเขียนจะต้องเผชิญนั้นอยู่ในจิตใจของเราเอง ครั้งหนึ่งผมเคยลอกบทความชื่อว่า คำแนะนำจากนักเขียน จากนิตยสารถนนหนังสือ ส่งไปให้เพื่อน ๆ อ่านกันหลายคน และผมอยากจะนำมาเสนอ ณ ห้องประชุมแห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง เขาบอกไว้ว่า นักเขียนส่วนใหญ่ติดกังวลอยู่กับเรื่องชื่อเสียง คิดแต่ว่าอีกร้อยปีข้างหน้า พวกเขาจะได้รับการรำลึกถึงอย่างไร แล้วพวกเขาก็เหี่ยวเฉา แต่บางครั้งก็แทบคลั่ง พวกเขารบเร้านักวิจารณ์ให้เขียนถึงผลงานของพวกเขาบ้าง พวกเขาปลื้มกับคำชม และเศร้ากับคำติ แม้จะเป็นเพียงถ้อยคำเล็ก ๆน้อย ๆ จากคอลัมน์แนะนำหนังสือ ทั้งนี้เป็นผลจากการที่นักเขียนให้ความสำคัญกับตัวเองมากเกินไป หรือเคร่งเครียดเกินไป การทำงานเขียนไม่ใช่การลงบัญชีตัวเลขทางธุรกิจ งานเขียนต้องการความอดทน นักเขียนไม่ได้เกิดขึ้นได้ในวันเดียว ดาวรุ่งอาจจะพุ่งขึ้นมาเมื่ออายุสิบแปด แต่ไม่ช้าไม่นานก็ตก เว้นแต่บางคนซึ่งเป็นส่วนน้อย อาชีพนักเขียนกว่าจะลงหลักปักฐานได้มั่นคง ก็ต้องใช้เวลากว่าค่อนชีวิต เหนือสิ่งอื่นใด ต้องเป็นอย่างที่เราเป็น งานทุกชิ้น ประโยคแต่ละประโยค จงเขียนอย่างที่เราเชื่อ และปล่อยให้ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ ใช้เวลาส่วนใหญ่ด้วยการหุบปาก แต่จงเปิดหูเปิดตาไว้ อย่าอยากเป็นคนเด่นเรียกร้องความสนใจจากคนอื่น จงจมอยู่ในฝูงชนอย่างคนธรรมดาคนหนึ่ง
ขอบคุณและสวัสดีครับ *********
|
ถึง บล็อกเกอร์ ทุกท่าน โปรดอ่าน
ด้วยทาง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้ติดต่อขอความร่วมมือ มายังเว็บไซต์และเว็บบล็อกต่าง ๆ รวมไปถึงเว็บบล็อก OKnation
ห้ามให้มีการเผยแพร่ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ บนเว็บ blog โดยกำหนดขอบเขตของสิ่งที่ห้ามทำ และสามารถทำได้ ดังนี้
ห้ามทำ - การใส่ผลงานเพลงต้นฉบับให้ฟัง ทั้งแบบควบคุมเพลงได้ หรือซ่อนเป็นพื้นหลัง และทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือ copy code คนอื่นมาใช้ - การเผยแพร่ file ให้ download ทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือฝากไว้ server คนอื่น สามารถทำได้ - เผยแพร่เนื้อเพลง ต้องระบุชื่อเพลงและชื่อผู้ร้องให้ชัดเจน - การใส่เพลงที่ร้องไว้เอง ต้องระบุชื่อผู้ร้องต้นฉบับให้ชัดเจน จึงเรียนมาเพื่อโปรดปฎิบัติตาม มิเช่นนั้นทางบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ จะให้ฝ่ายดูแลลิขสิทธิ์ ดำเนินการเอาผิดกับท่านตามกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์
OKNATION
กฎกติกาการเขียนเรื่องและแสดงความคิดเห็น
1 การเขียน หรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต้องไม่หมิ่นเหม่ หรือกระทบต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
2. ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่นในทางเสียหาย หรือสร้างความแตกแยกในสังคม กับทั้งไม่มีภาพ วิดีโอคลิป หรือถ้อยคำลามก อนาจาร 3. ความขัดแย้งส่วนตัวที่เกิดจากการเขียนเรื่อง แสดงความคิดเห็น หรือในกล่องรับส่งข้อความ (หลังไมค์) ต้องไม่นำมาโพสหรือขยายความต่อในบล็อก และการโพสเรื่องส่วนตัว และการแสดงความคิดเห็น ต้องใช้ภาษาที่สุภาพเท่านั้น 4. พิจารณาเนื้อหาที่จะโพสก่อนเผยแพร่ให้รอบคอบ ว่าจะไม่เป็นการละเมิดกฎหมายใดใด และปิดคอมเมนต์หากจำเป็นโดยเฉพาะเรื่องที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน 5.การนำเรื่อง ภาพ หรือคลิปวิดีโอ ที่มิใช่ของตนเองมาลงในบล็อก ควรอ้างอิงแหล่งที่มา และ หลีกเลี่ยงการเผยแพร่สิ่งที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือวิธีการใดก็ตาม 6. เนื้อหาและความคิดเห็นในบล็อก ไม่เกี่ยวข้องกับทีมงานผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซต์ โดยถือเป็นความรับผิดชอบทางกฎหมายเป็นการส่วนตัวของสมาชิก คลิ้กอ่านเงื่อนไขทั้งหมดที่นี่"
OKnation ขอสงวนสิทธิ์ในการปิดบล็อก ลบเนื้อหาและความคิดเห็น ที่ขัดต่อความดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของบล็อกและเจ้าของความคิดเห็นนั้นๆ
|
||
![]() ![]() |