.
.
ตอน : ทำไมต้อง "ท่าตาฝั่ง"?...ทำไมต้อง "ครูไทยใจเกินร้อย" ?..
.

.
ในครั้งแรกผมตั้งใจจะเขียนบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ "ทริปเยือนเหนือเมื่อหนาว" นี้ให้จบในเอ็นทรีเดียว
จนแล้วจนรอด ผมทำไม่สำเร็จ
เพราะผมบันทึกความรู้สึกต่าง ๆ ของการเดินทางไว้ด้วยกล้องถ่ายรูป
เมื่อมาเขียนบล็อก จึงต้องนำเสนอด้วยภาพที่มีอยู่มากมาย ครั้นจะตัดทอนทิ้งไปเสียบ้างก็ให้รู้สึกเสียดายภาพเหล่านั้นเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อถ่ายรูปแล้ว หากไม่ได้นำเสนอ ก็ไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย
บล็อกโอเคเนชั่นของเรานี้แหละเหมาะที่สุดที่จะเผยแพร่ภาพเหล่านั้น....
.

.
นึกถึงสมัยก่อน ๆ ที่เคยเดินทางแล้วจดบันทึกสิ่งที่ได้พบได้เห็นด้วยปากกาในไดอารี นาน ๆ จะถ่ายภาพสัก ๑ ภาพ
ด้วยก่อนนี้เราใช้กล้องฟิมส์ ถ่ายภาพทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ไม่ได้ มันหมายถึงเงินสดที่สูญเสียไปในการล้างอัดขยายรูป
มาถึงวันนี้ สมัยนี้ กล้องถ่ายรูปดิจิตอลเข้ามาแทนที่กล้องฟิมส์ เรากดชัตเตอร์ไปกี่ครั้งไม่รู้สึกเสียดายเงิน
กลับถึงบ้าน ถ่ายเทภาพลงเครื่องคอมพิวเตอร์ ตรวจสอบคัดเลือก ภาพไหนไม่สวยหรือไม่ถูกใจก็ลบทิ้งไป
ฉะนั้นอารมณ์และความรู้สึกของการเดินทางจึงไปปรากฏในภาพถ่ายแทนตัวอักษรในไดอารี
.
.
แม้ผมจะไม่ใช่ช่างภาพมืออาชีพก็ตาม
แต่ความเป็นทันสมัยของอุปกรณ์ที่ล้ำเลิศ
ทำให้ผมได้ภาพที่ผมคิด(เอาเองคนเดียว)ว่าสวยติดมือมาด้วยทุก ๆ ครั้งที่ออกจากบ้าน
การนำภาพมาถ่ายทอดในบล็อก หรือในโซเชียลมิเดียในวันนี้
เหมือนกับเมื่อก่อนที่เราถ่ายภาพแล้วนำมาอวดมาโชว์กันนั่นแหละครับ
เป็นเรื่องของคำว่าวิวัฒนาการ เดินก้าวตามการกระโดดไปข้างหน้าของโลกสมัยใหม่
.
.
เข้าเรื่องของเราต่อดีกว่า
การเดินทางมาที่โรงเรียนท่าตาฝั่ง แม่สะเรียง (เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๕๖) ครั้งนี้
เรามีวัตถุประสงค์หลักเพื่อนำสิ่งของมามอบให้กับนักเรียนชายขอบ โดยมี "เต็งพ้ง" เป็นหัวหน้าทีม
ผมเองเป็นเพียงผู้ประสานงานเล็ก ๆ น้อยเท่าที่จะทำได้
การขอรับบริจาคเป็นเงินสด ไม่ได้มีการกระทำอย่างพร่ำเพรื่อให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคม
เพื่อน ๆ ในบล็อกหลายคนที่ประสงค์ปิดทองหลังพระครั้งนี้ ได้โอนเงินสดโดยตรงไปให้กับทางโรงเรียน
คณะที่เดินทางไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินสดเลย
สำหรับสิ่งของที่ได้รับบริจาค และนำมามอบให้กับนักเรียน
"เต็งพ้งและคุณหน่อย" ช่วยกันพิจารณาคัดเลือกอย่างเหมาะสม และสมควรแก่การมอบการแจกเด็ก ๆ จริง ๆ
ท่านจะเชื่อไหมว่า การเดินทางครั้งนี้ เรามี "เกลือเม็ด" ไปมอบให้ครูไว้ทำอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียน
เพื่อนคุณหน่อย ซื้อ "ปลาอินทรีย์เค็ม" ตัวยาว ๆ ห่อมิดชิดอย่างดี เพื่อจะให้นักเรียนชายขอบได้ลิ้มรสชาติปลาทะเล
และเรื่องราวอื่น ๆ ที่ดูเหมือนว่าจุกจิกอีกมากมาย จนเกินความจำเป็นที่จะนำมาบอกเล่ากล่าวขาน
.
.

มีคำถามว่า ทำไมต้องท่าตาฝั่ง? ทำไมต้องครูเสกสรรค์? ที่อื่น ๆ ไม่ได้หรือไร?
ตอบว่า..ได้ครับ.. แต่เพราะครูเสกสรรค์คือมหามิตรที่สำคัญของเราชาวโอเคเนชั่น
หากใครสักคนได้สัมผัสอย่างใกล้ชิดกับครูเสกสรรค์แล้ว จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากให้กำลังใจครู
ครูผู้มีความเสียสละความสุขส่วนตัว ความสุขของครอบครัว เพื่อเด็กตาดำ ๆ ชายขอบ ชายแดน
.
เมื่อมีใครสักคนที่ยินยอมพร้อมใจทำงานเพื่อสังคมแบบปิดทองหลังพระ
เพื่อนฝูงพบเห็น การให้กำลังใจจึงเป็นสิ่งสำคัญกว่าทรัพย์สินเงินทอง
กำลังใจที่เดินทางไปจากเมืองหลวง ไปถึงครูชายขอบ ย่อมเป็นพลังที่จะให้เกิดการขับเคลื่อนทางด้านจิตใจมากยิ่งขึ้น
คุณครูหรือเด็ก ๆ ณ สถานที่อื่น ๆ จงอย่าน้อยใจ จงอย่าเสียใจ
หรืออย่าคิดเป็นอย่างอื่นว่าทำไมไม่มาเยี่ยมเยียนฉันบ้าง?
การไปหากันเช่นนี้ เป็นเพียงตัวอย่างของการช่วยเหลือเกื้อกูลทางสังคมทางหนึ่งเท่านั้น
.
.

ทริปนี้ ผมรู้สึกสงสารแม่มะยง เจอโค้งถนนบนภูเขาสูงไปหลายร้อยโค้ง ออกอาการเล็กน้อย
แม้เธอจะไม่ปริปากบ่น อดทนต่อเส้นทางที่ผ่านมาและเส้นทางที่จะไปต่อ แต่ผมรู้ดีว่าเธอกำลังอ่อนล้า....
ถึงร่างกายจะไม่สู้ ขอให้จิตใจสู้ซะอย่าง เราจะชนะทุก ๆ สิ่ง
ดูครูเสกสรรค์เป็นตัวอย่างเถิดแม่มะยง ครูลำบากกว่าเรามากมายนะจ๊ะ...
.
.

. แม่น้ำสาละวิน ....
ผมคิดคำนึงถึงแม่น้ำสายนี้มาโดยตลอด อยากไป อยากเห็น อยากนั่งเรือล่องไปตามกระแสน้ำ
ต้นปี ๒๕๕๔ ผมได้มาสัมผัสสมดั่งใจปรารถนา ๑ ครั้ง เมื่อกลับคืนถิ่นอาศัย ก็คิดถึงและอยากไปอีก
.

. แม่น้ำสาละวิน (Salween River) แม่น้ำสายที่ยาวเป็นอันดับที่ ๒๖ ของโลก ยาว ๒,๘๐๐ กิโลเมตร
มีต้นกำเนิดจากการละลายของหิมะเหนือเทือกเขาหิมาลัย ไหลผ่านมณฑลยูนานประเทศจีน เรียกสายน้ำนี้ว่า นู่เจียง
ผ่านรัฐฉาน รัฐกะยา รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า
กั้นพรมแดน ระหว่างพม่ากับไทยที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไหลผ่านแม่ลาน้อย แม่สะเรียง สบเมย ระยะทาง ๑๑๘ กิโลเมตร
ไหลลงมาบรรจบกับแม่น้ำเมย (แม่น้ำที่โอบกอดพวกเรายามพักผ่อนเมื่อคืนที่ผ่านมานั่นแหละครับ)
จากจุดสบเมย แม่น้ำสาละวินไหลวกกลับเข้าประเทศพม่า และไหลลงสู่มหาสมุทรอินเดียที่อ่าวเมาะตะมะ รัฐมอญ
ผมมองว่า สาละวิน เป็นแม่น้ำแห่งชาติพันธุ์ที่ลึกลับซับซ้อน และน่าเกรงขามมากทีเดียวครับ
.
.

. บล็อกเกอร์ครูไทยใจเกินร้อย หรือท่าน ผอ.เสกสรรค์ หลักบุญ รู้จักคุ้นเคยกับสายน้ำแห่งนี้มานานปี
ครูติดต่อเช่าเรือให้พวกเราเดินทางไปสู่โรงเรียนท่าตาฝั่ง ส่วนสิ่งของบริจาคและสัมภาระ มอบให้ครูเคนนำเดินทางไปทางบก
การเช่าเรือวันนี้ ต้องเหมาลำไปกลับ เพราะคนเรือจะต้องไปนอนค้างที่ท่าตาฝั่ง เพื่อรับพวกเรากลับในวันพรุ่งนี้
ราคาค่าเช่าเรือจากแม่สามแลบไปท่าตาฝั่ง ปกติเขาคิดที่ ๑,๕๐๐ บาท วันนี้ครูไทยฯบอกว่า เขาลดให้ เหลือเพียง ๑,๐๐๐ บาท เท่านั้น
.

. ครั้งแรกในชีวิตของเต็งพ้ง กับสาละวิน....เต็งพ้งพร้อม....
.

. ครั้งแรกในชีวิตของคุณหน่อยกับสาละวิน...คุณหน่อยพร้อม....
.

. ครั้งแรกในชีวิตของเป้กับสาละวิน....เป้พร้อม....
.

. ครั้งที่ ๒ ในชีวิตของแม่มะยงกับสาละวิน...แม่มะยงซ่อนเร้นความรู้สึกที่ตื่นเต้นไว้ในแววตา...
.

. ครั้งที่ ๒ ในชีวิตของมะอึกกับสาละวิน....ผมก็ยังรู้สึกตื่นเต้นเหมือนครั้งที่ ๑ และนึกไปถึงครั้งที่ ๓..โน้น...
.

. ก้อนหินสองฝั่งสาละวิน ยังเป็นก้อนหินก้อนเดิมที่ดูแล้วแปลกตา น่ามองคิดจินตนาการ....
.

.
(ภาพโดย..เสือน้อย)

. ทรายขาวละเอียดของสาละวิน ละเอียดเหมือนแป้งฝุ่น
ผมได้ความรู้ใหม่จากครูเคนว่า ทรายแห่งลุ่มน้ำสาละวิน ไม่สามารถนำไปผสมปูนเพื่อใช้ในการก่อสร้างได้
ทรายแหล่งนี้ ไม่ยึดเกาะกับปูนซีเมนต์ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อใด ๆ
สาละวิน จึงปลอดภัย ไม่มีเรือดูดทรายให้เห็นเหมือนแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำโขง
.
.

. สายน้ำในแม่น้ำสาละวินลดต่ำในหน้าหนาวและหน้าร้อน
ส่วนหน้าฝน ระดับน้ำจะสูงเกือบปริ่มตลิ่ง และไหลเชี่ยวกราก
.

. ในลำเรือ ผู้โดยสารทุกคนแทบจะไม่ได้คุยกัน
สายตาบันทึกทิวทัศน์ที่ผ่าน ความรู้สึกคงจะนึกคิดไปต่าง ๆ นา ๆ ตามประสบการณ์ของแต่ละคนที่มีกับสาละวิน
.
.
(ภาพโดย..เสือน้อย)

. เรือวิ่งทวนน้ำ ๔๐ นาที จากท่าสามแลบ ถึงท่าตาฝั่ง หมู่บ้านเล็ก ๆ ของชาวกะเหรี่ยง ปกากะญอ ที่มีประวัติมายาวนานพอสมควร
.

.ขึ้นจากเรือ...สู่ท่าตาฝั่ง...
.
(ภาพโดย..เสือน้อย)

.เท่ห์มั๊ย?...เล็นส์ไวด์....โดยเสือน้อย...
.

.เสือน้อย..ยืนจด ๆ จ้อง ๆ อยู่ริมฝั่งสาละวิน...
.
(ภาพโดย..เสือน้อย)

.และได้ภาพนี้มาครับ
.
.

.พวกเราเดินไต่ระดับความสูงของภูเขาขึ้นไปที่โรงเรียนท่าตาฝั่ง
.

.ครูเคน ขับรถขนของมาทางบก มาถึงโรงเรียนพอดี
เด็ก ๆ ช่วยกันขนของลงจากรถคนละไม้คนละมือ โดยไม่ต้องสั่งการ
.

.เย็นวันนั้น เราเดินทางถึงท่าตาฝั่ง โรงเรียนเลิกแล้ว แต่ครูสามารถให้เด็กนักเรียนทุก ๆ คนกลับมาที่โรงเรียนได้อีกครั้งหนึ่ง
.

.นักเรียนมีบ้านอยู่ในละแวกใกล้ ๆ โรงเรียนทุก ๆ คนครับ
.

.พระเอกคนนี้ มาช้าเป็นคนสุดท้าย ดูรอยยิ้มเขิน ๆ ของเขาซีครับท่าน
.

.หนุ่ย...มอบเงินสดให้กับครูไทยฯ
.

.เต็งพ้ง...มอบเงินสดให้กับครูไทยฯ
.

.คุณหน่อย...มอบผ้าห่มและสิ่งของต่าง ๆ
.

.จากนั้น..เด็ก ๆ นักเรียนทุก ๆ คนเดินแถวเข้ามารับขนม นมเนย และเงินสดเป็นรายบุคคล
การมอบเงินและสิ่งของที่ขนไปก็เป็นอันเสร็จพิธี
นักเรียนมีการแสดงให้ชม ๑ ชุด
หลังจากทานอาหารมื้อเย็นเรียบร้อย พวกเราก็แยกย้ายไปพักผ่อน
คืนนี้ พวกเรายึดบ้านพักครูเป็นที่พักครับ
.
.

.ท่ามกลางอากาศที่หนาวเหน็บ ครูไทยฯก่อกองไฟ และนั่งคุยกัน
.

.ครูไทยฯ บอกผมว่า
"ช่วงนี้สุขภาพผมเริ่มอ่อนล้า กระดูกทับเส้นประสาท จะลุย ๆ เหมือนวัยรุ่นไม่ได้อีกแล้วครับพี่มะอึก
พี่มะอึกจะมีความคิดเห็นอย่างไร หากผมจะย้ายกลับไปอยู่โรงเรียนใกล้ ๆ บ้าน ?"
ผมแสดงความคิดเห็นอย่างไม่เกรงใจทันทีว่า
"ครูย้ายเถอะ ยังมีเวลายื่นเรื่องราวคำร้องต่อผู้บังคับบัญชาทันหรือไม่?"
ครูบอกว่า
"พอจะทันครับพี่มะอึก"
.

วันนี้
ครูเสกสรรค์ หลักบุญ ได้รับคำสั่งย้ายจากการเป็น "ผู้อำนวยการโรงเรียนท่าตาฝั่ง"
ไปดำรงตำแหน่ง "ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยปลากั้ง" แล้ว
ผมรู้ดีว่า ในใจของครูเสกสรรค์ ไม่อยากจากท่าตาฝั่งไปแม้แต่น้อย
แต่.....สุขภาพของครูเสกสรรค์ เรียกร้องให้ครูเลิกตรากตรำเพราะการเดินทางเสียที
.
.
ไม่ว่าครูจะอยู่ ณ ที่ใด ครูสามารถทำความดีช่วยเหลือสังคมได้เสมอ
ผมเชื่อเช่นนั้นครับ
.
|