หลังจากที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้ดำเนินการปรับปรุง พัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ภายใต้โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังบวรสถานมงคลตลอดจนดำเนินการฉีดพ่นแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อโรคในบริเวณจุดจำหน่ายบัตร และพื้นที่ให้บริการ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยความห่วงใย ใส่ใจในสุขภาพอนามัยของผู้เข้าชม นักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่ทุกท่านมาป็นระยะเวลาหนึ่ง ก็พร้อมแล้วสำหรับการเปิดให้เข้าชม ภายใต้มาตรการป้องกันการระบาดของโรคอย่างเคร่งครัด กรมศิลปากร ต้อนรับทุกท่านด้วยนิทรรศการพิเศษ ที่นอกจากจะเป็นการเปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวในรูปแบบการท่องเที่ยววิถีใหม่ ยังเป็นการเปิดบ้านต้อนรับโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ ที่จากเมืองไทยไปอยู่สหรัฐอเมริกานานกว่า 50 ปี รอคอยเธอมาแสนนานจริง ๆค่ะ

"ทับหลังปราสาทหนองหงส์ และปราสาทเขาโล้นกลับคืนสู่ประเทศไทย"
ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ระหว่างวันที่ ๒๕ มิถุนายน ถึง ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔
เวลา ๐๘.๓๐ น. - ๑๖.๐๐ น. (ปิดวันจันทร์และวันอังคาร)
สอบถามเพิ่มเติม โทร. ๐ ๒๒๒๔ ๑๓๓๓, ๐ ๒๒๒๔ ๑๔๐๒
ทับหลังคืออะไร ทับหลัง คือ แผ่นหินสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางทับอยู่บนกรอบประตูทางเข้าปราสาท เพื่อทำหน้าที่รับและถ่ายน้ำหนักส่วนบนของอาคาร และมักจะมี “ทับหลังประดับ” ติดตั้งอยู่หน้าทับหลังจริง ซึ่งจะสลักตามประเพณีหรือคติความเชื่อทางศาสนา ทำให้ดูงดงาม น่าเกรงขาม ทับหลังปราสาทหนองหงส์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น เคยอยู่ที่ไหนมาก่อน
ภาพด้านล่างคือทับหลังหนองหงส์

ทับหลังหนองหงส์เคยอยู่ที่อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นเทวสถานในศาสนาพราหมณ์ฮินดู อายุอยู่ประมาณ พ.ศ. 1560 - พ.ศ. 1630 สลักเป็นรูปพระนารายณ์ขี่ครุฑอยู่เหนือเศียรเกียรติมุข หรือหน้ากาล ผู้ถือกำเนิดขึ้นมาจากโทสะที่พร้อมกลืนกินทำลายล้างทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่ตัวเอง เช่นเดียวกับกาลเวลาที่สามารถกลืนกินทุกสิ่งทุกอย่างได้โดยไม่สามารถหวนคืนกลับมาได้เช่นกันภาพต่อไปเป็นภาพทับหลังปราสาทเขาโล้น

ทับหลังปราสาทเขาโล้นเคยอยู่ที่อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ลักษณะปราสาท คล้ายกับเป็นเทวลัยมีประตูทางเข้าเพียงทางเดียว น่าจะสร้างขึ้นราว พ.ศ. 1559 สลักเป็นรูปเกียรติมุขอยู่ตรงกลาง มีริมฝีปากล่าง แลบลิ้นออกมาเป็นสามเหลี่ยม มีเทวดาประทับนั่งชันเข่าอยู่ข้างบน ทับหลังทั้งสองนี้หายไปได้อย่างไร และมีวิธีการติดตามคืนอย่างไร ทุกท่านลองพิจารณาลำดับการติดตามทับหลังกลับคืนประเทศไทยไปพร้อมกันเลยค่ะ (ข้อมูลนี้จากแผ่นพับที่กรมศิลปากรพิมพ์เผยแพร่) พ.ศ. 2479 มีประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทหนองหงส์ และปราสาทเขาโล้น เป็นโบราณสถานของชาติในราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2502 ภาพถ่ายโบราณสถานปราสาทหนองหงส์ ปรากฏในหนังสือ "โครงการและรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ.2502"
พ.ศ. 2503 ภาพถ่ายการสำรวจปราสาทหนองหงส์ โดยกรมศิลปากร พ.ศ. 2509 ทับหลังปราสาทหนองหงส์ถูกโจรกรรม พ.ศ. 2510 พบหลักฐานสำคัญ เป็นภาพถ่ายโบราณสถานเขาโล้น ในหนังสือ "ศิลปะขอม"

พ.ศ. 2511 ทับหลังปราสาทเขาโล้นถูกโจรกรรม 8 พฤษภาคม 2560 กระทรวงวัฒนธรรมเสนอรายการโบราณวัตถุไทยในสหรัฐอเมริกา 31 พฤษภาคม 2560 อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าพบรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม 9 มิถุนายน 2560 นายกรัฐมนตรีลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย 20 มิถุนายน 2560 ที่ประชุมคณะกรรมการมีมติให้ติดตามทับหลังปราสาทหนองหงส์ และปราสาทเขาโล้นกลับสู่ประเทศไทย 8 สิงหาคม 2560 กรมศิลปากรแจ้งข้อมูลทับหลังไปยังกระทรวงการต่างประเทศ 1 กุมภาพันธ์ 2561 กรมศิลปากรทำหนังสือถึง ผู้อำนวยการสำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา เพื่อขอคืนโบราณวัตถุทับหลังทั้งสองรายการ พ.ศ.2561-พ.ศ.2563 สำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกาทำการสืบสวนคดีทับหลัง 27 ตุลาคม 2563 อัยการสหรัฐอเมริกายื่นฟ้อง เพื่อยึดทับหลังคืนจากพิพิธภัณฑ์อาเชี่ยนอาร์ต มิวเซียมและเมืองซานฟรานซิสโก 10 กุมภาพันธ์ 2564 กระทรวงยุติธรรมสหรัฐแจ้งว่า การเจรจากับ COUNTRY OF SAN FRANCISCO เป็นผลสำเร็จและแถลงยุติคดี 9 เมษายน 2564 สำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา ดำเนินการอายัดทับหลังจากพิพิธภัณฑ์ เพื่อดำเนินการส่งให้ประเทศไทย 25 พฤษภาคม 2564 สำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกาส่งมอบทับหลังทั้ง 2 รายการให้กงศุลไทย ที่ลอสแอนเจลิส 31 พฤษภาคม 2564 ทับหลังทั้งสองกลับคืนสู่ประเทศไทย จะเห็นว่าแม้เวลาจะผ่านไปนานเท่าไร หากคนไทยช่วยกันดูแลรักษา เก็บหลักฐานที่แสดงว่าโบราณวัตถุที่มีค่านั้นเคยอยู่ในประเทศเรา แม้จะมีผู้ลักลอบโจรกรรมนำออกจากประเทศเราก็สามารถนำกลับมาไว้ในที่ที่ควรอยู่ได้ในที่สุด วันนี้ กรมศิลปากร นำทับหลังทั้ง ๒ ชิ้นมาจัดแสดงสู่สายตาประชาชน ในนิทรรศการพิเศษ เรื่อง "ทับหลังปราสาทหนองหงส์ และปราสาทเขาโล้นกลับคืนสู่ประเทศไทย" ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ไม่ไปดู ไม่ได้แล้วจริง ๆค่ะ
ป้ารุ....รายงาน
ขอบคุณข้อมูลและภาพบางส่วนที่ได้รับการอนุเคราะห์จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
|