คำว่า "อริยสัจ " แปลว่าสภาพ หรือ ธรรมดาที่เป็นจริงอย่างยิ่ง
หรือสภาพที่เป็นจริงของพระอริยะ คือพระอริยะได้รู้เห็นสภาพที่เป็นจริงนั้นตามความเป็นจริง จึงบรรลุวิชชา ความรู้ แจ่มแจ้ง และวิมุตติ หลุดพ้นจากความยึดถือ เพราะอวิชชา,
เมื่อกล่าวสั้นก็ได้แก่ผลที่เผล็ดมาจากเหตุ ๑,
เหตุที่ ให้เกิดผล ๑, ตามความเป็นจริง เหตุย่อมเกิดก่อนจึงเผล็ดผล,
ถ้าไม่มีเหตุก่อน จะมีผลไม่ได้เลย, แต่ว่าบุคคลสามัญย่อมรู้ผลก่อน
ต่อเมื่อสืบสาวหาจึงได้พบเหตุ และก็ถูกบ้าง ผิดบ้าง ตามสามารถแห่งปัญญา ของตน ๆ.
พระสัมมาสัมพุทธะ ทรงแสดงธรรมก็รวมลงในเหตุผล จึงมีคำสรรเสริญในการทรงแสดงธรรมไว้ว่า " สนิทานํ ธมฺมํ เทเสติ โน อนิทานํ " ทรงแสดงธรรมมีเหตุ คือแสดงผลพร้อมทั้งเหตุ หรือมีเหตุมีผล,
ไม่ทรงแสดงธรรมไร้เหตุผลและเหตุ หรือเหตุกับผลนั้น เมื่อกล่าวโดยทั่วไปย่อมมีปรากฏที่โลกทั้งภายนอกคือ โลกธาตุทั้งภายใน คือ ที่บุคคล, เหตุผลภายนอกอันเป็นส่วนโลกธาตุนั้น เช่นดินเปียก เป็นผล
เพราะฝนตกหรือถูกน้ำรดเป็นเหตุ, ดินแห้งเป็นผล เพราะแดดหรือความร้อนเผาเป็นเหตุ, และฝนตก หรือแดดเผา ก็เป็นผลสืบต่อมาแต่เหตุอีกเป็นต้น,
เหตุผลภายนอกนี้เป็นธรรมดา จึงไม่เป็นบุญ คือ ดี, และไม่เป็นบาป คือชั่ว, เพราะไม่มีความรู้และไม่มีเจตนา จึงไม่เป็นกรรม. แต่บุคคลนั้นแล ถ้าชอบก็ว่าดี ถ้าชังก็ว่าชั่วเพราะโลกธาตุเป็นไปตามเหตุผลเช่นนี้,
บุคคลเมื่อปรารถนาผลอย่างใด ก็คิดสาวหาเหตุแล้วประกอบขึ้นให้ได้ผลอย่างนั้น การเรียน การค้นทางโลกธาตุนี้แล เป็นเหตุให้เกิดมีสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น, แต่จะว่าเกิดมีขึ้นเพื่อคุณประโยชน์หรือเกิดมีขึ้นเพื่อทุกข์โทษ โดยส่วนเดียวหาได้ไม่.
บุคคลนั้นแล เมื่อนำไปใช้ในทางดีก็ให้เกิดคุณประโยชน์, เมื่อนำไปใช้ในทางชั่ว ก็ให้เกิดทุกข์โทษดังที่เห็นปรากฏอยู่, และยังไม่อาจทราบได้ว่า จะถึงที่สุดลงอย่างไรเมื่อไร.
( วชิร. ๒๑๒-๒๑๓ ).
อริยสัจ แปลว่าจริงของพระอริยะ ก็ได้, อริยสัจ ท่านแจกออกไปเป็น ๔ คือทุกข์, ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์, ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์, ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติเป็นเครื่องดำเนินไปถึงความดับทุกข์
หรือเรียกสั้น ๆ ว่ามรรค.
ทุกข์ ก็ได้แก่กาย หรือปัญจขันธ์ เพราะกายหรือปัญจขันธ์นี้ต้องเกิด
เมื่อเกิดแล้วก็ไม่คงที่ แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเสมอซึ่งเรียกว่าไม่เที่ยง
เปรียบเหมือนน้ำที่ไหลจากที่สูงไปหาที่ต่ำ ไม่มีหยุดยั้ง, กายหรือปัญจขันธ์ของคนตั้งแต่เกิดมาแล้วไหลไปเสมอ แต่ไหลทีละนิด ๆ
ยากที่คนสามัญจะพิจารณาเห็นได้ ต่อเมื่อล่วงไปมาก ๆ จึงจะเห็น,
เช่นตั้งแต่เกิดมาแล้วไหลเรื่อยไปทีเดียว ไหลทุกลมหายใจเข้าออก แต่ว่าคนเราเห็นเป็นตอน ๆ เช่น เด็กเล็ก ๆ นอนดิ้นอยู่ โตขึ้นก็พลิกตะแคงพลิกหงายพลิกคว่ำก็ได้ แล้วต่อมาก็นั่งได้ เดินได้ วิ่งได้ นี่ก็ไหลไปเรื่อยจนในที่สุดก็ตาย, การที่แปรไปไหลไปเลื่อนไปอยู่เสมอทุกลมหายใจเข้าออกเช่นนี้ เรียกว่าอนิจจังไม่เที่ยง, เพราะไม่เที่ยงเช่นนี้แหละจึงทนอยู่ไม่ได้ จะให้อะไรทนอยู่ ก็ทนอยู่ไม่ได้ เพราะทนอยู่ไม่ได้
จึงเรียกว่าเป็นทุกข์, แม้คนจะชอบหรือไม่ชอบก็ตามจะบังคับให้อยู่กับที่ เช่น สุขเกิดขึ้น จะบังคับให้สุขอยู่ที่ หรือทุกข์เกิดขึ้น
จะบังคับให้ทุกข์อยู่ที่ หรือไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขเกิดขึ้น จะบังคับให้คงที่
ก็บังคับไม่ได้ ทนอยู่ไม่ได้ เช่นนี้เรียกว่าอนัตตา.
เพราะฉะนั้น ปัญจขันธ์ หรือกายที่เกิดขึ้นแล้วแปรไปอยู่เสมอจึงเรียกว่าไม่เที่ยง. ทนอยู่ไม่ได้ จึงเรียกว่าเป็นทุกข์
บังคับไม่ได้จึงเรียกว่าเป็นอนัตตา รวมเข้าก็เป็นทุกขสัจ สภาพที่จริงคือทุกข์ เป็นทุกข์อยู่อย่างนั้นตามธรรมดา คือไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ บังคับไม่ได้ตามธรรมดา,
แต่ว่าคนหรือสัตว์ไม่รู้ตามเป็นจริง ต้องการบังคับเป็นอย่างนั้นไม่ชอบใจ ต้องการให้เป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ไม่ชอบใจ ต้องการให้เป็นอย่างนั้น แต่ถึงเช่นนั้นก็บังคับไม่ได้. ความต้องการที่จะเป็นไปต่าง ๆ เรียกว่า ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ท่านแยกออกไปเป็น ๓ คือ
ความดิ้นรนของใจเรียกว่า ตัณหา ตัณหาในภาษาไทยไปหมายความเสียอย่างหนึ่ง ที่ว่าคนนั้นตัณหาจัด คนนี้ตัณหาจัด เป็นคำด่ากันนี่ไม่ตรง, ตัณหาโดยตรงในทางพระพุทธศาสนาหมายถึงความดิ้นรนของใจ ใจที่รนไปไม่อยู่ที่. รนไปอย่างไร เพื่ออะไร ? ก็เพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวชอบ เมื่อได้แล้วก็ต้องการให้สิ่งที่ตัวชอบคงอยู่ไม่ต้องการให้เสื่อมสูญ, เหมือนอย่างร่างกายเรา ส่วนใดที่เราเห็นว่าไม่ดีไม่งาม
เราก็ต้องการให้สูญไปเสีย, แต่ถ้าเห็นว่าดีงาม ก็ต้องการให้คงอยู่ไม่ให้เปลี่ยนแปลง, นี่เป็นกามตัณหา ดิ้นรนไปเพราะความใคร่หรือเพื่อความใคร่. กาม แปลว่าใคร่, เมื่อว่าถึงศัพท์ว่า กาม ท่านแยกเป็น ๒ :
วัตถุที่สัตว์ใคร่ก็เรียกว่ากาม ( วัตถุกาม ), ความใคร่หรือกิเลสที่เป็นเหตุให้ใคร่ หรือกิเลส คือความใคร่ ก็เรียกว่ากาม ( กิเลสกาม ). ใคร่อะไร ? ใคร่วัตถุ, วัตถุ คือสิ่งที่ใคร่นั้นรวมเข้าก็ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ, รูป เสียง หรือ สัททะกลิ่น หรือ คันธะ รส โผฏฐัพพะ นี่เป็นวัตถุ เป็นสิ่งที่ใคร่ จึงรวมเรียกว่า
วัตถุกาม วัตถุที่ใคร่ หรือวัตถุที่สัตว์ใคร่.
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มีประจำอยู่สำหรับโลก คนจะเกิดมาหรือไม่เกิดก็มีอยู่เช่นนั้น มีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรสมีโผฏฐัพพะ แต่ก็มีอยู่ตามธรรมดา, ต่อเมื่อกิเลสกาม กิเลสที่เป็นเหตุให้ใคร่หรือกิเลสคือความใคร่ออกไปใคร่รูป ใคร่เสียง ใคร่กลิ่น ใคร่รส ใคร่โผฏฐัพพะนี่ความใคร่ที่เป็นกิเลสกับวัตถุที่ใคร่ถึงกันเข้าประกอบกันเข้า.
ถ้าว่าถึงภายใน ก็หมายเอากิเลสกาม กิเลสที่เป็นเหตุใคร่หรือกิเลสคือความใคร่, ถ้าว่าถึงวัตถุภายนอก ก็หมายเอาวัตถุกาม วัตถุที่ใคร่ หรือวัตถุที่สัตว์ใคร่, บางทีท่านเรียกว่ากามคุณหมายถึงกิเลสกามที่ใคร่วัตถุกาม, ทับถมใจสัตว์อยู่เสมอ ไม่หลุดพ้นออกไปได้ จึงเรียกว่า
คุณ แปลว่า ชั้น หรือทับ, กามคุณ ก็หมายความว่า
กามที่ทับถมใจสัตว์อยู่ จึงเรียกว่ากามคุณ.
รวมความว่ากิเลสกาม กิเลสที่เป็นเหตุใคร่หรือกิเลสคือความใคร่ ก็ใคร่วัตถุกามคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ยังไม่ได้ก็ใคร่ให้ได้ที่ได้มาแล้วก็ใคร่ให้คงอยู่,
นี่เป็นกามตัณหา ความดิ้นรนเพราะกามหรือเพื่อกามอย่างหนึ่ง,
ภวตัณหา ความดิ้นรนเพราะภพหรือภพ, ภพ หมายความถึงความเป็น, เป็นอะไร ?
ในชั้นต้นก็เป็นเรา เป็นตัว เป็นตน, ทุก ๆ คนรูสึกว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นเราอยู่เป็นมูลเดิม เป็นอาสวะยังไม่ดิ้นรนไปเพื่อจะเป็นอะไร เพียงแต่เป็นตัวเป็นตน, แต่ครั้นเมื่อไปรู้จักความเป็นคนต่าง ๆ เห็นคนนั้นเป็นนี่
เห็นคนนี้เป็นนั่น เห็นคนนั้นเป็นโน่น หรือเป็นเทวดา เป็นพรหม เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นอัครมหาเสนาบดี เป็นเสนาบดี เป็นเศรษฐี เป็นอะไรต่าง ๆก็ต้องการที่จะเป็นเช่นนั้น เป็นภวตัณหาดิ้นรนไปเพราะความเป็นหรือเพื่อความเป็น นี่อย่างหนึ่ง.
วิภวตัณหา ดิ้นรนเพื่อปราศจากมี ปราศจากเป็น, ภว แปลว่าเป็น,
วิภว แปลว่า ปราศจากเป็น ดิ้นรนเพื่อให้ปราศจากเป็น เช่น รูป เสียงกลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เป็นวัตถุกาม แต่ถ้าเป็นที่เกลียด
ดังที่เราเกลียดอะไร เกลียดรูปอะไร เกลียดเสียงอะไร เกลียดกลิ่นอะไร
เกลียดรสอะไร เกลียดโผฏฐัพพะอะไร แล้วมาประสบเข้าหรือเราไปประสบเข้า ต้องการให้สูญ ให้ปราศจากมีปราศจากเป็น หรือเราเองเป็นอะไรอยู่แล้วเราไม่ชอบที่จะเป็น ต้องการให้สูญสิ้นไปเสีย นี่เป็นวิภวตัณหา
คนจนเกลียดความเป็นคนจน ต้องการให้หมดสิ้นไปเสีย ก็จัดเป็นวิภวตัณหา, คนที่มีรูปร่างน่าเกลียดไม่สวยไม่งาม ดิ้นรนเพื่อให้รูปที่ไม่สวยไม่งามสิ้นไปเสีย ก็จัดเป็นวิภวตัณหา, จนถึงมีชีวิตอยู่เห็นเป็นทุกข์เดือดร้อนทำลายเสีย ก็เป็นวิภวตัณหา, คนฆ่าตัวตายด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะวิภวตัณหา ดิ้นรนเพื่อให้ปราศจากมีปราศจากเป็น.
ความดิ้นรนไปเพื่อให้ได้สิ่งที่ชอบ( กามตัณหา ) เพื่อให้เป็นภพที่ชอบ
( ภวตัณหา ) เพื่อให้เสื่อมเสียหรือปราศจากสิ่งที่ไม่ชอบ ภพที่ไม่ชอบ
( วิภวตัณหา ) นี่เป็นทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์. เกิดทุกข์ที่ไหน ?
เกิดทุกข์ทางใจก่อน, เกิดขึ้นที่ใจ ใจก็เดือดร้อนเป็นทุกข์, ถ้าไม่มีตัณหาเกิดขึ้น ใจก็ไม่เดือดร้อน ไม่เป็นทุกข์. เพราะตัณหาที่เป็นทุกขสมุทัยเกิดขึ้นที่ใจ ทำให้ใจเดือดร้อนเป็นทุกข์ แรงเข้าก็ให้พยายามออกไปทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ก็เป็นทุกข์ต่อไปอีก
กายหรือปัญจขันธ์เป็นตัวทุกข์อยู่ตามธรรมดา เป็นทุกขอริยสัจ
สภาพที่จริงคือทุกข์,
คนไม่รู้ก็ยึดถือเป็นตัวเป็นตน แล้วก็ดิ้นรนเพื่อจะให้ได้ส่วนที่ชอบ
เพื่อให้เป็นภพที่ชอบเพื่อให้เสื่อมสิ่งที่ตัวไม่ชอบ เกี่ยวกับกายหรือปัญจขันธ์ ก็เป็นทุกขสมุทัย เกิดทุกข์ทับทุกข์ลงไปอีกเป็นชั้น ๆ
เพราะฉะนั้นตัณหาจึงเป็นทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์. ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์
ก็คือความดับความดิ้นรนของใจ เพื่อให้ได้เพื่อให้เป็น เพื่อให้เสื่อมเสียได้
เมื่อใจไม่มีความดิ้นรน เพื่อให้ได้ เพื่อให้เป็น เพื่อให้เสื่อมเสีย เพราะไม่ไปเกี่ยวข้องเช่นนี้ เป็นทุกขนิโรธ ความดับทุกข์
แต่ส่วนกายที่เป็นทุกขสัจอยู่ตามธรรมดาก็เป็นทุกข์อยู่นั่นเอง
แต่เป็นส่วนหนึ่ง เหมือนดังพระพุทธเจ้า ท่านรู้จักกายที่เป็นทุกข์อยู่ตามธรรมดา ท่านไม่มีทุกขสมุทัย คือตัณหา เหตุให้เกิดทุกข์ ทรงเป็นผู้รู้จักกาย รู้จักตามเป็นจริง กายก็เป็นทุกข์ไปตามเรื่อง
แต่พระพุทธะ ผู้รู้ เป็นผู้รู้จักกายที่เป็นทุกข์ รู้จักตัณหา แต่ไม่เป็นตัณหา
เพราะฉะนั้น จึงมีทุกขนิโรธความดับทุกข์ คือดับตัณหา. ทุกขนิโรธที่จะมีปรากฏขึ้นได้ ก็เพราะ ทุกฺขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติเป็นเครื่องดำเนินถึงความดับทุกข์หรือเรียกสั้น ๆ ว่า มรรค
มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น สัมมาสมาธิเป็นที่สุด
นั่นอยากจะรู้ไปดูในมรรคที่องค์ ๘ นี่สายหนึ่ง อีกสายหนึ่ง ท่านแสดงอริยสัจ ๔ เหมือนกัน แต่ตั้ง อาสวะ เป็นหลักอาสวสมุทัย เหตุเกิดอาสวะ อาสวนิโรธ ความดับอาสวะอาสวนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติเป็นเครื่องดำเนินถึงความดับอาสวะ
หรือมรรคก็อย่างเดียวกันนั่นเอง
แต่ว่าสายหนึ่งตั้งทุกข์เป็นข้อต้น อีกสายหนึ่งตั้งอาสวะเป็นข้อต้น
เมื่อพิจารณา ให้ดีจะเห็นว่า ถ้าลำพังแต่อาสวะ ไม่มีทุกข์สวะก็ไม่แสดงอาอากรออกมา แต่ถ้ามีทุกข์ไม่มีอาสวะ ทุกข์ก็คงเป็นทุกข์อยู่ตามธรรมดา ไม่มีทุกขสมุทัย แต่นี่อาศัยกัน อาสวะก็มายึดทุกข์
ทุกข์ก็เข้าไปเกี่ยวกันเข้า อาสวะนั้นหมายถึงกิเลสอย่างละเอียดที่นอนจมอยู่กับจิต เหมือนดังตะกอนที่นอนอยู่ภายใต้น้ำที่ใส ท่านแสดงไว้ เป็น ๓ ได้แก่ กามอาสวะ หรือกามาสวะอย่างหนึ่ง ได้แก่ภพ
เรียกภวาสวะอย่างหนึ่ง ได้แก่อวิชชา เรียกว่าอวิชชาสวะอย่างหนึ่ง กามาสวะ ภวาสวะ มีเพราะอะไร ? ก็เพราะอวิชชาคือ ไม่รู้ตามเป็นจริง แต่ยังนอนจมอยู่ยัง
ไม่แสดงอาการออก ถ้าอาสวะแสดงอาการ ออกมาก็เป็น กาม ก็คือ
ความใคร่หรือกิเลสเป็นเหตุใคร่ที่นอนจมอยู่( กามาสวะ ) เมื่อมีอะไรมากระทบก็แสดงอาการออกมาใคร่ คือ ใคร่ รูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ นี่เป็นกามตัณหา ภวะ หรือ ภวาสวะ นอนจมอยู่ภายในเมื่อมีอะไรมากระทบหรือประสบอะไรเข้า รู้เรื่องรู้ราวต่าง ๆ เข้า ภวะที่นอนจมอยู่ก็แสดงออกมาเป็นภวตัณหา คืออยากเป็นโน่น เป็นนี่ เป็นนั่น นี่ว่าถึงส่วนที่ชอบ แต่ว่าถ้าไม่ชอบ คือส่วนที่ไม่ชอบมาประสบ ก็ต้องการให้เสื่อมสูญไปเสีย เป็นวิภวตัณหา
ถ้าไม่มี ภวะ คือความ เป็น เป็นตัว เป็นตน เป็นเราแล้ว ก็ไม่มีต้องการอะไร ไม่ต้องการให้เสื่อมเสียอะไร แต่นี่เพราะ มีเรา เป็นเรา หรือ
เป็นตัว เป็นตนขึ้น จึงต้องการได้ ต้องการเป็น ต้องการให้เสื่อมเสีย ความต้องการที่ปรากฏออกมาเป็นความ ดิ้นรน จึงเป็นตัณหา อวิชชา
ความไม่รู้ตามเป็นจริง ที่นอนจมอยู่ไม่มีอาการอย่างไร
ไม่รู้ว่าอะไร มืดตื้อไปหมด แต่ว่าจะอยู่เฉย ๆ เช่นนั้นไม่ได้ เพราะมีอายตนะ มีธาตุรู้ รู้ที่เป็นอวิชชาที่มีอยู่ ออกมารู้อะไรเข้า ก็รู้ยึดถือจึงเป็นความหลง จนถึงเห็นผิด
ตัวอย่าง เช่นเด็กเล็ก ๆ จะเห็นก้อนกรวดหรือก้อนทราย หรือเพชรนิลจินดาหรือทองคำ อะไร ก็ไม่ยินดียินร้าย เหมือนลิงหรือสัตว์ต่าง ๆ
เห็นเพชรนิลจินดา เห็นก้อนกรวดก้อนทรายก็เห็นเหมือนกัน
แต่เพราะอวิชชาที่รู้ผิดจากความจริงออกมารู้ว่า นี่เพชรนิลจินดาเขานิยมกัน นี่ทองคำ นี่เงิน เขานิยม เพราะมีราคาแพงก็ออกมายึด อวิชชาก็มีอาการเป็นรูปร่าง เมื่อยึดถือผิด ก็เก็บรูปผิดเข้าไป เมื่อยึดถือเงินทองก็เก็บเงินทองเข้าไป นี่เป็นอวิชชาที่แสดงอาการออกมา ถ้าเมื่อรู้ตามเป็นจริงแล้วเพชรนิลจินดาหรือทองเงินก็เป็นอยู่อย่างนั้นแหละ แต่ไม่ยินดียินร้ายไม่หลงงมงาย
เพราะอาสวะมีอยู่ในภายในและทุกข์ก็มีอยู่เป็นภายนอก อาสวะออกมาประสบกับทุกข์ ก็ยึดทุกข์ จึงเกิดกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
เกิดขึ้นเพราะอวิชชา รู้ผิดจากความจริง
ท่านจึงแสดงว่าอวิชชา มีอาการเป็น ๘ คือ
ไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักทุกขสมุทัย ไม่รู้จักทุกขนิโรธ ไม่รู้จักมรรค ไม่รู้จักส่วนเบื้องต้น ไม่รู้จักส่วนเบื้องปลาย ไม่รู้จักทั้งส่วนเบื้องต้นเบื้องปลาย ไม่รู้จักปฏิจจสมุปบาท พระพุทธเจ้ารู้จักทุกข์ รู้จักอาสวะ รู้จักทุกขสมุทัย รู้จักอาสวสมุทัย
รู้จักทุกขนิโรธ รู้จักอาสวนิโรธ รู้จักทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
รู้จักอาสวนิโรธคามินีปฏิปทา ด้วยพระองค์เองจึงเป็น สมฺมาสมฺพุทฺโธ
ตรัสรู้เองโดยชอบ
นี่พระพุทธคุณบท สมฺมาสมฺพุทฺโธ. ให้รู้พอเป็นเค้าไว้ ต้องไปพิจารณาให้ละเอียดจึงจะรู้ให้ชัดขึ้นได้ ไม่เช่นนั้น รู้ชัดได้ยาก เพราะเป็นธรรมที่ละเอียด
ว่าถึงพระพุทธคุณก็ต้องไปถึงธรรม คือ อริยสัจ อริยสัจแยกเป็นสองสาย : ทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา และอาสวะ อาสวสมุทัย อาสวนิโรธ อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา
อีกนัยหนึ่ง อริยสัจอย่างหนึ่ง คือ อาสวะ อาสวสมุทัย
อาสวนิโรธ อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา หรือมรรค ซึ่งปรากฏขึ้นแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเวลาที่ทรงปลุกพระองค์เพื่อให้เป็นผู้ตื่น
เมื่ออาสวะสมุทัยดับไปแล้ว อาสวะที่เป็นพื้นเพเดิมทนอยู่ไม่ได้ ย่อมดับไปด้วย
เพราะฉะนั้น อาสวะ อาสวสุทัย จึงไม่มีที่พระองค์
คงมีแต่อาสวนิโรธ อันเกิดแต่อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา หรือมรรคที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงเป็น พุทโธ ผู้ตื่นอยู่ เพราะไม่หลงไป.
( วชิร. ๓๗๑ ).
|