หมอลำเคน ดาเหลา ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2543 จังหวัดขอนแก่น

ชาติภูมิ
หมอลำเคน ดาเหลา มีชื่อจริงว่า นายฮุด ดาเหลา เกิดเมื่อวันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2473 ปีมะเมีย เชื่อชาติไทย สัญชาติไทย ภูมิลำเนาเดิมบ้านหนองเต่า อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี บิดาชื่อนายโอ๋ ดาเหลา มารดาชื่อนางจันแดง ดาเหลา มีพี่น้องรวม 7 คน เป็นชาย 3 คน เป็นหญิง 4 คน บิดามารดามีอาชีพทำนา
การศึกษา
หมอลำเคน ดาเหลา เรียนจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนบ้านหนองเต่าแล้วก็ออกมาช่วยพ่อแม่ทำนาเหมือนชาวอีสานทั่วไป แต่ด้วยความสนใจในการแสดงพื้นบ้านอีสาน คือหมอลำ ที่มีอยู่ในตัวประกอบกับผู้มีแววศิลปินมาตั้งแต่เด็ก ๆ หมอลำเคน ดาเหลา จึงได้เริ่มหัดเล่นหมอลำ ลิเกพื้นบ้าน และหนังประโมทัย โดยเริ่มหัดด้วยตัวเอง ประกอบกับในปี พ.ศ.2489 ได้เกิดโรคระบาดขึ้นในหมู่บ้าน คือ ผีดาษ หรือไข้ทรพิษ ระบาดไปทั่วหมู่บ้านในอีสานผู้คนล้มตายมาก ชาวบ้านจึงแยกย้ายกันไปอยู่ตามทุ่งนา ไม่มีการพบปะกันเท่าที่ควร หมอลำเคน ก็ได้ไปอาศัยอยู่ที่ทุ่งนาของตน และใช้เวลาว่างนอนท่องกลอนลำเล่นโดยอาศัยการได้สัมผัสจดจำ ลีลาการแสดงและท่องกลอนที่จดจำมาจากหมอลำคง ดาเหลา ซึ่งเป็นพี่ชาย และเป็นหมอลำที่กำลังมีชื่อเสียงในละแวกบ้านของตน หมอลำเคน ดาเหลา ได้ยึดลีลาท่าทางการแสดงและกลอนลำของพี่ชายเป็นหลักในการฝึก จนสามารถลำเองได้โดยไม่มีครูสอนให้
พออายุได้ 16 ปี พี่ชายคือ หมอลำคง ดาเหลา ได้เสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน หมอลำเคน ดาเหลา จึงถูกจับให้แสดงแทนพี่ชาย ด้วยความสามารถที่มีอยู่ในตัว ประกอบกับเป็นผู้ที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง มีปฏิภาณและลีลาการลำที่โดดเด่น จึงสามารถแสดงหมอลำกลอนได้เป็นอย่างดี จนได้รับความนิยมในหมู่ชาวอีสานอย่างรวดเร็ว
ชีวิตครอบครัว
หมอลำเคน ดาเหลา ได้ประกอบอาชีพทางด้านศิลปินด้วยการแสดงหมอลำเพียงอย่างเดียว จนประสบผลสำเร็จในด้านชื่อเสียง และมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีพอสมควร จนสามารถสนับสนุนให้บุตร-บิดา ได้รับการศึกษาในระดับสูง ๆและประกอบอาชีพอย่างมั่นคงได้ หมอลำเคน ดาเหลา มีภรรยา และบุตร ดังนี้
ภรรยาคนที่ 1 คือ นางเบ็ญ คำไม มีบุตรด้วยกัน 3 คน
ภรรยาคนที่ 2 คือ นางพูนทรัพย์ ผาลา มีบุตรด้วยกัน 1 คน
ภรรยาคนที่ 3 คือ นางคำพา ฤทธิทิศ มีบุตรด้วยกัน 6 คน
ภรรยาคนที่ 4 คือ นางบุญเพ็ง ไผ่ผิวไชย ไม่มีบุตรด้วยกัน
ด้านการเรียนลำ
หมอลำเคน ดาเหลา เป็นหมอลำที่จะถือว่า “อัจฉริยะ” ก็คงไม่ผิด ด้วยเหตุที่ว่า เริ่มการลำของตนเองหรือยึดอาชีพหมอลำโดยไม่มีการเรียนจากครูมาก่อน แต่ก็ได้รับความนิยมและประสบผลสำเร็จในอาชีพอย่างสูงสุด จนได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติประจำปี 2534 จากเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้วในชั้นต้นที่ว่า หมอลำเคน ดาเหลา เริ่มชีวิตการลำของตนโดยการขึ้นลำแทนพี่ชายที่เสียชีวิตอย่างกระทันหัน แต่ดว้ยความเพียรพยายามที่จะมีความก้าวหน้าในอาชีพมากขึ้น หมอลำเคน ดาเหลาจึงแสวงหาความรู้จากการเรียนธรรม บาลี สนธิมูล จนแตกฉาน ฝึกการฟ้อน การลำด้วยตนเอง โดยอาศัยการจดจำกลอนลำของหมอลำคนอื่น ๆ ที่ตนชอบมาเป็นแม่แบบ นอกเหนือจากการจดจำกลอนลำของพี่ชายของตนที่ได้ฝึกฝนมา จากความสนใจและมีใจรักเป็นทุนอยู่แล้ว เมื่อมีหมอลำใหญ่ ๆ มาลำที่หมู่บ้านหรือหมู่บ้านใกล้เคียง ก็จะไปนั่งฟังตลอดคืน และจดจำวาดลำ (ทำนองลำ) ของหมอลำเหล่านั้นมาเป็นแม่แบบ แม้กระทั่งกลอนลำและวาดลำของหมอลำผู้หญิงที่ตนชอบก็จะนำมาฝึกลำตาม โดยจะไม่ยึดใครเป็นหลัก แต่จะใช้การผสมผสานเข้าเป็นแบบของตน แต่ก็ไม่ได้มากเพราะไม่ได้สมัครเป็นลูกศิษย์โดยตรง เข้าลักษณะ “ครูพักลักจำ” นอกจากนี้ยังได้ใช้กลอนลำของอาจารย์หนูอัด ซึ่งเป็นหมอลำดังในเวลานั้นมาฝึกลำ และใช้ลำมาจนกระทั่งสามารถแต่งกลอนำเองได้ จึงใช้กลอนลำที่ตนแต่งลำมาจนกระทั่งปัจจุบัน (เคน ดาเหลา, 2556 : สัมภาษณ์)
การเรียนแต่งกลอนลำ
จากความเพียรพยายามที่จะพัฒนาการลำของตน ตลอดจนการแต่งกลอนลำด้วยการเรียนธรรม บาลี สนธิมูล จนแตกฉาน จึงทำให้หมอลำเคน ดาเหลา มีความรู้ในด้านขนบธรมเนียมประเพณีอีสาน สำนวนผญา และนำมาผนวกกับความรู้ในเรื่องเหตุการณ์บ้านเมือง จึงทำให้หมอลำเคน ดาเหลา สามารถแต่งกลอนลำใหมีเนื้อหาสาระที่ดี สำนวนกลอนที่เฉียบคมถึงใจผู้ฟัง ส่วนในด้านรูปแบบการประพันธ์ได้อาศัยจากประสบการณ์ในการลำนำมาใช้แต่งได้อย่างมีความสละสลวยไพเราะยิ่งนัก
หมอลำเคน ดาเหลา เริ่มฝึกแต่งกลอนลำเมื่อประมาณปี พ.ศ.2500 โดยมิได้เรียนจากครูแต่อย่างใด จะใช้วิธีฝึกหัดตามแบบของกลอนลำของหมอลำทั่ว ๆ ไป ทั้งด้านเนื้อหา สัมผัส โดยในช่วงดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นช่วงที่แตกลำแล้ว สามารถด้นกลอนสดได้ จึงทำให้มีความกล้าที่จะแต่งกลอนเพื่อใช้ลำเป็นของตนเองได้
ประสบการณ์ในการแต่งกลอน
หมอลำเคน ดาเหลา เป็นหมอลำที่มีผลงานในการแต่งกลอนที่ดีพร้อม ทั้งในด้านเนื้อหาสาระ และสัมผัสตามรูปแบบการประพันธ์ โดยอาศัยประสบการณ์ในการลำและกลอนลำของครูที่ใช้ลำมาเป็นแบบอย่าง นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่ติดตามข่าวสารเหตุการณ์บ้านเมืองอยู่มิได้ขาดจึงทำให้ผลงานการแต่งกลอนลำของท่านมีความสัมพันธ์กับสภาพทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างดี
การแต่งกลอนลำของหมอลำเคน ดาเหลา เริ่มแต่งกลอนลำได้เองในราวปี พ.ศ.2500 โดยอาศัยวิธ๊การแต่งตามประสบการณ์ในการลำ และศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมตามแหล่งความรู้ต่างๆ ที่พอจะหาได้ จนสามารถแต่งกลอนเพื่อใช้ลำเองและลูกศิษย์ได้ใช้ลำมากมาย กลอนลำที่ท่านแต่งจะมีลีบาและจังหวะที่แปลกไปจากกลอนลำของหมอลำอื่น ๆ ในด้านเนื้อหาที่หลากหลาย เช่น ในด้านศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณีอีสาน ประวัติศาสตร์ นิทาน กลอนลำ แบบตลก กลอนลำเบ็ดเตล็ด เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้นำเอาสนำนวนภาษาอีสานหรือสำนวนผญาอีสานมาแทรกไว้ในกลอนได้อย่างดียิ่ง จึงทำให้กลอนลำมีเนื้อหาสาระ สัมผัสคล้องจองที่ดี และมีภาษาที่ลึกซึ้งกินใจแก่ผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง
ผลงาน
ปี พ.ศ.2489-2509 ตั้งโรงเรียนหมอลำที่บ้านหนองเต่า อำเภอตระการพืชผล และอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
ปี พ.ศ. 2527 ได้รับเชิญไปลำเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยอีสาน ที่ประเทศญี่ปุ่น
ปี พ.ศ.2531 ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2531 สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
ปี พ.ศ.2534 ได้รับคัดเลือกให้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ” ประจำปีพุทธศักราช 2534 สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ)
ผลงานด้านกลอนลำของหมอลำเคน ดาเหลา ส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่อง ด้านการเมืองการปกครอง ด้านเศรษฐกิจ ด้านศาสนาและความเชื่อ ด้านการศึกษา ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี ด้านการดำเนินชีวิต
|