ศีลมีมากหลายข้อ ไม่ต้องรักษาหมดทุกข้อดอก รักษาแต่ใจของเจ้าให้ดีอย่างเดียว กาย วาจา ก็จะดีไปด้วยกันนั่นแหละ มาจังหวัดขอนแก่นทั้งที ถ้าไม่ได้มาเยี่ยมชม วัดอุดมคงคาคีรีเขต และกราบพระธาตุของ หลวงปู่ผาง จิตตคุตโต แล้วละก็ เห็นทีจะเสียเที่ยวแย่ครับ เพราะหนึ่งคือ "วัดอุดมคงคาคีรีเขต" เป็นวัดป่ากรรมฐานที่มีชื่อเสียงของจังหวัดขอนแก่น สองคือ"หลวงปู่ผาง จิตตคุตโต" อดีตเจ้าอาวาสของวัดนี้ ท่านเป็นพระป่ากรรมฐานองค์สำคัญของเมืองไทย ด้วยปฏิปทาของและวัตรปฏิบัติที่เข้มแข็ง ใจเด็ด ไม่ย่อท้อและพากเพียรในการปฏิบัติ ทำให้ท่านสามารถบรรลุถึงธรรมขั้นสูง นอกจากนี้วัตถุมงคลมากมายหลายรุ่นที่ท่านได้เมตตาโลกโดยการอธิษฐานจิตไว้ให้เพื่อเป็นอนุสติ เป็นธรรมรักษา ก็ล้วนมีประสบการณ์ให้เล่าขานกันจนมาถึงทุกวันนี้ครับ จากถนนหลวงสายมัญจาคีรี-ชัยภูมิและแยกเข้าวัดอีก ๑๒ กม. พวกเราเดินทางบนถนนที่ค่อนข้างคดเตี้ยวและชำรุดในบางช่วง อดคิดไม่ได้ครับว่าเมื่อสักห้าสิบกว่าปีที่ผ่านมา เขาว่าถนนเส้นที่เรากำลังสัญจรอยู่นี้ ไม่ได้มีสภาพเป็นถนนเลย การเดินทางเข้าและออกจากพื้นที่ลำบากมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนต้องถือว่าลำบากมากที่สุด แต่ด้วยบารมีและวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลของหลวงปู่ ท่านจึงเป็นผู้นำชาวบ้านร่วมมือกับหน่วย กรป. กลาง สร้างถนนลงหินลูกรังกว้าง ๕ เมตรจนสำเร็จ (ในยุคนั้น) ดังนั้นสำหรับผู้ที่มาเยือนขอได้โปรดพึงระลึกไว้เสมอครับว่า การที่เราสามารถเข้าออกได้สะดวกสบาย ตลอดจนชาวไร่ชาวนาที่อยู่ภายในหมู่บ้านได้อาศัยเส้นทางนี้ในการสัญจรและขนส่งสินค้าเกษตร มีจุดกำเนิดมาจากบารมีของพระธุดงค์องค์หนึ่งที่เคยจำพรรษาอยู่ในวัดอุดมคงคาคีรีเขตแห่งนี้ครับ บนท้องฟ้าที่มีกลุ่มก้อนเมฆสีเทาลอยอยู่ต่ำๆ ก่อนที่จะโปรยสายฝนลงมายังพื้นดินพอให้เกิดความชุ่มฉ่ำ ความเร็วของรถที่ช้าลง ช่วยให้พวกเราได้มีโอกาสสัมผัสกับความงามของทัศนียภาพสองข้างทาง ที่มีทั้งทุ่งนาเขียวขจีสุดลูกหูลูกตาและสีเขียวบางๆ ของป่าดิบบนเทือกเขา เด็กน้อยวิ่งหลบฝนพร้อมกับโบกมือไหวๆ อยู่ข้างทาง ไม่นานนักภาพของช้างสองตัวที่ยืนอยู่บริเวณซุ้มประตูวัด ซึ่งมีที่มาจากนิมิตของหลวงปู่ผางคือ พลายศรีโทและพลายศรีทน เป็นเครื่องหมายบอกให้รู้ว่า พวกเรากำลังเข้าสู่วัดอุดมคงคาคีรีเขตครับ
ปัจจุบันถึงแม้หลวงปู่ผางท่านจะได้มรณภาพไปนานแล้ว แต่ ณ สถานที่แห่งนี้ยังคงอบอวลไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์และความเป็นอดีตที่มีหลักฐานเหลือให้พวกเราได้เห็นถึงบารมี คุณธรรมและความเมตตาในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่และได้ตกทอดเป็นมรดกมาจนถึงยุคปัจจุบัน อย่างเช่น "กองก้อนหินที่วางเรียงซ้อนกันขึ้นเป็นรูปสัญญลักษณ์คล้ายสถูปเจดีย์" ที่เราเห็นอยู่มากมายในวัดแห่งนี้ครับ พวกเราหลายคนต่างตีความได้แตกต่างกันออกไป บางคนว่านี่คือการสร้างเจดีย์ขนาดเล็กเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาอย่างง่ายๆ ของชาวบ้านในท้องถิ่น ในขณะที่อีกหลายคนมองว่าเป็นที่เก็บอัฐิธาตุของบรรพบุรุษ สุดท้ายแล้วรุ่นพี่ผู้นำทางเฉลยว่าก้อนหินที่ถูกจัดวางเรียงซ้อนๆ กันอยู่นั้นคือ "ที่อยู่ของบรรดาสัตว์มีพิษ" เช่น งู ตะขาบ หรือสัตว์เล็กๆ เช่น กบ เขียด ฯลฯ เพราะในสมัยที่หลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่บรรดาสัตว์ใหญ่เช่น ช้าง สัตว์ร้าย เช่น เสือ สัตว์มีพิษ เช่น งู และสัตว์เล็กๆ เช่น กบ ต่างมีให้เห็นและเดินกันขวักไขว่ โดยเฉพาะบรรดางูหลากประเภทที่เลื้อยพาเหรดแบบไม่กลัวคน ในการเทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อ ๒ ตุลาคม ๒๕๓๔ "หลวงตามหาบัว ญาณสัมปัณโณ"(พระธรรมวิสุทธิมงคล) ได้พูดถึงหลวงปู่ผาง ความว่า..
หลวงพ่อผางที่อำเภอชนบท เก่งทางพวกงู พวกจระเข้ วัดผู้เฒ่าแต่ก่อน โถ งูชุมมากนะ เหมือนกับผู้เฒ่าเลี้ยงไว้ไม่ได้ผิดอะไรกันเลย งูเห่า งูจงอางนะไม่ใช่ธรรมดา มันป้วนเปี้ยนๆ อยู่กับคน" "คนไปไหนก็อยู่อย่างนี้ๆ คนก็เดินไปข้างๆ เรียกว่าหลีกกันไปเหมือนหลีกหมา ว่างั้นเถอะ มันมีอยู่ทั่วไป หลวงพ่อผางเป็นผู้ปกครองวัดนั้น มันเคารพหลวงพ่อผางมากนะ งูเหล่านี้กลัว เคารพแต่หลวงพ่อผาง ว่ากันว่าทุกชื่อทุกสถานที่ไม่ว่าจะเป็นที่ใดล้วนมีประวัติความเป็นมา วัดอุดมคงคาคีรีเขต ก็เช่นกันครับ วัดอุดมคงคาคีรีเขต มีชื่อเดิมว่า วัดดูน ตั้งอยู่ในเขตของตำบลนางาม อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น คำว่า ดูน เป็นภาษาอีสานหมายถึงแหล่งน้ำนี้เป็นน้ำที่ผุดขึ้นเองตามธรรมชาติ ดังนั้น วัดดูน จึงเป็นชื่อที่มาจากลักษณะของสถานที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีแหล่งน้ำที่ซึมไหลออกมาตลอดปีมิได้ขาดและด้วยความที่วัดดูนแห่งนี้ในอดีตเป็นโบราณสถานเก่าแก่ ชาวบ้านแถบนี้จึงเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ลึกลับและศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีคนหรือพระรูปใดสามารถเข้าไปอยู่ได้
(ดูน-น้ำที่ซึมไหลออกมาตลอดปี จนกลายเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่) ถึงบริเวณนี้จะเป็นพื้นที่อันตรายสำหรับชาวบ้าน แต่สำหรับพระป่ากรรมฐานอย่างพระอาจารย์มหาสีทน กาญจโน วัดสมศรี (บ้านพระคือ) ตำบลในเมือง (พระลับ) อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น หนึ่งในกองทัพธรรมของพระป่าแห่งภาคอีสาน ลูกศิษย์ของหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ฯลฯ แล้ว พื้นที่แบบนี้สำหรับท่าน ถือเป็นสัปปายะชั้นดีที่เหมาะสมสำหรับการปฏิบัติธรรมครับ พระอาจารย์มหาสีทนเป็นพระป่ากรรมฐานที่มีวิชาอาคมครับ หลังจากท่านสอบเปรียญธรรม ๓ ประโยคได้ ท่านจึงออกเดินธุดงค์แสวงหาความสงบและเผยแผ่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า รวมถึงการสร้างวัดวาอารามและถาวรวัตถุต่างๆ ไว้ในพระพุทธศาสนาหลายแห่ง ประมาณว่าเมื่อท่านเดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ และพบว่าวัดไหนอยู่ในสภาพทรุดโทรม ท่านก็จะอยู่ช่วยบูรณะ ส่วนบางสถานที่หากท่านพิจารณาเห็นว่าที่นี่เหมาะสม ท่านก็จะสร้างวัดและถ่ายทอดวิชาอาคมต่างๆ ให้กับเจ้าอาวาสก่อนที่ท่านจะออกเดินธุดงค์ต่อไป (พระอาจารย์มหาสีทน กาญจโน) จนเมื่อท่านได้เดินธุดงค์มาถึงบริเวณเขตวัดดูนซึ่งตั้งอยู่ติดกับเชิงเขาภูผาแดงซึ่งเป็นทิวเขาที่ไม่มียอดเขาสูงและเทือกเขาภูเม็งซึ่งเป็นภูเขาใหญ่มียอดเขาสูงและกั้นแดนระหว่างอำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่นกับอำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ท่านจึงได้หยุดเดินธุดงค์และทำการบูรณะเมื่อปี ๒๔๘๒ พร้อมกับได้เปลี่ยนชื่อจากวัดดูนมาเป็น วัดอุดมคงคาคีรีเขต มีความหมายว่าสถานที่แห่งนี้เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์และมีภูเขาเป็นอาณาเขตครับ ในระยะแรกที่พระอาจารย์มหาสีทนอยู่จำพรรษา สิ่งปลูกสร้างในวัดมีเพียงศาลาและกุฎิหลังคาแฝกเพียงหลังเดียวเท่านั้น ไม่มีใครทราบว่า เพราะเหตุใดพระอาจารย์มหาสีทนจึงมิได้ขยับขยายหรือเร่งรีบในการก่อสร้างเท่าใดนัก? ผิดกับวัดอื่นๆ ที่ท่านเคยสร้างมา ประหนึ่งเหมือนท่านจะรอคอยบางอย่าง....
๑๐ ปีต่อมา(๒๔๙๒) หลวงปู่ผาง จิตตคุตโต พระภิกษุวัย ๔๗ ปีได้ออกจากวัดป่าบรรลังค์ศิลาทิพย์และเดินธุดงค์มายังเขาภูผาแดง สมัยนั้นบนภูผาแดงแห่งนี้ยังเป็นป่าดงดิบ สัตว์ร้ายมีมาก ภูติผีปีศาจมีเยอะ ที่นั่นท่านได้พบถ้ำกงเกวียนซึ่งเป็นถ้ำลึกลับอยู่บนภูผาแดง ไม่มีใครทราบว่าถ้ำแห่งนี้เมื่อเดินเข้าไปแล้วจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน หลวงปู่ผางได้ใช้ถ้ำแห่งนี้เป็นที่บำเพ็ญเพียรภาวนาและในเวลาต่อมาท่านได้ทราบจากนิมิตว่าที่นี่มีโครงกระดูกของท่านแต่อดีตชาติถูกฝังไว้ เพราะเมื่อชาติก่อนท่านได้ตายในขณะที่กำลังสร้างพระเจดีย์ พอตกมาถึงชาตินี้ด้วยจิตใจอันตั้งมั่นที่จะสร้างพระเจดีย์ทำให้ท่านมีความผูกพันจนเกิดเป็นนิมิตต่างๆ ดลใจให้ท่านมายังสถานที่แห่งนี้ ด้วยความที่สมัยก่อนยังไม่ได้มีการกำหนดอาณาเขตของวัดและบริเวณแห่งนี้เป็นป่าดงดิบ ถ้ำกงเกวียนถึงแม้จะอยู่ห่างจากวัดอุดมคงคาคีรีเขตออกไปไม่ไกลมากนัก(ต่อมาหลวงปู่ผางได้สร้างเป็นเจดีย์เล็กๆ ครอบปากถ้ำเอาไว้ เรียกว่า พระเจดีย์ถ้ำกงเกวียน ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของวัด) แต่ก็เหมือนว่าพระกรรมฐานทั้งสององค์นี้จะนั่งหันหลังให้กันเพราะต่างองค์ต่างนั่งภาวนาในที่ของตนเอง คือหลวงปู่ผางอยู่ในถ้ำบนเขา ส่วนพระอาจารย์มหาสีทนอยู่บริเวณเชิงเขา
(พระเจดีย์ถ้ำกงเกวียน-ภาพในอดีต) จนวันหนึ่งธรรมะก็ได้จัดสรร...เมื่อหลวงปู่ผางได้เดินธุดงค์ต่อมาจนมาถึงวัดอุดมคงคาคีรีเขต หลังจากที่อริยสงฆ์ทั้งสององค์ได้พูดคุยกันอย่างถูกคอในฐานะศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกัน ถึงหลวงปู่ผางจะอายุมากกว่าพระอาจารย์มหาสีทนแต่ตามธรรมเนียมพระที่นับอาวุโสจากพรรษาที่บวช หลวงปู่ผางผู้มาเยือนจึงได้ก้มลงกราบพระอาจารย์มหาสีทนและขออยู่จำพรรษาที่วัดอุดมคงคาคีรีเขต ในที่สุดเหตุผลของการรอคอยก็ปรากฏ ทั้งนี้เพราะพระอาจารย์มหาสีทนท่านได้ทราบอนาคตเบื้องหน้าแล้วว่าต่อไปวัดอุดมคงคาคีรีเขตแห่งนี้ จะเจริญรุ่งเรืองขึ้นด้วยฝีมือและบารมีของผู้มาเยือน ดังนั้นเมื่อหลวงปู่ผางได้ถวายตัวเป็นศิษย์ ท่านจึงได้เมตตาแนะนำการปฏิบัติกรรมฐานพร้อมกับถ่ายทอดวิชาอาคมต่างๆ ให้หลวงปู่ผางจนหมดสิ้น ด้วยทุนบารมีเดิมที่มีอยู่ติดตัวมาตั้งแต่อดีตชาติ ทำให้ในเวลาไม่นานนักหลวงปู่ผางสามารถเรียนรู้และแตกฉานในสิ่งต่างๆ ที่พระอาจารย์มหาสีทนได้สอน และเมื่อพระอาจารย์มหาสีทนได้พิจารณาแล้วเห็นว่าหลวงปู่ผางสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเองแล้ว ท่านจึงได้ขอลาและออกเดินธุดงค์ไปทางภาคเหนือและไม่ได้กลับมาวัดอุดมคงคาคีรีเขตอีกเลย สำหรับหลวงปู่ผางผู้ซึ่งครั้งหนึ่งได้เคยมีนิมิตว่าตัวท่านได้ขี่ม้าขาวไปทางจังหวัดขอนแก่น หลังจากผ่านสถานที่ต่างๆ จนมาถึงอำเภอมัญจาคีรี ม้าขาวตัวนั้นก็หยุดเพื่อให้ลง ท่านจึงได้เข้ารับภาระก่อสร้างวัดอุดมคงคาคีรีเขตแห่งนี้ต่อจากพระอาจารย์มหาสีทน ซึ่งนอกเหนือไปจากการที่ท่านต้องรับภาระแทนพระอาจารย์มหาสีทนแล้ว นิมิตที่ม้าขาวได้นำท่านมายังมัญจาคีรีเพื่อที่จะก่อสร้างพระเจดีย์ที่ยังค้างจากชาติที่แล้ว ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หลวงปู่ผางตัดสินใจอยู่จำพรรษา ณ วัดแห่งนี้ตราบจนมรณภาพ จากประวัติของท่านมีบันทึกไว้ว่า หนุ่มเมืองอุบลฯที่มีชื่อเดิมว่า ผาง ครองยุติ บุตรชายคนสุดท้องในจำนวน ๓ คน ของคุณพ่อทัน ครองยุติและคุณแม่บัพพา ครองยุติ ได้ถือกำเนิดลืมตามาดูโลกเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๔๔๕ ณ บ้านกุดเกษียร ตำบลกุดเกษียร อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ถึงแม้ว่าในวัยเด็กจะได้รับการศึกษาทางโลกแค่ชั้นประถม ๔ แต่คุณธรรมและความคิดสร้างสรรค์ของท่านกลับโตเกินวัย ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุในฝ่ายมหานิกายเมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ณ. วัดเชื่องกลาง หลังจากที่บวชได้ครบ ๑ พรรษา ท่านได้ลาสิกขาออกมาประกอบอาชีพและสมรสตามประเพณีเมื่ออายุได้ ๒๓ ปีกับนางสาวจันดี สายเสมา คนบ้านแดงหม้อ อุบลราชธานีและอยู่ครองเรือนด้วยความผาสุขเป็นเวลานานถึง ๒๑ ปี โดยทั้งคู่ไม่มีทายาทไว้คอยสืบสกุลจนต้องไปขอบุตรจากญาติพี่น้องมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ต่อมานายผางได้พิจารณาดูแล้วพบว่า "ชีวิตทั้งหลายที่เกิดมาล้วนแล้วแต่สับสนวุ่นวายแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นจนกลายมาเป็นความเดือดร้อนไม่มีที่สิ้นสุด" ด้วยประเด็นดังกล่าวทำให้นายผางมองเห็นถึงความไม่แน่นอนและความไม่มีแก่นสารอะไรในชีวิต อย่ากระนั้นเลยเพื่อเป็นหนทางเบื้องต้นไปสู่ความสงบ นายผางจึงได้ทำทานครั้งยิ่งใหญ่โดยการสละสมบัติต่างๆ แก่ผู้อื่นจนหมดสิ้น ไม่ว่าจะเป็น วัว ควาย ไร่ นา และบ้านเรือน จากนั้นชายวัย ๔๓ ปีจึงได้ชักชวนภรรยาหันหลังให้กับความวุ่นวายของโลก โดยภรรยาได้ออกบวชเป็นแม่ชี ส่วนตนเองได้เข้าพิธีอุปสมบทครั้งที่ ๒ เป็นพระภิกษุในฝ่ายมหานิกาย ณ วัดบ้านกุดเกษียร อำเภอเขื่อนใน จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับนามฉายาว่า จิตตคุตโต ภายหลังจากอุปสมบทแล้วท่านได้เข้าอบรมพระกรรมฐานในสำนักวัดป่าวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม และ พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล พระอริยสงฆ์สองพี่น้องเป็นพระอาจารย์
(พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม-พระญาณวิศิษฎ์สมิทธิวีราจารย์) พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม (พระญาณวิศิษฎ์สมิทธิวีราจารย์) ท่านเป็นศิษย์ต้นองค์สำคัญของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และเป็น"หนึ่งในสามพระบูรพาจารย์สายกรรมฐานที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาล" (หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นและหลวงปู่สิงห์) ดังนั้นการที่หลวงปู่ผางได้มีโอกาสเข้าอบรมศึกษากับท่าน จึงเปรียบเสมือนมือกระบี่ได้รับกระบี่คู่ใจไว้ใช้สำหรับห้ำหั่นกับบรรดาเหล่ากิเลสมารต่างๆ ได้อย่างมั่นใจ และเพื่อความสะดวกในการประกอบสังฆกรรมร่วมกับหมู่คณะ หลวงปู่ผางจึงได้ญัตติใหม่ในสังกัดธรรมยุติกนิกาย ณ วัดบ้านโนน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี หลังจากได้ศึกษาจนมีความรู้ความชำนาญดีแล้ว หลวงปู่ผางจึงได้ออกธุดงค์ปฏิบัติธรรมตามลำพังไปยังสถานที่ต่างๆ จนมาพบกับ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ซึ่งเมื่อท่านได้รับโอวาทอุบายธรรมที่เป็นธรรมอันแท้จริงประกอบกับการภาวนาจนจิตสงบพบกับความอัศจรรย์ของธรรม ทำให้ท่านเกิดความเลื่อมใสศรัทธาและอยู่เข้าอบรมกับหลวงปู่มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) บ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จนกระทั่งคืนหนึ่งท่านได้มีนิมิตว่า ได้ขี่ม้าขาวไปทางจังหวัดขอนแก่น ผ่านสถานที่ต่างๆ จนมาถึงอำเภอมัญจาคีรี ม้าขาวจึงได้หยุดให้ท่านลง รุ่งขึ้นตอนเช้าท่านจึงได้เข้าไปกราบลาหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตและหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ออกเดินธุดงค์ไปตามนิมิตทันที โดยก่อนจากลาหลวงปู่มั่นได้ให้โอวาทกับท่านว่า ให้เที่ยวไปองค์เดียว อยู่คนเดียวและตายคนเดียว ว่ากันว่าชีวิตของคนเรานั้นมีทั้ง ความทุกข์และความสุข ด้วยมาตรฐานของการเป็นพระป่ากรรมฐานได้ถูกกำหนดมาแล้วว่า นอกเหนือไปจาก พระวินัย ที่เป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินชีวิตแล้ว การภาวนา ฝึกฝนปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและออกปลีกวิเวกโดยการออกเดินธุดงค์เพื่อไปเผชิญโลกภายนอกที่มีทั้งความทุกข์และความสุข จะทำให้พระป่ากรรมฐานทุกองค์เติบโตและหยัดยืนได้อย่างแข็งแกร่ง เพราะความทุกข์จะสอนและเป็นบทเรียนเพื่อคอยเตือนให้ได้แก้ไขและจดจำ ความสุขจะเป็นกำลังใจยามอ่อนแอท้อแท้และเป็นความทรงจำที่ดีงาม ท่านเล่าว่าเมื่อออกจากหลวงปู่มั่นแล้ว ท่านได้ออกเดินธุดงค์ไปในป่าเขาเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ตามลำพังเพียงผู้เดียวอยู่หลายปี ท่านว่าในสมัยนั้นเพชรบูรณ์ยังคงเป็นถิ่นทุรกันดาร บางครั้งท่านก็เดินทลงทางอยู่กลางป่าหลายวัน ค่ำไหนนอนนั่น บางวันข้าวก็ไม่ได้ฉัน ท่านว่าถึงท่านจะเหนื่อยเมื่อยล้า มันก็เป็นแค่ทางกายเท่านั้น แต่ในใจท่านไม่เคยคิดที่จะย่อท้อเลย เพราะท่านได้ตั้งปณิธานแล้วว่าแม้จะยากลำบากขนาดไหนก็ต้องทำให้สำเร็จ หนักเข้าๆ แม้แต่น้ำก็ไม่มีฉัน ท่านจึงต้องฉันน้ำปัสสาวะของตัวเองเพื่อให้สังขารดำรงอยู่ได้ จนสุดท้ายแม้แต่น้ำปัสสาวะของตัวเองก็ไม่มีให้ฉัน และตกอยู่ในสภาพของร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรง ทำให้ท่านต้องอดทนต่อทุกขเวทนาอย่างมาก
จะตายทั้งทีก็อย่าให้ร่างกายเน่าเสียเปล่า ปักกลดนั่งภาวนากลางทางเสือทางช้างผ่านนี่แหละ พลบค่ำเลือกได้ที่เหมาะๆ แห่งหนึ่ง จึงได้ปักกลดพักภาวนา" "คราวนี้เป็นคราวที่เราจนตรอกจนมุมแล้วหลงทางกลางป่ากลางดงคนเดียว ไม่มีใครช่วย คงต้องเอาชีวิตมาทิ้งที่นี่แน่ๆ เอาละตายก็ตาย นั่งภาวนาสละตายอยู่ตรงนี้แหละ ท่านว่าพอคิดได้ดังนั้นจึงภาวนาตายๆๆๆ ตั้งมรณานุสติ ระลึกถึงความตายเป็นอารมณ์จนจิตสงบนิ่งตั้งมั่นเป็นสมาธิ ร่างกายหายหมดเหลือแต่ผู้รู้สว่างไสวอยู่อันเดียว ในระหว่างนั้นท่านมีความรู้สึกเหมือนว่าได้มีสัตว์มาวิ่งชนกลดอยู่ถึงสามครั้ง แต่ท่านก็ไม่ได้ตกใจกลัวแต่ประการใด ครั้นพอท่านเปิดกลดออกไปดูก็เห็นเสือโคร่งใหญ่ยืนจ้องหน้ามายังท่าน ท่านว่าไหนๆ ก็จะถึงที่ตายแล้ว จะตายทั้งทีร่างกายนี้จะได้ไมต้องเน่าเปื่อยผุพังเสียเปล่าๆ ให้เสือมาเก็บศพก็ดีเหมือนกัน ว่าแล้วท่านจึงได้เก็บบริขารทั้งหมดและเดินไปหาเสือโดยไม่มีความสะทกสะท้านกับความตายแต่ประการใด ฮิบมากนมา เฮามาให้กินแล้ว กินให้หมดเด้อ อย่าให้เหลือซาก มันสิเหน่าเหม็นถิ่มซื่อๆ ท่านว่าเรื่องนี้มันแปลกแต่จริง เพราะพอเสือเห็นท่านเดินเข้าไปหา มันกลับถอยหลังกรูดๆ หันหลังให้แล้ววิ่งไปข้างหน้า หันกลับมองมาที่ท่านอีกครั้งก่อนที่จะตะกายดินแล้วกระโจนเข้าป่าหนีไป จะว่าไปแล้วตลอดเส้นทางการเดินธุดงค์ของท่าน ล้วนต้องผจญกับวิญญาณร้ายและสัตว์ป่าอยู่บ่อยครั้ง แต่ท่านก็สามารถผ่านพ้นอุปสรรค์นั้นมาได้ด้วยเมตตา ปัญญาและสติครับ จนในที่สุดท่านก็เดินธุดงค์มาจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบรรลังค์ทิพย์ อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่นอยู่หลายปี ก่อนที่จะออกธุดงค์ต่อมายังเขาภูผาแดงและวัดอุดมคงคาคีรีเขตในที่สุด ที่นั่นท่านจึงได้พบกับ พระอาจารย์มหาสีทน กาญจโน ยอดมือกระบี่สายพระป่ากรรมฐานที่จำพรรษาอยู่รอหลวงปู่ผาง จิตตคุตโต ณ วัดอุดมคงคาคีรีเขตแห่งนี้มาเป็นเวลานับสิบปีแล้ว เพื่อนๆ ครับ เรื่องของหลวงปู่ผาง จิตตคุตโต นั้นค่อนข้างยาวคงต้องขยายความกันในตอนต่อไป เพราะเส้นทางในพระพุทธศาสนาของท่านไม่ได้มีแค่เพียงห่มผ้าและบิณฑบาต สวัสดีครับ ขอขอบพระคุณ เอกสารอ้างอิง บันทึกประวัติและปฎิปทาของหลวงปู่ผาง จิตตคุตโต / ภาพบางส่วนจาก อินเตอร์เนต คุณพรชนก สุขพงษ์ไทย สำหรับภาพถ่าย เพื่อนต่อกับคำแนะนำ และคุณสมบูรณ์ ร้านนายฮ้อ สระบุรี สำหรับกำลังใจที่มีให้เสมอครับ
|
ถึง บล็อกเกอร์ ทุกท่าน โปรดอ่าน
ด้วยทาง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้ติดต่อขอความร่วมมือ มายังเว็บไซต์และเว็บบล็อกต่าง ๆ รวมไปถึงเว็บบล็อก OKnation
ห้ามให้มีการเผยแพร่ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ บนเว็บ blog โดยกำหนดขอบเขตของสิ่งที่ห้ามทำ และสามารถทำได้ ดังนี้
ห้ามทำ - การใส่ผลงานเพลงต้นฉบับให้ฟัง ทั้งแบบควบคุมเพลงได้ หรือซ่อนเป็นพื้นหลัง และทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือ copy code คนอื่นมาใช้ - การเผยแพร่ file ให้ download ทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือฝากไว้ server คนอื่น สามารถทำได้ - เผยแพร่เนื้อเพลง ต้องระบุชื่อเพลงและชื่อผู้ร้องให้ชัดเจน - การใส่เพลงที่ร้องไว้เอง ต้องระบุชื่อผู้ร้องต้นฉบับให้ชัดเจน จึงเรียนมาเพื่อโปรดปฎิบัติตาม มิเช่นนั้นทางบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ จะให้ฝ่ายดูแลลิขสิทธิ์ ดำเนินการเอาผิดกับท่านตามกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์
OKNATION
กฎกติกาการเขียนเรื่องและแสดงความคิดเห็น
1 การเขียน หรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต้องไม่หมิ่นเหม่ หรือกระทบต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
2. ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่นในทางเสียหาย หรือสร้างความแตกแยกในสังคม กับทั้งไม่มีภาพ วิดีโอคลิป หรือถ้อยคำลามก อนาจาร 3. ความขัดแย้งส่วนตัวที่เกิดจากการเขียนเรื่อง แสดงความคิดเห็น หรือในกล่องรับส่งข้อความ (หลังไมค์) ต้องไม่นำมาโพสหรือขยายความต่อในบล็อก และการโพสเรื่องส่วนตัว และการแสดงความคิดเห็น ต้องใช้ภาษาที่สุภาพเท่านั้น 4. พิจารณาเนื้อหาที่จะโพสก่อนเผยแพร่ให้รอบคอบ ว่าจะไม่เป็นการละเมิดกฎหมายใดใด และปิดคอมเมนต์หากจำเป็นโดยเฉพาะเรื่องที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน 5.การนำเรื่อง ภาพ หรือคลิปวิดีโอ ที่มิใช่ของตนเองมาลงในบล็อก ควรอ้างอิงแหล่งที่มา และ หลีกเลี่ยงการเผยแพร่สิ่งที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือวิธีการใดก็ตาม 6. เนื้อหาและความคิดเห็นในบล็อก ไม่เกี่ยวข้องกับทีมงานผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซต์ โดยถือเป็นความรับผิดชอบทางกฎหมายเป็นการส่วนตัวของสมาชิก คลิ้กอ่านเงื่อนไขทั้งหมดที่นี่"
OKnation ขอสงวนสิทธิ์ในการปิดบล็อก ลบเนื้อหาและความคิดเห็น ที่ขัดต่อความดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของบล็อกและเจ้าของความคิดเห็นนั้นๆ
|
||
![]() ![]() |
<< | ตุลาคม 2011 | >> | ||||
อา | จ | อ | พ | พฤ | ศ | ส |
1 | ||||||
2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 |
9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 |
16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 |
23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 |
30 | 31 |