หลังเกิดเหตุการณ์ควงเอ็ม ๑๖ ไล่ยิงวัยรุ่นกลางเมืองพัทลุง เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๖ โดยชายวัยรุ่นคนดังกล่าวไม่ได้รับอันตรายจากกระสุนปืนแต่อย่างใด คงเป็นแค่รอยฟกช้ำเท่านั้น ส่วนเด็กน้อยวัยไม่ถึงสิบขวบที่อยู่ในรถคันเกิดเหตุก็ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยที่เกิดจากเศษของกระจกรถที่แตกทิ่มแทง ในเวลาต่อมาได้รับการเปิดเผยว่า ชายวัยรุ่นผู้นี้แขวนวัตถุมงคลของ “พระครูสิทธิการโสภณ” หรือ “พ่อท่านผ่อง ฐานุตฺตโม” เจ้าอาวาสวัดแจ้ง ตำบลชัยบุรี อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง จากข่าวดังกล่าวทำให้ประชาชนจำนวนมากต่างแห่แหนไปขอวัตถุมงคลจนหมดจากวัดในเวลาไม่นานนัก หนึ่งเดือนถัดมาหลังเกิดเหตุ ผมได้รับความอนุเคราะห์จากพี่อ้วน (คุณมนูญ เตโช) ซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นพี่ได้อาสาขับรถพาผมเข้ามากราบนมัสการพ่อท่านผ่อง ระหว่างทางอีก ๒ กิโลเมตรก่อนถึงวัด พวกเราพบคนหนังเหนียวแห่งท้องทุ่งชัยบุรี กำลังสาละวนกับการหว่านปุ๋ยลงในนาข้าว ด้วยความคุ้นเคย พี่อ้วนได้จอดรถแวะลงทักทาย โดยที่หนุ่มน้อยคนนั้นก็ตอบรับด้วยการโบกมืออยู่ในท้องนา จะว่าไปแล้ว “ชัยบุรี” เป็นชุมชนโบราณเล็กๆ ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานเกินกว่าสามร้อยปี ด้วยความที่ชัยบุรีเคยเป็นที่ตั้งเมืองพัทลุงในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี (สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ทำให้บรรยากาศโดยรวมภายในชุมชนแห่งนี้ยังคงมีกลิ่นอายของความเก่าและมนต์ขลังอยู่ในทุกอณูของพื้นที่ครับ โดยส่วนตัวของผมในฐานะเป็นเยาวชนรุ่นใหม่ ถึงแม้จะไม่เคยมาเห็นสภาพของชุมชนแห่งนี้มาก่อน แต่เมื่อได้มาเยือนและมายืนริมท้องนาในเขตพื้นที่ของเมืองเก่าชัยบุรี ความหอมของกลิ่นดินและรอยยิ้มของชาวบ้าน โดยเฉพาะรอยยิ้มเผยมิตรภาพของหนุ่มน้อยหนังเหนียวที่เห็นได้ชัดถึงจะอยู่ไกลสุดสายตา ทั้งหมดนี้ล้วนมีส่วนช่วยให้ผมสามารถจินตนาการภาพในอดีตได้เป็นอย่างดีครับ ถึงตรงนี้ต้องบอกว่าธรรมชาติของพื้นที่ที่ยังคงมีสภาพเป็นป่าเขา / ภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่นการทำนาแบบโบราณ ที่อยู่บนพื้นฐานการผลิตแบบดั้งเดิม รวมไปถึงเรื่องของความเชื่อเช่นการคารวะธรรมชาติของข้าวคือแม่โพสพ ล้วนสร้างความสบายตาสบายใจและช่วยให้ผมเข้าใจถึงวิถีชีวิตแบบชาวเมืองลุงได้อย่างแท้จริงครับ ซึ่งกระบวนความคิดแบบนี้คือส่วนหนึ่งที่ “ตาหลวงผ่อง” หรือ “พ่อท่านผ่อง” ได้เพียรพยายามอนุรักษ์และรักษาไว้ครับ อาจกล่าวได้ว่าในทุกวันนี้หากไม่มีพ่อท่านผ่องคอยอนุรักษ์ไว้ สภาพความเป็นเมืองโบราณและวิถีชีวิตอาจถูกความเจริญรุกโหมกระหน่ำจนอาจจะสิ้นสภาพได้ครับ สายลมแห่งท้องทุ่งยามบ่ายต้อนรับเสียงทักทายภาษาใต้ หนุ่มหนังเหนียวชี้ให้พวกเราดูริ้วรอยบาดแผลที่เกิดจากคมกระสุนตามจุดต่างๆ ของร่างกาย รอยเขียวช้ำและความยับเยินเล่นเอาพวกเราต้องแอบหยุดหายใจไปชั่วขณะ พี่อ้วนเปรยว่าถ้าเป็นตัวแกโดนถล่มแบบไม่ทันรู้ตัวขนาดนี้ เห็นทีชีวิตของแกคงต้องหลุดลอยกลับบ้านเก่าไปตั้งแต่นัดแรกแล้วเพราะกระสุนนัดนี้เข้าเป้าตรงลำคออย่างพอเหมาะพอดี ผมพยักหน้ายอมรับ แต่ในใจอดที่จะคิดต่างไม่ได้ว่า อย่าว่าแต่โดนเลย เอาแค่ได้ยินเสียงปืนชีพจรของผมคงจะหยุดเคลื่อนเต้นแบบถาวร ระหว่างที่พวกเรากำลังสนุกกับการเอานิ้วจิ้มนับรอยเม็ดกระสุนบนร่างกายคนหนังเหนียว พี่อ้วนเล่าว่า เหตุการณ์ลอบทำร้ายโดยใช้อาวุธสงครามไล่ถล่มกันในจังหวัดพัทลุงนั้น เท่าที่แกจำได้เคยเกิดขึ้น ๒ ครั้ง โดยครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นที่บ้านน้ำตก อำเภอปากพะยูน ซึ่งแกเล่าว่าคนร้ายใช้อาวุธปืน เอชเค. ไล่ยิงถล่มจนรถพรุนทั้งคัน แต่คนขับรอดตายด้วยพุทธคุณของเหรียญพ่อท่านรื่น วัดหารเทา ที่แขวนอยู่บนคอ สำหรับครั้งที่ ๒ ก็คือรายของหนุ่มน้อยคนนี้นี่แหละ เพียงแต่ย้ายสถานที่เกิดเหตุมาถล่มกันในใจกลางเมืองพัทลุง “ยืนยันครับ แขวนตาหลวงผ่ององค์เดียว ชีวิตผมรอดตายเพราะบารมีของตาหลวง” เสียงของหนุ่มหนังเหนียว ตอกย้ำอย่างมั่นใจ ก่อนจะขอตัวไปทำงานต่อ ครับ....นานมาแล้วท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าว มีเด็กชายชาวนาวัยประมาณ ๙ ขวบ เขาเดินต้อนวัวออกจากคอกเพื่อนำไปเลี้ยงกลางทุ่งนา เด็กชายคนนี้มองเห็นเด็กๆ ในวัยใกล้เคียงกัน บางคนก็เลี้ยงวัว บางคนก็เลี้ยงควาย ซึ่งทุกๆ คนที่มาร่วมตัวกันอยู่กลางทุ่งนาล้วนมีสภาพไม่แตกต่างกันคือ บ้านยากจนและไม่ได้รับการศึกษา ซึ่งภาพของความลำบากและการขาดโอกาสได้ตกย้ำเข้าไปในความรู้สึกจนเป็นภาพฝังใจ กระทั่งความคิดอยากช่วยเหลือคนด้อยโอกาสได้ซึมลงในหัวใจของเขานับจากนั้น พ่อท่านผ่อง ฐานุตฺตโม คือเด็กชายชาวนาคนดังกล่าว แม้เรื่องที่ฝังใจจะผ่านวันเวลามาจวบจนท่านอายุ ๘๒ ปี แต่ภาพจากวันวาน ยังคงทำให้เจ้าอาวาสวัดแจ้งองค์นี้ มุ่งมั่นที่จะดำเนินชีวิตในทางธรรมให้สอดคล้องกับทางโลกเพื่อทดแทนแผ่นดินกำเนิด กระทั่งท่านได้รับการยกย่องให้เป็นพระนักพัฒนาและนักปฏิบัติแบบอย่าง ซึ่งคุณธรรมและจิตสาธารณะของท่านได้นำมาซึ่งการสร้างสรรค์สาธารณะประโยชน์ให้เกิดขึ้นมากมายในจังหวัดพัทลุง บางคนถึงกับขนานนามท่านว่า “ทานบารมีแห่งเมืองลุง” ครับ พ่อท่านผ่อง เกิดเมื่อวันพุธที่ ๔ เดือนมกราคม ๒๔๗๕ ณ บ้านหมู่ที่ ๓ ตำบลโตนดด้วน อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง โยมบิดา-มารดาของท่านชื่อ “นายห้วย-นางพูน อักษรทอง” ครอบครัวของท่านประกอบอาชีพทำนาครับ ย้อนกลับไปในชีวิตวัยเด็ก ท่านเล่าว่าชีวิตของท่านในช่วงนั้นลำบากมาก เพราะพ่อแม่ของท่านก็มีลูกหลายคน และในฐานะพี่ชายคนโตท่านต้องเสียสละความสุขในวัยเด็กไปกับการดูแลน้องๆ พร้อมกับช่วยเหลือพ่อแม่ทำงานทุกอย่าง พ่อท่านผ่องยิ้มก่อนเล่าต่อว่าชีวิตของท่านค่อนข้างเป็นมาตรฐานคือตื่นนอนตั้งแต่ตีสี่ เพื่อช่วยพ่อแม่ตำข้าว เสร็จจากตำข้าวก็ออกไปเลี้ยงวัว ก่อนที่จะมาจบลงตรงนำวัวที่ออกไปเลี้ยงกลับมาช่วยพ่อไถนา ท่านเล่าว่าในหมู่เพื่อนเด็กวัยเดียวกัน ท่านได้รับคำยกย่องจากผู้ใหญ่หลายคนว่าเป็นเด็กที่มีสติปัญญาแจ่มใสและใจบุญสุนทาน จนเมื่อท่านอายุได้ ๑๙ ปี ท่านพิจารณาแล้วเห็นว่าน้องๆ ของท่านก็โตพอที่จะช่วยเหลือพ่อแม่ได้แล้ว ท่านจึงได้ขออนุญาตพ่อแม่เพื่อบรรพชาเป็นสามเณร ในวันที่ ๔ มกราคม ๒๔๙๒ ณ วัดแจ้ง ตำบลชัยบุรี อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง โดยมี “เจ้าอธิการเซ็น อินทสโร” เป็นพระอุปัชฌาย์ และอุปสมบทเมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ณ วัดแจ้ง ในวันที่ ๓ มกราคม ๒๔๙๕ โดยมีเจ้าอธิการเซ็น อินทสโร วัดท่ามิหรำ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระพินิตธรรมกร (แดง) วัดปากสระ จังหวัดพัทลุง เป็นพระกรรมวาจารย์ และพระใบฏีกาหนู ปสนโน วัดปากสระ จังหวัดพัทลุง เป็นพระอนุสาวนจารย์ หลังจากอุปสมบทเรียบร้อย ท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิชากับพระเกจิอาจารย์อมตะแห่งเมืองพัทลุงคือ “เจ้าอธิการเซ็น อินทสโร วัดท่ามิหรำ” และ “พ่อท่านเค็จ วัดแจ้ง” พร้อมกับเข้ารับการศึกษาที่สำนักเรียนวัดคูหาสวรรค์ จังหวัดพัทลุง ก่อนจะเข้าไปเรียนต่อที่กรุงเทพจนจบประโยค ๔ ท่านเล่าว่าหลังจากใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพได้พักใหญ่ ท่านก็ได้รับนิมนต์กลับมายังจังหวัดพัทลุงและนั่นเองเป็นจุดเริ่มต้นให้ท่านได้ทำตามความตั้งใจเมื่อครั้งวันวาน คือการเป็นครูสอนธรรมะให้กับเด็กและสามเณรในจังหวัดพัทลุง “เราเห็นคนด้อยโอกาสมีเยอะ ก็คิดว่าจะทำอย่างไรดีคนพวกนี้ถึงจะมีโอกาส จังหวะดีที่ได้รับนิมนต์ให้มาสอนหนังสือ สมัยก่อนยังไม่มีโรงเรียนประชาบาล ก็ต้องอาศัยการสอนหนังสือ สอนธรรมะกันภายในวัด" "ตรงจุดนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะธรรมะจะสอนให้เราเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น พูดให้ง่ายคือธรรมะคือวิชาความรู้ที่สามารถนำมาช่วยผู้คนได้จริง” ท่านว่าหลักในการทำงานของท่านอย่างแรกเลยคือจะต้องยืนหยัดในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ อย่างที่สองคือการใส่ใจในรายละเอียดและสุดท้ายอย่างที่สามคือต้องมีความจริงใจที่จะเสียสละ “คนเราต้องยืนหยัดในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ เราเชื่อว่าคนทำดีต้องได้ดี ไม่ยึดหรือหลงติดในลาภ ยศ สรรเสริญ อะไรที่เราจะช่วยชาวบ้านได้ เราต้องพร้อมตลอดเวลา การจะเข้าถึงตรงนี้ได้ต้องมีความจริงใจเป็นสำคัญ" "ในความเป็นพระไม่ได้จบแค่บิณฑบาตหรือกวาดลานวัด ไม่มีคำว่าวันเสาร์อาทิตย์ ไม่ต้องถึงกับว่าต้องลงไปคลุกคลีญาติโยมแบบเช้าจรดค่ำหรอก เอาแค่เปิดใจ เปิดโอกาสให้ญาติโยมเข้ามาหาได้ตลอดเวลา แต่ต้องอยู่ในกรอบของความพอดี ความเหมาะสม” ท่านเล่าว่าจากครูสอนบาลี สอนธรรมะ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดแจ้ง ตามมาด้วยเป็นเจ้าคณะตำบลและเป็นพระอุปัชฌาย์ ว่ากันว่าในแต่ละปีจะมีคนมาขอบวชกับท่านไม่ต่ำกว่าร้อยคน อย่างเช่นกรณีของพี่อ้วน ซึ่งแกเล่าแบบติดตลกว่าพ่อท่านผ่องเหมือนพระประจำตระกูล คือบวชตั้งแต่รุ่นพ่อของแก ตัวแกเอง จนตอนนี้เป็นรุ่นหลาน แกว่าวัดแจ้งในทุกวันนี้นอกจากจะมีการพัฒนาให้ดีขึ้นแล้ว ภายในวัดยังมีชีวิตชีวาเพราะมีเสียงหัดท่องมนต์และเสียงสวดมนต์ของพระและฆราวาสอยู่ทั้งวันทั้งคืน ถ้าในที่นี้ “แสงเทียน” หมายถึงการเรียนรู้ การที่เทียนถูกจุดขึ้นที่ละเล่ม ที่ละเล่ม ย่อมหมายความว่า ต่อจากนี้เป็นต้นไป การรุกก้าวต่อไปดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นเท่าใดนัก “เราเริ่มบอกและทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่า การบวชหรือการส่งเสริมให้คนได้บวช ไม่ได้เป็นเป้าหมายรวมทั้งหมดของชีวิตเรา แต่การมีคนเข้ามาบวชนั่นหมายถึงเราก็จะมีคนที่มีคุณธรรมเพิ่มขึ้นทุกวันๆ จริงอยู่ถึงจะมองว่าเรื่องแบบนี้ไม่ใช่ว่าจะสร้างกันง่ายๆ แต่อย่าลืม ตราบใดก็ตามที่เราไม่ทิ้งความเพียรพยายาม ความเพียรพยายามก็จะไม่ทิ้งเรา” “อยากบอกว่าเทียนแต่ละเล่มคือตัวแทนของเราในการสร้างคุณธรรม มีคนที่ไม่รู้หนังสือเลยมาขอบวช เรารับไว้และส่งเสริมให้เขาได้เรียนรู้หนังสือ อย่างน้อยการต้องสามารถท่องคำขอบวชได้ เรื่องนี้คือความจำเป็น ประโยชน์อะไรกับการจะมาขอบวช โดยที่ไม่มีความรู้หรือคุณธรรมติดตัวออกไป อย่างน้อยก็ให้เขาได้รู้จักคุณค่าของการละอายใจต่อการทำบาป” ผมฟังแล้วรู้สึกได้ใจและสนับสนุนเข้าข้างพ่อท่านผ่องเต็มที่ครับ เพราะสำหรับชาวพุทธที่เฉียดสวดมนต์ภาวนาอย่างพวกเรา ศีลข้อเดียวยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันได้อย่างเยอะแยะ เทียนเล่มเดียวยังสามารถให้แสงสว่างยามค่ำคืนได้อย่างไพศาล เรื่องอะไรที่จะปล่อยให้เทียนที่จุดแล้วนับพันนับหมื่นเล่มในพัทลุงต้องเป็นการจุดที่เปล่าประโยชน์ แม้การรุกคืบเพื่อสร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นในจิตใจคนจะเป็นไปได้ค่อนข้างช้า แต่ท่านว่าสิ่งที่ท่านดีใจก็คือชาวบ้านรู้จักที่จะส่งบุตรหลานเข้ามาบวชมากยิ่งขึ้น ท่านว่ายิ่งมีคนมาบวชมากเท่าไร คำสอนของพระพุทธเจ้าก็จะได้รับการเผยแพร่มากขึ้นเท่านั้น หากแต่การเผยแพร่นี้ก็มิควรจำกัดอยู่แค่พระหนุ่มเณรน้อยเท่านั้น ท่านว่าชาวบ้านอย่างเราๆ ท่านๆ ก็สามารถเป็นผู้ที่เผยแพร่ได้ ปัญหาจึงมีอยู่ว่าการเผยแพร่นั้นควรใช้วิธีการอย่างไร ? พ่อท่านผ่องอมยิ้มก่อนตอบคำถามในประเด็นนี้ว่า “วิธีการชักจูงชาวบ้านให้เข้าวัดคือต้องปฏิบัติให้เขาดู” ท่านเล่าว่าในช่วงเข้าพรรษา ท่านจะต้องเป็นผู้นำพาญาติโยมสวดมนต์ทุกคืน หลังสวดมนต์เสร็จท่านก็จะให้พระลูกวัดผลัดเปลี่ยนกันขึ้นธรรมมาสน์เพื่อเทศนาทุกคืน ผมเรียนถามท่านว่า ทำไมถึงต้องเทศนาให้ญาติโยมฟังทุกคืน? “นี่แหละคือสิ่งสำคัญ หนูเห็นไหมคนที่มาไหว้พระสวดมนต์จะมีแต่คนแก่ๆ ทั้งนั้น ถ้าเราไม่เป็นผู้นำเขาจะสวดกันได้อย่างถูกต้องหรือ" "ส่วนการให้พระขึ้นธรรมาสน์นั้น ก็เพราะคนแก่ๆ เหล่านี้พอได้ฟังธรรมะจากวัดไปแล้วก็จะได้เอาคำสอนของพระพุทธเจ้าที่พระในวัดเทศนาไปสอนให้กับบุตรหลานของท่าน นี่คือสิ่งตอบแทนกับการที่ชาวบ้านตักบาตรตอนเช้าทุกๆ วันนะหนูเอ๋ย” ฟังแล้วอดยิ้มไม่ได้ กระบวนการความคิดของพ่อท่านผ่องนี่ช่างสร้างสรรค์จริงๆ แต่ก็ใช่ว่าปฏิภาณไหวพริบแบบนี้จะมีกับทุกๆ คนนะครับ ของแบบนี้มันต้องขึ้นอยู่กับปัญญาและประสบการณ์ที่สั่งสมมาด้วย เพราะคนส่วนใหญ่ในทุกวันนี้เข้าใจว่าพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่เป็นผู้ประกาศเผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอน ไม่ค่อยมีใครตกผลึกได้ว่าโดยแท้จริงแล้วพระธรรมคำสั่งสอนนี้ไม่มีข้อจำกัด ซึ่งหากเราไม่ได้มาสนทนากับพ่อท่านผ่องในวันนี้ เราก็จะไม่มีวันรู้และจะมองข้ามไปเลยว่าคนแก่คนเฒ่าที่เข้าวัดฟังธรรมก็มีหน้าที่เผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอนเช่นเดียวกัน มิน่าเล่าพ่อท่านผ่องถึงบอกว่าชาวบ้านธรรมดาก็สามารถทำภารกิจนี้ได้ ท่านเล่าว่าเหนือสิ่งอื่นใดก็คือตัวท่านเองก็ไม่ได้คาดคิดว่า วีการสอนธรรมะในแบบที่ให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมโดยไม่มีการบังคับหรือชวนเชื่อ จะมีส่วนช่วยสร้างอารมณ์ความรู้สึกร่วมแรงร่วมใจ ท่านว่าสามัญสำนึกของการร่วมมือคือจิกซอว์ชิ้นสำคัญในการเชื่อมธรรมะ ธรรมชาติ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน ท่านเล่าว่าท่านได้เปรียบในแง่ของการเป็นคนในพื้นที่ ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ท่านมีมุมมองค่อนข้างหลากมิติกับพัทลุง ท่านว่าพัทลุงไม่ได้มีค่าเป็นแค่เมืองที่มีความเก่าในเชิงประวัติศาสตร์เท่านั้น เพราะในทุกวันนี้การดำเนินชีวิตและกิจกรรมต่างๆ ที่ยังคงแอบอิงติดกับวัฒนธรรมความเชื่อเดิมๆ คือจุดสำคัญที่ทำให้พัทลุงมีความเหนือกว่าในแง่ของเรื่องราว ท่านสรุปว่ามันเป็นความสวยงามเฉพาะถิ่นที่สมควรอนุรักษ์ ด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่มีวันหมดอายุ ท่านได้ใช้จิตสาธารณะและผลงานเป็นใบโฆษณากวักมือเรียกให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม โดยท่านได้ยกกรณีของการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นคือ การสร้างประปาหมู่บ้านให้กับชุมชน เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนในเรื่องของน้ำกิน น้ำใช้ และกรณีของการมีส่วนร่วมของคนต่างท้องถิ่น เช่น การสร้างสะพาน “โสภณประชาชื่น” ซึ่งเป็นสะพานเหล็กข้ามคลองเพื่อให้ชาวบ้านสองฝั่งคลองได้ไปมาหาสู่กันได้อย่างสะดวก “ไม่ใช่ว่าเราคิดอย่างนี้ เพราะต้องการให้เป็นอย่างนี้ เราเป็นคนที่นี่ เติบโตที่นี่ การมองเห็นปัญหาแล้วยกขึ้นมาพิจารณาด้วยปัญญา จะสามารถอธิบายความเป็นจริงได้เป็นอย่างดี ถามว่าถ้าไม่สร้างสะพานเหล็กข้ามคลอง ทุกวันนี้เวลาจะขับรถข้ามฝั่งก็จะต้องเสียเวลาขับรถไปอ้อมอีกหลายกิโล” แล้วผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้างครับ? “ชาวบ้านก็ชื่นมื่นกันทั้งสองฝั่งคลองครับ เขาถึงตั้งชื่อสะพานนี้ว่า โสภณประชาชื่น” เสียงกระซิบของพี่อ้วน เรียกรอยยิ้มได้รอบวง “โสภณประชาชื่น” ผมทวนชื่ออีกครั้ง เพราะนึกไม่ถึงว่าชื่อนี้จะมีที่มาจากความชื่นมื่น (สะพานโสภณประชาชื่น) สายลมอ่อนๆ ยามเย็นทิ้งตัวลงลอยอ้อยอิงบริเวณด้านหน้ากุฏิของพ่อท่านผ่อง จากจุดนี้ท่านลุกขึ้นแล้วชี้ให้พวกเรามองออกไปทางซุ้มประตู ท่านว่าสีเขียวๆ ของธรรมชาติที่ตัดกับสีขมุกขมัวของท้องฟ้านั่นแหละ คือที่ตั้งของเมืองเก่าชัยบุรี ท่านว่าการเข้าอนุรักษ์เมืองเก่าชัยบุรีคือความตั้งใจของท่านที่มีฝังใจอยู่เมื่อครั้งวันวาน และในวันนี้ท่านก็ได้มีโอกาสลงมือทำมาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตสมณเพศของท่าน ท่านว่าสิ่งที่ท่านทำอยู่นี้หากจะรองบประมาณหรือรอคอยใครสักคนมาเป็นเจ้าภาพเห็นที่จะไม่ได้การณ์เป็นแน่ เมื่อท่านตกผลึกความคิดได้เสร็จสรรพ ท่านจึงหันมามองปัจจัยใกล้ตัวคือการนำพาตัวเองเข้าไปลงมือทำเพื่อเป็นแบบอย่าง ท่านว่ายามว่างท่านก็จะออกไปเก็บกวาดวาดแปลนวางแผนไปเรื่อย “อย่าคิดว่าจะทำสำเร็จเมื่อไร แต่ให้คิดว่าเมื่อทำสำเร็จแล้วชาวบ้านจะได้อะไร” ในประเด็นนี้พ่อท่านผ่องเปรียบเทียบให้พวกเราฟังว่า ดอกไม้หนึ่งดอก ชาวสวนมองเห็นเป็นราคา นักศึกษามองเห็นเป็นคุณค่า ดังนั้นภาพแท้จริงของดอกไม้คืออะไร จึงขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน เช่นเดียวกับเงื่อนไขของความสำเร็จที่มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องของระยะเวลาหรือปัจจัยแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งท่านย้ำว่า “ความสำเร็จ” ตามมุมมองของท่านคือ ชาวบ้านจะได้อะไรจากผลสำเร็จ ท่านว่านี่แหละคือความตั้งใจของท่านก่อนลงมือทำ ปัจจุบันด้วยวัยที่สูงถึง ๘๒ ปี ๕๒ พรรษา ทำให้ท่านมีสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงเท่าใดนัก แต่สิ่งที่ท่านยังคงปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอคือการนำชาวบ้านสวดมนต์และสงเคราะห์โลกตามเหตุตามผล ก่อนกราบนมัสการลากลับ ผมเรียนถามท่านตรงๆ ถึงเหตุผลที่ท่านชอบช่วยเหลือผู้คน.. “เขาก็คน เราก็คน พื้นฐานของเรากับเขาเท่ากัน” ว่ากันว่าการสละทรัพย์สิ่งของสมบัติของตนที่มีอยู่ให้แก่ผู้อื่น โดยมุ่งหวังจะจุนเจือให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์และความสุขด้วยความเมตตาจิตของตนนั้นในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า “ทานบารมี” ณ ที่นี้จึงกล่าวได้ว่า “พ่อท่านผ่อง ฐานุตฺตโม” เป็นพระที่เปี่ยมไปด้วยทานบารมีคู่จังหวัดพัทลุงอย่างแท้จริง สวัสดีครับ ขอบพระคุณ พี่อ้วน(คุณมนูญ เตโช) ที่ได้ช่วยอำนวยความสะดวกในทุกๆ เรื่อง คุณพรชนก สุขพงษ์ไทย กับภาพถ่ายสวยๆ เพื่อนต่อสำหรับคำแนะนำ และคุณสมบูรณ์ ร้านนายฮ้อ สำหรับกำลังใจที่มีให้เสมอครับ
|
ถึง บล็อกเกอร์ ทุกท่าน โปรดอ่าน
ด้วยทาง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้ติดต่อขอความร่วมมือ มายังเว็บไซต์และเว็บบล็อกต่าง ๆ รวมไปถึงเว็บบล็อก OKnation
ห้ามให้มีการเผยแพร่ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ บนเว็บ blog โดยกำหนดขอบเขตของสิ่งที่ห้ามทำ และสามารถทำได้ ดังนี้
ห้ามทำ - การใส่ผลงานเพลงต้นฉบับให้ฟัง ทั้งแบบควบคุมเพลงได้ หรือซ่อนเป็นพื้นหลัง และทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือ copy code คนอื่นมาใช้ - การเผยแพร่ file ให้ download ทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือฝากไว้ server คนอื่น สามารถทำได้ - เผยแพร่เนื้อเพลง ต้องระบุชื่อเพลงและชื่อผู้ร้องให้ชัดเจน - การใส่เพลงที่ร้องไว้เอง ต้องระบุชื่อผู้ร้องต้นฉบับให้ชัดเจน จึงเรียนมาเพื่อโปรดปฎิบัติตาม มิเช่นนั้นทางบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ จะให้ฝ่ายดูแลลิขสิทธิ์ ดำเนินการเอาผิดกับท่านตามกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์
OKNATION
กฎกติกาการเขียนเรื่องและแสดงความคิดเห็น
1 การเขียน หรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต้องไม่หมิ่นเหม่ หรือกระทบต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
2. ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่นในทางเสียหาย หรือสร้างความแตกแยกในสังคม กับทั้งไม่มีภาพ วิดีโอคลิป หรือถ้อยคำลามก อนาจาร 3. ความขัดแย้งส่วนตัวที่เกิดจากการเขียนเรื่อง แสดงความคิดเห็น หรือในกล่องรับส่งข้อความ (หลังไมค์) ต้องไม่นำมาโพสหรือขยายความต่อในบล็อก และการโพสเรื่องส่วนตัว และการแสดงความคิดเห็น ต้องใช้ภาษาที่สุภาพเท่านั้น 4. พิจารณาเนื้อหาที่จะโพสก่อนเผยแพร่ให้รอบคอบ ว่าจะไม่เป็นการละเมิดกฎหมายใดใด และปิดคอมเมนต์หากจำเป็นโดยเฉพาะเรื่องที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน 5.การนำเรื่อง ภาพ หรือคลิปวิดีโอ ที่มิใช่ของตนเองมาลงในบล็อก ควรอ้างอิงแหล่งที่มา และ หลีกเลี่ยงการเผยแพร่สิ่งที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือวิธีการใดก็ตาม 6. เนื้อหาและความคิดเห็นในบล็อก ไม่เกี่ยวข้องกับทีมงานผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซต์ โดยถือเป็นความรับผิดชอบทางกฎหมายเป็นการส่วนตัวของสมาชิก คลิ้กอ่านเงื่อนไขทั้งหมดที่นี่"
OKnation ขอสงวนสิทธิ์ในการปิดบล็อก ลบเนื้อหาและความคิดเห็น ที่ขัดต่อความดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของบล็อกและเจ้าของความคิดเห็นนั้นๆ
|
||
![]() ![]() |
<< | ธันวาคม 2014 | >> | ||||
อา | จ | อ | พ | พฤ | ศ | ส |
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | |
7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 |
14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 |
21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 |
28 | 29 | 30 | 31 |