อรุณสวัสดิ์สิงหนคร ดินแดนที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองท่ามกลางความแตกต่างและหลากหลายทั้งทางชีวภาพและวัฒนธรรมความเชื่อ ข้อมูลพื้นฐานระบุว่า “สิงหนคร” เป็นชุมชนเมืองโบราณและมีอดีตเป็นที่ตั้งของตัวเมืองสงขลา ก่อนที่สงขลาจะย้ายตัวเมืองมาอยู่ด้านทิศตะวันออกของปากอ่าวสงขลา เล่ากันว่า “สิงหนคร” แห่งนี้คือเมืองท่าสำคัญของภาคใต้ครับ โดยชาวต่างประเทศที่ถือได้ว่าเป็นทั้งคู่ค้าและผู้นำมาซึ่งวัฒนธรรมต่างถิ่นก็เช่น เปอร์เซีย,อาหรับ,อินเดีย ฯลฯ ล้วนเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เมืองท่าแห่งนี้มีความหลากมิติ ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม วิถีชีวิต ศาสนา ความเชื่อ ซึ่งถ้าเราจะพูดว่าพื้นที่ของ “สิงหนคร” ทุกตารางนิ้วล้วนมีเรื่องราว มีความเชื่อและความศรัทธามาตั้งแต่สมัยโบราณกาลก็คงจะไม่ผิดนักครับ เพราะในทุกวันนี้ความเชื่อและความศรัทธานั้นก็ยังคงดำเนินลมหายใจอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ตำนานหลวงพ่อทวดที่ต้องว่ากันตั้งแต่ครั้งกำเนิด ตำนานของ “เสือสงฟ้า” ที่สามารถหายตัวล่องหนได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ สายลมที่พัดโปรยละอองฝนผ่านเข้ามากระทบตัวพอเรียกความสดชื่น ทำให้ผมและเพื่อนๆ ตกผลึกกันได้ว่าสมควรจะเข้าไปนั่งเบียดกันในรถแทนการนั่งตากฝนบนท้ายกระบะตามสมัยนิยม เช้าตรู่วันใหม่ของสิงหนครค่อนข้างสงบต่างไปจากหาดใหญ่ที่เป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัด กล่าวคือชีวิตผู้คนที่นี่เริ่มต้นกันอย่างเรียบง่ายครับ การไม่เร่งรีบทำทุกอย่างเพื่อแข่งกับเวลาเหมือนผู้คนที่พักอาศัยในเมืองใหญ่ๆ ช่วยให้ชุมชนแห่งนี้ยังคงความน่ารักอยู่เสมอครับ พวกเราใช้เส้นทางที่เขาว่าเป็นทางลัดออกจากหาดใหญ่มุ่งหน้าสู่อำเภอสิงหนครครับ ระหว่างทางที่รถขับเคลื่อนผ่าน ธรรมชาติระหว่างทางทำให้ผมมีความรู้สึกเหมือนกับว่าทั้งสองฟากฝั่งของถนนเส้นนี้ราวกับจะถูกโรยไปด้วย พื่นที่ราบ ทะเลสาบ แหล่งชุมชน วัดและศาสนสถานของศาสนาต่างๆ สลับสับเปลี่ยนกันไปมา ในบางช่วงเราอาจจะเห็นวัดอยู่ท่ามกลางชุมชนของอิสลาม ห่างกันไปอีกนิดก็เป็นมัสยิดตั้งอยู่ใกล้กับหมู่บ้านของชาวไทยพุทธ อันนี้ยังไม่รวมศาลเจ้าหรือสถานประกอบกิจกรรมของคริสต์ศาสนานะครับ ซึ่งการที่มีศาสนสถานเกิดขึ้นมากมายนั้น สะท้อนให้พวกเราเห็นภาพว่า “ความเชื่อและความศรัทธา” ในเรื่องของศาสนานั้น ค่อนข้างมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต แนวความคิด ฯลฯ รวมไปถึงขนบธรรมเนียมของผู้คนในพื้นที่เป็นอย่างมากครับ โดยส่วนตัวแล้วสำหรับผมในฐานะพุทธศาสนิกชน การได้เห็นวัดวาอารามต่างๆ ถือเป็นเรื่องมงคลครับ แต่การที่ลงไปทักทายทำความรู้จักให้ได้ครบตามใจประสงค์เป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบาก หนึ่งคือเวลาของพวกเรามีจำกัด สองคือ ณ เวลานี้ดูเหมือนว่าธรรมชาติไม่ค่อยจะเป็นใจนัก เดาใจไม่ค่อยถูกครับ ประมาณว่าทั้งแดด ทั้งฝน สามารถหล่นจากบนฟ้าได้พร้อมๆ กัน ซึ่งการสลับฟันปลาของธรรมชาติในขณะนี้ ทำให้พวกเราตกลงใจเลือกที่จะนั่งมองหน้ากันในห้องผู้โดยสารแคบๆ มากกว่าจะออกไปใช้ชีวิตลำบากตากแดดตากฝน เพียงแต่ครั้งนี้พวกเราเหมือนจะนั่งมองหน้ากันนานมากจนผิดสังเกตุครับ เพราะไม่ว่าเวลาจะเดินผ่านไปนานเท่าไร เราก็ยังคงไม่สามารถค้นหาทางออกสู่ถนนใหญ่ได้ เหมือนสวรรค์เป็นใจส่งเด็กน้อยปั่นจักรยานคันเล็กตีคู่ขึ้นมากับรถของพวกเรา ดังนั้นเพื่อความถูกต้องและชัดเจนหลังเสร็จสิ้นการสอบถามก็คือการที่พวกเราต้องค่อยๆ เคลื่อนรถตามหลังเจ้าจักรยานน้อยคันนั้นออกมาจนพบถนนใหญ่ และก็เป็นไปตามคาดครับ เพราะในทันทีที่ได้สัมผัสถนนสายหลัก เสียงล้อรถบดถนนด้วยความเร็วชนิดที่คนขับเคยชินแต่คนนั่งมาด้วยไม่เคยชอบ ได้ช่วยสร้างบรรยากาศของการเดินทางให้คึกคัก ตื่นเต้นและมีสีสันขึ้นมาในทันที “อย่าเร็วนัก เดี๋ยวเลยวัด” เสียงของเจ้าเพชร-เพื่อนรุ่นน้องดังขึ้น ก่อนจะอธิบายต่อว่าวัดที่พวกเรากำลังจะไปชื่อ “วัดบ่อป่า” เป็นวัดเก่าแก่โบราณที่มีอายุมากกว่าร้อยปี ภายในวัดแห่งนี้มี “พ่อท่านเซ่ง รตนโชโต” พระเกจิอาจารย์อาวุโสของสงขลา จำพรรษาอยู่เพียงรูปเดียว คำถามจึงมีว่า เพราะเหตุใดทั้งวัดจึงมีพระแค่เพียงรูปเดียว? เจ้าเพชรว่าเขาเองก็ไม่แน่ใจ เอาเป็นว่าให้พวกเราไปถามกับเจ้าอาวาสคือพ่อท่านเซ่งเองดีกว่า แต่คำตอบที่เขาว่าแน่ๆ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ถามคือเรื่องที่ชาวบ้านเชื่อมือพ่อท่านเซ่งเป็นที่สุดคือ “การสะเดาะเคราะห์แก้ไขดวงชะตา” ว่ากันว่าทุกข์โศกโรคภัยล้วนมลายหายสิ้นภายใต้พิธีกรรมที่ขลังและศักดิ์สิทธิ์ของท่าน ซึ่งนอกจากเรื่องของดวงชะตาหรือเคราะห์ต่างๆ แล้ว เขาว่าคาถาอาคมและสมาธิจิตของพ่อท่านเซ่งก็ไม่น้อยหน้าพระเกจิอาจารย์องค์อื่น เพราะแค่จีวรเก่าๆ ท่านหยิบขึ้นมาเสกเป่าก็ยังมีพุทธคุณล้นเหลือสามารถช่วยชีวิตของผู้คนมานักต่อนักแล้วครับ เรื่องเล่ายังไม่ทันจบรถของเราก็เลี้ยวเข้าซุ้มประตูวัดที่มีสภาพเก่าและแคบ ผมขยับตัวขึ้นเกาะหน้าต่างรถที่กำลังค่อยๆ ขับเคลื่อนอย่างช้าๆ ไปบนถนนดินเล็กๆ ผมแปลกใจที่สิ่งปลูกสร้างภายในวัดอยู่ในสภาพทรุดโทรม ค่าของความเป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีศิลปะค่อนข้างแปลกตาแต่ต้องตกอยู่ในสภาพรกร้าง ทำให้ผมอดตั้งคำถามในใจไม่ได้ว่า นี่หรือคือวัดที่อยู่กลางใจเมือง? เพราะนอกจากหมาน้อยตัวเล็กๆ ที่นั่งๆ นอนๆ อยู่ริมทางอย่างมีความสุขแล้ว ผมก็ไม่เข้าใจว่าผู้คนหายไปไหนกันหมด ทั้งๆ ที่ก่อนมาก็พอทราบว่าชาวบ้านแถวนี้นิยมมาสะเดาะเคราะห์ที่วัดแห่งนี้กันเยอะ แต่เมื่อเจ้าเพชรบอกว่า “ไม่รู้ว่าช่วงนี้เกิดอะไรขึ้น คนไม่ค่อยจะเข้าวัด เอาแต่เข้ากรุงเทพ” คำพูดของเขาทำเอาผมต้องแอบยิ้มไม่กล้าถามต่อ จะว่าไปแล้วความเก่าและความเงียบที่พวกเราพบ โดยส่วนตัวผมว่ามันมีส่วนที่ช่วยขับเน้น “วัดบ่อป่า” ให้มีความขลังและงามสง่าได้อย่างน่าเกรงขามครับ ที่พูดอย่างนี้เพราะว่าเพื่อนๆ บางคนถึงกับยกมือขึ้นประนมไหว้ในทันทีที่เข้าเขตวัด นอกจากนี้ในภาพรวมผมค่อนข้างชื่นชมกับความคลาสสิคของศิลปะที่ปรากฏอยู่บนสิ่งปลูกสร้าง จะว่าเป็นศิลปะแบบไทยแท้หรือไทยจริงก็ไม่ใช่เสียทั้งหมด เพราะมันเป็นศิลปะเชิงช่างที่แฝงและอบอวลด้วยกลิ่นอายของวัฒนธรรมจีนและวัฒนธรรมเปอร์เซีย เอาเป็นว่าถ้ามองโดยภาพรวมแล้วความงดงามกระแทกตาชัดเจนครับ ซึ่งเรื่องนี้ผมคิดว่าเราต้องขอบคุณในความวิริยะอุตสาหะ / ความละเอียดอ่อน และอารมณ์อันสุนทรีย์ของผู้คนในสมัยโบราณครับ เพราะท่านเหล่านี้คือผู้ที่ได้ฝากฝีมือสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมไว้ในแผ่นดินธรรมนามว่า “วัดบ่อป่า” ตำบลชิงโค อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งทั้งหมดนี้ถ้าไม่ใช่เพราะความศรัทธาอันแรงกล้าที่มีต่อพระพุทธศาสนาแล้ว ผมเองก็ไม่รู้ว่าจะยกเหตุผลอะไรขึ้นมาอ้างอิง จะรู้สึกเสียดายก็ตรงที่ว่าในทุกวันนี้เท่าที่ทราบก็ไม่เห็นว่ามีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องยื่นมือเข้ามาช่วยอนุรักษ์หรือซ่อมแซมแต่อย่างไร กลับปล่อยให้ศิลปะและฝีมือเชิงช่างที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของท้องถิ่นต้องค่อยๆ ทรุดโทรมและอีกไม่นานก็คงจะเสื่อมสลายไปกับกาลเวลา ระยะไม่ถึงร้อยเมตรบนถนนดินจากซุ้มประตูหน้าวัดมาสิ้นสุดที่กุฏิไม้หลังเก่าสภาพทรุดโทรม เจ้าเพชรบอกว่าเป็นกุฏิที่พ่อท่านเซ่งใช้จำพรรษา เราพบคุณลุงท่านหนึ่งกำลังนั่งเตรียมของเพื่อจะทำพิธี โดยความสำคัญแล้วผมว่าเอาแค่เฉพาะกุฏิหลังนี้อย่างเดียวก็ทำให้ผมรู้สึกถึงความสมถะและความเข้มแข็งทางอาคมของพ่อท่านเซ่งแล้วครับ ว่ากันว่ากว่า ๕๐ ปีแล้วที่กุฏิหลังนี้ถูกใช้เป็นสถานที่บริการสงเคราะห์และช่วยเหลือชีวิตของผู้คนมานักต่อนักแล้ว ไล่กันตั้งแต่เรื่องเกิด เรื่องของหาย ฯลฯ จนถึงเรื่องเคราะห์ร้ายขนาดตายจากครับ “เรื่องการสะเดาะเคราะห์ มันเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านสมัยก่อนโดยเฉพาะตามต่างจังหวัด ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยให้ความสนใจแล้ว บางคนก็ตีค่าว่าเป็นเรื่องเหลวไหล อยากบอกว่าวิชาโบราณต่างๆ ล้วนมีคุณเฉพาะตัว วิชาเสน่ห์ทำให้เกิดเสน่ห์ วิชาเมตตาก็ให้ผลทางเมตตา แต่วิชาสะเดาะเคราะห์นี้คนชอบมองข้าม ทั้งๆ ที่ความจริงต้องบอกว่าเป็นวิชาที่ใช้ได้เลยนะ คือตัวของวิชาก็มีเสน่ห์ดึงดูดใจให้คนเข้ามาหา พิธีกรรมและการแก้ไขก็คือการฝึกจิตใจให้เกิดความเมตตา” น้ำเสียงเข้มของพ่อท่านเซ่งคือคำตอบว่า ทำไมทุกวันนี้ท่านถึงตัดสินใจทำในสิ่งที่สร้างความเหน็ดเหนื่อยให้กับตัวเอง “อย่าพูดว่าเก่งเลย เราแค่พอทำได้ เดิมทีไม่ได้ตั้งใจจะทำขนาดนี้ แต่พอมองเห็นว่าเรื่องดวงชะตาเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ มองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของความเป็นคนไทย มันได้ลงไปสัมผัสกับผู้มีทุกข์ทางใจอย่างจริงๆ มันก็เลยทำกันมายาวนานจนทุกวันนี้ถือเป็นเรื่องปกติ” พ่อท่านเซ่ง รตนโชโต เป็นพระรูปร่างใหญ่และค่อนข้างเจ้าเนื้อครับ ใบหน้าของท่านที่เจือด้วยรอยยิ้มเสมอทำให้เมื่อมองด้วยสายตาแล้วไม่น่าเชื่อว่าท่านเพิ่งจะผ่านอายุ ๘๔ ปีมาได้ไม่นานนัก จริงอยู่ถึงการเคลื่อนไหวของท่านจะเชื่องช้าลงไปบ้างก็ด้วยสุขภาพและอายุ แต่ยามใดก็ตามที่มีคำร้องขอความช่วยเหลือจากชาวบ้าน ท่านก็จะรีบกุลีกุจอลุกขึ้นมาให้ความช่วยเหลือในทันที เอาว่าเห็นท่านเป็นแบบนี้แต่ในด้านจิตใจของท่านแล้วเป็นที่รู้กันเลยว่า “ความเข้มแข็งของจิตใจ” ท่านมีมากชนิดที่คนทั่วไปก็คิดไม่ถึงครับ “ตั้งแต่จำความได้ ผมไม่เคยเห็นพ่อท่านเซ่งปฏิเสธการทำพิธีสะเดาะเคราะห์เลย ถึงบางครั้งท่านจะป่วยนอนซม แต่พอได้เวลาท่านจะต้องประกอบพิธี ท่านก็จะแข็งแรงขึ้นมาแบบผิดหูผิดตา โดยเฉพาะเวลาสวด น้ำเสียงของท่านจะดังกังวานมาก” คุณลุงย้อนความประทับใจให้พวกเราฟังด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ก่อนจะหันหน้ากลับไปสาละวนกับการเตรียมของ พระอธิการเซ่ง รตนโชโต หรือ “พ่อท่านเซ่ง” เกิดเมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๓ ที่เมืองไทรบุรี (ปัจจุบันคือรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย) โยมบิดา-มารดา ชื่อ “นายสง-นางจู้ พุทธสุภะ” ชื่อเดิมของท่านคือ “เซ่ง พุทธสุภะ” ครอบครัวของท่านประกอบอาชีพทำนาทำสวนครับ ถึงในวันนี้ระยะเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานแต่ความทรงจำในวัยเยาว์ของท่านยังคงแจ่มใสชัดเจนอยู่ครับ ท่านเล่าว่าตอนที่ครอบครัวของท่านย้ายจากไทรบุรีมาอยู่ที่ตำบลชิงโค อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ท่านมีอายุได้ ๕ ขวบ โยมพ่อของท่านได้นำท่านเข้าเรียนที่โรงเรียนประชาบาลวัดบ่อป่าจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ซึ่งในช่วงนั้นถือเป็นการศึกษาสูงสุด เพราะผู้ที่จบระดับนี้สามารถรับราชการเป็นครูบาอาจารย์ได้ แต่ท่านเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่ช่วยเหลือบิดามารดาทำสวนทำนาตามพื้นเพเดิม พร้อมกับใช้เวลาว่างศึกษาวิชาอาคมกับโยมพ่อของท่าน ซึ่งอดีตเป็นเสือเก่าและมีชื่อเสียงโด่งดังในเขตคาบสมุทรสทิ้งพระ ท่านเล่าว่าพ่อของท่านเป็นลูกศิษย์สำนักเขาอ้อ ชาวบ้านในสมัยนั้นรู้จักโยมพ่อของท่านดีในนาม “เสือสงฟ้า” ซึ่งในเรื่องของความขลังแล้วต้องบอกว่ามีไม่จำกัดครับ เพราะเสือสงฟ้า ได้ชื่อว่ามีผู้มีอาคมดี หนังเหนียว สามารถกำบังตนล่องหนหายตัวได้ เคยถูกทางการจับกุมตัวแต่โยมพ่อของท่านก็สามารถใช้มนต์สะกดและหลบหนีออกมาได้ สำหรับเรื่องที่อยู่ในความทรงจำของผู้คนจนทุกวันนี้คือ เหตุการณ์ตอนที่เสือสงฟ้า ถูกตำรวจตามล่าและหนีขึ้นไปอยู่บนโรงหนังตะลุง ซึ่งกำลังตำรวจได้พากันล้อมโรงหนังตะลุงไว้ทั้งหมด แต่ครั้นเมื่อขึ้นไปค้นบนโรงหนังก็หาตัวเสือสงฟ้าไม่พบครับ พ่อท่านเซ่ง อุปสมบทเมื่ออายุครับ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ณ วัดบ่อป่า เมื่อวันที่ ๕ กรกฏาคม ๒๔๙๓ โดยมี “เจ้าอธิการซั่น ฐิติยโส” วัดบ่อสระ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการแจ้ง ปุรโส เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และจำพรรษา ณ วัดบ่อป่า เพื่อสะดวกในการอุปฐากและศึกษาพระธรรมวินัยกับพระอุปัชฌาย์ จนมีความแตกฉานเป็นที่ยอมรับของพระอาจารย์ ท่านจึงได้ขออนุญาตจากเจ้าอธิการซั่น ออกเดินธุดงค์จากสงขลาเข้าสู่กรุงเทพ เพื่อจะได้ศึกษาเพิ่มเติมในด้านของจุลอภิธรรมและวิปัสสนากรรมฐาน ท่านเล่าว่าสมัยนั้นบ้านเมืองยังคงมีสภาพเป็นป่าเป็นดง ถึงอันตรายจากสัตว์ร้ายหรือสิ่งเร้นลับจะมีมาก แต่ท่านก็ไม่เคยสะกดความว่าหวาดกลัวไว้ในใจ ท่านว่าคนเราเกิดมาก็ต้องตายทั้งนั้นถือเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ของให้ดำรงตนอยู่ในความไม่ประมาท ซึ่งท่านว่าผลของการออกเดินธุดงค์ และการฝึกวิปัสสนากรรมฐาน กับครูบาอาจารย์ที่มีความรู้อย่างแท้จริง คือ “พระพิมลธรรม (อาจ)” เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ได้หล่อหลอมให้ท่านเกิดการตกผลึกสามารถนำวิชาความรู้ต่างๆ ที่มีอยู่ออกมาใช้สงเคราะห์คนในทุกวันนี้ พ่อท่านเซ่งได้ชื่อว่าเป็นพระที่มีอาคมขลังครับ โดยเฉพาะในปี ๒๕๐๐ ที่ท่านกลับจากรุงเทพมาจำพรรษา ณ วัดบ่อป่า เล่ากันว่าประสบการณ์จากตะกรุดและผ้ายันต์ของท่านได้สร้างประสบการณ์ให้แก่ผู้ที่พกพามากมาย โดยเฉพาะลูกศิษย์ของท่านซึ่งเป็นทหารปฏิบัติภารกิจปราบปรามคอมมิวนิสต์ ได้ถูกล้อมยิงที่ป่าในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช แต่อนิจจาถึงลูกกระสุนจะไม่สามารถทำอันตรายได้ แต่มันก็ได้ทิ้งร่องรอยของคมกระสุนไว้บนร่างกายชนิดที่ผู้เห็นสภาพต้องขนหัวลุก จริงอยู่ถึงประสบการณ์ของท่านจะชัดเจน แต่ทว่าในทางกลับกันก็ต้องบอกว่ามีน้อยคนนักที่จะรู้จักหรือคุ้นเคยกับชื่อของท่านครับ เพราะตลอดระยะเวลากว่า ๖๐ ปีกับชีวิตใต้ร่มกาสาวพัสตร์ พ่อท่านเซ่งยังคงเลือกที่จะใช้ชีวิตง่ายๆ อย่างสมถะและสันโดษ โดยมิได้ใส่ใจในชื่อเสียง ท่านยังคงตั้งหน้าตั้งตาสงเคราะห์ผู้คนด้วยวิชาโหราศาสตร์ สะเดาะเคราะห์ต่อชะตา ฯลฯ ซึ่งคุณลุงที่รอทำพิธีบอกกับพวกเราว่า ถึงพ่อท่านเซ่งจะมีชื่อเสียงไม่มากนัก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับพระเกจิอาจารย์ร่วมรุ่น แต่ชื่อของท่านกลับเป็นที่ยอมรับและอยู่ในความทรงจำของผู้คนเสมอ แกว่าไม่ต้องดูอะไรมาก เอาแค่ทุกวันนี้ไม่ว่ารุ่นเล็กรุ่นใหญ่ผมดำผมขาวยังต้องมาพึ่งบริการสะเดาะเคราะห์ของท่านอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเด็กเกิด ของหาย ญาติกำลังจะตาย ฯลฯ ซึ่งความโดดเด่นของท่านตรงวิชานี้ได้ครองใจมหาชนจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของท่านไปแล้ว ผมเรียนถามท่านว่า สาเหตุอะไรที่วิชาโหราศาสตร์ / พิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ หรือวิชาอื่นที่ออกแนวๆ นี้ยังคงได้รับความนิยมและร่วมสมัยอยู่ในทุกวันนี้? พ่อท่านเซ่งยิ้มเล็กน้อยก่อนจะตอบว่า “ผลที่เกิดจากการสะเดาะเคราะห์คือเหตุหนึ่ง ซึ่งการตรวจดวงชะตาหรือพิธีกรรมถือเป็นเรื่องประกอบ สิ่งสำคัญในการทำคือความรู้ในวิชา ความเข้าใจในสาเหตุที่เกิดและจิตใจที่ต้องเมตตา คือต้องตั้งใจและทำมันให้ดีที่สุด” “วิชาสะเดาะเคราะห์ ทำนายดวงชะตา ดูฤกษ์ยาม มีความแตกต่างจากวิชาไสยศาสตร์อย่างอื่นคือทุกสิ่งเกิดจากการตรวจสอบตามข้อเท็จจริงและหลักวิชา ไม่ได้เกิดจากการหลับตาแล้วสมมุติเอา โชคดีที่เรามีครูดีทำให้เรามีพื้นฐานดี ไม่ใช่ตรวจพบอย่างนี้ แล้วไปแก้ไขอีกอย่างอื่น” ท่านว่าเห็นพูดคุยกันสนุกๆ ง่ายๆ แต่เวลาตรวจสอบกันจริงจังแล้วมันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะบางครั้งก็เจอปัญหาที่ไม่คาดคิดมาก่อน เช่นบางครั้งคนที่เข้ามาไม่รู้อะไรเลยจำไม่ได้แม้แต่วันเกิด บางคนก็มาแบบไม่มีรายละเอียดให้ตรวจเลย ฉะนั้นจึงต้องเป็นหน้าที่ของท่านต้องอาศัยการเทียบเคียงและประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นตัวช่วย แต่ก็มีบางครั้งที่ต้องอาศัยแรงครู ซึ่งพ่อท่านเซ่งสรุปสั้นๆ ว่า “ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องที่อธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์ไม่ได้ มันเป็นปัจจัตตัง” ท่านเล่าว่าโดยส่วนตัวแล้วท่านเชื่อมั่นในคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นที่สุด แต่ในอีกทางหนึ่งท่านก็มีความเชื่อและให้ความเคารพในเรื่องของครูบาอาจารย์ ท่านว่าทุกครั้งที่จะประกอบพิธี ท่านจะต้องจุดธูปอธิษฐานถึงคุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ รวมไปถึงดวงวิญญาณของครูบาอาจารย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ โดยเฉพาะ “ขุนลอยฟ้าโพยมหน” (หนังขับ ดีหลวง) อดีตหนังตะลุงหลวง ซึ่งได้ใช้วัดบ่อป่าแห่งนี้เป็นสถานที่หัดลูกศิษย์เล่นหนังและตีเครื่อง เนื่องจากท่านมองว่า การที่ท่านเจริญรุ่นเรืองในพระพุทธศาสนาและจำพรรษาอยู่ภายในวัดบ่อป่าอย่างมีความสงบได้ ส่วนหนึ่งเกิดจากความอ้อนน้อมถ่อมตนและไม่ละเมิดคำครู “ทุกวันนี้คนเราหลงลืม เรื่องโบราณต่างๆ ไปหมดแล้ว การหลงลืมทำให้ขาดความเคารพ สมัยก่อนตอนเดินธุดงค์เวลาเป็นไข้ไม่สบายก็รักษาตัวเองได้ ขบฉันของในป่าเพื่อต้านทานโรคในป่า ก็ช่วยให้สามารถดำรงอยู่ได้ วิชาความรู้ของคนโบราณล้ำลึกและลึกซึ้งมาก จะพูดว่าถ้าไม่มีคนโบราณ ก็คงไม่ได้มีแผ่นดินไทยอย่างทุกวันนี้” “ถ้าในวันนั้น ไม่มีนายหนังขับ เราจะมีต้นแบบที่ดีสำหรับเรียนรู้เหรอ สมัยก่อนคนจะเป็นนายหนังได้ ต้องครบเครื่องนะ วิชาอาคม ลูกล่อ ลูกชน ต้องเยอะ มันเป็นการแข่งขัน เป็นชีวิตจริงของคนโบราณ การขาดความรู้ เท่ากับว่ามองไม่เห็นคุณค่าที่ซ่อนอยู่ภายใน และเมื่อมองไม่เห็นคุณค่า อีกไม่นานความรู้โบราณเหล่านี้ก็จะสูญหายไป” ปัจจุบันด้วยสังขารร่างกายและวัยที่สูงถึง ๘๔ ปี จะทำให้พ่อท่านเซ่งมีสุขภาพที่ไม่แข็งแรงนัก แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนเดิมและไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย คือความเมตตาและสงเคราะห์ผู้คนที่มีทุกข์ทางใจด้วยการสะเดาะเคราะห์ ถึงทุกวันนี้ด้วยความชราจะทำให้ท่านต้องลดการรับกิจนิมนต์ลงและหยุดกิจกรรมบางอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่ท่านดำเนินมาตลอดชีวิตสมณเพศและไม่เคยหยุดเลยคือ สวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น นั่งเจริญสมาธิ ก่อนจะพักผ่อนอยู่บนกุฏิเพื่อรอรับญาติโยมที่จะเข้ามาหา “เราพิจารณาตัวเองแล้วว่า ตัวเราเองก็คือพระสงฆ์ธรรมดาๆ รูปหนึ่งเท่านั้น การมีคนเข้ามาหาหรือเข้ามาให้สะเดาะเคราะห์ เพราะเขาเชื่อมั่นในความเป็นพระ เชื่อมั่นในวิชาอาคมของเรา คนเราไม่ได้เก่งไปทุกอย่างหรอก เลือกเอาสักอย่างที่ชำนาญแล้วทำมันด้วยความตั้งใจ ผลที่ได้จากการช่วยคนให้พ้นทุกข์และพบความสุข คือสิ่งตอบแทนที่ดีสำหรับเรา ไม่ใช่ชื่อเสียง ถึงเราจะแก่แล้วก็ตามเราก็ยังอยากได้ผลตอบแทนตรงนี้” พ่อท่านเซ่งกล่าวทิ้งท้ายพร้อมเสียงหัวเราะ ก่อนจะขอตัวไปประกอบพิธีสะเดาะเคราะห์ให้คุณลุงที่นั่งรออยู่ ก่อนกลับผมยกกล้องขึ้นเล็งเพื่อเก็บรายละเอียด มองผ่านเลนซ์ไปบนกุฏิ ภาพกระถางธูปหน้าโต๊ะหมู่บูชาทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ที่เต็มไปด้วยก้านธูปเล็กๆ ปักจนแน่นเต็ม ถัดไปในระนาบเดียวกัน ภาพของน้ำตาเทียนที่ล้นเชิงเทียนและไหลออกมากองรวมกันจนเป็นก้อนเทียนขนาดใหญ่ ในขณะที่เทียนใช้แล้วอีกจำนวนมากถูกจัดเก็บไว้ในถาดขนาดใหญ่ข้างกุฏิ “ที่นี่เก็บกันวันต่อวันนะไอ้หนู” เสียงของคุณลุงดังขึ้นอีกครั้ง ผมยิ้มและพยักหน้า คิดในใจว่าถ้าธูปเทียนเหล่านี้คือผลงานของท่าน การช่วยคนให้พบความสุขคือผลตอบแทนที่ท่านพอใจ มิน่าเล่าที่เขาว่า “วัดบ่อป่า” ไม่เคยไร้ควันธูปกลิ่นเทียน มันเป็นเพราะเหตุนี้นี่เอง....สวัสดีครับ ขอขอบคุณ คุณเพชร ร้านเพชรฉลูกัณฑ์ คุณพรชนก สุขพงษ์ไทย สำหรับภาพถ่าย เพื่อนต่อกับคำแนะนำ และคุณสมบูรณ์ ร้านนายฮ้อ สำหรับกำลังใจที่มีให้เสมอครับ
|
ถึง บล็อกเกอร์ ทุกท่าน โปรดอ่าน
ด้วยทาง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้ติดต่อขอความร่วมมือ มายังเว็บไซต์และเว็บบล็อกต่าง ๆ รวมไปถึงเว็บบล็อก OKnation
ห้ามให้มีการเผยแพร่ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ บนเว็บ blog โดยกำหนดขอบเขตของสิ่งที่ห้ามทำ และสามารถทำได้ ดังนี้
ห้ามทำ - การใส่ผลงานเพลงต้นฉบับให้ฟัง ทั้งแบบควบคุมเพลงได้ หรือซ่อนเป็นพื้นหลัง และทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือ copy code คนอื่นมาใช้ - การเผยแพร่ file ให้ download ทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือฝากไว้ server คนอื่น สามารถทำได้ - เผยแพร่เนื้อเพลง ต้องระบุชื่อเพลงและชื่อผู้ร้องให้ชัดเจน - การใส่เพลงที่ร้องไว้เอง ต้องระบุชื่อผู้ร้องต้นฉบับให้ชัดเจน จึงเรียนมาเพื่อโปรดปฎิบัติตาม มิเช่นนั้นทางบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ จะให้ฝ่ายดูแลลิขสิทธิ์ ดำเนินการเอาผิดกับท่านตามกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์
OKNATION
กฎกติกาการเขียนเรื่องและแสดงความคิดเห็น
1 การเขียน หรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต้องไม่หมิ่นเหม่ หรือกระทบต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
2. ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่นในทางเสียหาย หรือสร้างความแตกแยกในสังคม กับทั้งไม่มีภาพ วิดีโอคลิป หรือถ้อยคำลามก อนาจาร 3. ความขัดแย้งส่วนตัวที่เกิดจากการเขียนเรื่อง แสดงความคิดเห็น หรือในกล่องรับส่งข้อความ (หลังไมค์) ต้องไม่นำมาโพสหรือขยายความต่อในบล็อก และการโพสเรื่องส่วนตัว และการแสดงความคิดเห็น ต้องใช้ภาษาที่สุภาพเท่านั้น 4. พิจารณาเนื้อหาที่จะโพสก่อนเผยแพร่ให้รอบคอบ ว่าจะไม่เป็นการละเมิดกฎหมายใดใด และปิดคอมเมนต์หากจำเป็นโดยเฉพาะเรื่องที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน 5.การนำเรื่อง ภาพ หรือคลิปวิดีโอ ที่มิใช่ของตนเองมาลงในบล็อก ควรอ้างอิงแหล่งที่มา และ หลีกเลี่ยงการเผยแพร่สิ่งที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือวิธีการใดก็ตาม 6. เนื้อหาและความคิดเห็นในบล็อก ไม่เกี่ยวข้องกับทีมงานผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซต์ โดยถือเป็นความรับผิดชอบทางกฎหมายเป็นการส่วนตัวของสมาชิก คลิ้กอ่านเงื่อนไขทั้งหมดที่นี่"
OKnation ขอสงวนสิทธิ์ในการปิดบล็อก ลบเนื้อหาและความคิดเห็น ที่ขัดต่อความดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของบล็อกและเจ้าของความคิดเห็นนั้นๆ
|
||
![]() ![]() |
<< | มีนาคม 2015 | >> | ||||
อา | จ | อ | พ | พฤ | ศ | ส |
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 |
8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 |
15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 |
22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 |
29 | 30 | 31 |