แต่งโคลง โยงคำ ยำสนุก
นิกุลลองรวบรวมโคลงสี่สุภาพที่ฝึกแต่งเล่นไว้ ทีละบทสองบท จากหลายๆ ปี มาแบ่งปันอ่านกันให้สนุก ยิ่งออกเสียงให้มีคลื่นสูงต่ำ สั่งให้ เสียงดิ้น เสียงมีจังหวะ จะยิ่งเพลิน ลองแต่งเองออกเสียงเองก็ยิ่งสนุกสนาน
ถ้าให้ถึงขั้นตัวแม่ ต้องร้องเป็นทำนองเสนาะได้จะยิ่งสุดล้ำเลยนะคะ (นิกุลยังทำไม่ได้ค่ะ) สำหรับการนำไปอ่านออกเสียงเป็นทำนองเสนาะยิ่งทำให้แต่งยาก (เรียนรู้ได้จากคารมโคลงชั้นครูจากวรรณคดีต่างๆ; จะเอื้อน เห่ เฮ้ เห่ ตรงไหน ถ้าใช้คำตายจะร้องยาก ฯลฯ)
จะมีลิงค์คู่มือสั้นๆ ให้ในตอนท้ายเรื่องนะคะ
โคลงสี่สุภาพ
ทางโคลง...ทางใครทางมัน
๐ ทางโคลงพลางเล่นนั้น พลางหา1 สูงต่ำเสียงไคลคลา2 คลื่นล้ำ ขึ้นสูงส่งสูงพา2 - ราชื่น สุดนอ กลเล่นบังคับย้ำ ยั่วท้าทายสมอง3 ฯ (28 ก.ย. 2558)
ไคล -ไป คลา - เคลื่อน เดิน
1ขึ้นสูง(รูปสามัญ-เสียงจัตวา) นิยมว่าดี
2ส่งสูง(รูปสามัญ-เสียงจัตวา) นิยมว่าดี
3ลงสูง(รูปสามัญ-เสียงจัตวา) นิยมว่าดี
กลวิธีแต่งโคลง
"..โคลงสี่สุภาพ.." ๐ เอกเจ็ดโทสี่นั้น ผังโคลง กฎเพื่อกดยึดโยง ยั่วแท้ คิดคำเล่นจรรโลง พจน์แจ่ม สูงต่ำเสียงเสนาะแม้ แต่งแล้วคมนัย ฯ (22 พ.ย. 2557)
๐ ยกฟ้าบาทหนึ่งเปรี้ยง ราวสวรรค์ โทบาทตะลึงถึงงัน เวี่ยถ้อย บาทตรีคลี่ความครัน ขยายครบ บาทจัตวาสรุปร้อย ปล่อยข้อภษิตหมาย ฯ (7 พ.ย. 2558)
(โคลงกระทู้) "ฉันทลักษณ์ไทย" ๐ ฉัน_ทลักษณ์แจ่มแจ้ง ไทยแจรง ท_หราจุ่งแปลง ปรับใช้ ลักษณ์_บังคับพลิกแพลง พาเพริศ ไทย_รักอิสระไซร้ สนุกล้ำคำเพลิน ฯ (9 ม.ค. 2554)
ทหรา - เด็กๆ
(โคลงผวนรีรีข้าวสาร)
๐ เรียงถ้อย ร้อยเที่ยงแท้ ทำเพลิน เทอญพร่ำ ทำโคลงเชิญ ดุ่มดั้น ดันดุม ดุ่มดงเดิน ดังเด่น เดนดั่ง เดิมหดสั้น ส่งด้วยขยันเขียน ฯ (28 ม.ค. 2558)
(โคลงอักษรล้วน)
๐ ครึกครื้นเครงเคร่งเคร้ง โครมคราม ยลเยี่ยมยรรยงยาม ยกยั้ง โจงใจจ่างจวนจาม แจงแจ่ม ใครใคร่ครึกครื้นครั้ง เครื่องครึ้มครันครอง ฯ (24 พ.ค. 2560)
(โคลงอักษรล้วน) ๐ ยองยองยึกยักเยื้อง ยำเยง ลางล่องลองละเลง ล่อล้อ เผยผังผ่านโผงเผง ผองเผือ เจิมจิตเจียนจับจ้อ แจ่มแจ้งจึงจาร ฯ (24 พ.ค. 2560)
(โคลงสุภาพ)
๐ ลูกหลานลองเล่นไว้ โคลงไทย
โคลงเท่ตามยุคสมัย ใส่ถ้อย
คิดเห็นเรื่องราวไฉน ลองร่าย เสนอนอ
เจ้าบทเจ้ากลอนร้อย สืบเชื้อไทยสยาม ฯ (24 พ.ค. 2560)
(โคลงอักษรล้วนและอักษรสลับ) ๐ เผลอแผล็บผองเพื่อนพร้อม พึมพำ เขยิบขยับขับโคลงคำ คล่องคล้อง มิตรจิตมิตรใจจำ มิตรแจ่ม เคยขุ่นเคืองคับข้อง. คิดเค้นโคลงคลาย ฯ (31 ม.ค. 2558)
(โคลงกลบทกินนรเก็บบัว )
๐ ใจหม่นโลกหม่นด้วย ตามไป ใจสั่นโลกสั่นไหว หวั่นด้วย ใจปิดเพราะปิดใจ กลัวพ่าย หวังเฮย ใจอ่อนจำอ่อนย้วย เมื่อต้องสิเนหา ฯ (24 พ.ย. 2558)
(โคลงกระทู้และกลบท)
"ใจเจ้าก่อกรรม" ใจ _ คนเมืองบิดแท้ ตามใจ เจ้า _ บ่เห็นใจใคร เท่าเจ้า ก่อ _ เมืองเปลี่ยนกลไก สนองก่อ ตนนอ กรรม _ เร่งปฏิกิริยาเร้า โลกร้อนหลอมกรรม ฯ (27 มี.ค. 2559)
(โคลงผวนรีรีข้าวสาร)
"...ดื่มแต่พอควร..."
๐ สนุกดื่มอมฤตนั้น พลังแรง แผลงร่างข่มหมูแถลง ยั่วช้าง อย่างชัวร์นกเขาระแวง ระวังไม่ ขันนา ระไวมั่งนุชเคียงข้าง อาจร้างเสน่ห์หาย ฯ (22 พ.ค. 2559)
..
ขอจบห้วนๆ ด้วยร่ายนะคะ
๐ แค่อ่านก็พานสุข แค่คลุกก็เพลินฝัน แค่มั่นก็ลองเขียน แค่เพียรก็ยิ่งคึก อยากฝึกก็ลองพลัน หมั่นแม่ ฯ
เล่นอย่างนี้ยังช่วยให้ห่างจอคอมพิวเตอร์ได้บ้างค่ะ ขอให้มีความสุขกับคลังคำของเราคนไทยกันนะคะ
นิกุล
ป.ล.
ทางโคลงของนิกุลคือ เน้นการเล่าเรื่องสั้นๆ ให้คนอ่านรู้เรื่องและนึกเห็นภาพตามได้ เล่าเรื่องให้กระชับที่สุด ใช้คำเรียบง่ายที่สุด และมีมุมมองบางประการที่แปลกๆ หรือที่มีเฉพาะตัวเอง ถ้าติดขบขันได้จะทำ.... จึงไม่เน้นคำหวาน เพราะฉะนั้นการจะนำไปร้องในทำนองเสนาะอาจจะไม่เพราะเลย (ขี้เหร่)
นิกุลเริ่มได้ไม่กี่ปี ลูกเล่นกลบทก็ไม่รู้เท่าไร แต่ยังอยากชวนพวกเราให้เห็นค่าภาษาไทยในตัวเราแต่ละคนที่ไม่เหมือนชาติใดในโลกค่ะ
เดี๋ยวนี้หาฟังโคลงสี่ในทำนองเสนาะได้ทางยูทูปนะคะ ... ไพเราะมาก
แนะนำและอ้างอิง
สำนวนโคลงที่ไพเราะ
นิราศนรินทร์
สุดยอดวรรณคดีประเภทโคลงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่งโดย นายนรินทร์ธิเศร์ (อิน) แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพ 143 บท โดยมีร่ายสุภาพขึ้นต้น 1 บท ผู้แต่งประณีตในการคัดสรรคำและความหมาย ร้อยกรองเป็นบทโคลงที่ไพเราะ ทั้งยังมีสัมผัสอักษรแพรวพราวตามขนบของคำโคลง อาจกล่าวได้ว่า แทบไม่มีโคลงบทไหนเลย ที่อ่านแล้วไม่รู้สึกถึงความไพเราะงดงาม อย่างไรก็ตาม มีคำศัพท์จำนวนไม่น้อยที่เข้าใจยาก ด้วยสำนวนภาษาที่เก่าถึงยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น
(เพราะอย่างนี้ โคลงยุคของเราก็ต้องใช้ภาษายุคเรา ... จึงต้องช่วยกันแต่งเล่นกันเยอะๆ นะคะ - นิกุล)
********************
ลิลิตพระลอ
ลิลิต หมายถึง หนังสือที่แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภท โคลง และร่าย สลับกันเป็นช่วงๆ ตามธรรมเนียมแล้ว มักจะใช้โคลงและร่ายในแบบเดียวกัน กล่าวคือโคลงดั้น สลับกับร่ายดั้น, โคลงสุภาพ สลับกับร่ายสุภาพ อย่างนี้เป็นต้น โคลงและร่ายที่สลับกันนั้น มักจะร้อยสัมผัสด้วยกัน เรียกว่า "เข้าลิลิต"
วรรณคดีที่แต่งตามแบบแผนลิลิต มักจะใช้ร่ายและโคลงสลับกันเป็นช่วงๆ ตามจังหวะ ลีลา และท่วงทำนอง และความเหมาะสมของเนื้อหาในช่วงนั้นๆ ลิลิตที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่า เป็นยอดของกลอนลิลิต คือ ลิลิตพระลอ
๏ ใดใดในโลกล้วน อนิจจัง คงแต่บาปบุญยัง เที่ยงแท้ คือเงาติดตัวตรัง ตรึงแน่ อยู่นา ตามแต่บุญบาปแล้ ก่อเกื้อ รักษา (ลิลิตพระลอ)
********************
ภาคผนวก-คู่มือแต่งโคลงสี่สุภาพ
โคลงสี่สุภาพ

ข้อบังคับหรือบัญญัติของการเขียนโคลง
การแต่งโคลงต้องมีลักษณะบังคับหรือบัญญัติเป็นแบบแผนหลายประการ
คณะ:
- โคลงหนึ่งมี 4 บรรทัด
- บรรทัดหนึ่งเรียกว่า “บาทหนึ่ง”
- รวม 4 บาท นับเป็น 1 บท หรือหนึ่งโคลง
บาท: บาทหนึ่งมี 2 วรรค ได้แก่
คำ หรือ พยางค์ หรือ อักษร: หมายถึง เสียงที่เปล่งออกครั้งหนึ่ง ๆ โดยเสียงนั้นจะมีความหมายหรือไม่มีความหมายก็ได้ โดยเสียงที่เปล่งออกมา 1 ครั้ง เรียกว่า 1 พยางค์ หรือถ้าเปล่งเสียงออกมา 2 ครั้ง เรียกว่า 2 พยางค์ บัญญัติดังนี้
- วรรคหน้ามีวรรคละ 5 คำ
- วรรคหลังของบาทที่ 1 , 2 และ 3 มีวรรคละ 2 คำ วรรคหลังของบาทที่ 4 มี 4 คำ
- บาทที่ 1 บาท, 2 และ 3 มีบาทละ 7 คำ วรรคแรก 5 คำ วรรคหลัง 2 คำ
- บาทที่ 4 วรรคแรกมี 5 คำ วรรคหลัง 4 คำ
- รวมเป็น 30 คำ
บางครั้งท่านใช้ 1พยางค์ แทน 1 อักษร หรือ 1 คำ เช่น
สละสละสมร เสมอชื่อ ไม้นา (ลิลิตตะเลงพ่าย)
แต่ในบางกรณีท่านก็รวบหลาย ๆ พยางค์ให้เป็น 1 อักษร เช่น
๏ อวยพรคณะปราชญ์พร้อม พิจารณ์ เทอญพ่อ ใดวิรุธบรรหาร เหตุด้วย จงเฉลิมแหล่งพสุธาร เจริญรอด หึงแฮ มลายโลกอย่ามลายม้วย อรรถอื้นอัญขยมฯ (ลิลิตตะเลงพ่าย)
ข้อควรจำ
- บางครั้งก็มีการฉีกหรือแบ่งพยางค์นับเป็นจำนวนคำหรืออักษร
- บางครั้งก็มีการรวบพยางค์นับเป็นจำนวนคำ
- การจะแบ่งหรือรวบพยางค์ได้ต้องเป็นรัสสระ (สระเสียงสั้น) เท่านั้น
สัมผัส: บัญญัติดังนี้
- สัมผัสบังคับ ในแต่ละบทตามผัง เป็นสัมผัสระหว่างบาท
- สัมผัสใน ดูตัวอย่างบทโคลงนำเสนอเป็นบทนำข้างต้น เช่น แรกเริ่ม รักเรียน ส่วนสอง เป็นต้น
- สัมผัสระหว่างวรรค คือให้คำสุดท้ายของวรรคหน้า สัมผัสอักษร กับคำหน้าของวรรคหลัง
ซึ่งภาษาทางการประพันธ์เรียกการสัมผัสลักษณะนี้ว่า “นิสสัย” ดังโคลงนิราศสุพรรณของท่านสุนทรภู่มีว่า
๏ เยนรอนอ่อนเกษก้ม กราบลา จากวัดตัดตรงมา แม่น้ำ ค้างคืนตื่นเช้าคลา คลาสเคลื่อน เรือเอย ติดแก่งแข็งข้อค้ำ ขัดข้องต้องเขนฯ (โคลงนิราศสุพรรณ)
- สัมผัสระหว่างบท การแต่งโคลงสี่สุภาพต่อกันหลายๆ บท
เป็นเรื่องราวอย่างโคลงนิราศ โคลงเฉลิมพระเกียรติ โคลงสุภาษิต หรือโคลงอธิบายเหตุการณ์ต่างๆ อาจทำได้ 2 ลักษณะ คือ โคลงสุภาพชาตรี และ โคลงสุภาพลิลิต
- นักโคลงควรเป็นผู้แม่นในเรื่องเสียงคำพอๆ กับคีตกวีแม่นในเสียงโน้ตเพลง
- ยิ่งไปกว่านั้นนักโคลงควรเป็นผู้มีหูในทางดนตรีด้วย เพราะเขาจะต้องรู้ว่าเพลงหรือโน้ตของเขามีท่วงทำนองเป็นอย่างไร
- หากเป็นไปได้นักโคลงควรอ่านโคลงด้วยทำนองเสนาะ จะทำให้ได้อรรถรสมากกว่าการอ่านอย่างร้อยแก้ว
- แล้วจะทำให้เกิด “รสแห่งโคลง”
กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ทรงอธิบายถึงลักษณะของโคลงที่ดีว่าต้องประกอบด้วยรสสองประการคือรสคำและรสความ
๏ โคลงดีดีด้วยรจ นานัย ไฉนนอ ต้องจิตติดฤทัย เทิดถ้วน ไพเราะรศคำไพ เราะรศ ความเอย สองรศพจนล้วน พิทยล้ำจำรูญฯ (หนังสือสามกรุง)
“โคลงที่เรียกกันว่าไพเราะโดยรสคำ คือโคลงที่ผจงร้อยกรองรสคำอย่างไพเราะเพราะพริ้งทำให้เกิดปรีดาปราโมทย์ มีโอชะเปรียบอาหารซึ่งช่างวิเศษปรุงขึ้นอย่างประณีต อาหารชนิดเดียวกันถ้าผู้ปรุงไม่เป็นก็ไม่อร่อย โคลงใดไม่มีรสชนิดนี้ (รสคำ) ก็มักทำให้เกิดเบื่อหน่าย เพราะความจืด ความเฝื่อน แลความน่ารำคาญอื่น ๆ โคลงที่เรียกว่าดีโดยรสความคือโคลงที่ยกเอาใจความน่าฟังมาแต่ง อาจเป็นใจความดีทั้งเรื่อง ทั้งตอน ทั้งบท หรือแต่เพียงบาทเดียวก็ได้ รสความที่ดีอาจสะกิดใจผู้อ่านให้คิด ให้นึกชม ให้เห็นจริงตามที่แสดง ให้นับถือวาจาที่กล่าว...”
ในโคลงหนึ่งบทต้องมีสัมพันธภาพเกี่ยวเนื่องกันทั้งสี่บาท
คำแต่ละคำที่เลือกมาใช้ต้องทำให้เนื้อความดำเนินไปหรือขยายให้คำอื่นมีความชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น
๏ หลานลมหลานราพณ์ทั้ง หลานปลา หลานมนุษย์บุตรมัจฉวา นเรศพร้อง ยลหางอย่างมัตสยา กายแศวต สวาแฮ นามมัจฉานุป้อง กึ่งหล้าบาดาลฯ (รามเกียรติ์)
โคลงบทนี้ถือกันว่าบริบูรณ์ด้วยรสความ อธิบายประวัติและลักษณะของมัจฉานุได้อย่างละเอียด
โคลงแบบหรือโคลงตันแบบ

โคลงสี่สุภาพที่ถือว่าเป็นโคลงแบบหรือโคลงต้นแบบ มีรูปวรรณยุกต์ตรงตามบังคับนั้นมีตัวอย่างอยู่ในวรรณคดีหลายเรื่อง เช่น ลิลิตพระลอ โคลงนิราศนรินทร์ โคลงนิราศพระประธม เป็นต้น ดังโคลงแบบตัวอย่างต่อไปนี้
๏ นิพนธ์กลกล่าวไว้ เป็นฉบับ พึงเพ่งตามบังคับ ถี่ถ้วน เอกโทท่านลำดับ โดยที่ สถิตนา ทกทั่วลักษณะล้วน เล่ห์นี้คือโคลงฯ (จินดามณี) ๏ เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า สองเขือพี่หลับใหล ลืมตื่น ฤาพี่ สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือฯ (ลิลิตพระลอ)
๏ จากมามาลิ่วล้ำ ลำบาง บางยี่เรือราพราง พี่พร้อง เรือแผงช่วยมานาง เมียงม่าน มานา บางบ่รับคำคล้อง คล่าวน้ำตาคลอ ฯ (โคลงนิราศนรินทร์)
โคลงสี่สุภาพบังคับวรรณยุกต์
- เสาวภาพ หรือสุภาพ หมายถึงคำที่มิได้กำหนดรูปวรรณยุกต์ทั้งเอก โท ตรีและจัตวา
(ส่วนคำที่มีรูปวรรณยุกต์กำกับเรียกว่า พิภาษ)
คำสุภาพในโคลงนั้นมีความหมายเป็น 2 อย่าง คือ
- คำที่ไม่มีเครื่องหมายวรรณยุกต์กำกับดังกล่าวแล้ว
- การบังคับคณะและสัมผัสอย่างเรียบ ๆ ไม่โลดโผน
ฉะนั้น คำสุภาพ ใน ฉันทลักษณ์ จึงผิดกับ คำสุภาพ ใน วจีวิภาค (คำสุภาพ ใน วจีวิภาคหมายถึงคำพูดที่เรียบร้อยไม่หยาบโลน ไม่เปรียบเทียบกับของหยาบ หรือไม่เป็นคำที่มีสำเนียงและสำนวนผวนมาเป็นคำหยาบ ซึ่งนับอยู่ในประเภทราชาศัพท์)
- จันทรมณฑล หมายถึงคำที่กำหนดรูปวรรณยุกต์โท 4 แห่ง
- พระสุริยะ หมายถึงคำที่กำหนดรูปวรรณยุกต์เอก 7 แห่ง
- รวมคำที่มีรูปวรรณยุกต์ เอกและโทกำกับเป็น 11 คำ
- เหลือคำที่ไม่กำหนดรูปวรรณยุกต์หรือคำสุภาพ 19 คำ
- คำสุดท้ายของโคลงห้ามมีรูปวรรณยุกต์แล้ว นิยมใช้เพียง เสียงสามัญ หรือ เสียงจัตวา เท่านั้น
- ส่วนที่เหลือ 19 คำ แม้ไม่กำหนดรูปวรรณยุกต์ ในท้ายวรรคทุกวรรคต้องไม่มีรูปวรรณยุกต์
- เพราะจะทำให้น้ำหนักของโคลงเสียไป
ทบทวนเสียงวรรณยุกต์
เสียงสามัญ รอง กลอน เรียง การ เอย บุญ เสียงเอก แห่ง เบี่ยง ผัด หย่อน ปราด หมด สนุก เสียงโท ต้อง ถ้า เข้า แผ้ว เสียงตรี ร้อง รับ นับ รู้ ชก นก น้อย เสียงจัตวา เหลือ สาย เสียง เหมา สูง โผงผาง
คำสามัญ หรือ คำสุภาพ ในโคลงสี่สุภาพเป็นได้หลายเสียง เช่น
- ไป มา ลืม ยืม ปีน เหล่านี้ถือเป็นเสียงสามัญ
- พระ นะ คะ เป็นเสียงตรี
- คาด ธาตุ นาฎ เป็นเสียงโท
- ขา หาย ขาย ฝัน หัน สูง เป็นเสียงจัตวา
มีบังคับตามผัง 
คำเอก-คำโท

บังคับเอก 7 แห่ง โท 4 แห่ง ดังคำโคลงอธิบายต่อไปนี้
๏ ให้ปลายบาทเอกนั้น มาฟัด ห้าที่บทสองวัจน์ ชอบพร้อง บาทสามดุจเดียวทัด ในที่ เบญจนา ปลายแห่งบทสองต้อง ที่หน้าบทหลัง ๚ะ
๏ ที่พินทุ์โทนั้นอย่า พึงพินทุ์ เอกนา บชอบอย่างควรถวิล ใส่ไว้ ที่พินทุ์เอกอย่าจิน ดาใส่ โทนา แม้วบมีไม้ เอกไม้โทควร ๚ะ
๏ บทเอกใส่สร้อยได้ โดยมี แม้จะใส่บทตรี ย่อมได้ จัตวานพวาที ในที่ นั้นนา โทที่ถัดมาใช้ เจ็ดถ้วนคำคง ๚ะ
๏ บทต้นทั้งสี่ใช้ โดยใจ แม้วจะพินทุ์ใดใด ย่อมได้ สี่ห้าที่ภายใน บทแรก แม้นมาทจักมีไม้ เอกไม้โทควร ๚ะ (จินดามณี ฉบับพระโหราธิบดี)

- คำเอก โท ในบาทแรกของโคลงอาจสลับที่กันได้
- อนุโลมให้ใช้คำตายแทนคำเอกในที่ที่หาคำเอกไม่ได้
- แต่ไม่นิยมใช้เอกโทษและโทโทษ ดังกล่าวไว้ในจินดามณี ฉบับหลวงวงศาธิราชสนิท ดังต่อไปนี้
- คำเอก คำโท ยึดเพียงรูปวรรณยุกต์ อาทิเช่น เยี่ยง เป็นคำเอกในโคลง แต่มีเสียงวรรณยุกต์โท
๏ เอกโทเปลี่ยนผลัดได้ โดยประสงค์ แห่งที่ห้าควรคง บทต้น บทอื่นอาจบ่ปลง แปลงแบบ นาพ่อ เฉภาะแต่บทหนึ่งพ้น กว่านั้นฤๅมี ๚ะ
๏ เอกเจ็ดหายากแท้ สุดแสน เข็ญเอย เอาอักษรตายแทน เทียบได้ โทสี่ประหยัดหน หวงเปลี่ยน ห่อนจักหาอื่นใช้ ต่างนั้นไป่มี ๚ะ
๏ เอกโทผิดที่อ้าง ออกนาม โทษนา จงอย่ายลอย่างตาม แต่กี้ ผจงจิตรคิดพยายาม ถูกถ่อง แท้แฮ ยลเยี่ยงปราชญ์สับปลี้ เปล่าสิ้นสรรเสริญ ๚ะ
๏ ใช้ได้แต่ปราชญ์คร้าน การเพียร ปราชญ์ประเสริฐดำเนียร หมิ่นช้า ถือเท็จท่านติเตียน คำตู่ คำนา มักง่ายอายอับหน้า อาจถ้อเถียงไฉน ๚ะ (จินดามณี)

คำเป็น/คำตาย
- คือคำที่ประกอบด้วยสระเสียงยาว (ทีฆสระ) ในแม่ ก กา
และคำที่มีตัวสะกดในแม่กน กง กม เกย (คำที่มีตัว ว สะกด จัดอยู่ในแม่เกย) รวมถึงสระสั้นทั้ง 4 ตัว อำ ไอ ใอ เอา เช่น ตาดำชมเชยคนหุงข้าวเหนียวในครัวไฟ
- คำตาย คือคำที่ประกอบด้วยสระเสียงสั้น (รัสสระ) ในแม่ ก กา (ยกเว้น อำ ใอ ไอ เอา)
และคำที่มีตัวสะกดในแม่ กก กด กบ เช่น นกกะหรอดกับนกกะปูดจิกพริก
คำใช้แทนคำเอก
- ในการแต่งโคลงทุกชนิดใช้คำตาย แทน คำเอก ได้
- ในโคลงสี่สุภาพของโบราณยังมีการใช้เสียงสระ อำ แทนในตำแหน่งคำเอกได้ เช่น
๏ ชมแขคิดใช่หน้า นวลนาง เดือนดำหนิวงกลาง ต่ายแต้ม พิมพ์พักตร์แม่เพ็ญปราง จักเปรียบ ใดเลย ขำกว่าแขไขแย้ม ยิ่งยิ้มอัปสร ฯ (นิราศนรินทร์)
๏ สมภารสมโพธิ์เกล้า กษีสินธุ เสด็จดำรงธรณินทร์ เฟื่องฟ้า คชสารย่อมหัสดินทร์ ดูยิ่ง เปนธำรงฤทธิ์อฆ้า เข่นพ้องไพรี ฯ (นิราศนครสวรรค์)

เอกโทษ/โทโทษ
คำว่า โทษ ที่ใช้กับคำประพันธ์หมายถึงข้อบกพร่อง
- เอกโทษ หมายถึงข้อบกพร่องของรูปวรรณยุกต์เอก
- โทโทษ หมายถึงข้อบกพร่องของรูปวรรณยุกต์โท
- ควรหลีกเลี่ยงทั้งเอกโทษและโทโทษที่เป็นข้อบกพร่อง
- หากจำเป็นจริง ๆ จึงใช้
ในหนังสือ จินดามณีฉบับกรมหลวงวงษาธิราชสนิท กล่าวไว้ว่า
๏ เอกโทผิดที่อ้าง ออกนาม โทษนา จงอย่ายลอย่างตาม แต่กี้ ผจงจิตรคิดพยายาม ถูกถ่อง แท้แฮ ยลเยี่ยงปราชญ์สับปลี้ เปล่าสิ้นสรรเสริญฯ
(โคลงโลกนิติ)
๏ พริกเผ็ดใคร ให้เผ็ด ฉันใด [ ให้เผ็ด อนุโลมใช้สลับตำแหน่งคำเอกคำโทได้เฉพาะวรรคแรก] หนามย่อมแหลมเองใคร เซี่ยมได้ [ เซี่ยม อยู่ตำแหน่งคำเอก เสียงแทนคำ เสี้ยม ] จันทน์กฤษณาไฉน ใครอบ หอมฤๅ วงศ์แห่งนักปราชญ์ได้ เพราะด้วยฉลาดเอง
๏ มณฑกทำเทียบท้าว ราชสีห์ แมวว่ากูพยัคฆี แกว่นกล้า นกจอกว่าฤทธี กูยิ่ง ครุฑนา คนประดาษขุกมีข้า ยิ่งนั้นแสนทวี [ข้า รูปคำโทโทษ เสียงแทนคำ ค่า ]
๏ มณฑกทำเทียบท้าว สีหะ แมวว่ากูพยัคฆะ คาบเนื้อ นกกระจอกมีมานะ ว่ายิ่ง ครุฑนา เชิญใจมีข้าเกื้อ หยิ่งหยิ้งแสนทวี ฯ [หยิ้ง รูปคำโทโทษ เสียงแทนคำ ยิ่ง ]
มณฑก - คางคก
- ยกตัวอย่างโคลงกลบทนาคปริพันธ์สำนวนสุนทรภู่ที่ใช้เอกโทษโทโทษ (โคลงนิราศสุพรรณ)
๏ สาวเอยเคยอ่อนหนุ้ม อุ้มสนอง [หนุ้ม เป็นคำโทโทษ เสียงแทนคำ นุ่ม ] ออมสนิทชิดกลิ่นหอม กล่อมให้ ไกลห่างว่างอกตรอม ออมตรึก ระลึกเอย เลยอื่นขึ้นครองไว้ ใคร่หว้าน่าสรวล [หว้า รูปคำโทโทษ แทนเสียงคำ ว่า คำซึ่งถูกตามความหมาย]
๏ เคราะห์กรรมจำห่างน้อง ห้องนอน หวนนึกดึกเคยวอน ค่อนหว้า [หว้า รูปคำโทโทษ แทนเสียงคำ ว่า ] คิดไว้ไม่ห่างจร ห่อนจาก หากจิตรมิตรหลายหน้า ล่าน้องหมองหมาง [ล่า รูปคำเอกโทษ แทนเสียงคำ หล้า ]
คำสร้อย

คำสร้อยซึ่งใช้ในโคลงสี่สุภาพนั้น จะใช้ต่อเมื่อความขาด หรือยังไม่สมบูรณ์ หากได้ใจความอยู่แล้วไม่ต้องใส่ เพราะจะทำให้ "รกสร้อย"
คำสร้อยที่นิยมใช้กันเป็นแบบแผนมีทั้งหมด 18 คำ
- พ่อใช้ขยายความเฉพาะบุคคล
- แม่ ใช้ขยายความเฉพาะบุคคล หรือเป็นคำร้องเรียก
- พี่ ใช้ขยายความเฉพาะบุคคล อาจใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่ 1 หรือบุรุษที่ 2 ก็ได้
- เลย ใช้ในความหมายเชิงปฏิเสธ
- เทอญ มีความหมายเชิงขอให้มี หรือ ขอให้เป็น
- นา มีความหมายว่าดังนั้น เช่นนั้น
- นอ มีความหมายเช่นเดียวกับคำอุทานว่า หนอ หรือ นั่นเอง
- บารนี สร้อยคำนี้นิยมใช้มากในลิลิตพระลอ มีความหมายว่า ดังนี้ เช่นนี้
- รา มีความหมายว่า เถอะ เถิด
- ฤๅ มีความหมายเชิงถาม เหมือนกับคำว่า หรือ
- เนอ มีความหมายว่า ดังนั้น เช่นนั้น
- ฮา มีความหมายเข่นเดียวกับคำสร้อย นา
- แล มีความหมายว่า อย่างนั้น เป็นเช่นนั้น
- ก็ดี มีความหมายทำนองเดียวกับ ฉันใดก็ฉันนั้น
- แฮ มีความหมายว่า เป็นอย่างนั้นนั่นเอง ทำนองเดียวกับคำสร้อยแล
- อา มีความหมายไม่แน่ชัด แต่จะวางไว้หลังคำร้องเรียกให้ครบพยางค์ เช่น พ่ออา แม่อา พี่อา
หรือเป็นคำออกเสียงพูดในเชิงรำพึงด้วยวิตกกังวล
- เอย ใช้เมื่ออยู่หลังคำร้องเรียกเหมือนคำว่าเอ๋ย ในคำประพันธ์อื่น หรือวางไว้ให้คำครบตามบังคับ
- เฮย ใช้เน้นความเห็นคล้อยตามข้อความที่กล่าวหน้าสร้อยคำนั้น
เฮย มาจากคำเขมรว่า "เหย" แปลว่า "แล้ว" จึงน่าจะมีความหมายว่า "แล้ว"
ตัวอย่างโคลงในวรรณกรรมที่มีคำสร้อยครบ ทั้งบาทที่ 1, 3 และ 4
๏ ตีอกโอ้ลูกแก้ว กลอยใจ แม่เฮย เจ้าแม่มาเป็นใด ดั่งนี้ สมบัติแต่มีใน ภาพแผ่น เรานา อเนกบรู้กี้ โกฏิไว้จักยา พ่อนา ๚ะ (ลิลิตพระลอ)
๏ จรุงพจน์จรดถ้อยห่าง ทางกวี ยังทิวาราตรี ไม่น้อย เทพใดหฤทัยมี มาโนชญ์ เชิญช่วยอวยให้ข้อย คล่องถ้อยคำแถลง เถิดรา ๚ะ (สามกรุง)
สร้อยเจตนัง
- นอกจากนี้มีคำสร้อยที่เรียกว่า "สร้อยเจตนัง"
- คือสร้อยที่มีความหมายหรือใช้ ตามใจผู้แต่ง
- เป็นสร้อยนอกแบบแผน ซึ่งไม่ควรใช้ในงานกวีนิพนธ์ที่เป็นพิธีการ
"หายเห็นประเหลนุช นอนเงื่อง งงง่วง" โคลงนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อย
"พวกไทยไล่ตามเพลิง เผาจุด ฉางฮือ" โคลงภาพพระราชพงศาวดาร
"ลัทธิท่านเคร่งเขมง เมืองท่าน ถือฮอ" โคลงภาพฤๅษีดัดตน
ตัวอย่างเสียงอ่านทำนองเสนาะโคลงสี่สุภาพ
- บทอาขยานโคลงโลกนิติ
- การอ่านทำนองเสนาะโคลงสี่สุภาพ http://www.youtube.com/watch?v=_oOrsirfrgI
- นิราศสุพรรณ เมื่อครั้งสุนทรภู่ผ่านบางระกำ
- ป.5 ท่องบทอาขยานได้ไพเราะที่สุด ถึงไม่ได้ว่าเป็นโคลง แต่เด็กก็ยังร้องเพราะน่าฟัง เลยยกมาค่ะ
ขอขอบคุณครูบาอาจารย์ทุกท่าน และขอขอบคุณผู้รักการร้องเล่นและแต่งโคลงกลอนสืบต่อกันมาทุกคน
ni_gul

|