พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีในคราที่เสด็จศรีสะเกษเมื่อปีพ.ศ.2495 หายไปนานเลยครับ กลับมาขยับบล็อกคราวนี้เลยมีเรื่องมาให้อ่านยาวหน่อย เป็นเรื่องราวเก่าๆในเมืองศรีสะเกษ ย้อนหลังไปไม่นานเท่าไหร่ อาจจะถือว่าเป็นช่วงก่อร่างสร้างเมืองก็ว่าได้ครับ นั่นคือช่วงที่ทางรถไฟเข้ามาถึงเมืองศรีสะเกษในปี พ.ศ.2473 โดยข้อมูลส่วนมากจะมาจากคำบอกเล่าของอากงอาแปะ คุณตาคุณยาย และจากหนังสืองานกฐินพระราชทานที่ทอดถวาย ณ วัดหลวงสุมังคลาราม ศรีสะเกษ ปี 2548 ครับ พอรวบรวมเรื่องราวแล้วผมก็ออกตระเวณถ่ายรูป ค้นข้อมูลเพิ่มจากเน็ต ไปเจอเอารูปชุดหนึ่งที่น่าสนใจจาก รถไฟไทยดอทคอม เป็นภาพของสถานีรถไฟศรีสะเกษที่งดงามละเอียดลออมากครับ ผมนำบางรูปที่เกี่ยวข้องกับเรื่องในวันนี้มาประกอบด้วย ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลที่ผมหยิบมาด้วยนะครับ
ย่านการค้าของเมืองศรีสะเกษในช่วงแรกๆจะอยู่ที่ชุมชนท่าเรือในปัจจุบันนี้ เพราะอยู่ติดลำห้วยสำราญที่ไหลไปสู่แม่น้ำมูล ใช้เดินทางทำมาค้าขายตั้งแต่โคราช ท่าช้าง ลงไปถึงอุบล ส่วนตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าการเกษตร การค้าขายแบบชุมชนเมืองจะอยู่ที่บริเวณชุมชนตลาดใน แถบสี่แยกโรงเตา โดยเป็นย่านการค้าหลักของเมืองอยู่ประมาณ 30-40 ปี จนเมื่อราวปี พ.ศ.2473 รถไฟก็เข้ามาถึงเมืองศรีสะเกษ สถานีรถไฟตั้งอยู่บนพื้นที่ของวัดพระโต พื้นที่วัดจะกว้างขวางมาก ด้านตะวันออกคือบริเวณโรงเรียนวัดพระโต และตลาดสด ด้านทิศเหนือคือแนวเขตวัดในปัจจุบัน ด้านทิศตะวันตกเป็นบริเวณร้านค้าหน้าสถานีรถไฟปัจจุบัน และด้านทิศใต้จะมาถึงถนนอุบลในปัจจุบัน และบริเวณโรงเรียนสตรีสิริเกศ เมื่อรถไฟมาถึง แนวทางรถไฟจะตัดผ่านกลางที่ดินผืนนี้พอดี ที่ดินผืนนี้จึงมีประโยชน์ต่อสาธารณะเป็นอันมาก สถานีรถไฟกลายเป็นจุดศูนย์กลางใหม่ของเมือง แทนที่ตลาดในและท่าเรือ ย่านการค้าใหม่ก่อตัวขึ้นรอบๆสถานีรถไฟ ธุรกิจการค้าทุกประเภทของศรีสะเกษเจริญรุ่งเรืองมาก กลายเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค เพราะสินค้าเกือบทุกชนิดทั้งขาเข้าขาออกต้องมาเริ่มที่ศรีสะเกษ รวมไปถึงชาวอุบลก็ต้องมาขึ้นรถที่นี่ พื้นที่ว่างรอบๆสถานีเต็มไปด้วยกองข้าวเปลือก ไม้พยุง และขบวนคาราวานขนสินค้าที่กลางคืนจอดเกวียนตีวงล้อมค้างคืนมากมาย มีสินค้าตกค้างเพราะส่งออกไม่ได้จากเหตุการณ์สงครามโลกอย่างหนึ่งคือ ไม้พยุง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 60 ซม. ยาว 3-4 เมตร กองสูงประมาณ 8 เมตร ที่คนอายุ 60 กว่าปีขึ้นไปน่าจะจำกันได้ทุกคน เป็นไม้ที่ตัดจากริมสองฝั่งห้วยสำราญใกล้ๆตัวเมืองนี่เอง ในช่วงนี้เองที่พ่อค้าคนจีนหลายสายสกุลที่เป็นนักธุรกิจหลักของศรีสะเกษเข้ามาตั้งรกราก และมีกลุ่มย่อยๆพากันทยอยตามมาอย่างรวดเร็ว โดยการเข้ามาของชาวจีนนั้น อาจแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือกลุ่มแรกมาพร้อมกับการขยายตัวทางการค้าตั้งแต่สมัยแรกคือ ประมาณปลายสมัยร.5 ถึงต้นร.6 โดยตามกลุ่มพ่อค้าจากโคราชมา ช่วงแรกก็หาบของขายเร่ แลกสินค้ากับผลผลิตการเกษตร บ้างก็ตั้งถิ่นฐานตามหมู่บ้านที่ไปขายเร่เป็นการถาวรในเวลาต่อมา กลุ่มต่อมาจะมาพร้อมกับงานก่อสร้างทางรถไฟ ซึ่งคนงานหรือกุลีที่ทำงานเกือบทั้งหมดจะเป็นคนจีนโพ้นทะเลที่เข้มแข็ง ขยัน อดทน เมื่อมาทำงานเก็บเงินได้บ้างและเห็นลู่ทางทำมาหากินที่สะดวกกว่า จึงเปลี่ยนอาชีพและลงหลักปักฐานเช่นเดียวกับชาวจีนกลุ่มแรก และชาวจีนกลุ่มสุดท้ายจะมาพร้อมความเจริญทางการค้าที่เกิดขึ้นพร้อมกับการมาถึงของรถไฟ ถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด และเข้ามาเป็นครอบครัว ตั้งชุมชนชาวจีนที่มั่นคง รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีสืบทอดมาจนปัจจุบัน และยังเป็นนักธุรกิจหลักของศรีสะเกษในเวลานี้ ในเรื่องคนจีนโพ้นทะเลนี้ก็มีเรื่องเกร็ดเล่าให้ฟังเล็กน้อย เป็นเรื่องของต้นลำใยในเมืองศรีสะเกษ ผมเองไม่เคยคิดอะไรกับต้นลำใยเลยจนกระทั่งทราบเรื่องนี้จึงได้สังเกตเห็นจริงว่า ในพื้นที่ว่างๆที่เป็นป่าสวนในตัวเมือง จะมีต้นลำใยมากมาย ผมคาดว่าเกือบจะทุกหัวถนนก็ว่าได้ เรื่องต้นลำใยนี้เกิดจากการที่คนจีนโพ้นทะเลที่มาตั้งรกรากที่นี่เมื่อทำมาหากินเงยหน้าอ้าปากได้แล้วก็คิดถึงครอบครัวที่แผ่นดินใหญ่ จึงเก็บเงินเก็บทองเดินทางกลับไปเยี่ยมเยียนครอบครัวทางโน้น เมื่อจะกลับมาเมืองไทยก็หอบหิ้วของฝากกลับมา ของฝากอย่างหนึ่งคือลำใยอบแห้งซึ่งเป็นต้นเรื่องเกร็ดนี้เอง ลำใยแห้งนี้เนื้อจะเป็นลำใยแห้งทั้งเปลือก เมล็ดจึงถูกปลูกไว้ที่สวนหลังบ้าน แต่เวลาผ่านไปคนรุ่นแรกที่ปลูกไม่ทันได้กิน เพราะกว่าจะให้ดอกผลก็ผ่านไปหลายสิบปี เป็นที่ตื่นเต้นกันไปทั่วเพราะเป็นผลไม้แปลกใหม่ ความหอมหวานของลำใยทำให้ค้างคาวโฉบเอาลูกไปกินจนเจ้าของต้องเอาแหมากั้น เอาชะลอมมาครอบ แล้วเจ้าค้างคาวนี่แหละที่ช่วยแพร่พันธุ์ลำใยไปจนทั่วทั้งเมืองในเวลาต่อมา ว่ากันว่าลำใยกระโหลกที่ภาคเหนือก็เป็นลำใยแห้งของฝากจากคนจีนแถวตรอกจันทน์ ในกรุงเทพนี่เอง เมื่อไปอยู่ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ก็กลายพันธุ์เป็นเนื้อหนาเม็ดเล็กเรียกว่ากันว่ากระโหลก ส่วนพวกเนื้อบางเม็ดใหญ่ก็กลายเป็นลำใยกระดูกไป
นี่เป็นตึกขุนอำไพพาณิชย์ในสมัยที่ยังไม่ได้รับการบูรณะ ซึ่งในย่านนี้ถือเป็นจุดศูนย์กลางการค้าในยุคแรกๆของตัวเมืองครับ (ขออนุญาตหยิบยืมรูปที่อ.ศุภศรุต เอื้อเฟื้อมาเผยแพร่ต่อนะครับ) นี่คือภาพหลังได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากรแล้วครับ เอ..ผมจำได้ว่าเคยถ่ายรูปตอนที่หลังคาปีกทางขวาโดนลมพัดพังไปทั้งแถบก่อนบูรณะ แล้วจะคุ้ยหารูปมาให้ชมนะครับ อาคารทางการค้ายุคแรกครับ เป็นห้องแถวโครงสร้างไม้ ผนังดินดิบแล้วเปลี่ยนมาเป็นก่ออิฐถือปูน หลังคาเมื่อห้า-หกสิบปีที่แล้วยังเป็นหลังคามุงแฝกครับ ภาพปกหนังสือแจกในงานกฐินพระราชทานปีพ.ศ.2548ครับ เป็นภาพโบราณที่ถ่ายเมื่อปีพ.ศ.2453 มีบุคคลที่คนศรีสะเกษรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่รู้จักหน้าคนหนึ่ง คือคนที่ยืนทางขวาสุดใส่เสื้อขาว ท่านคือ ขุนอำไพพาณิชย์ (อินทร์ นาคสีหราช) เจ้าของชื่อตึกโบราณในภาพด้านบนครับ ส่วนท่านที่เหลือจะเป็นบุคคลต้นตระกูลมหาผล คนเก่าแก่ของเมืองศรีสะเกษครับ
แผมที่เมืองศรีสะเกษคร่าวๆจากแผนที่ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่วงกลมเขียวๆคือสถานีรถไฟ ผมเอามาลงไว้เพื่อประกอบเรื่องครับ เยื้องไปทางขวาบนของวงกลมเขียวคือวัดพระโตครับ ชานชาลาสถานีรถไฟในปัจจุบันครับ ถ่ายเมื่อปี49 หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตัวสถานีจะอยู่ทางซ้ายของภาพ ทางขวานี่แหละครับเมื่อก่อนจะเป็นลานโล่งที่เป็นย่านค้าในยุคที่สองของเมือง ตอนนี้กลายมาเป็นตลาดนัด และตลาดอาหารช่วงหัวค่ำ ผมทันแค่ช่วงที่ลานหน้าสถานีฯจะเป็นสถานที่จัดงานงิ้ว งานประเพณีสำคัญของคนจีนในเมืองนี้ครับ โฉมหน้าสถานีรถไฟยุคปรับปรุงใหม่ครับ ถนนขุขันธ์ตัดกับทางรถไฟ ถนนเส้นนี้ถือว่าเป็นถนนสายสำคัญในปัจจุบันนี้ เพราะว่าตัดผ่านใจกลางเมือง เป็นแหล่งการค้า ธุรกิจสำคัญๆ เกือบทุกชนิด ตั้งอยู่บนถนนสายนี้ครับ ในภาพทางซ้ายมือเป็นตลาดสดที่เพิ่งปรับปรุงใหม่สดๆร้อนๆครับ ภาพตลาดโต้รุ่งหน้าสถานีไฟ แหล่งอาหารสำเร็จรูปสำคัญ ของคนเมืองยุคปัจจุบันครับ แนวหลังคาทางมุมบนซ้ายจะเป็นห้องแถวเก่าที่คนจีนที่มากับการมาถึงของรถไฟตั้งรกราก และเปิดตัวเป็นย่านการค้าของคนจีนครับ ส่วนหลังคาแดงๆที่เลยออกไปเป็นการสร้างห้องแถวใหม่เพื่อสร้างเป็นศูนย์การค้า กระตุ้นเศรษฐกิจการหมุนเวียนเงิน ของหอการค้าจังหวัด เพิ่งทำมาได้สี่-ห้าปีนี่เองครับ นี่คือถังน้ำขนาดใหญ่ที่ใช้เติมน้ำให้รถไฟครับ รถไฟในยุคแรกเป็นรถเครื่องจักรไอน้ำนะครับ ศรีสะเกษในช่วงหนึ่งก็ถือว่าเป็นสถานีปลายทาง จึงมีสิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องไม้เครื่องมือรุ่นเก่าๆ แสดงไว้หลายชิ้นเหมือนกัน อย่างรถโยกตรวจรางที่ต้องใช้แรงคนโยกคันสีเหลืองๆตั้งโชว์ตรงนี้เช่นกันครับ ภาพสะพานดำสวยๆครับ สะพานดำคือสะพานทางรถไฟที่ข้ามลำห้วยสำราญเข้าสู่ตัวเมืองศรีสะเกษ สองข้างห้วยบริเวณนี้แหละครับที่ตัดไม้พยุงไปกองสูง 8 เมตรที่สถานีรถไฟ ภาพสะพานดำที่ถ่ายจากสะพานคอนกรีตที่สร้างคู่กัน เรียกว่าสะพานขาวครับ ตั้งใจนำภาพสะพานดำสองภาพมาเปรียบเทียบกันให้ดูระดับน้ำในห้วยสำราญ ซึ่งอยู่ติดกับตัวเมืองด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือ เป็นลำน้ำสำคัญสมัยก่อนครับ เพราะจะไหลไปลงแม่น้ำมูล เส้นทางคมนาคมที่ใช้เดินทางและขนส่งสินค้าก่อนที่รถไฟจะมาถึง และเส้นทางคมนาคมทางบกจะสะดวกขึ้น ภาพสถานีรถไฟตอนหัวค่ำขบวนนี้เป็นรถด่วนดีเซลรางครับมีแค่สี่ตู้คนเลยไม่ไม่เยอะ ต้องดูขบวนรถด่วนไปกรุงเทพครับ เยอะมหาศาลเหมือนกับว่าจะพากันไปถมกรุงเทพน่ะครับ จากนี้ไปจะเป็นภาพเก่าที่ผมตัดมาจากจุลสารเทศบาลเมืองศรีสะเกษ เป็นภาพเมื่อปีพ.ศ.2495 ครั้งเมื่อในหลวงและราชินีเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรศรีสะเกษ ที่ในครั้งนั้นกำลังประสบกับภัยแล้ง ท่านเสด็จถึงเมื่อเวลา 10.33น. และเสด็จกลับเมื่อ 12.30น.โดยขบวนรถไฟพระที่นั่ง ในเอกสารบอกว่าเป็นที่ปลาบปลื้มของชาวศรีสะเกษยิ่งนักที่เสด็จมาเป็นขวัญกำลังใจในยามทุกข์ยาก และยิ่งไปกว่านั้นที่ทำให้ผมขนลุกคือ อาเจ็กของเพื่อนผมบอกว่าหลังจากเสด็จมาไม่กี่วันฝนก็ตก น้ำท่ากลับมาอุดมสมบูรณ์ ขบวนรถพระที่นั่งครับ ทางซ้ายเป็นย่นร้านค้า ทางขวาเป็นตัวสถานีเล็กๆที่เห็นเป็นแนวดำๆครับ ขณะเสด็จมาขึ้นรถยนต์พระที่นั่งเพื่อเยี่ยมราษฎรในตัวเมือง สมเด็จพระราชินีกำลังเสด็จพระราชดำเนินอยู่บริเวณที่เป็นวงเวียนหน้าสถานีรถไฟในปัจจุบัน ย้อนกลับไปดูภาพเปรียบเทียบที่ภาพด้านบนๆได้ครับ ตอนนั้นยังเป็นแค่รั้วกั้นสวนหย่อม ซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่สี่แยกต่างๆในตัวเมือง อันนี้เป็นซุ้มที่สร้างขึ้นที่สี่แยกกลางเมืองในปัจจุบันเลยครับ ร้านที่เห็นอยู่กลางรูปคือร้านฮกเซ้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในตระกูลคนจีนยุคที่มาพร้อมกับรถไฟรุ่นแรกครับ แถวหน้าสุดสองข้างทางจะเป็นลูกเสือครับ ถัดจากนั้นจึงจะเป็นพสกนิกรที่มากันแน่นขนัดเรียกได้ว่าหมดเมือง เพราะมีการกำหนดเส้นทางเสด็จไว้แล้วประชาชนก็จะไปรอตามสองข้างทางแถมยังเดินตามขบวนไปจนกระทั่งถึงหน้าศาลากลางจังหวัดในภาพแรกสุดที่ผมนำมาแสดง ภาพซุ้มของชุมชนชาวจีนในเมืองศรีสะเกษที่สร้างรับเสด็จครับ ซุ้มนี้ตั้งอยู่หน้าบ้านเพื่อนผมพอดี เดิมบ้านเพื่อนผมใช้ชื่อร้านว่า จิ้นฮะเฮง แต่หลังจากนี้ก็เปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า ร้านจงเจริญ ครับ เรื่องร้านเก่าๆของคนจีนที่นี่ก็น่าสนใจนะครับ แล้วจะเก็บมาฝากตอนต่อไปครับ มีร้านเก่าๆหลายร้านเลยครับ อย่างเช่น ตั้งกวงเฮง จึงฮุ่นหลี ซาฮะเฮง เคี่ยวเต็ก เตียย่งไถ่ จิ๊บฮะ กำโล่ว โค้วจั่งเฮง หุหุ..บางร้านก็หายไปแล้วครับ ลูกหลานก็แยกย้ายกันไปที่อื่นหมด ซุ้มกลางเมืองอีกซุ้มครับ ในรูปถ่ายติดขบวนดุริยางค์ซึ่งเป็นกองเกียรติยศของนักเรียนนายสิบที่ตามเสด็จมาจากพระนครด้วยครับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครับ ผู้ว่าฯกราบบังคมทูลรายงานที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดซึ่งยังเป็นอาคารไม้สองชั้นอยู่เลยครับ กองเกียรติยศของนักเรียนนายสิบที่เดินสวนสนามวันนั้นครับ กำลังเสด็จพระราชดำเนินกลับครับ ขอบคุณที่ติดตามอ่านและชมจนจบครับ วันนี้เล่นซะเหนื่อยเลยครับ แต่ผมรู้สึกดีครับที่ได้นำภาพในหลวงสมัยนั้นมาบันทึกไว้ให้คนรุ่นนี้ได้ชม และยังมีเรื่องราวเก่าๆที่อยากเล่าต่อจากตอนนี้อีกเยอะเลยครับ แต่ผมคิดว่ามันจะยาวไป เลยตัดแบ่งไปตอนหน้าครับแถมด้วยภาพประกอบยังมีน้อยไปหน่อย ขอรวบรวมอีกนิดครับ สำหรับภาพรถไฟสวยๆหลายๆภาพผมได้มาจากเว็บรถไฟไทยดอทคอมครับ ขออนุญาตนำมาเผยแพร่เพื่อเป็นข้อมูลความรู้ในที่นี้ด้วยครับ ลองแวะไปหาข้อมูลและภาพสวยๆของคนรถไฟได้นะครับ ฝากบันทึกเรื่องราวในศรีสะเกษไว้ให้คนรุ่นหลังได้อ่านด้วยครับ และนี่ก็คือลิ้งค์ไปสู่เรื่องราวของเก่าเมืองศรีสะเกษที่ผมเขียนไว้ตอนที่แล้วครับ http://www.oknation.net/blog/unseenssk/2008/02/03/entry-1 หลังจากผมอัพเรื่องนี้คงมีคนเข้าเยี่ยมชมบล็อกผมถึงหลักพัน ดีใจจังเลยครับ เย้..... แล้วก็มาแก้ไขเพิ่มเติมภาพครับ ไปคุ้ยหาภาพตึกขุนอำไพพาณิชย์ที่บอกไว้ไม่เจอ เลยไปหยิบยืมภาพที่เพื่อนถ่ายมาสแกนครับ เก่าไปหน่อยเลอะเทอะไปนิด อย่าว่ากันนะครับ เนื่องด้วยเป็นอาคารโบราณก่ออิฐถือปูนแบบดั้งเดิม ในภาพที่เห็นคือตัวอาคารทางปีกซ้ายทรุดพังลงจากพายุฝน เช้าวันรุ่งขึ้นหลังจากพายุฝนกระหน่ำอาคารยังไม่พังครับ มีแต่หลังคาเปิดหายไป แล้วอีกไม่กี่วันต่อมาก็ทรุดลงแล้วพังอย่างที่เห็นในรูปครับ |
ถึง บล็อกเกอร์ ทุกท่าน โปรดอ่าน
ด้วยทาง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้ติดต่อขอความร่วมมือ มายังเว็บไซต์และเว็บบล็อกต่าง ๆ รวมไปถึงเว็บบล็อก OKnation
ห้ามให้มีการเผยแพร่ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ บนเว็บ blog โดยกำหนดขอบเขตของสิ่งที่ห้ามทำ และสามารถทำได้ ดังนี้
ห้ามทำ - การใส่ผลงานเพลงต้นฉบับให้ฟัง ทั้งแบบควบคุมเพลงได้ หรือซ่อนเป็นพื้นหลัง และทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือ copy code คนอื่นมาใช้ - การเผยแพร่ file ให้ download ทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือฝากไว้ server คนอื่น สามารถทำได้ - เผยแพร่เนื้อเพลง ต้องระบุชื่อเพลงและชื่อผู้ร้องให้ชัดเจน - การใส่เพลงที่ร้องไว้เอง ต้องระบุชื่อผู้ร้องต้นฉบับให้ชัดเจน จึงเรียนมาเพื่อโปรดปฎิบัติตาม มิเช่นนั้นทางบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ จะให้ฝ่ายดูแลลิขสิทธิ์ ดำเนินการเอาผิดกับท่านตามกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์
OKNATION
กฎกติกาการเขียนเรื่องและแสดงความคิดเห็น
1 การเขียน หรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต้องไม่หมิ่นเหม่ หรือกระทบต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
2. ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่นในทางเสียหาย หรือสร้างความแตกแยกในสังคม กับทั้งไม่มีภาพ วิดีโอคลิป หรือถ้อยคำลามก อนาจาร 3. ความขัดแย้งส่วนตัวที่เกิดจากการเขียนเรื่อง แสดงความคิดเห็น หรือในกล่องรับส่งข้อความ (หลังไมค์) ต้องไม่นำมาโพสหรือขยายความต่อในบล็อก และการโพสเรื่องส่วนตัว และการแสดงความคิดเห็น ต้องใช้ภาษาที่สุภาพเท่านั้น 4. พิจารณาเนื้อหาที่จะโพสก่อนเผยแพร่ให้รอบคอบ ว่าจะไม่เป็นการละเมิดกฎหมายใดใด และปิดคอมเมนต์หากจำเป็นโดยเฉพาะเรื่องที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน 5.การนำเรื่อง ภาพ หรือคลิปวิดีโอ ที่มิใช่ของตนเองมาลงในบล็อก ควรอ้างอิงแหล่งที่มา และ หลีกเลี่ยงการเผยแพร่สิ่งที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือวิธีการใดก็ตาม 6. เนื้อหาและความคิดเห็นในบล็อก ไม่เกี่ยวข้องกับทีมงานผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซต์ โดยถือเป็นความรับผิดชอบทางกฎหมายเป็นการส่วนตัวของสมาชิก คลิ้กอ่านเงื่อนไขทั้งหมดที่นี่"
OKnation ขอสงวนสิทธิ์ในการปิดบล็อก ลบเนื้อหาและความคิดเห็น ที่ขัดต่อความดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของบล็อกและเจ้าของความคิดเห็นนั้นๆ
|
||
![]() ![]() |
เก็บตกภาพสวยๆครับ | ||
![]() |
||
เก็บมาฝาก |
||
View All ![]() |
ทหารพระนเรศวร | ||
![]() |
||
สันติ ลุนเผ่ |
||
View All ![]() |
<< | กุมภาพันธ์ 2008 | >> | ||||
อา | จ | อ | พ | พฤ | ศ | ส |
1 | 2 | |||||
3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 |
10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 |
17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 |
24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 |