วันพุธ ที่ 29 มิถุนายน 2554
Posted by
สุธน_หิญ
,
ผู้อ่าน : 3133
, 23:16:24 น.
หมวด : เศรษฐกิจ
พิมพ์หน้านี้
โหวต
0 คน
(ส่วนที่กล่าวไว้ในเรื่องนี้เป็นของสำนักเฮนรี จอร์จ ผมนำมาลงเฉพาะคำจำกัดความและตัวกฎ มีอธิบายเพิ่มเล็กน้อย ถ้าท่านต้องการคำอธิบายมากขึ้นก็โปรดดูหนังสือ ความยากจนที่ไม่เป็นธรรม เศรษฐศาสตร์ที่ลงถึงราก ที่ http://utopiathai.webs.com/UnjustPoverty.html หรือดูภาษาอังกฤษได้ที่ http://www.henrygeorge.org/def2.htm
นิยามศัพท์ถือว่าสำคัญ เพราะจะต้องแยกให้เห็นความแตกต่างได้ชัดเจนระหว่าง ทุน กับ ที่ดิน และผลตอบแทนต่อปัจจัยการผลิตทั้งสองปัจจัยนี้ มาสมัยนี้เองนักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งก็พยายามเลี่ยงไม่เรียกผลตอบแทนต่อทุน ว่า ดอกเบี้ย เพราะเกรงจะสับสนกับดอกเบี้ยของเงินตรา ซึ่งเงินตรานี้มิใช่ทุน แต่เป็นตัวแทนของทุน ในคำว่า เศรษฐศาสตร์ เอง สำนักเฮนรี จอร์จก็ไม่กล่าวถึงความหายากของทรัพยากร แต่ความหายากก็หมายถึงต้องลงแรงลงทุนมากขึ้นเพื่อให้ได้มา ฯลฯ สัจพจน์ทางเศรษฐกิจ (Economic Axioms) 1. มนุษย์ย่อมหาทางบำบัดความต้องการของตน โดยใช้ความพยายามแต่น้อยที่สุด (Man seeks to gratify his desires with the least exertion.) 2. ความต้องการของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด (Mans desires are unlimited.) นิยามศัพท์ทางเศรษฐกิจ 1. เศรษฐศาสตร์ (Economics หรือเดิม Political Economy) คือ ศาสตร์ที่ว่าด้วยสภาพ (Nature) ของเศรษฐทรัพย์และบรรดากฎธรรมชาติซึ่งเป็นตัวควบคุมการผลิตและการวิภาค (แบ่ง) เศรษฐทรัพย์ (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 วิชาว่าด้วยการผลิต การจำหน่ายจ่ายแจก และการบริโภคใช้สอยสิ่งต่างๆ ของชุมชน มี 2 สาขา คือ เศรษฐศาสตร์จุลภาค ได้แก่ เศรษฐศาสตร์ภาคที่ศึกษาปัญหาเศรษฐกิจส่วนเอกชน หรือ ปัญหาการหาตลาดเป็นต้น และ เศรษฐศาสตร์มหัพภาค ได้แก่ เศรษฐศาสตร์ภาคที่ศึกษาปัญหาเศรษฐกิจของประเทศโดยส่วนรวม เช่น ปัญหาเรื่องรายได้ของประชาชาติ การออมทรัพย์ของประชากร ปัญหาการลงทุน) 2. เศรษฐทรัพย์ (Wealth) คือวัตถุทั้งหลายนอกเหนือไปจากตัวมนุษย์ ซึ่งผลิตขึ้นด้วยแรงงานมนุษย์ เพื่อใช้บำบัดความต้องการของมนุษย์ หรือช่วยในการผลิตสิ่งที่มนุษย์ต้องการ และมีมูลค่าในการแลกเปลี่ยน (ศัพท์บัญญัติ อังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน รุ่น 1.1 แปล Wealth ว่า ความมั่งคั่ง, ทรัพย์สิน และแปล Economic Goods ว่า เศรษฐทรัพย์, สินค้าเศรษฐกิจ) เศรษฐทรัพย์ต้องมีลักษณะเฉพาะครบทั้ง 4 ประการ คือ 1. เป็นวัตถุ 2. ผลิตด้วยแรงงานมนุษย์ (อาจมีทุนเป็นเครื่องช่วยผลิต แต่ทุนก็คือเศรษฐทรัพย์ที่ใช้แรงงานมนุษย์ผลิต การผลิตเองหมายรวมถึงการแลกเปลี่ยนด้วย) 3. สามารถสนองความต้องการของมนุษย์ หรือช่วยในการผลิตสิ่งที่มนุษย์ต้องการ 4. มีมูลค่าในการแลกเปลี่ยน จากที่กล่าวจะเห็นว่าที่ดินมิใช่เศรษฐทรัพย์ เพราะมิได้ใช้แรงงานมนุษย์ผลิต แต่แต่ละบุคคลก็ถือว่าที่ดินเป็นทรัพย์สินที่มีค่า การมีเงินตรากระดาษมากสำหรับประเทศไม่ได้แสดงว่าประเทศนั้นมั่งคั่งถ้าไม่มีทองคำหรือสิ่งมีค่าอื่นๆ หนุนหลังไว้เท่าเทียมกัน เงินตราไม่สามารถสนองความต้องการของมนุษย์ได้โดยตรง แต่มนุษย์แต่ละคนก็อยากมีเงินตรา สำหรับแต่ละบุคคลนิยามศัพท์ที่แตกต่างจากความหมายทั่วไปเช่นนี้ไม่มีความหมายอะไร ถึงอย่างไรเขาก็จะถือว่าที่ดินและเงินตราเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินของเขาอยู่ดี นักบัญชีและผู้ประกอบการก็มีความจำเป็นต้องใช้ศัพท์พวกนี้ในความหมายทำนองเดียวกัน แต่นักเศรษฐศาสตร์ต้องรู้จักแยกว่าอะไรคือทรัพย์สินในทัศนะของปัจเจกชน อะไรคือทรัพย์สินในทัศนะของสังคมส่วนรวม การผลิตหรือผลิตกรรม (Production) คือ กระบวนการทั้งหลายในการประดิษฐ์และการนำเศรษฐทรัพย์จากแหล่งกำเนิดไปสู่ผู้บริโภค (โปรดสังเกตว่า การนำสิ่งของไปให้ถึงมือผู้บริโภค หรือการขนส่ง ก็ถือว่าเป็นขั้นตอนหนึ่งของการผลิตด้วย) มนุษย์ไม่สามารถก่อเกิดหรือเนรมิต (create) สิ่งของขึ้นมาจากความว่างเปล่าแบบพระเจ้าสร้างโลก ในการผลิตเราต้องใช้วิธีเปลี่ยนแปลงจากสสารและพลังงานที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ การผลิตแยกออกได้เป็น 3 ลักษณะ ดังนี้ ก. การเพาะเลี้ยง (Growing) หรือเกษตรกรรม คือการใช้พลังงานตามธรรมชาติในการเติบโตและแพร่พันธุ์ ซึ่งก็คือการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์นั่นเอง ข. การดัดแปลง (Adapting) หรืออุตสาหกรรมและการขนส่ง คือการเปลี่ยนรูปแบบ โครงสร้าง ส่วนประกอบ หรือสภาพของสิ่งซึ่งมีอยู่แล้วให้เหมาะต่อการบริโภค รวมทั้งการเคลื่อนย้ายขนส่ง ค. การแลกเปลี่ยนหรือปริวรรตกรรม (Exchanging) หรือพาณิชยการ คือการยอมเสียของสิ่งหนึ่งให้แก่ผู้อื่นไปเพื่อให้ได้อีกสิ่งหนึ่งจากเขามาแทน การแลกเปลี่ยนนี้จะเป็นการแลกเปลี่ยนผลผลิตหรือเศรษฐทรัพย์กันโดยตรง (Barter) แบบโบราณก็ได้ หรือจะใช้เงินตราเป็นสื่อกลาง (Pecuniary Exchange) ก็ได้ ปริวรรตกรรมถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตก็เพราะเป็นการกระทำเพื่อให้ผลผลิตกับความต้องการบริโภคของมนุษย์มาบรรจบกัน เป็นการก่อให้เกิดอรรถประโยชน์ในความเป็นเจ้าของ (Ownership Utility หรือ Possession Utility) มากขึ้น ปัจจัยการผลิต (Factors of Production) 1. ที่ดิน (Land) คือ เอกภพหรือสิ่งทั้งหลายนอกจากตัวมนุษย์และเศรษฐทรัพย์ คำว่า ที่ดิน นี้นอกจากจะหมายถึงที่ว่าง (Space) แล้ว ยังหมายความรวมถึงสิ่งทั้งหลายอันมีอยู่ตามธรรมชาติ หรือทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resources) ด้วย 2. แรงงาน (Labour) คือ ความพยายามทั้งปวงของมนุษย์ที่ใช้ในการผลิตเศรษฐทรัพย์ 3. ทุน (Capital) คือ เศรษฐทรัพย์ที่ใช้ในการแลกเปลี่ยน หรือในการผลิตเศรษฐทรัพย์สำหรับการแลกเปลี่ยน (การประกอบการ ไม่ถือว่าเป็น ปัจจัยที่ 4 แต่ถือว่าเป็น แรงงาน ซึ่งส่วนมากเป็นทางสมอง) วิภาคกรรม (Distribution) คือ การแบ่งผลผลิตออกไปเป็นการตอบแทนแก่เจ้าของปัจจัยการผลิตตามกฎธรรมชาติ ซึ่งแบ่งออกเป็น 1. ค่าเช่าที่ดิน (Rent) คือ ส่วนแบ่งสำหรับเจ้าของที่ดิน 2. ค่าแรง (wages) คือ ส่วนแบ่งสำหรับผู้ใช้แรงงาน 3. ดอกเบี้ย (Interest) คือ ส่วนแบ่งสำหรับเจ้าของทุน (บางท่านเลี่ยงไปใช้ ผลตอบแทนต่อทุน) ขอบริมแห่งการผลิต (Margin of Production หรือ ที่ดินชายขอบ) คือ ที่ดินที่เลวที่สุดที่จำเป็นต้องใช้กัน ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นที่ดินที่ดีที่สุดที่จะหาได้โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน ขอบริมแห่งการผลิตมีความสำคัญมาก เพราะเป็นฐานของกฎว่าด้วยวิภาคกรรมทั้งสามต่อไปนี้: กฎว่าด้วยวิภาคกรรม (Laws of Distribution) 1. กฎว่าด้วยค่าเช่าที่ดิน (Law of Rent) ค่าเช่าที่ดินกำหนดได้ด้วยผลผลิตของที่ดินนั้น ๆ ในส่วนที่เกินกว่าผลผลิตจากขอบริมแห่งการผลิต ในเมื่อใช้แรงงานและทุนเท่ากัน 2. กฎว่าด้วยค่าแรง (Law of Wages) ค่าแรงทั่วไปถูกกำหนดด้วยผลผลิตที่แรงงานสามารถผลิตได้ ณ ขอบริมแห่งการผลิต 3. กฎว่าด้วยดอกเบี้ย (Law of Interest) ดอกเบี้ยจะสูงขึ้นหรือต่ำลงเช่นเดียวกับค่าแรง และขึ้นอยู่กับขอบริมแห่งการผลิตเช่นเดียวกัน โภคกรรม (Consumption) คือ การใช้เศรษฐทรัพย์ ทำให้เศรษฐทรัพย์สิ้นเปลืองไป เป็นการบำบัดความต้องการของมนุษย์ โภคกรรมคือจุดมุ่งหมายของการผลิต และทำให้เกิดการผลิต จะมีการผลิตหรือการขายได้หรือ ถ้าไม่มีการซื้อหรือการบริโภค ตัวอย่างประเภทของบางสิ่ง (ที่ดิน แรงงาน เศรษฐทรัพย์ส่วนที่เป็นทุนและโภคทรัพย์ และ สิ่งที่ใช้แทนเศรษฐทรัพย์) (จาก http://www.henrygeorge.org/def3.htm ) LAND (ที่ดิน) Oil in the Ground Fish in the Ocean A Building Site A Broadcast Frequency LABOUR (แรงงาน) Teaching Ditch Digging Computer Programming Playing Music in the Subway WEALTH FOR CONSUMPTION (เศรษฐทรัพย์ส่วนที่เป็นโภคทรัพย์) Food on your table A House You Live in WEALTH USED IN PRODUCTION (เศรษฐทรัพย์ส่วนที่เป็นทุน) Food in a Restaurant Your Moms old House, which you Rent to Tenants A Truck CLAIMS ON WEALTH (สิ่งที่ใช้แทนเศรษฐทรัพย์) A $100 Bill A Certificate for 100 Shares of Microsoft หมายเหตุ มีศัพท์เศรษฐศาสตร์เพิ่มเติมที่ 1. http://www.landandfreedom.org/econ/terms.htm 2. http://www.politicaleconomy.org/terms.htm 3. http://www.truefreetrade.org/aegloss.htm และมี กฎธรรมชาติด้านเศรษฐศาสตร์ 26 กฎ ที่ http://www.oknation.net/blog/utopiathai/2011/06/16/entry-2