“ปู” คือสิ่งมีชีวิตที่ดูคล้ายแมลงที่มีเปลือกแข็งหุ้ม แขนขายาวเก้งก้างดูน่าเกลียดแต่มีรสชาติแสนอร่อย พบเห็นได้กว่า 6,000 ชนิดจากทั่วโลก (กินได้บ้างไม่ได้บ้าง ไม่ได้กินได้ทุกชนิดนะครับ) มีรูปร่างหลักที่คล้าย ๆ กัน คือ จะมีส่วนของลำตัวที่มีกระดองแข็งด้านบน มีก้ามใหญ่ 1 คู่ เป็นเหมือนแขนด้านหน้า มีขาปลายแหลมสำหรับเดิน 3 คู่ ขาปลายแบบใบพัดสำหรับเคลื่อนที่ในน้ำ 1 คู่ แตกออกเป็นรัศมีไปทางด้านข้างลำตัว มีหนวดยาวอยู่ระหว่างตาที่หุบเขาออกได้จากภายในกระดอง . ว่ากันว่า ปูมีต้นตระกูลมาจาก “ไทรโลไบต์” (Trilobite) หรือ “แมงสามปล่อง” ที่มีลำตัวสามส่วนคล้ายกับแมงดาทะเลในปัจจุบันแต่มีขนาดเล็กกว่า ย้อนอายุได้ตั้งแต่เริ่มกำเนิดสิ่งชีวิตช่วงแรกเมื่อราว 500 ล้านปี ในยุคแคมเบรียน (Cambrian) และหายไปจากทะเลในช่วงยุคเพอร์เมียน (Permian) ราว 250 ล้านปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการกำเนิดของสายพันธุ์ไดโนเสาร์ขึ้นเป็นช่วงแรกในยุคไทรแอสซิก (Triassic) .


. ปูจัดอยู่ในไฟลัม “อาร์โทรโพดา” (Arthropoda) หรือ อาร์โธพอด เรียกแบบไทย ๆ ว่า “สัตว์ที่มีขาเป็นปล้อง” มีเปลือกหุ้มตัว เครือญาติห่าง ๆ ของปูในกลุ่มเดียวกันนี้ มีทั้งแบบที่อยู่ในน้ำ อย่าง แมงดาทะเล ไรน้ำ ไรแดง ไรสีน้ำตาล เหาปลา เพรียงคอห่าน เพรียงหิน กุ้งก้ามกราม กั้ง กุ้งเต้น จักจั่น ส่วนที่อยู่บนบกคือแมงมุม แมงป่อง เห็บหมา ตะขาบ กิ้งกือ กระสุนพระอินทร์ ตั๊กแตน มด ปลวก เหา ชีปะขาว .. รวมทั้ง “แมลงสาบ” ที่ช่างเป็นญาติที่แตกต่างกันมากเหลือเกินด้วยครับ !!! .

. ปู เป็นกลุ่มของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง มีส่วนหัวกับอก (ท้อง) รวมกันเป็นก้อน มีกระดองห่อหุ้มไว้ด้านบน ลำตัวแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนหัว ส่วนอกและส่วนท้อง ซึ่งสัตว์ขาปล้องบางจำพวกอาจจะมีส่วนหัวและส่วนอกที่เชื่อต่อกันเป็นส่วนเดียวกัน จะมีเปลือกแข็งหุ้มบริเวณส่วนท้องสำหรับทำหน้าที่ป้องกันและช่วยพยุงร่างกายที่อ่อนนิ่มที่ซ่อนอยู่ภายใต้เปลือกแข็งเรียกว่า "จับปิ้ง" พับอยู่ใต้กระดอง มีสองก้ามใหญ่ 8 ขา อยู่ทั้งน้ำจืดและทะเล รวมถึงพวกอยู่แต่เฉพาะบนบก แถบอินโด-แปซิฟิกและประเทศไทยพบแล้วรวมกว่า 800 ชนิดครับ . ปูหลายชนิดอาศัยตามพื้นทราย จึงมีขาหลังปลายใบพัดหรือกรรเชียงเพื่อว่ายน้ำอย่างปูม้า บางชนิดตัวใหญ่ มีกระดองแข็งคล้ายปูทะเล มีขาสั้นและแข็งแรงเพื่อเกาะยึดกับหิน เช่น ปูใบ้ (ก้ามดำ) บางชนิดมีรูปร่างแปลกเพื่อพรางตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม บางชนิดมีสีและลักษณะกระดองเหมือนกัลปังหา ปะการังอ่อน หรือดาวขนนก ในจำนวนนี้ยังมีปูที่นำฟองน้ำหรือสาหร่ายมาติดตามตัวเพื่อใช้พรางกาย อย่างพวกปูแต่งตัว . ปู กลุ่มหนึ่งที่มีวิวัฒนาการแปลกไปกว่าเพื่อน คือ ปูเสฉวน และปูมะพร้าว ที่เปลี่ยนส่วนท้องให้นิ่มและขดงอเพื่อสามารถม้วนเข้าไปอยู่ในเปลือกหอย นำเปลือกหอยติดตัวไปด้วยตลอดเวลา ซึ่งจะจัดอยู่ในพวกปูปลอม (Anomura) คือพวกไม่ค่อยจะเหมือนปูธรรมดา ยิ่งปูมะพร้าวนี่ก็แปลก ชอบขึ้นไปอยู่บนต้นมะพร้าว ไม่ชอบอยู่ในน้ำเหมือนปูทั่วไปครับ .

. สำหรับ “ปูม้า” (Flower crab, Blue crab, Blue swimmer crab, Blue manna crab, Sand crab) จัดเป็นปูที่อาศัยอยู่ในทะเลชนิดหนึ่ง ซึ่งพบทั้งหมด 90 ชนิดทั่วโลก และพบในน่านน้ำไทยราว 19 ชนิด ที่ได้สมญานามว่า “ม้า” ก็คงมาจากความเร็ว เมื่อเคลื่อนที่ในน้ำนี่แหละ . ปูม้าพบส่วนใหญ่ก็มีสามสี สีน้ำเงินจุดเป็นพวกตัวผู้ สีเขียวขี้ม้าหรือน้ำตาลมักเป็นพวกตัวเมีย และตัวออกสีส้มลายดำ เรียกว่าปูม้าลายแดง ปูนอกรีต หรือปูกางเขน สังเกตว่าจะมีรูปลายคล้ายไม้กางเขน อยู่บนกระดองหลัง ครับ . ปูม้า พบโดยทั่วไปบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน แต่ก็ไม่ได้พบได้ทุกจังหวัด เพราะสภาพพื้นที่อยู่อาศัยไม่อำนวย ชายฝั่งที่มีปูม้าอาศัยอยู่มากอยู่ในเขตจังหวัด สมุทรสงคราม เพชรบุรี ชลบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ปัตตานี สตูล ระยอง จันทบุรี ตราด อาศัยในระดับน้ำลึกไม่เกิน 40 เมตร พบมากบริเวณที่ลึก 7 - 30 เมตรบริเวณพื้นท้องทะเล ยิ่งมีโคลนเลนผสมอยู่ในพื้นทรายด้วยยิ่งดี ว่ายน้ำเร็ว ชอบออกหากินเวลากลางคืน กินซากพืช, ซากสัตว์ พืช และสัตว์ที่มีชีวิตเป็นอาหาร เช่น ปลา กุ้ง แพลงก์ตอน และสัตว์ขนาดเล็ก นอกจากนั้น ยังเป็นสัตว์ที่กินกันเองสูง โดยเฉพาะขณะที่มีการลอกคราบ กลางวันชอบฝังตัวตามพื้นทราย โผล่ตาและหนวดขึ้นมาไว้จับเหยื่อและหลบหลีกศัตรู . ตัวผู้จะมีจับปิ้งสามเหลี่ยมหกปล้อง ตัวเมียจับปิ้งแผ่กว้าง ช่องแรกเรียวแคบเล็ก ปล้องสองสามมีสันคมพาด ปล้องสาม สี่ และห้าเชื่อมติดกัน ปล้องหกยาวกว่ากว้าง ตามขอบของรยางค์จะมีขนละเอียดติดอยู่คล้ายขนนก เพื่อให้ไข่เกาะติดในเวลาฟัก .

. พออายุได้ 3 เดือน ก็คิดจะผสมพันธุ์กันทันที ตัวผู้จะลอกคราบก่อนตัวเมีย 7 - 10 วัน จนกระดองสมบูรณ์เต็มที่ ก็จะตระเวนหาปูตัวเมียที่โตเต็มวัยแต่อ่อนแรงเพราะกำลังลอกคราบ แล้วเข้าเผด็จศึกด้วยการเกาะหลังกระดองแบบแมงดา โดยใช้ขาเดินคู่ที่สองถึงสี่พยุงไว้ 3 - 4 วันจนตัวเมียลอกคราบ ตัวผู้จะเอาจับปิ้งสอดปลายเข้าจังปิ้งของตัวเมีย ปล่อยน้ำเชื้อไว้ในถุงเก็บน้ำเชื้อของตัวเมียไว้ในถุงที่อยู่บริเวณหน้าอก แต่น้ำเชื้อก็ม่ได้ผสมกับไข่ทันที รอจน 3 - 4 เดือน น้ำเชื้อจึงได้ผสมกับไข่ . การผสมพันธุ์ใช้เวลา 6 ชั่วโมง หลังผสมพันธุ์ตัวผู้จะเกาะหลังตัวเมียอีก 1-2 วัน จนตัวเมียกระดองแข็ง แล้วก็รีบชิ่งออก พอ 20 - 30 วัน ไข่ของตัวเมียจะเลื่อนมาตามท่อนำไข่ ผสมกับน้ำเชื้อแล้วไปเก็บไว้ที่หน้าท้อง ปูตัวหนึ่งมีไข่ครั้งละ 120,000-2,300,000 ฟองไข่ที่ผสมแล้วจะโตจนล้นจับปิ้งเรียกว่า “ไข่นอกกระดอง” ไข่จะเริ่มเปลี่ยนจากสีเหลืองอ่อนเป็นเหลืองเข้ม น้ำตาลอ่อน และน้ำตาลเข้มตามลำดับ จน 10 - 15 วัน เมื่อไข่แก่เต็มที่ จะมองเห็นลูกตาดำเป็นจุด ใช้เวลาฟักเป็นตัว 1 - 2 วัน ลูกปูที่เพิ่งฟักออกมาใหม่เรียกว่า “ซูเอีย” (Zoea) มีหน้าตาคล้ายลุกกุ้ง ยังไม่เหมือนปู ล่องลอยไปตามกระแสน้ำ กินอาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติ อย่าง “แพลงก์ตอน” (Plankton) ลูกปูจะรอดตายมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น มีอาหารธรรมชาติให้กิน มีที่หลบซ่อน คุณภาพของน้ำ ระดับความความเค็ม มลพิษ .

. ปูม้า เป็นปูที่เราคุ้นเคยและมีขายตามท้องตลาดทั่วไป เพราะเป็นปูเนื้อที่มีรสชาติอร่อย กินง่ายกว่าปูอื่น ๆ เพราะเปลือกนิ่มกว่า ปูม้าจึงเป็นอาหารในเมนูแสนอร่อยอย่าง ปูนึ่งจิ้มน้ำจิ้มซีฟู๊ด ปูม้าผัดผงกะหรี่ ปูม้าผัดพริกไทดำ ปูม้าชุบแป้งทอด ปูม้าหมกวุ้นเส้น และยำปูม้า ทั้งยังเอาปูม้าสดหรือปูม้าดองมาใส่ในส้มตำพื้น ๆ กลายเป็นอาหารทะเลสุดเลิศ เพิ่มมูลค่ากันได้ทันทีครับ . เมื่อปูม้าโดนความร้อน รงค์สีในเนื้อเปลือกและกระดอง จะทำปฏิกิริยาทางเคมีกับความร้อนเปลี่ยนเป็นสีส้มสด นั่นแสดงว่าปูม้าสุกได้ที่ พร้อมจะนำมารับประทานกันได้แล้ว
การทานปูม้า นิยมทานกันสด ๆ คือทานหลังจากนำมานึ่งหรือในขณะที่ปูยังเป็น (มีชีวิต) อยู่ เนื้อจะมีรสหวานอร่อย หากเป็นปูตายแช่งแข็งรสชาติจะไม่หวานหอม ความอร่อยลดลงไปเยอะ แต่ถ้าต้องการรสชาติเพิ่มขึ้นอีก ก็เพียงทำน้ำจิ้มจากน้ำปลา มะนาว น้ำตาล ซอยกระเทียมพริกนิดหน่อยก็จะช่วยเพิ่มความอร่อยได้อีกมาก . เนื้อส่วนต่าง ๆ ของเนื้อปูม้าแสนอร่อย สามารถฉีกกินได้จนหมดตัว เนื้อปูเป็นชิ้น ๆ เรียกว่า “เนื้อตุ้ม” รองลงมาเรียกว่า “เนื้อชิ้น” ซึ่งเป็นเนื้อจากช่วงอก ถ้าชิ้นเล็กยุ่ย ๆ เรียกว่า “เนื้อแหลก” อีกทั้ง “เนื้อกรรเชียงหรือเนื้อติดขาพาย” แสนอร่อย “เนื้อก้ามปู” แบบติดก้ามและไม่ติดก้าม “เนื้อไข่ปู” หวานมัน ที่ต้องแคะออกมา และ “กระดองเปล่า” ที่ยังเอามา ทำ “ปูจ๋า” ได้อีกด้วย เรียกว่าไม่เหลือซากเพราะความอร่อยเลยครับ
.

. ด้วยเพราะความอร่อยหวานสด ปูม้าจึงเป็นอาหารทะเลยอดนิยม เป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดตามแนวชายฝั่งทะเล แหล่งทำการประมงปูม้า คือ บริเวณที่มีระดับความลึกไม่เกิน 20 เมตร ตามแนวชายฝั่งทั่วไป ฤดูกาลในการทำประมงปูม้าขึ้นอยู่กับประเภทของเครื่องมือที่ใช้ อย่างลอบวางดักปู อวนลอย แบบประมงพื้นบ้าน อวนลาก แผ่นตะเฆ่ และอวนลากคู่ซึ่งสามารถทำการประมงได้ตลอดทั้งปี . ในปัจจุบันชุมชนหลายแห่งที่มีการจับปูม้าจากธรรมชาติมาก ๆ เช่น ชุมชนในจังหวัดเพชรบุรี ชลบุรี หลายจังหวัดในภาคใต้ นอกจากมีการปล่อยลูกปูเพื่อเพิ่มประชากรปูม้าในธรรมชาติแล้ว ยังมีแนวทางการเพิ่มประชากรปูม้าที่เป็นข่าวโด่งดัง คือ การทำ “ธนาคารปูม้า” หรือ “การทำคอนโดปู” โดย นำแม่ปูม้าที่จับจากธรรมชาติและมีไข่ติดจับปิ้ง แทนที่จะนำไปขายในตลาด ก็รับซื้อแล้วนำมาเลี้ยงต่อในกระชังหรือในกล่องเลี้ยง รอจนกว่าไข่จะฟักเป็นตัว แล้วหลุดล่องลอยไปตามกระแสน้ำหลังจากไข่ฟักไปแล้ว ตัวแม่ปู จะถูกนำไปขายคืนกับชาวประมงที่จับมา หรือ หรือร้านอาหารครับ .

. นิทานพื้นบ้าน เรื่อง “ปูม้ากล้าหาญ” ของชุมชนชายทะเลหลายแห่ง เล่ากันมาว่า . “...ปูม้ากล้าหาญก้ามใหญ่ ชอบท้าแข่งวิ่ง เพราะตัวเองวิ่งได้เร็วดั่งม้า เมื่อมาพบม้าน้ำ หางเกาะสาหร่ายอยู่ ก็ท้าแข่ง เพราะม้าน้ำมีชื่อว่า “ม้า” ปูม้าเลยคิดว่าต้องวิ่งเร็ว แต่ม้าน้ำไม่แข่งด้วย ให้ปูม้าไปท้าแข่งกับม้าจริง ๆ บนบกและเอาใจช่วย เมื่อปูม้าขึ้นฝั่ง มีอะไรวิ่งตัดหน้าดั่งลมพัด พบว่าเป็นปูลม ปูม้าถามปูลมว่าเคยเห็นม้าไหม จะท้าแข่ง ปูลมนึกขำ ปูม้าจึงท้าปูลมวิ่งแข่งขันกัน ปูลมชนะ ปูม้าไม่พอใจจึงท้ามาแข่งในน้ำ พอลงน้ำปูลมเป็นฝ่ายแพ้ จึงบอกปูม้าว่า เราชนะแพ้กันคนละครั้งถือว่าเสมอกัน แต่ปูม้าไม่ยอมเพราะไม่เคยแพ้ใคร ไม่ยอมเสมอจะท้าแข่งต่อ . ปูจันทร์น้อยเดินผ่านมาช้า ๆ ปูม้าเรียกอย่างเหยียดหยามว่า “ปูจันทร์ง่อย” และท้าแข่งวิ่ง แต่ปูจันทร์น้อยไม่แข่ง โดยมีเหตุผลว่าการเดินช้า ๆ จะมองเห็นพระจันทร์ตามไปได้ทุกหนทุกแห่ง ถ้ามัวแต่วิ่ง แล้วจะมองเห็นความงดงามของพระจันทร์ได้อย่างไร ปูม้ากล้าหาญมัวแต่คิดอยากเอาชนะจนมองไม่เห็นสิ่งดี ๆ ที่ต้องวิ่งผ่าน ปูจันทร์น้อยท้าปูม้าว่ากล้าพอที่จะ “แพ้” บ้างไหม ถ้ากล้าหาญจริง ลองมาแข่งวิ่งช้า ๆ เข้าที่สองเพราะยากกว่าที่ 1 ไหม ปูม้ารับคำท้า โดยมีกติกาว่า ใครเข้าเส้นชัยทีหลังเป็นผู้ชนะ แต่ก็ไม่มีใครแย่งเข้าเส้นชัยกัน . ปูม้าจึงพบความจริงว่า ความกล้าหาญนั้นไม่ใช่การเป็นที่หนึ่งหรือชัยชนะ แต่เป็นการฝึกตนเองให้ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น กล้าที่จะแพ้ กล้าชนะ กล้าเสมอ นั่นคือความ “กล้าหาญ” อย่างแท้จริงต่างหาก...”
..
..

..
..
|