ละครดังเรื่อง”บุพเพสันนิวาส” ที่กำลังสร้างเรทติ้งอย่างถล่มทลายในเวลานี้ ได้สร้างความสนใจให้กับผู้คนในสังคมไทย 4.0 ต่างย้อนรอยติดตามเรื่องราวในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ ทั้งการเอาเรื่องราวของผู้คนในประวัติศาสตร์มาพูดคุย ถกเถียง ทั้งยังมีกิจกรรมท่องเที่ยวตามรอย "ออเจ้า" ไปตามวัดต่าง ๆ ที่ปรากฏในท้องเรื่องละคร อย่างวัดไชยวัฒนาราม วัดเชิงท่า วัดพนัญเชิง หรือวัดพุทไธสวรรค์ของท่านชีปะขาวผู้รู้ความลับแห่งมนตรากาลเวลา
.

. นอกเหนือจากวัดวาอาราม สิ่งหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่เนื้อหาของละครได้ดำเนินเรื่องให้ตัวละครได้ออกไปโลดแล่น ก็คือ "ภูมิสถานบ้านเมืองของกรุงศรีอยุธยา" ผ่านความต้องการของนางเอก “เกศสุรางค์” ที่เกิดดันอยากกินหมูกระทะจนตัวสั่น ต่อจากมะม่วงน้ำปลาหวาน แต่หาวัสดุที่เรียกว่า “กระทะปิ้งย่าง” ไม่ได้ในสภาพสังคมและเทคโนโลยีในยุคนั้น จึงกลายมาเป็นเรื่องราวการตามหา “ช่างจีน” เพื่อมาตีเหล็กทำกระทะ โดยหมื่นสุนทรเทวา พระเอกสุดหล่อได้นำพาออเจ้าการะเกดไปเสาะหา โดยมีเป้าหมายที่ตลาดน้อย ย่านบ้านสามม้า ใกล้ป้อมเพชร ซึ่งเป็นย่านคนจีนในยุคกรุงศรีอยุธยาตอนปลายครับ . . *** เรื่องราวในประวัติศาสตร์หลายครั้ง ก็มักจะละเลยที่จะกล่าวถึงความสำคัญของเรื่องราวตลาดและย่านการค้า แต่หากความหมายทางมานุษยวิทยาแล้ว ตลาดเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่สำคัญเกือบจะที่สุดอย่างหนึ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์ของมนุษย์ เพราะตลาดคือสถานที่ที่เป็นที่รวมกันของมนุษย์ในแต่ละกลุ่มชุมชน ที่ตั้ง (Place) ชื่อนาม (Manes) และขนาดของตลาด สามารถอธิบายไปถึงชื่อของย่านที่อยู่อาศัยของผู้คน จำนวนประชากร ลักษณะทางภูมิศาสตร์ รวมไปถึงสภาพวิถีชีวิตพื้นฐานประจำวัน ความหลากหลายของสินค้าที่มีอยู่ในตลาด สามารถอธิบายได้ถึงกิจกรรมทางสังคม ระดับสังคม อาหารและพืชพรรณ เทคโนโลยี การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับชุมชน จนไปถึงการติดต่อระหว่างรัฐต่อรัฐ การค้าขายระหว่างประเทศ ฯลฯ . เมื่อใดที่เราพบตลาด 1 แห่ง ก็พึงที่จะสามารถสรุปอุปมาได้ว่า มีชุมชนไพร่ฟ้าตามชื่อตลาดนั้นอยู่ด้วย 1 - 2 ชุมชนตรงย่านตลาดนั้นครับ .

. ตลาดในกรุงศรีอยุธยาจากหลักฐานบันทึกคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมฉบับหอหลวง ได้แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองมั่งคั่งของการค้าขายของกรุงศรีอยุธยาและบ้านเมืองรอบข้างในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ไพร่ฟ้าที่พอมีอิสระ (Free) และเสรีภาพมากกว่าที่เราเคยรับรู้ในประวัติศาสตร์ของระบบไพร่และการควบคุมผู้คนในระบบมูลนาย พ่อค้าวาณิชจากต่างประเทศล้วนหลากหลาย มาจากทุกทิศทาง ต่างกลุ่มก็ล้วนมีคลังเก็บสินค้าไว้ใกล้ท่าเรือเพื่อเตรียมนำสินค้าเหล่านั้นออกมาขายปลีกให้กับชาวบ้านร้านตลาด ในขณะที่สินค้าที่มีความสำคัญ เป็นที่ต้องการและให้ผลกำไรต่อกันในระดับสูง ผู้ปกครองและเจ้านายจะเข้ามาทำการค้าแบบขายส่งกับเหล่าพ่อค้าพาณิชต่างประเทศนั้นอย่างเปิดเผย . ตลาดการค้าจึงมิได้จำกัดวงอยู่เพียงเฉพาะตลาดของชนชั้นสูง ไพร่ฟ้าและข้าทาสก็มีโอกาสได้ลิ้มรสและเลือกซื้อเลือกหาอาหารมากประเภท จากชาวบ้านย่านป่าต่าง ๆ ต้องการกินขนมก็ไปป่าขนม ต้องการ ปู ปลาทะเลก็มีตลาดร้านรวงล่องเรือมาขาย ทั้งยังย่านชาวจีนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่เนืองแน่นทางแถบคลองสวนพลูและทางใต้ของเกาะเมือง ก็มีวิถีชีวิตในการเพาะปลูกและผลิตอาหารประเภทเหล้า ผักนานาพันธุ์และเนื้อหมู มาขายให้กับคนไทยมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาจนมาถึงช่วงก่อนมีการพัฒนาระบบชลประทานในประเทศสยามเมื่อเพียง 100 ปีที่แล้ว ตลาดและย่านการค้าจึงเป็นหลักฐานทางสังคมและวัฒนธรรมที่สำคัญ ที่จะนำพาให้ผู้สนใจประวัติศาสตร์แบบชายขอบ มีจินตนาการความคิดและมีความสุขกับภาพวิถีชาวบ้านของชาวกรุงศรีอยุธยาที่กำลังรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้ง ในจิตใจและองค์ความรู้ของเรา . จากหลักฐานคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ (ฉบับหอหลวง) บันทึกไว้ว่า “ในกำแพงพระนครนั้น มีตลาดหกสิบเอดตลาด” เป็นตลาดของชำ 21 ตำบล และเป็นตลาดของสด ขายเช้า – เย็น 40 ตำบล รวม 61ตำบล แต่เอกสารให้รายชื่อไว้ 63 ตำบล . ของชำ หมายถึงสิ่งของเครื่องใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวันและอาหารแห้ง เปิดขายตลอดวัน ของสด หมายถึงของเครื่องอาหารคาวหวาน ของสด ๆ เปิดขายเฉพาะตอนเช้ากับตอนเย็น . ตลาดเหล่านี้มักเรียกว่า “ย่าน” และ “ป่า” ซึ่งได้ชื่อตามประเภทสินค้าที่ขาย เช่นตลาดป่าตะกั่ว อยู่ย่านป่าตะกั่ว ขายเครื่องตะกั่ว ตลาดป่าขนม อยู่ย่านป่าขนม ขายขนม เป็นต้น . เรื่องราวของตลาดภายในกำแพงเมืองกรุงศรีอยุธยานั้น มีกล่าวถึงในอินเตอร์เน็ต สามารถค้นหาได้ง่ายครับ ในบทความนี้ จะขอเลือกเอาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางกระทะปิ้งย่างของออเจ้าการะเกด ละกัน เพื่อไม่ให้ยืดยาวนัก .

. *** ตลาด 61 แห่ง ตามย่านต่าง ๆ ของกรุงศรีอยุธยา ในบันทึกคำให้การ ฯ ตามหมายเลขกำกับในแผนที่ ก็ เรียนรู้กันไปแต่ไม่มีหลงเหลืออยู่แล้วในปัจจุบันนะครับ
. 1. ตลาดประตูดิน 2. ตลาดท่าขัน 3. ตลาดหน้าวังตรา 4. ตลาดป่าตะกั่ว 5. ตลาดป่ามะพร้าว 6. ตลาดผ้าเหลือง 7. ตลาดป่าโทน 8. ตลาดป่าขนม 9. ตลาดป่าเตรียบ 10. ตลาดป่าถ่าน 11. ตลาดบริขาร 12. ตลาดขันเงิน 13. ตลาดถนนตีทอง 14. ตลาดป่า 15. ตลาดชีกุน 16. ตลาดชมภู 17.ตลาดไหม 18.ตลาดเหล็ก 19. ตลาดแฝด 20. ตลาดป่าฟูก 21. ตลาดถุงหมากหรือตลาดป่าผ้าเขียว 22. ตลาดหน้าคุก 23. ตลาดศาลพระกาฬ 24. ตลาดบ้านช่างเงินกับตลาดคลังสินค้า . . *** มาถึง หมายเลข 25 ทางด้านล่างของแผนที่ ใกล้คำว่าตะแลงแกง คือ “ตลาดบ้านดินสอ” ที่บันทึกกล่าวว่า “อยู่ถนนย่านป่าดินสอ (ใกล้วัดพระงาม) มีร้านขายดินสอหินอ่อนแก่ ดินสอขาวเหลือง ดินสอดำ” ในเนื้อเรื่องละคร หมื่นสุนทรเทวา พระเอกพาออเจ้าการะเกด ไปออดอ้อนซื้อดินสอกันเป็นโหล ที่ตลาดแห่งนี้ ในน่าอิจฉานัก .

. ตามภูมิสถานของกรุงศรีอยุธยา ตลาดบ้านดินสออยู่ติดกับวัดสิงหารามและวัดบรมพุทธาราม ตามเส้นทางคลองฉะไกรน้อยตัดคลองแกลบ ตรงนี้เป็นย่าน “ทุ่งแขก” ใกล้กับถนน “มหารัถยา” ถนนเส้นหลักของกรุงศรีอยุธยาในอดีต . ใกล้ ๆ กับตลาด ด้านฝั่งวัดบรมพุทธาราม ในปัจจุบันยังคงสะพานอิฐข้ามคลองฉะไกรน้อย รวมทั้งซากของวัดสิงหารามและวัดบรมพุทธาราม อยู่ใกล้เคียงกันในมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยาครับ .

. “มหารัถยา” คือ ถนนหลวงกลางพระนคร สร้างด้วยอิฐปูพื้นลายก้างปลา เป็นเส้นทางนำเข้าสินค้าหรูหราและอาวุธสมัยใหม่จากต่างประเทศเข้าสู่พระบรมหาราชวัง ใช้ในการต้อนรับราชทูตและพ่อค้าชาวต่างประเทศ ที่อนุญาตให้เข้าพระนครได้เฉพาะทางประตูไชย (อยู่ปลายถนนทางทิศใต้ของเกาะเมือง) เท่านั้น นอกจากนี้ใช้ในกระบวนแห่พยุหยาตราทางบก ขบวนกฐินหลวงพระราชทาน ขบวนแห่นาคหลวง ขบวนแห่พระบรมศพครับ . . ต่อมาหมายเลข 26. ตลาดแหกับตลาดจีน 27. ตลาดบ้านพราหมณ์ 28. ตลาดเสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์ 29. ตลาดทำพระ 30. ตลาดขนมจีน 31. ตลาดประตูจีน . . *** มาถึงหมายเลข 32 ตลาดใหญ่ท้ายพระนคร เป็นย่านการค้าใหญ่ในย่านที่มีคนจีนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ซึ่งพระเอกและออเจ้าการะเกด คงจะต้องพายเรือผ่านเข้าประตูช่องกุดคลองในไก่นี้ เพื่อไปสั่งทำกระทะปิ้งย่างกับช่างจีน แต่ดันเรือล่ม จนนางเอกได้แสดงความสามารถ ทำการกู้ชีพ CPR ที่ท่าน้ำริมฝั่งเจ้าพระยา ข้างป้อมเพชร จนเป็นที่นินทาไปทั่วตลาด . ถ้าพายเรือเข้ามาตามคลองก็จะมาเจอตลาดใหญ่ท้ายพระนครนี้ก่อนครับ ตลาดนี้ตั้งตั้งอยู่ตรงถนนย่านในไก่ เชิงสะพานประตูจีนไปถึงเชิงสะพานประตูในไก่ “...เป็นตลาดใหญ่ยิ่งยวดในกรุง มีตึกกว้านร้านจีนตั้งตึกทั้งสองฟากถนนหลวง จีนไทยนั่งร้านขายสรรพสิ่งของ มีเครื่องสำเภา เครื่องทองเหลืองทองขาว กระเบื้องถ้วยโถโอชาม มีแพรสีต่าง ๆ อย่างจีน และไหมสีต่าง ๆ มีเครื่องมือเหล็กและสรรพเครื่องมาแต่เมืองจีนมีครบ มีของรับปรานเป็นอาหารและผลไม้มาแต่เมืองจีนวางรายในร้านขายที่ท้องตลาด มีของสดขายเช้า – เย็น สุกร เป็ด ไก่ ปลาทะเล ปู หอย ต่าง ๆ หลายอย่าง...” .

. มาถึงเป้าหมายของหมื่นสุนทรเทวาที่ “ตลาดน้อย” หมายเลข 33 ในแผนที่ตรงป้อมเพชร ที่เป็นตลาดคนจีนที่ขยายตัวออกไปจากตลาดใหญ่ นับจากหัวโรงเหล็กไปถึงประตูช่องกุด บ้านสามม้า “...ตั้งแต่เชิงสะพานในไก่ตะวันออกไปถุงหัวมุมพระนครที่ชื่อตำบลหัวสาระภา บริเวณประตูช่องกุดท่าเรือจ้างข้ามไปวัดพนัญเชิง มีพวกจีนตั้งโรงทำเครื่องจันอับและขนมแห้งจีนต่าง ๆ หลายชนิดหลายอย่าง มีช่างจีนทำโต๊ะ เตียง ตู้ เก้าอี้น้อยใหญ่ต่าง ๆ ขาย มีช่างจีนทำถังไม้ใส่ปลอกไม้และปลอกเหล็ก ถังใหญ่น้อยหลายชนิด ขายพวกชาวพระนครรับซื้อไปใช้ต่างนางเลิ้ง คือตุ่มน้ำหรือโอ่งน้ำ . “...รับทำสรรพเครื่องเหล็กต่างต่าง ขายแลรับจ้างตีเหล็กรูปพรรณ์ตามใจชาวเมืองมาจ้าง ...” มีตลาดขายของสดเช้าเย็น . นี่คือภูมิสถานในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เนื้อเรื่องบุพเพสันนิวาส นำให้หมื่นสุนทรเทวา จะต้องพาออเจ้าการะเกดมาถึงที่ตลาดน้อยท้ายพระนครนี้ไงครับ . . จากตลาดน้อย ต่อไปยังหมายเลข 34. ตลาดนัดงัวควาย 35. ตลาดเจ้าจันทร์ 36. ตลาดหอรัตนไชย 37. ตลาดย่านเตียง 38. ตลาดย่านวัดฝาง 39. ตลาดประตูดินวังหน้า 40. ตลาดท่าวังช้าง 41. ตลาดวัดซอง 42. ตลาดท่าขุนนาง 43. ตลาดข้างวัดคลอง 44. ตลาดเชิงสะพานช้าง 45. ตลาดมอญ 46. ตลาดแลกหน้าวัด 47. ตลาดเจ้าพรหม . . *** มาถึง หมายเลข 48 ในแผนที่ คือ “ตลาดบ้านสมุด” ตั้งอยู่เหนือตลาดบ้านดินสอขึ้นไปตามแนวคลองฉะไกรน้อย ตรงข้ามคลองหลังวัดบรมจักรวรรดิ (ปัจจุบันไม่เหลือซากอยู่แล้ว อยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา) ติดกับถนนหลวงมหารัถยา ที่ในบันทึกคำให้การกล่าว่า “..มีร้านชำขายสมุดกระดาษขาว – ดำ..” ที่ตลาดนี้ ออเจ้าการะเกด มาหาซื้อกระดาษเพื่อไปวาดรูปกระทะปิ้งย่าง เพื่อให้ช่างตีเหล็กจีนได้เข้าใจไงครับ . . มาที่หมายเลข 49. ตลาดหลังวัดระฆัง 50. ตลาดเชิงสะพานลำเหย 51. ตลาดประตูห่าน 52. ตลาดหัวเลี้ยว 53. ตลาดสัตกบ 54. ตลาดเลน 55. ตลาดหัวสิงห์ 56. ตลาดหัวฉาง 57. ตลาดดอกไม้ 58. ตลาดหัวถนน 59. ตลาดวังไชย 60. ตลาดบ้านลาย 61. ตลาดบ้านพัด 62. ตลาดขุนโลก และหมายเลข 63. ตลาดหัวไผ่สะพานแก้ว . ยังมีย่านการค้า ตลาดนอกเมือง ทั้งตลาดน้ำที่ลอยเรืออยู่ในแม่น้ำ ตลาดบก และย่านการค้าและการผลิตอีกมากมายหลายแห่ง รอบเกาะเมืองกรุงศรีอยุธยา ตามเอกสารคำให้การ ฯ ครับ แต่ คงเอาไว้เพียงนี้ก่อนละกัน . . “ตลาด - ย่านการค้า” ในยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นที่สะสมเรื่องราวของผู้คนที่หลากหลายมาในทุกยุคทุกสมัย และหากเราดูละครน่ารักน่ารักเรื่องนี้ด้วยความบันเทิง แล้วลองหันมาเพิ่มเติมด้วยการเรียนรู้มุมมองทางประวัติศาสตร์อย่างเข้าใจแล้ว เราจะเรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้ในอดีตผ่านจากละคร ได้อย่างสนุกสนานและมีความสุข ในโลกของเรา ที่ไม่มีทางย้อนกลับคืนไปหาความจริงแท้ในอดีตได้ . ไม่ต้องไปค้นหาจับผิดอะไรมากมายกันหรอกครับ มองประวัติศาสตร์ผ่านละเม็งละครแบบคิดมาก มันจะไม่มีความสุขกันเลยนะ ออเจ้า... . . .
|