เรื่องราวของ “วัดไชยวัฒนาราม” ในละครช่อง 3 “บุพเพสันนิวาส” ได้สร้างกระแสฟี – เวอร์ จนเกิดการ แต่งชุดไทยเพื่อไปท่องเที่ยวตามรอย ออเจ้า การะเกด กันอย่างเนื่องแน่น
.

. แต่ ก็เป็นที่น่าเสียดายที่แม่หญิงการะเกดเอง ก็ยังไม่ได้มีโอกาสได้เดินชมรอบ “พระเมรุมาศ” แห่งกรุงศรีอยุธยาได้อย่างใกล้ชิด คงเพราะนางมัวแต่เผลอเอาหน้าเอาจมูกไปชนกัน ซ้ำทำตาหวานหน้าทะเล้น และโต้เลียงแกมหยอกล้อกับหมื่นสุนทรเทวา ให้โดนว่ากล่าว ว่า “ไม่งาม – วิปลาส” ไปเสียทุกตอน . รวมทั้ง โดน “อีปริก” ที่คอยจ้องฟ้องเจ้านาย แถมยังรังควาญให้ร้ายไม่จบสิ้น . น่าสงสารจังเลย นะ ออเจ้า คนทั้งบ้านทั้งเมืองกรุงเทพ ฯ ติดละครกันงอมแงมไปเลย ตอนนี้ . . ในมุมประวัติศาสตร์ วัดไชยวัฒนาราม ถูกกล่าวถึงในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ว่า “ในศักราช 992 ปีมะเมียศก (พ.ศ. 2173) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นผ่านถวัลยราชพิภพกรุงเทพทวารดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมพระราชนิเวศมหาสถาน และที่บ้านพระพันปีหลวงนั้นพระเจ้าอยู่หัวให้สถาปนาสร้างพระมหาธาตุเจดีย์มีพระระเบียงรอบและมุมพระระเบียงนั้น กระทำเป็นทรงเมรุทิศเมรุรายอันรจนาและกอบด้วยพระอุโบสถและพระวิหารการเปรียญ และสร้างกุฏิถวายพระสงฆ์เป็นอันมาก เสร็จแล้วให้นามชื่อ วัดชัยวัฒนาราม เจ้าอธิการนั้นถวายเป็นนิรันดรมิได้ขาด...” .

. พระเจ้าปราสาททอง ทรงโปรดให้สร้างวัดไชยวัฒนารามขึ้น ณ บริเวณบ้านเดิมของพระราชมารดา ซึ่งก็คือบ้านเดิมของพระองค์เอง มีลักษณะสถปัตยกรรมและแผนผังตามคติการสร้างพระเมรุมาศไม้เพื่อการถวายพระเพลิงศพ ผสมผสานกับคติการสร้างพระอารามถวายแก่พระราชมารดาเป็นพระราชกุศลตามโบราณราชประเพณี ครับ . ระเบียงวิหารล้อม (ระเบียงคด) และอาคารก่อสร้างตรงกลางระเบียงและตรงมุม (ปราสาททิศ) นั้น มีลักษณะเดียวกันกับคติจักรวาทิน ทั้ง 8 ทิศสวรรค์ คล้ายคลึงกับการจัดวางผังของปราสาทนครวัด .

. ปราสาททิศทรงสูงชะลูดคล้ายใบหอกที่ล้อมรอบปราสาทประธานและปราสาทบริวารในคติเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางแห่งสวรรค์ เป็นปราสาทยอดหลดหลั่น (ศิขระ) ที่เรียงขึ้นไป 6 ชั้นเชิงบาตร (ชั้นวิมาน) ไม่มีการประดับใบระกา นาคปัก ยอดบนสุดทำเป็นเรือนธาตุทรงปรางค์ รวมทั้งหมดเป็น 7 ชั้น นิยมเรียกอาคารนี้ว่า “เมรุทิศ” หรือ เมรุราย” ครับ . ที่ฝั่งด้านนอกของปราสาททิศ (เมรุ) ทั้ง 8 องค์ มีการสร้างอาคารก่ออิฐหลังคาเครื่องไม้ เป็นมุขยื่นต่อออกมาจากตัวอาคาร เพื่อครอบคลุมรูปปูนปั้นสำคัญที่ปั้นประดับไว้บนผนังเรือนธาตุของอาคารเมรุทิศ ในช่วงภายหลังการก่อสร้างวัด แต่ก็คงไม่นานนัก อาจต่อขึ้นในสมัยของสมเด็จพระรายณ์พระราชโอรสของพระองค์ครับ . ภาพปูนปั้นที่ผนังเรือนธาตุ ทั้งหมดเป็นเรื่องราวของพุทธประวัติตอนสำคัญอันเป็นมหามงคลตามคติเถรวาท ที่ถูกเลือกมา 12 ตอน โดยเมรุประจำทิศจะมีภาพปูนปั้นองค์ละ 1 ภาพ เมรุมุมระเบียงมีภาพปูนปั้น 2 ภาพใน 2 มุม ลักษณะการวางภาพปูนปั้นบนผนังแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนบน ส่วนกลางและส่วนล่าง ของเรื่องราวพุทธประวัติตอนเดียวกัน โดยปั้นเส้นลวดแบบหยักและเส้นสินเทาตามแบบภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นเส้นแบ่ง .

. ภาพปูนปั้นเริ่มตั้งต้นจากเมรุทิศตะวันออกติดกับพระอุโบสถ ซึ่งถือเป็นด้านหน้าสุด แล้วไล่เรื่องไปตามการเดินทักษิณาวรรตลงไปทางทิศใต้ เริ่มจากภาพปูนปั้นผนังแรก เป็นพุทธประวัติตอน “เหล่าเทวดาอัญเชิญพระโพธิสัตว์ “สันดุสิตเทวราชโพธิสัตว์” บนสวรรค์ชั้นดุสิตเพื่อลงมาประสูติเป็นพระพุทธเจ้า” งานปูนปั้นชำรุดไปจนเกือบหมด คงเหลือเพียงร่องรอยเป็นภาพต้นไม้ ปราสาทขนาดใหญ่ในส่วนล่าง ส่วนกลางภาพบุคคลแสดงอัญชลี ภาพฉัตร ภายส่วนบน เป็นบุคคลใกล้กึ่งกลางมี 4 แขนที่หมายถึงพระพรหมและพระอินทร์ บนสุดเป็นรูปเทพยดาที่มีรัศมีมาร่วมชุมนุมสาธุการ ในท่ามกลางดอกไม้สวรรค์ “มณฑาทิพย์” ที่โปรยลงมา .

. ภาพปูนปั้นผนังที่ 2 ผนังฝั่งทิศตะวันออกของเมรุมุมตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพุทธประวัติตอน “พระราชพิธีอภิเษกสมรสของพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางสิริมหามายา” ปูนปั้นฝั่งนี้กะเทาะหายไปเช่นเดียวกัน ปรากฏร่องรอยของภาพบุคคลนั่งเรียงแถวอยู่ทั้งสามชั้น ชั้นบนสุดเป็นรูปปราสาทยอดแหลม .

. ภาพปูนปั้น ผนังที่ 3 ผนังฝั่งทิศใต้ของเมรุมุมตะวันออกเฉียงใต้ รูปปูนปั้นหลุดหายไปจนเกือบหมด เหลือเป็นรูปของใบไม้ ต้นไม้ สันนิษฐานตามขนบแบบแผนการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังในยุคเดียวกัน ภาพนี้จึงควรเป็นภาพพุทธประวัติตอนประสูติ ณ ป่าลุมพินีวัน ครับ
.

. . ภาพปูนปั้นผนังที่ 4 เมรุทิศใต้ เป็นภาพพุทธประวัติ ตอน “ตัดสินพระทัยเสด็จออกบรรพชา” ปูนปั้นที่เหลืออยู่แสดงให้เห็นเพียงภาพของปราสาทด้านล่าง หัวช้าง และภาพบุคคลนั่งในอาคารในส่วนกลาง เท่านั้น .

. ภาพปูนปั้นผนังที่ 5 ผนังฝั่งทิศใต้ของเมรุมุมตะวันตกเฉียงใต้ เป็นภาพพุทธประวัติตอน “เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์” ถึงภาพปูนปั้นที่ผนังฝั่งนี้จะหายไปจนเกือบหมด แต่ภาพบุคคลเหาะเหินต่อเนื่อง ก็เป็นภาพในขนบแบบแผนสำคัญทางศิลปะของพุทธประวัติตอนนี้โดยตรงครับ .

. ภาพปูนปั้นผนังที่ 6 ผนังฝั่งตะวันตกของเมรุมุมตะวันตกเฉียงใต้ เหลือเพียงปูนปั้นเป็นภาพของป่าและบัลลังก์ ซึ่งสันนิษฐาน ตามเนื้อเรื่องที่เรียงต่อกันมาตามขนบภาพจิตรกรรมฝาผนังในยุคเดียวกัน ควรจะเป็นพุทธประวัติตอน “เจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดพระเมาฬี และ บำเพ็ญทุกรกิริยา” .
.
. ภาพปูนปั้นผนังที่ 7 เมรุทิศตะวันตก เหลือปูนปั้นเป็นเพียงเส้นลวดคั่นภาพ สันนิษฐานไปตามขนบการดำเนินเรื่องพุทธประวัติตามภาพจิตรกรรมว่าเป็นตอน “นางสุชาดาเตรียมถวายข้าวมธุปายาส” .

. ภาพปูนปั้นผนังที่ 8 ผนังฝั่งทิศตะวันตกของเมรุมุมตะวันตกเฉียงเหนือ ไม่ปรากฏภาพปูนปั้นใด ๆ เหลืออยู่เลย สันนิษฐานว่าเป็นพุทธประวัติตอน “มารผจญ” ตามเนื้อเรื่องที่เรียงต่อกันมาตามขนบภาพจิตรกรรมฝาผนัง ครับ . ปูนปั้นผนังที่ 9 ผนังฝั่งทิศเหนือของเมรุมุมตะวันตกเฉียงเหนือ ก็ไม่ปรากฏภาพปูนปั้นใด ๆ เหลืออยู่เลยเช่นกันครับ สันนิษฐานว่าเป็นภาพพุทธประวัติตอน “ปฐมเทศนา” . ปูนปั้นผนังที่ 10 ผนังเมรุทิศเหนือ เป็นภาพพุทธประวัติตอน “ยมกปาฏิหาริย์” ปูนปั้นที่เหลืออยู่แสดงเป็นภาพของป่าไม้และสัตว์ป่าในส่วนล่าง ภาพส่วนกลางแสดงภาพบุคคลนั่งพนมมือหลายแถว ส่วนของฐานบัลลังก์และเปลวรัศมี เป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่บนฐานมีเปลวรัศมีโดยรอบ .

. ปูนปั้นผนังที่ 11 ผนังฝั่งทิศเหนื ของเมรุมุมตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภาพพุทธประวัติตอน “เสด็จโปรดพระเจ้าสุทโธทนะ พระประยูรญาติพระนางพิมพาและพระโอรส ที่กรุงกบิลพัสดุ์” ปูนปั้นผนังนี้ ยังเหลือให้เห็นอยู่มากก็จริง แต่ส่วนล่างเหลือเพียงแค่รูปต้นไม้ ภาพบุคคลและรูปโค้งคล้ายร่ม ที่หมายถึงขบวนของคณะทูต 10 คณะที่เดินทางไปทูลอาราธนาอัญเชิญพระพุทธเจ้ากลับวัง ส่วนกลางเป็นภาพของเหล่าพระญาติพระวงศ์แสดงอัญชลีเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ส่วนบนเป็นภาพพระพุทธเจ้าในปราสาท 7 ชั้น ยอดปรางค์ แบบเดียวกับสถาปัตยกรรมของพระเมรุ (ปราสาททิศ) ในมุขปีกของปราสาทเป็นภาพบุคคลชายหญิง 2 ข้าง เหนือหลังคามุขประดับด้วยฉัตรที่แสดงความเป็นบุคคลสำคัญ .

. ปูนปั้นผนังที่ 12 ผนังฝั่งทิศตะวันออกของเมรุมุมตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภาพพุทธประวัติตอน “เสด็จลงจากดาวดึงส์” ภาพปูนปั้นส่วนล่าง เป็นภาพภาพบุคคลจำนวนมากรอรับเสด็จในวันเทโวโรหนะ ส่วนกลางเป็นภาพพระพุทธเจ้าที่มีพวยรัศมีอยู่โดยรอบกำลังเสด็จลงมาจากสวรรค์ แวดล้อมด้วยพระพรหม ( 4 พักตร์) และเหล่าเทพยดาเหาะเกินตามเสด็จลงมาจำนวนมาก.
ส่วนบนสุด ถึงจะไม่เหลือปูนปั้นอยู่แล้ว แต่ก็ปรากฏรอยแตกที่แสดงให้เห็นว่าเป็นภาพบุคคลนั่งอยู่ทางฝั่งซ้าย เป็นภาพตอนที่พระพุทธเจ้ากำลังแสดงเทศนาโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ครับ
.
 .
“บุพเพสันนิวาส” ก็ยังเหลืออีกหลายตอนนัก แต่ไม้รู้ว่า ออเจ้าการะเกด จะมีโอกาสเข้าไปแล้วได้เห็นภาพอันงดงามของปูนปั้นพุทธประวัติอันทรงคุณค่าแห่งวัดไชยวัฒนารามด้วยหรือเปล่า . เพราะในทุกวันนี้ แทบไม่เหลือให้เห็นกันอีกแล้ว !!!
|