ตามเส้นทางถนนวัดสระทะเล (หลวงพ่อดำ) ห่างไปทางเหนือของตัวอำเภอไพศาลี ในเขตตำบลโคกเดื่อ ขึ้นไปเหนือประมาณ 7 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายไปตามมางแยกถนนดินที่มีบ่อน้ำขนาบสองด้านทางซ้ายมือ อีกประมาณ 1 กิโลเมตร จะพบเนินดินที่ตั้งของซากอาคารก่อหินศิลาแลง ที่ชาวบ้านเรียกว่า “โคกตึก” . โคกตึก-ตึกอีกา เป็นซากเนินดินและกองหินที่พังทลายของอาคารก่อหินในรูปแบบของปราสาทหินแบบเขมร ลักษณะแผนผังเป็นคูหาสี่เหลี่ยม กว้างยาวประมาณ 5 * 6 เมตร ด้านหน้าหันไปทางทิศตะวันออก มีมุขซุ้มประตูยื่นกว่าด้านอื่น ๆ เล็กน้อย ส่วนมุมผนังก่อหินภายในของห้องคูหา (ครรภคฤหะ) ยังอยู่ครบทั้ง 4 ด้าน ด้านทิศเหนือ 2 มุม โผล่ขึ้นมาจากกองดินทับถม ส่วนทางทิศใต้นั้นผนังด้านบนพังทลายลงมากองทับถมเป็นกองดิน แต่ก็ยังมีส่วนผนังมุมลอยเหนือดินให้เห็นอยู่ครับ .

ปากทางเข้าปราสาทตึกอีกา ทางเหนือของตัวอำเภอไพศาลี ในเขตตำบลโคกเดื่อ ขึ้นไปเหนือประมาณ 7 กิโลเมตร
.

ถนนดินเข้าไปยังปราสาทโคกตึก-ตึกอีกา ประมาณ 1 กิโลเมตร จากปากทาง
.

เนินซากปราสาทตึกอีกา ทางด้านขวาของถนน
. ส่วนก่อเรียงหินตรงมุขหน้าล้มพังลงมาทางด้านหน้ากระจัดกระจาย พบชิ้นส่วนหินที่บากโค้งของส่วนหน้าบันกองให้เห็นอยู่ชิ้นหนึ่ง ส่วนผนังด้านหลังก็พังทลายลงไปทางด้านหลัง กระจายไปทั่วบริเวณทางทิศตะวันตก พบหินที่มีร่องรอยของการบากมุมและบากเส้นลวดที่ประกอบขึ้นไปถึงส่วนบัวรัดเกล้า (และหัวเสา) ของตัวคูหาเรือนธาตุอาคาร . สำหรับกลางห้องคูหานั้น มีร่องรอยถูกขุดหาสมบัติหลายครั้ง ลึกจนดินทรายที่ใช้อัดพื้นจากข้างใต้ฐานลอยขึ้นมากองทับถมอยู่ด้านบน หินที่มีรอยบากมุมรักแร้บางก้อนเหมือนเพิ่งถูกรื้อลงมาครับ . ผนังเรียงหินฝั่งทิศเหนือที่ยังลอยสูงอยู่ แสดงให้เห็นหลักฐานสำคัญของการก่อเรียงหินก้อนใหญ่แบบการสร้างปราสาทเขมรโบราณอย่างชัดเจน นั่นคือที่มุมเรือนธาตุทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีการบากหินเป็นโกลนของบัวเชิงธาตุรับกับมุมหลักของคูหาเรือนธาตุ และการบากหินเป็นแท่งแนวหน้ามุขซุ้มประตู ส่วนมุมเรือนธาตุทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ยังพบโกลนของบัวเชิงธาตุที่รับกับมุมหลักของคูหาเรือนธาตุหลงเหลืออยู่อีกมุมหนึ่ง ซึ่งผนังระหว่างมุมเรือนธาตุที่ลอยอยู่เหนือดินทั้งสองมุม มีการเรียงหินอุดช่องจากระดับพื้นล่างขึ้นมาแสดงให้เห็นว่า ซุ้มประตู 3 ด้านของคูหา น่าจะมีความตั้งใจที่จะทำเป็นผนังซุ้มประตูหลอกตามแบบปราสาทหินในยุคร่วมสมัย
.
 .

.

.

. หินศิลาแลงที่ขุดมาใช้เป็นหินคุณภาพต่ำ มีแร่เหล็กเป็นเม็ดขนาดใหญ่ผสมอยู่มาก หินใหญ่น้อยในกองหินที่พังทลายหลายก้อนยังมีร่องรอยของการเจาะหินเป็นรูเล็ก ๆ ทั้งเพื่อการขนย้ายหินและการเชื่อมต่อหินเข้ากันในระหว่างการประกบหินเพื่อเรียงขึ้นไปเป็นตัววิมานปราสาทครับ .

.

.

.
เมื่อพิจารณาจากซากหินศิลาแลงก่อเรียงปราสาทที่เห็นอยู่กระจัดกระจาย และยังถูกเคลื่อนย้ายไกลออกมาวางไว้นอกบริเวณเนินหลายจุด จึงพอมโนได้ว่า ซากอาคารหลังนี้มีการเรียงก่อหินเป็นโครงสร้างเพื่อเป็นสร้างปราสาทหิน แต่คงสร้างได้ในระดับไม่เกินชั้นบัวรัดเกล้าหรือมากสุดก็คงสูงไม่เกินเชิงบาตรวิมานย่อส่วนชั้นแรก แล้วคงได้หยุดการก่อสร้างไปในทันที
.

. เมื่อมาพิจารณาสภาพแวดล้อมและหลักฐานที่พอหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง เริ่มจากทางด้านหน้าของคูหาปราสาท มีร่องรอยการบดอัดถมดินเป็นลานกว้าง มีเศษของภาชนะเครื่องเคลือบแบบเขมรและเศษแตกหักของกระเบื้องหลังคาดินเผา รวมทั้งยังพบอิฐแตกหักกระจายอยู่โดยรอบเนิน ไม่พบชิ้นส่วนของหินทรายและเศษแตกหักปูนปั้นให้เห็นเลยแม้แต่ชิ้นเดียว . ห่างไปทางมุมเฉียงตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 25 เมตร มีการขุดสระน้ำขนาด 20 * 25 เมตร ซึ่งเป็นลักษณะของการจัดวางตำแหน่งสระน้ำ (ตระเปรียญ) ตามแบบแผนการสร้างปราสาทในรูปแบบอโรคยศาลาครับ .

. จากร่องรอยหลักฐานที่เห็นทั้งหมด พอจะปะติดปะต่อได้ว่า บริเวณของทุ่งตึกอีกานี้ คงเคยเป็นชุมชนโบราณมาตั้งแต่ยุคทวารวดี ที่ตั้งอยู่บนเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างที่ราบสูงอีสานกับที่ราบเจ้าพระยา เริ่มจากช่องสำราญ-ลำสนธิ เขาพังเหย ที่มีชุมชนโบราณรอบปรางค์นางผมหอมอยู่ทางปากทาง เชื่อมต่อมายังเมืองโบราณศรีเทพ นครใหญ่ของกลุ่มรัฐศรีจานาศะ ต่อเข้ามาทางคลองใหญ่ เลาะเขาต้นน้ำป่าเขาคอก ป่าเขาโลมนางและป่าเขาสอยดาว ลงมาผ่านคลองหนองกระบอก คลองวังข่อย แยกลงมาทางคลองตะโกที่ตั้งของชุมชนโบราณทางใต้ของทุ่งตึกอีกาในตัวอำเภอไพศาลี ที่มีร่องรอยของชุมชนโบราณและบารายยกคันสูงอยู่ถึง 3 แห่ง (อีกทางแยกหนึ่งขึ้นเหนือไปตามคลองวังน้ำลัด ผ่านทุ่งเขาหินกลิ้ง ไปต่อกับเขาตีคลี) เส้นทางผ่านต่อไปท่าตะโกออกไปยังคลองน้ำใส เชื่อมเมืองโบราณดอนคา เชิงเขาพนมฉัตร ออกไปทางตะวันตกเข้าสู่ที่ราบลุ่มเจ้าพระยา .

.

.

. ด้วยรูปแบบและลักษณะของการก่อเรียงหินปราสาทที่ยังคงมีกลิ่นอายตามแบบปราสาทเขมร ทั้งการอัดดินทรายที่ฐาน ใช้หินศิลาแลงก้อนใหญ่เป็นวัตถุดิบก่อเรียงเป็นโครงสร้างแบบไม่เป็นระเบียบและรูปแบบทางสถาปัตยกรรม จึงอาจเป็นไปได้ว่า ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ในยุคสมัยที่ยังคงมีความนิยมในการใช้หินศิลาแลงมาสร้างปราสาทวิมานเป็นศาสนสถานทั้งหลัง ได้มีความพยายามจะก่อสร้างปราสาทหินแบบปราสาทสฺรุกประจำชุมชนหรือแบบอโรคยศาลาขึ้นในบริเวณทุ่งตึกอีกา โดยมีชุมชนโบราณใกล้เคียงอยู่ใกล้กันทางใต้ (ซึ่งปัจจุบันคือตัวอำเภอไพศาลี) ตรงบริเวณใกล้กับแนวเส้นทางการเดินทางตามคลองตะโกและคลองวังน้ำลัดที่ลงมาจากช่องเขาต้นน้ำทางตะวันออก แต่ก็ไม่สามารถสร้างขึ้นได้จนเสร็จสิ้น อาจด้วยเพราะขาดแหล่งวัตถุดิบหินที่มีคุณภาพ ขาดแรงงานและช่างฝีมือ จึงยังไม่มีการการก่อเรียงหินศิลาแลงขึ้นไปเป็นชั้นวิมาน และสร้างอาคารประกอบอย่างสมบูรณ์ . คงด้วยเพราะอำนาจทางการเมืองของฝ่ายจักรวรรดิบายนจากเมืองวิมายปุระ ไม่สามารถควบคุมชุมชนโบราณในเขตศรีจานาศะของเมืองศรีเทพ ผู้ปกครองเปลี่ยนแปลง หรือการล่มสลายของเมืองศรีเทพในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ความนิยมในการสร้างปราสาทด้วยหินศิลาแลงหมดลง โปรเจ็คปราสาทสฺรุก-อโรคยศาลาบนเส้นทางโบราณที่ทุ่งตึกอีกานี้จึงถูกทิ้งร้างไป . ถึงแม้จะไม่ใช่ปราสาทอโรคยศาลาที่สมบูรณ์แบบตามปราสาทที่พบในเขตภาคอีสาน เพราะไม่มีอาคารประกอบทั้งโคปุระ บรรณาลัยและกำแพงแก้ว แต่ก็ยังไม่เคยพบแผนผังการจัดวางผัง ขนาดและความห่างของสระน้ำเช่นเดียวกันนี้ในปราสาทหินหลังอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ปราสาทอโรคยศาลา หรือปราสาทสฺรุกขนาดเล็กในยุคสมัยเดียวกันเช่นกันครับ . แต่จะใช่หรือไม่ใช่ก็คงไม่สำคัญมากนัก เพราะอย่างไรก็ดี ซากพังทลายของสิ่งก่อสร้างนี้ก็คือปราสาทหินแบบเขมร ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์อย่างแน่นอนครับ .

สระน้ำขนาดใหญ่ในวัดสระทะเล ทางตะวันตกของตัวอำเภอไพศษลี มีการยกคันด้านข้างสูง ตามแบบแผนของ
"บาราย" ในยุคโบราณ เช่นเดียวกับสระน้ำซอยสวนนอกพัฒนา และสระน้ำใหญ่ ทางตะวันตกของโรงเรียนไพศาลีวิทย
.
. . *** ในนิทานพื้นบ้านเขาหินกลิ้ง ทางเหนือของเภอไพศาลี มีเรื่องเล่ากันว่า ปราสาทตึกอีกาคือ “เมืองอินตา” ในนิทาน มีเนื้อเรื่องโดยสังเขปว่า “...เมืองอินตาเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่ไม่เข้มแข็งมากนัก เจ้าเมืองอินตามีพระธิดาสาวสวยหมวยอึ๋มจนเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว เป็นที่หมายปองของเหล่าเจ้าชายจากเมืองต่าง ๆ . วันหนึ่งเจ้าชายแห่งเมืองจําปาสัก นครใหญ่ทางทิศตะวันออก และเจ้าชายแห่งเมืองพนมเศษ นครใหญ่ทางทิศตะวันตก ต่างได้มาสู่ขอเจ้าหญิงพร้อม ๆ กัน เจ้านครอินตาไม่อาจตัดสินใจได้ว่าจะยกพระธิดาให้กับเจ้าชายพระองค์ใด ด้วยเพราะเกรงว่าถ้ายกพระธิดาให้กับนครหนึ่ง อีกนครหนึ่งก็จะไม่พอใจ หาเหตุยกกองทัพมาโจมตี จึงออกกติกาให้มีแข่งขันกันกลิ้งหินใหญ่ โดยให้แต่ละเมืองเกณฑ์ไพร่พลมาแข่งกันกลิ้งหินขนาด 30 คนโอบ เริ่มจากนครของตนเองตรงมายังเมืองอินตา ที่ตั้งหินหลักชัยขนาดเดียวกันเอาไว้ หากนครใดสามารถกลิ้งหินมาถึงหินหลักชัยก่อน จะต้องตีกลองชัยเป็นสัญญาณ แล้วจะยกพระธิดาให้แก่ผู้ชนะ . แต่ละนครต่างรีบเกณฑ์ไพร่พลมาแข่งกันกลิ้งหินใหญ่ในทันที ผลปรากฏว่าเจ้าชายแห่งเมืองจําปาสักนำไพร่พลกลิ้งหินมาถึงหินหลักชัยก่อนแต่ไม่ได้ลั่นกลองชัย มัวแต่ร้องรำทำเพลงดีใจกับชัยชนะกันอย่างสนุกสนาน พอเจ้าชายนครพนมเศษนำไพร่พลกลิ้งหินมาถึงหลักชัยเช่นเดียวกัน แล้วลั่นกลองชัยเป็นสัญญาณ เจ้านครอินตา ออกมาดูเห็นเจ้าชายนครพนมเศษกำลังลั่นกลองชัย แต่ทหารรายงานว่า เจ้าชายนครจําปาสักมาถึงเส้นชัยก่อนแต่ไม่ได้ลั่นกลองชัย . เจ้านครอินตาจึงตัดสิน ให้เจ้าชายนครพนมเศษเป็นผู้ชนะ เพราะได้ทําตามกติกาที่กำหนดให้ไว้ทั้งหมด แต่พระธิดากลับไม่พอใจ ด้วยเพราะดันไปหลงรักเจ้าชายนครจําปาสักและเจ้าชายก็มาถึงหลักชัยก่อนแต่ลืมลั่นกลองชัย นางจึงตัดสินใจหนีออกมาจากเมือง เจ้านครอินตาส่งทหารออกตามหาจนพบ แต่พระธิดาไม่ยอมกลับ จะขออยู่บนภูเขา (ชื่อ“เขาโลมนาง” อยู่ระหว่างบ้านเขาปอและบ้านเขาใหญ่ อําเภอไพศาลี) เจ้านครอินตาต้องใช้เวลาเกลี่ยกล่อมอยู่นานหลายวัน นางจึงยอมกลับมาอภิเษกกับเจ้าชายนครพนมเศษ ระหว่างทางได้มาพบกับทองคำจำนวนมาก (ชื่อ“บ้านบ่อทอง” อยู่ห่างจากเขาโลมนางมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว 7 กิโลเมตร) จึงได้ขุดทองบรรทุกขึ้นหลังช้างมาเป็นจำนวนมาก แล้วออกเดินทางต่อ แต่ทองคำนั้นมีน้ำหนักมาก ช้างเดินต่อไม่ไหว ล้มลงกับพื้นจนตาย (บ้านเขาช้างฟุบ) . พระธิดาได้อภิเษกสมรสจนตั้งครรภ์ พอใกล้เวลาคลอด ก็จะต้องเดินทางกลับมาคลอดยังบ้านเกิดของตนเองตามประเพณีโบราณ เจ้าชายนครพนมเศษจึงจัดขบวนพานางกลับมาคลอดยังเมืองอินตา ระหว่างทางนางเกิดเจ็บท้องและคลอดลูกออกมาได้เพียงครึ่งเดียว พระธิดาเกิดขาดใจตาย (กลายเป็นชื่อ “บ้านดอนคา” ตําบลดอนคา อําเภอท่าตะโก) สร้างความโศกเศร้าให้กับเจ้าชายนครพนมเศษเป็นอย่างมาก จึงได้จัดสร้างศาลขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของลูกและเมียที่สิ้นชีวิตไปบนยอดเขาเล็กยอดเขาตุ๊กแก อําเภอท่าตะโก...” . ผูกเรื่องได้น่ารันทดจังเลยครับ !!!
|