.
.
.
“เส้นทางแพรไหม” (Silk Road – Silk Route) คือเส้นการเดินทางของโลกยุคโบราณ ในช่วงที่เทคโนโลยีการเดินเรือสินค้ายังไม่พัฒนาเท่าใดนัก เป็นเส้นเดินทางภาคพื้นดินของพ่อค้า กองคาราวานสินค้า นักบวช นักจาริกแสวงบุญ ทูต นักแสดง และผู้คนหลากหลายอาชีพ ต่างวัฒนธรรมและชนชาติ ทั้งชาวจีน ชาวกรีกโยนก ชาวปาเธี่ยน กุษาณะ อินเดีย เปอร์เซีย ซีเรีย อนาโตเลีย อียิปต์ โรมัน (ชาวซอกเดียและพ่อค้าอาหรับในช่วงเวลาต่อมา) บนเส้นทางอันยาวไกลเชื่อมต่อระหว่างนครซีอานกับกรุงโรม ที่มีความยาวประมาณ 7,000 (ถึงเมืองท่าเมดิเตอริเนียน) และ 9,600 กิโลเมตร (ถึงกนุงโรม) เป็นชื่อนามที่ได้มาจากการค้าผ้าแพรไหมของฝ่ายจีนอันเป็นสินค้าที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงในตะวันออกกลางและยุโรป ที่สร้างกำไรเป็นจำนวนมากสำหรับพ่อค้าจากตะวันออกไกล
.
เส้นทางแพรไหม เริ่มต้นจากนครซีอานหรือฉางอาน (Cháng'ān) ในเขตลุ่มน้ำฮวงโห เดินทางไปทางทิศตะวันตกยังเมืองอานซี (Anxi) เมืองชุมทางการค้าเริ่มแรกที่ปลายกำแพงเมืองจีนทางทิศตะวันตก แยกเป็นสองเส้นทางใหญ่ผ่านทะเลทรายทากลิมากัน (Takliamakan) เส้นทางใต้เริ่มจากนครตุงหวาง (Dunhuang)ไปยังเมืองโคทาน (Khotan) เส้นทางเหนือไปเมืองเทอร์ฟาน-ถูลู่ฟาน (Turfan) เมืองกุจจะ (Kucha) และเมืองอาเค่อซู (Aksu) ทั้งสองเส้นทางเข้ามาบรรจบกันที่เมืองคาชการ์ (Khaksar) ผ่านทุ่งเฟอร์กาน่า (Ferghana) ตรงใจกลางทวีปเอเชีย เส้นทางใต้ข้ามลงไปทางเทือกเขาฮินดูกูช (Hindu Kush) ลงไปยังแค้วนเบคเตรีย (Bactria)
.
เส้นทางเหนือผ่านชุมทางที่เมืองโกคัน (KoKand) เข้าสู่นครซามาร์คานด์ (Samarkand - ประเทศอุซเบกีสถานในปัจจุบัน) ผ่านนครบุคคาล่า(Bukhara) มารวมกับสายใต้ที่เมืองนครเมิร์ฟ (Merv) หรือเมืองอเล็กซานเดรียมาเกียน่า (Alexandria Margiana) ใช้เส้นทางทางใต้ทะเลสาบแคสเปี้ยนเข้าสู่นครนิชาปุระ (Nishapur) ฮามาดัน (Hamadan) เข้าสู่ นครแบกแดก (Bagdad) และปาล์ไมล่า (Palmyra) ชุมทางการค้าในเปอร์เซียโบราณ เส้นทางเหนือไปเมืองท่าอันติโอค (Antioch) เข้าสู่อนาโตเลียและยุโรป เส้นทางใต้ลงมายังเมืองดามัสกัส (Damaskas) และเมืองท่าไทร์ (Tyre) ในซีเรีย ก่อนจะลงทะเลเมดิเตอริเนียนเดินทางไปนครชุมทางอเล็กซานเดรียในอียิปต์ครับ
.
เส้นทางสายผ้าไหมสายย่อยที่ลงมาทางใต้ จากแยกคาชการ์ ใจกลางทวีปเอเชีย ข้ามเทือกเขาฮินดูกูช ลงมาสู่นครเบคเตรีย (Bactria) สายหนึ่งแยกไปนครกปิศะหรือเมืองเบคราม ในลุ่มแม่น้ำคาบูล (Kapisa - Bagram ประเทศอัฟกานิสถานในปัจจุบัน) ต่อไปยังเมืองบามิยาน (Bamian) ในแคว้นคันธารราฐ (Gandhara) ไปสู่นครเฮรัต (Herat) กลับไปเชื่อมกับเส้นทางไหมสายหลักที่เมืองซูเซีย (Susia) ทางเหนืออีกทีหนึ่ง
.
เส้นทางย่อยอีกทางหนึ่งจะข้ามเทือกเขาคุนลุ้น (Kunlun) จากเมืองโคธาน (Khotan) ลงมายังนครบุรุษบุรี – ปุรุชาปุระ หรือนครเปษวาร์ (Purushapura - Peshawar ประเทศปากีสถานในปัจจุบัน) ทางตะวันตกข้ามช่องเข้าไคเบอร์ (Kyber Pass) เชื่อมกลับไปยังนครกปิศะ ส่วนทางตะวันออกแยกเข้าสู่นครตักศิลา (Taxila) นครแห่งวิทยาการและมหาวิทยาลัยลงสู่ท่าเรือที่ปากแม่น้ำสินธุ และแยกไปแคว้นปัญจาบ เข้าสู่นครมถุราในลุ่มน้ำยมุนา และเมืองต่าง ๆ ในลุ่มน้ำคงคา ออกสู่อ่าวเบงกอลที่แคว้นกามรูป (พิหาร) อีกเส้นทางหนึ่งจะเดินทางลงสู่ทิศใต้ ตามลำน้ำสินธุออกสู่ทะเลอาหรับ เป็นเส้นทางกองคาราวานการค้าทางน้ำสู่แคว้นทางทิศตะวันตกของคาบสมุทรอินเดีย เช่น แคว้นคุชราต เสาราษฏร์ และมหาราษฏระครับ
.
![]() .
แผนที่แสดงเส้นทางแพรไหมทั้งสายหลักและสายย่อย รวมทั้งเส้นการค้าทางทะเล
จากทะเลจีนใต้ฝั่งเอเชียตะวันออกไปสู่ทะเลเมดิเตอริเนียน ในเอเชียตะวันตก
-------------------------------
*** เส้นทางแพรไหม เริ่มต้นขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 4 ในรัชสมัยของพระเจ้าฮั่นวู่ตี่ แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ตรงกับช่วงราชวงศ์ศกะ - ไซเธียน (Saka Scythian) มีอิทธิพลในเขตดินแดนทางเหนือของแคว้นคันธาระ และจักรวรรดิปาเที่ยน (Pathain Empire) ครอบครองดินแดนเปอร์เซียและเขตใต้ทะเลแคสเปียน (Caspian Sea) ส่วนทางเมดิเตอริเนียน จักรวรรดิกรีกที่เคยยิ่งใหญ่แตกสลายกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโรมันที่กำลังรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว
..
การสำรวจเส้นทางตะวันตกในครั้งแรก ๆ ของราชวงศ์ฮั่นนั้น เกิดขึ้นจากการรุกรานของพวก “ฉงนู – ชงหนู” (Xiongnu) ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือบริเวณใจกลางทวีป เป็นเผ่าขนาดใหญ่ที่สามารถปราบปรามชนเผ่าเร่ร่อนเผ่าอื่น ๆ หลายเผ่าได้เป็นผลสำเร็จ และเริ่มหันกลับเข้ามารุกรานจีน จนทำให้ชายแดนตะวันตกสั่นคลอน จักรพรรดิ์ฮั่นวู่ตี้ จึงใช้นโยบายการทูตผสมผสานกับการทำสงคราม โดยได้ส่งราชทูตจางเชียน (Zhang Qian) นำคณะทูตออกไปสร้างความสัมพันธ์กับเผ่ายุชชิ (Yuch – chi) (โย่วจือ (Yuezhi) คูซาน (Kushan) หรือที่เรียกในภาษาสันสกฤตว่าชาวกุษาณะ) ที่ต่อมาได้เข้าครอบครองคันธารราฐและอินเดียเหนือ (ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 6) รวมทั้งใช้กำลังทหารเข้าทำสงครามปราบปรามพวกฉงนู เป็นผลสำเร็จในช่วงเวลาต่อมา เมื่อตะวันตกมีเสถียรภาพ และความปลอดภัย จักรพรรดิ์ฮั่นจึงส่งราชทูตและนักสำรวจเดินทางออกไปศึกษาเรียนรู้ดินแดนต่าง ๆ ทั้งปาเธี่ยน-เปอร์เซีย ซีเรีย ไปจนถึงกรุงโรม ความสัมพันธ์และการติดต่อกันระหว่างฮั่นกับโรมัน ทำให้เส้นการเดินทางที่เคยสำรวจไว้ในช่วงของสงครามกับชาวฉงนู ถูกเปิดใช้ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยมีอาณาจักรศกะ - ปาเที่ยนในแคว้นคันธารราฐและเอเชียกลาง เป็นคนกลางในดูแลความปลอดภัยให้กับขบวนคาราวานการค้าบนเส้นทางครับ
.
![]() .
แผนที่แสดงเส้นทางแพรไหมตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 4 จนถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 ยาวนานกว่า 1,800 ปี
.
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 5 เส้นทางแพรไหมประสบปัญหาขาดเสถียรภาพจากสงครามระหว่างโรมันกับอาณาจักรปาเที่ยน จนล่วงเข้าถึงพุทธศตวรรษที่ 6 - 7 ชาวกุษาณะจากทางภาคเหนือจึงแผ่อิทธิพลเข้าครอบครองทุ่งเฟอร์กาน่า ซามาร์คานด์ แคว้นคันธารราฐ ขยายอิทธิพลไปจนถึงแคว้นปัญจาบ และแคว้นมคธราฐในลุ่มแม่น้ำคงคาแทนอาณาจักรชาวปาเที่ยน เส้นทางสายผ้าไหมเริ่มมีเสถียรภาพขึ้นอีกครั้งโดยเฉพาะช่วงพระเจ้ากนิษกะ (Kanishka) ในช่วงราชวงศ์กุษาณะ
.
ในรัชสมัยของพระเจ้าฮั่นเม่งตี่ ต้นพุทธศตวรรษที่ 7 พุทธวัฒนธรรมและศิลปวิทยาการจากอินเดียเริ่มเดินทางเข้าสู่ประเทศจีน จนมีการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาจีนเป็นครั้งแรก วัฒนธรรมจีนดั่งเดิมโดยเฉพาะลัทธิขงจื้อและลัทธิเต๋า เริ่มยอมรับและผสมผสานกับพุทธศาสนาที่แผ่อิทธิพลเข้ามาได้อย่างลงตัว ในสมัยต่อมาจึงเริ่มปรากฏงานศิลปกรรมและพุทธสถานมากมายในเมืองโบราณที่ตั้งอยู่ตามเส้นทางสายผ้าไหม เช่นหมู่ถ้ำสหัสพุทธ หมู่ถ้ำโม่เกา เมืองโบราณเกาชาง เมืองโบราณเจียวเหอ หมู่ถ้ำย่งกัง ถ้ำหลงเหมิน เมืองโบราณตุงหวาง ฯลฯ ครับ
.
ราชสำนักจีนในแต่ละยุคสมัย ให้ความสำคัญกับเส้นทางแพรไหม ทั้งการอำนวยความสะดวกและการรักษาความปลอดภัยให้กับขบวนคาราวานสินค้าของแต่ละชนชาติ จนถึงกับมีการขยายกำแพงเมืองจีน ออกไปไกลถึงเกือบกลางทวีป เพื่อคุ้มครองเส้นทางการค้าสายสำคัญนี้
.
จนถึงพุทธศตวรรษที่ 9 - 11 เส้นทางสายผ้าไหม ยังคงเป็นเส้นทางสายหลักที่สำคัญในการเดินทางติดต่อค้าขาย และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างภูมิภาคอินเดียและจีน แต่ในบางครั้งก็ประสบปัญหาความปลอดภัยจนเส้นทางต้องปิดตัวลง เนื่องจากความวุ่นวายทางการเมืองภายในและสงครามระหว่างอาณาจักรของบ้านเมืองตามรายทาง บางครั้งก็ถูกตัดขาดจากการรุกรานของชาวเอฟทาไลต์ (Ephthalite) หรือชาวฮุนขาว (White Huns) เผ่าเร่ร่อนขนาดใหญ่จากทางตะวันตกเฉียงเหนือครับ
.
บางยุคสมัยเส้นทางสายแพรไหม ก็เริ่มมีการหยุดใช้เนื่องจากการรบราฆ่าฟันแย่งชิงอำนาจของชนเผ่า ความไม่สงบในแต่ละแว่นแคว้นอาณาจักรในแถบเอเชียกลาง จนเส้นทางแพรไหมไม่มีเสถียรภาพความปลอดภัย อย่างในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 12 จักรพรรดิถังไทจงแห่งราชวงศ์ถัง ต้องทำสงครามกับพวกเตอร์ก ตาตาร์ (ตาด) ที่รุกคืบมาจากบริเวณทะเลสาบแคสเปียน รวมทั้งทำสงครามกับชนเผ่าฮุนขาวจนได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด เส้นทางแพรไหมจึงกลับมามีชีวิตชีวาได้อีกครั้งหนึ่ง
.
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 - 19 เส้นทางแพรไหมได้เริ่มหมดความนิยมลงจากเหตุสงครามครูเสด (Crusade) อันยาวนานระหว่างโลกยุโรปกับอาหรับ จนมาถึงในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 – 20 เมื่อจักรพรรดิเจงกิสข่าน แห่งมองโกล - ราชวงศ์หยวน ได้ขยายอาณาเขตไปจรดยุโรปตะวันออก จึงได้มีการใช้เส้นทางแพรไหมอีกครั้ง แต่ก็เป็นระยะสั้น ๆ ไม่มีเสถียรภาพมากนัก จนมาถึงช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 22 เส้นทางแพรไหมที่เคยใช้กันมากว่า 1,800 ปี ก็ได้สิ้นสุดลงอย่างถาวร จากการล่มสลายของจักรวรรดิ ซาฟาวิด (Safavid) ในเปอร์เซีย ที่ถูกจักรวรรดิออสโตมันเตอร์ก (Ottoman Empire) จากอนาโตเลียเข้ายึดครองครับ
.
------------------------------
*** ในยุคสมัยที่การค้าเฟื่องฟู ผู้คนจากหลากหลายเผ่าพันธุ์ ต่างภาษาและวัฒนธรรม ต่างก็เดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันบนตามเส้นทางสายผ้าไหมที่เชื่อมโลกในยุคโบราณเข้าหากัน พ่อค้าวานิชจำนวนมากนำกองคาราวานสินค้าจากจีน โรมัน เอเชียกลาง อินเดีย ออกมาค้าขายแลกเปลี่ยนกับโลกภายนอก
.
นอกจากพ่อค้าแล้ว เส้นทางแพรไหมยังคลาคล่ำไปด้วยผู้คนในหลากหลายชนชั้นอาชีพ สินค้ามากมายจากแดนไกลเป็นที่ต้องการและแสวงหา เพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนและนำกลับไปใช้ในบ้านเมืองของตน สินค้าที่สำคัญที่พ่อค้าต้องการจากจีนได้แก่ ไหมดิบ ผ้าแพรไหม ผ้าไหมปัก เครื่องปั้นดินเผา ใบชา เครื่องดินเผา เครื่องเขิน น้ำตาล เหล็ก พ่อค้าจีนจะนิยมซื้อม้าคุณภาพดีจากเอเชียกลางมาใช้ในการสงครามและการติดต่อสื่อสาร แทนม้าพันธุ์พื้นเมืองที่มีขนาดเล็กและเตี้ย นอกจากนี้ยังมีความนิยมสินค้าประเภทเครื่องเทศ เครื่องหอม ของป่า อะเกต อัญมณี เครื่องประดับที่แปลกตา เครื่องเงิน เครื่องทอง เครื่องแก้ว ผ้าแพรพรรณจากกรุงโรม ซีเรียและอียิปต์ หินรัตนชาติ งาช้าง ไข่มุก ผ้าขนสัตว์ (จากแคชเมียร์) ทับทิม หิน มูลนกการะเวก จากแคว้นคันธารราฐ และอินเดียเหนือครับ
.
![]() .
ภาพเขียนสี แสดงผู้คนที่แตกต่างบนเส้นทางแพรไหม ที่มาร่วมกันเคารพพระพุทธเจ้าที่เสด็จสู่มหาปรินิพพาน อย่างภาพของฮ่องเต้ราชวงศ์ฮั่น กษัตริย์จากทิเบต ฯลฯ ภายในถ้ำนิรวาณ (Nirvāṇa) หรือถ้ำปรินิพพาน หมู่ถ้ำโมเกา (Mogao Cave 158) ใกล้เมืองตุงหวาง บนเส้นทางแพรไหม สมัยราชวงศ์ถัง ปลายพุทธศตวรรษที่ 12
.
เส้นทางสายผ้าไหมยังก่อให้เกิดปรากฏการณ์แลกเปลี่ยน ถ่ายทอด รับส่งและผสมผสานทางวัฒนธรรม ศาสนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความก้าวหน้าหลายด้านของจีนถูกส่งไปยังโลกตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นการถลุงเหล็ก การทำเครื่องเคลือบ การหล่อสำริด ระบบปฏิทินจีน ความรู้ด้านยาแผนโบราณ ในขณะที่จีนเองก็ได้รับสิ่งแปลกใหม่ เช่น ทั้งศาสนาความเชื่อ การละเล่นและดนตรีจากเอเชียตะวันตก รวมทั้งศิลปะวิทยาการอีกมากมาย เช่นการสร้างรูปเคารพ ประติมากรรมทางศาสนา ดาราศาสตร์และระบบไปรษณีย์ ฯลฯ จากเปอร์เซียและอินเดีย และพืชพรรณที่ไม่มีในตะวันออกอย่างลูกพีช ลูกแพร์ องุ่น งา แครอท วอลนัท จากเอเชียกลางและยุโรป
.
![]() .
รูปเซรามิคน้ำเคลือบราชวงศ์ถัง อุทิศในสุสานราชวงศ์ถัง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 ทำเป็นรูปชาวซอกเดียน (Sogdian) บนหลังอูฐเบคเตรีย (Bactrian camel) ชนเชื้อสายเปอร์เซียที่มีบทบาทเป็นพ่อค้าคนกลางจากเอเชียกลาง บนเส้นทางแพรไหม ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 – 13 จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เมืองเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Museum) (ภาพ วิกิพิเดีย)
.
---------------------------
*** เส้นทางแพรไหม ได้รับการยกขึ้นเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมร่วมกันระหว่างประเทศจีน คาซัคสถานและคีร์กีซสถาน ในชื่อว่า เส้นทางสายไหม : โครงข่ายเส้นทางฉนวนฉางอาน-เทียนชาน (Chang'an-Tianshan corridor of the Silk Road as a World Heritage Site) ในปี พ.ศ. 2557 ครับ
.
.
.
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า
17/5/2563
.
|
ถึง บล็อกเกอร์ ทุกท่าน โปรดอ่าน
ด้วยทาง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้ติดต่อขอความร่วมมือ มายังเว็บไซต์และเว็บบล็อกต่าง ๆ รวมไปถึงเว็บบล็อก OKnation
ห้ามให้มีการเผยแพร่ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ บนเว็บ blog โดยกำหนดขอบเขตของสิ่งที่ห้ามทำ และสามารถทำได้ ดังนี้
ห้ามทำ - การใส่ผลงานเพลงต้นฉบับให้ฟัง ทั้งแบบควบคุมเพลงได้ หรือซ่อนเป็นพื้นหลัง และทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือ copy code คนอื่นมาใช้ - การเผยแพร่ file ให้ download ทั้งที่อยู่ใน server ของคุณเอง หรือฝากไว้ server คนอื่น สามารถทำได้ - เผยแพร่เนื้อเพลง ต้องระบุชื่อเพลงและชื่อผู้ร้องให้ชัดเจน - การใส่เพลงที่ร้องไว้เอง ต้องระบุชื่อผู้ร้องต้นฉบับให้ชัดเจน จึงเรียนมาเพื่อโปรดปฎิบัติตาม มิเช่นนั้นทางบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ จะให้ฝ่ายดูแลลิขสิทธิ์ ดำเนินการเอาผิดกับท่านตามกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์
OKNATION
กฎกติกาการเขียนเรื่องและแสดงความคิดเห็น
1 การเขียน หรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต้องไม่หมิ่นเหม่ หรือกระทบต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
2. ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่นในทางเสียหาย หรือสร้างความแตกแยกในสังคม กับทั้งไม่มีภาพ วิดีโอคลิป หรือถ้อยคำลามก อนาจาร 3. ความขัดแย้งส่วนตัวที่เกิดจากการเขียนเรื่อง แสดงความคิดเห็น หรือในกล่องรับส่งข้อความ (หลังไมค์) ต้องไม่นำมาโพสหรือขยายความต่อในบล็อก และการโพสเรื่องส่วนตัว และการแสดงความคิดเห็น ต้องใช้ภาษาที่สุภาพเท่านั้น 4. พิจารณาเนื้อหาที่จะโพสก่อนเผยแพร่ให้รอบคอบ ว่าจะไม่เป็นการละเมิดกฎหมายใดใด และปิดคอมเมนต์หากจำเป็นโดยเฉพาะเรื่องที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน 5.การนำเรื่อง ภาพ หรือคลิปวิดีโอ ที่มิใช่ของตนเองมาลงในบล็อก ควรอ้างอิงแหล่งที่มา และ หลีกเลี่ยงการเผยแพร่สิ่งที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือวิธีการใดก็ตาม 6. เนื้อหาและความคิดเห็นในบล็อก ไม่เกี่ยวข้องกับทีมงานผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซต์ โดยถือเป็นความรับผิดชอบทางกฎหมายเป็นการส่วนตัวของสมาชิก คลิ้กอ่านเงื่อนไขทั้งหมดที่นี่"
OKnation ขอสงวนสิทธิ์ในการปิดบล็อก ลบเนื้อหาและความคิดเห็น ที่ขัดต่อความดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของบล็อกและเจ้าของความคิดเห็นนั้นๆ
|
||
![]() ![]() |
สำรวจบันทายฉมาร์ - บันทายทัพ | ||
![]() |
||
พาคณะ ร่วมเดินทางสำรวจ ถ่ายภาพ- เรียนรู้ ปราสาทบันทายทัพและปราสาทบันทายฉมาร์ ระหว่างวันที่ 4 6 พฤษภาคม 2560 ผู้ร่วมเดินทางรวม 18 คน |
||
View All ![]() |
งานวันผู้ไทโลก ครั้งที่ 8 | ||
![]() |
||
งานวันผู้ไทโลก เท่อที่ 8 "พระธาตุศรีมงคลงามสง่า บูซาเจ้าปู่มเหศักดิ์ โฮมฮักผู้ไทโลก" วันที่ 4 - 6 เมษายน 2560 ณ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร |
||
View All ![]() |
<< | กันยายน 2020 | >> | ||||
อา | จ | อ | พ | พฤ | ศ | ส |
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | ||
6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 |
13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 |
20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 |
27 | 28 | 29 | 30 |